จากกระแสมาแรงแซงทางโค้งของหนังอินเดียเรื่อง “คังคุไบ” หรือ “Gangubai Kathiawadi (คังคุไบ กฐิยาวาฑี)” หนังที่กำลังมาแรงเป็นที่โดนใจผู้ชมและกำลังเป็นกระแสยอดฮิตในบ้านเราตอนนี้ ว่าด้วยหญิงโสเภณีผู้กลายเป็นยอดหญิงผู้ทรงอิทธิพลแห่งมุมไบจากการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับเหล่าหญิงขายบริการนำแสดงโดยนักแสดงสาวสวยคม อเลีย บาตต์ (Alia Bhatt) ทำให้เราได้เห็นว่าหนังอินเดียนั้นมีเสน่ห์มากแค่ไหน ทั้งเนื้อเรื่องชวนติดตาม การเล่าเรื่องที่มีพลัง การแสดงที่ยอดเยี่ยม งานโปรดักชันที่มีคุณภาพในทุกองค์ประกอบ และแน่นอนบทเพลงอันไพเราะที่เข้ากันกับฉากอันสำคัญในหนังที่มาพร้อมการร้องการเต้นที่ชวนเพลิดเพลินและช่วยเพิ่มพลังในการเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยจริง ๆ ในหนังอินเดียตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันในหนังยุคใหม่ร่วมสมัยอย่างคังคุไบด้วยเช่นกัน

การร้องและการเต้นเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของหนังบอลลีวูด (Bollywood) (มีที่มาจากการชื่อของอุตสาหกรรมหนังอินเดียในนครมุมไบที่มีชื่อเก่าว่าบอมเบย์ เลยตั้งชื่อว่า ‘บอลลีวูด’ (Bollywood)  เพื่อล้อกับฮอลลีวูดของสหรัฐอเมริกา) หนังบอลลีวูดมีวิวัฒนาการในการสร้างความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เพื่อแยกตนเองจากหนังฮอลลีวูดและยังคงไว้ซึ่งลักษณะเฉพาะของตัวเองมาโดยตลอด และเอกลักษณ์ของหนังบอลลีวูดที่โดดเด่นเป็นสง่าที่สุดก็คือบทเพลง การร้องและการเต้นในหนังนั่นเอง

การร้องรำทำเพลงเป็น ‘ของที่มันต้องมี’ ในหนังบอลลีวูด ด้วยเพราะเพลงนั้นเปรียบเสมือนลมหายใจหรือชีวิตของหนัง หนังอินเดียที่ไม่มีเพลงจึงทำให้หนังขาดชีวิตชีวาและทำให้ผู้ชมรู้สึกว่ามันมีอะไรขาดหายไปทำให้ประสบการณ์ในการรับชมหนังเรื่องนั้นไม่อิ่มเอม ดนตรีช่วยถ่ายทอดอารมณ์ของเรื่องราว เนื้อเพลงช่วยบอกความในใจตัวละครและช่วยขยายเรื่องราว การมีบทเพลงในฉากสำคัญของหนังช่วยทำให้หนังดูมีมิติขึ้นมาก ๆ เลย

ที่มาที่ไปทำถึงต้องมีเพลงในหนังอินเดีย

ลองคิดดูว่าหนังบอลลีวูดจะเป็นอย่างไรหากไม่มีเพลงและการเต้นรำอยู่ในนั้น เราคงไม่ได้เห็นภาพน่ารัก ๆ ของชายหญิงที่วิ่งข้ามทุ่งข้ามเขา ผลุบ ๆ โผล่ ๆ ตามต้นไม้ คลอด้วยท่วงทำนองร้องเพลงโต้ตอบงอนง้อกันไปมาหรือแม้แต่การเต้นหมู่ในท่วงทำนองต่าง ๆ ที่ล้ำเลิศเกินพรรณา

บนเสน่ห์ของเรื่องราว ภาพ และงานสร้างที่ประณีตงดงาม การผสานเข้าด้วยกันกับท่วงทำนองของดนตรี เสียงร้อง และการเต้นรำเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มพูนความอิ่มเอมใจให้กับผู้ชมหนังอินเดียเป็นอย่างยิ่ง และนี่แหละคือจิตวิญญาณของบอลลีวูด

จุดกำเนิดของเพลงประกอบหนังอินเดียอาจสืบเนื่องมาจากการกำเนิดของหนังเสียงเรื่องแรกของอินเดียในปี 1931 ระหว่างปี 1931 ถึงปี 1940 อินเดียได้สร้างหนังภาษาฮินดีจำนวน 931 เรื่อง โดยมีค่าเฉลี่ย 10 เพลงต่อหนังหนึ่งเรื่อง

เพลงในหนังบอลลีวูดปรากฏอยู่ในหนังเสียงเรื่องแรก Alam Ara (1931) โดย อาร์เดเชอร์ อิรานี (Ardeshir Irani) ซึ่งมีเพลงอยู่ 7 เพลง ตามมาด้วย Shirheen Farhad (1931) โดย จามเชดจี ฟรามจี มาดาน (Jamshedji Framji Madan) ซึ่งมีเพลงมากถึง 42 เพลงที่ร้อยเรียงเข้าด้วยกันในลักษณะของโอเปร่า และต่อมาในหนังเรื่อง Indra Sabha มีเพลงมากถึง 69 เพลง ซึ่งต่อมาจำนวนเพลงในหนังเรื่องหนึ่ง ๆ ก็ค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 6-10 เพลงต่อเรื่อง

หนังอินเดียมีพัฒนาการมาจากมหรสพของชาติที่เรียกว่า ‘สังคีตนาฏยะ’ (Sangeet Natya) ซึ่งเป็นการแสดงประเภทละครเวทีประกอบเพลง ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐมหาราษฏระ ((Maharashtra) ทางภาคตะวันตกของอินเดียในศตวรรษที่ 19 และได้รับความนิยมแพร่หลายทั้งในแถบนั้นรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง นักแสดงตัวหลัก ๆ ของสังคีตนาฏยะจะต้องมีความสามารถด้านการร้องเนื่องจากจะมีบทพูดสลับกับการเล่าเรื่องด้วยการร้องเพลง ซึ่งหัวใจและสิ่งที่ทำให้ผู้ชมชื่นชอบการแสดงประเภทนี้ไม่ใช่บทพูดหรือเนื้อเรื่องแต่อยู่ที่การร้องเพลงเป็นหลัก

และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ในหนังอินเดียต้องมีการร้องและเต้น ก็เพราะว่าผู้ชมเคยชินกับการดูดนตรีและการเต้นรำในการแสดงละครเวทีนั่นเอง การดูดนตรีและการเต้นรำในโรงละครเป็นวิถีชีวิตของคนอินเดีย คู่รักและครอบครัวจำนวนมากจะไปที่โรงละครเพื่อเพลิดเพลินกับการแสดงพร้อมบทเพลงเพื่อใช้เวลาสักช่วงหนึ่งเพื่อหลีกหนีจากความว้าวุ่นในโลกแห่งความจริงแล้วหลุดไปในโลกแห่งเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าอันผสมผสานไปด้วยเสียงขับขานบทเพลงและการร่ายรำ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงคาดว่าจะมีเพลงในหนังบอลลีวูดและอิ่มเอมกับมันเฉกเช่นเดียวกับกับที่ได้รับจากการชมละครเวที

ในช่วงทศวรรษที่ 1930s นักแสดงหลายคนร้องเพลงด้วยตัวเอง หลายครั้งนักแสดงได้รับเลือกให้แสดงในหนังเพราะความสามารถในการร้องเพลงของพวกเขา เช่น บาล กานดาร์วา (Bal Gandharva) และ บาบูเรา เพนดาร์การ์ (Baburao Pendharkar) ในเวลานั้นไม่มีการใช้นักร้องในการอัดเสียงก่อนล่วงหน้าแล้วไปเปิดในหนัง (playback singer) เพลงต้องถูกบันทึกพร้อมกับการถ่ายทำเลย ทำให้นักแสดงต้องมีความสามารถในการร้องเพลงด้วย

ในหนังบอลลีวูด บทเพลง การร้องและการเต้น ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์หลายอย่างทั้งยกระดับความเข้มข้นในสถานการณ์ของเรื่อง การเน้นอารมณ์ การช่วยให้คนดูเข้าใจความคิดความรู้สึกของตัวละครดีขึ้น ทำหน้าที่เป็นบทพูดที่สะท้อนสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจ และการสร้างความบันเทิงเริงใจ

เพลงบอลลีวูดได้รับอิทธิพลจากหนังฮอลลีวูดอยู่ด้วยเช่นกัน นักแต่งเพลงประกอบหนังชาวฮินดูหลายคนได้เรียนรู้และเลียนแบบสไตล์ของฮอลลีวูดในการสร้างสรรค์บทเพลงให้เข้ากับบรรยากาศในหนัง เหมือนดั่งเช่นที่ฮอลลีวูดทำกับหนังมิวสิคัลที่ประสบความสำเร็จหลายต่อหลายเรื่อง และเมื่อเอามาผสมผสานกับวัฒนธรรมทางดนตรีของอินเดียที่มีรากฐานอันแข็งแกร่งผลลัพธ์ที่ได้คือเพลงบอลลีวูดที่มีเอกลักษณ์ เพลงเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นการผสมผสานระหว่างอิทธิพลตะวันตกและดนตรีฮินดู

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพลงในหนังอินเดียได้ประสบความสำเร็จอย่างมากในระดับนานาชาติ หลักฐานที่แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ก็คือรางวัลออสการ์ปี 2009 ในสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ของนักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ชาวอินเดียที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เอ อาร์ เราะห์มาน (A.R. Rahman) จากเรื่อง Slumdog Millionaire (ถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังสัญชาติอังกฤษและกำกับโดย แดนนี บอยล์ (Daniel Boyle) ผู้กำกับชาวอังกฤษ แต่ก็เล่าเรื่องราวในอินเดีย สะท้อนบริบทสังคมอินเดียและมีเอกลักษณ์ของหนังอินเดีย ถึงแม้ในเรื่องจะไม่มีการร้องการเต้นเลยแต่ใน end credit ผู้กำกับก็ไม่ลืมที่จะใส่ฉากร้องเพลงเต้นรำลงไปให้จบแบบฟิน ๆ ด้วย)

“เรา (นักแต่งเพลงประกอบหนังอินเดีย) มีปรัชญาและแนวทางที่แตกต่างในการสร้างสรรค์เพลงประกอบภาพยนตร์ และผมอยากจะบอกว่ามีอีกหลายสิ่งที่ผมอยากนำเสนอและอีกหลายอย่างที่ผมอยากให้มันเกิดขึ้น” เราะห์มานกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ International Herald Tribune เกี่ยวกับดนตรีประกอบหนังอินเดียที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากเพลงประกอบหนังอื่น ๆ

บทเพลงในหนังอินเดียได้ท่วงทำนองมาจาก 3 แหล่งได้แก่ ดนตรีคลาสสิกของอินเดีย ดนตรีพื้นบ้านจากภูมิภาคต่าง ๆ และดนตรีคลาสสิกและเพลงยอดนิยมของตะวันตก ผู้กำกับเพลงจะเป็นผู้สร้างสรรค์และผสมผสานท่วงทำนองจากแรงบันดาลใจทั้งหลายให้กลายเป็นบทเพลงที่มีเอกลักษณ์และความเหมาะสมกับหนังที่จะใช้บทเพลงเหล่านี้ บทเพลงในหนังอินเดียโดยทั่วไปจึงไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอิสระในตัวเอง แต่ต้องเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับโครงเรื่อง ดังนั้นเพลงและดนตรีจึงถูกสร้างขึ้นตามความต้องการของหนังและถูกถักทอเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ของหนังเพื่อให้คนดูดื่มด่ำไปกับท่วงทำนอง ลีลา ภาษาและอารมณ์ของหนัง

ฉากนี้และอารมณ์นี้ต้องมีเพลง !

มีบางช่วงในหนังที่ผู้สร้างต้องการถ่ายทอดความรักระหว่างตัวละคร และนี่แหละเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับการใส่เพลงประกอบหนังลงไป ยกตัวอย่างเช่นถ้าเป็นหนังรักหรือหนังแนวอื่นแต่เป็นฉากที่สะท้อนความรัก เพลงมักเข้ามาในจังหวะที่พระเอก-นางเอกได้พบกันเป็นครั้งแรกซึ่งบทเพลงจะช่วยจุดประกายเรื่องราวความรักของพวกเขาในทันทีและทำให้ผู้ชมเข้าใจว่าพวกเขากำลังจะตกหลุมรักกัน และในหลาย ๆ ฉากที่ทั้งคู่ได้แสดงความรู้สึกต่อกันเพลงก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในความสัมพันธ์ของทั้งคู่

เพลงในหนังช่วยแสดงความรู้สึกและอารมณ์ที่เปี่ยมล้นเพื่อเชื่อมต่อกับผู้ชม ตัวอย่างเช่นหนังบอลลีวูดส่วนใหญ่จะมีเพลงประกอบอย่างน้อยหนึ่งเพลง เพื่อยกระดับอารมณ์ของผู้ชมและดึงดูดพวกเขาผ่านการเต้นอันวิจิตรงดงาม เช่นเพลง ‘Laila Mein Laila’ จากหนังเรื่อง Raees ได้กลายเป็นเพลงฮิตในปี 2017 ซึ่งชาห์รุก ข่าน (Shah Rukh Khan) และ ซันนี่ ลีโอนี่ (Sunny Leone) ได้แสดงในหนังเรื่องนี้ เพลงประกอบหนังทำให้หนังได้รับความนิยมอย่างมากและทำให้ซันนี ลีโอนเป็นหนึ่งในนักแสดงสาวที่โด่งดังในบอลลีวูด

ในทางกลับกัน เพลงไม่ได้มีหน้าที่แค่สร้างอารมณ์รักและอารมณ์สนุกในหนังเท่านั้น เพลงประกอบหนังบอลลีวูดยังสร้างความเชื่อมโยงในอารมณ์เศร้าระหว่างผู้ชมและตัวละครด้วย เมื่อต้องการให้ผู้ชมเกิดความเห็นอกเห็นใจตัวละคร พวกเขาจะสร้างสรรค์บทเพลงอันไพเราะสำหรับฉากอันสำคัญนั้น

ตัวอย่างเช่นในหนังเรื่อง Ae Dil Hai Mushkil (2016) เพลง “Channa Mereya” ได้ถูกแต่งขึ้นเพื่อใช้กับฉากที่นางเอกของเรื่อง (อนุชกา ชาร์มา (Anushka Sharma)) แต่งงานกับชายอื่นแทนที่จะเป็นพระเอกของเรื่อง (รันบีร์ คาปูร์ (Ranbir Kapoor)) ที่รักเธออย่างสุดซึ้ง เพลงที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้ชมน้ำตาซึมทันที นอกจากเกิดความเห็นอกเห็นใจในตัวละครแล้ว ผู้ชมยังสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับตัวละครเหล่านี้ผ่านบทเพลงด้วย

เพลงในหนังบอลลีวูดสร้างขึ้นด้วยความตั้งที่จะใช้กับหนังเพราะฉะนั้นท่วงทำนองและเนื้อร้องต้องเข้ากันกับอารมณ์และเนื้อหาของฉากนั้น ๆ เนื้อเพลงมักเขียนโดยกวีหรือนักเขียนที่มีชื่อเสียง (ซึ่งเป็นคนละคนกันกับคนเขียนบท) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมากเพราะคนเขียนเนื้อร้องต้องเข้าใจในตัวหนังเป็นอย่างดีทั้งเรื่องราวและตัวละครจึงจะถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครและเรื่องราวผ่านเนื้อร้องได้ นอกจากนี้บทเพลงยังต้องมีการออกแบบท่าเต้นอย่างละเอียดละออเพื่อให้เข้ากับจังหวะของท่วงทำนองและการเล่าเรื่องในหนัง ผู้ออกแบบท่าเต้นถือว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญในการทำหนังอินเดียมากอย่างเช่น สาโรจน์ ข่าน (Saroj Khan) หนึ่งในนักออกแบบท่าเต้นชั้นนำของบอลลีวูด ที่เพิ่งเสียชีวิตในเดือนกรกฎาคมปี 2020 ตลอดระยะเวลาการทำงาน 60 ปีของเธอ เธอได้อยู่เบื้องหลังการออกแบบการเต้นในหนังมากกว่า 2,000 เรื่องซึ่งส่วนใหญ่เป็นระดับตำนานทั้งนั้น

จากนั้นเพลงที่แต่งเสร็จแล้วจะถูกส่งไปให้นักร้องและนักดนตรีมืออาชีพทำการบันทึกเสียงและให้นักแสดงใช้การร้องแบบลิปซิงก์ในหนัง และนักแสดงหลายคนที่มีความสามารถในการร้องเพลงก็จะเป็นคนที่บันทึกเสียงร้องด้วยตัวเองด้วยเช่น อเลีย บาตต์ นางเอกสาวจากหนังเรื่อง “คังคุไบ” ที่จะต้องมีเพลงร้องของเธอเสมอในหนังที่เธอได้แสดง

จุดเด่นของหนังบอลลีวูดก็คือบทเพลงจะถูกใช้ให้ตัวละครได้ร้องและเต้นหรือแสดงร่วมไปกับอารมณ์เพลง ในหนังเรื่อง “คังคุไบ” มีฉากที่ใช้เพลงและการเต้นรำที่โดดเด่นมากมายหลายฉาก ซึ่งในแต่ละฉากบทเพลงก็ช่วยให้เราเข้าใจในความคิดความรู้สึกและอารมณ์ของตัวละครได้ดีมาก ๆ ผ่านเสียงร้อง เนื้อร้องของบทเพลง และลีลาการเต้นการเคลื่อนไหวภายในบทเพลงและฉากนั้น ๆ และนั่นก็คือให้ผู้ชมเกิดความรู้สึก ‘อิน’ และ ‘ฟิน’ ไปกับหนังเลยจริง ๆ

ที่มา

eatmy.news

deliblitz

wikipedia – Hindi Film Music

fungjaizine

พิสูน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส