ความน่าสนใจของภาพยนตร์ ‘Gangubai Kathiawadi’ หรือ ‘หญิงแกร่งแห่งมุมไบ’ นอกจากจะเป็นเรื่องราวของ ‘คังคุไบ กฐิยาวาฑี’ (Gangubai Kathiawadi) ราชินีมาเฟียผู้เบิกทางให้แก่เหล่าโสเภณี 4,000 คนในย่าน ‘กามธิปุระ’ (Kamathipura) แล้ว
อีกความน่าสนใจก็น่าจะเป็น ‘ราฮิม ลาลา’ (Rahim Lala) มาเฟียชาวปาทาน ที่นับถือคังคุไบเหมือนเป็นน้องสาว และเป็นผู้ใช้อิทธิพลเพื่อสนับสนุนคังคุไบอยู่เบื้องหลัง ที่รับบทโดย ‘อชัย เทวคัน’ (Ajay Devgn) ที่ไม่ใช่เพียงแค่ตัวละครที่แต่งขึ้น แต่เป็นตัวละครที่อ้างอิงมาจากมาเฟียตัวจริง ที่ครั้งหนึ่งเคยสามารถสร้างอำนาจผ่านธุรกิจใต้ดิน และแผ่อิทธิพลไปทั่วทั้งเมือง ราวกับว่าเป็นเสมือน ‘The Godfather’ แห่งมุมไบเลยก็ว่าได้
‘การิม ลาลา’ (Karim Lala) เกิดเมื่อปี 1911 มีชื่อเดิมว่า ‘อับดุล การิม เชอร์ ข่าน’ (Abdul Karim Sher Khan) เป็นชาวอัฟกัน ที่เติบโตในครอบครัวชาวมุสลิมในหมู่บ้านซามาลัม (Samalam Village) เขตเซฮ์กัล (Shegal) จังหวัดคูนาร์ (Kunar) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอัฟกานิสถาน
จนกระทั่งในช่วงปี 1920 เขาและครอบครัวอพยพย้ายมาตั้งรกรากอยู่ในสลัมของชาวปัชตุน (Pashtun) หรือชาวปาทาน (Paštanh) หรือชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในอินเดีย ในย่านที่เรียกว่า ‘เบนดิ บาร์ซา’ (Bhendi Bazaar) ซึ่งเป็นย่านสลัมแออัด มีประชากรหนาแน่นและยากจนที่สุด ที่ตั้งอยู่บริเวณทางตอนใต้ของเมืองบอมเบย์ (Bombay) (หรือเมืองมุมไบ (Mumbai) ในปัจจุบัน) และยังเป็นย่านที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม
ในช่วงวัยรุ่น เขาเริ่มต้นอาชีพจากการเป็นคนงานธรรมดา ๆ ในท่าเรือของมุมไบ ต่อมา เขาได้มีโอกาสร่วมกลุ่มมาเฟียชาวปาทาน ที่ทำงานเป็นเจ้าหนี้ให้กู้ยืมเงินแบบผิดกฏหมาย ให้กับนักธุรกิจและชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวมาร์วารี (Marwari) และคุชราต (Gujarati) ที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของมุมไบ สมาชิกแก๊งปาทานโดยปกติแล้วมักจะมีรูปร่างที่สูงใหญ่กำยำ พวกเขาจึงมักใช้ความได้เปรียบนี้ในการไล่ทวงหนี้กับลูกหนี้ด้วยการคุกคาม รวมทั้งไล่ยึดทรัพย์สิน และขับไล่เจ้าหนี้ที่เป็นผู้เช่าอาคารบ้านเรือนออกจากพื้นที่อย่างโหดเหี้ยม
หลังจากที่เป็นสมาชิกของกลุ่มได้ไม่นาน การิมได้เลื่อนขึ้นมาเป็นหัวหน้าของมาเฟียปาทาน และเปลี่ยนชื่อตัวเองใหม่เป็น ‘การิม ลาลา’ (Karim Lala) เขาค่อย ๆ ขยายธุรกิจสีดำผิดกฏหมายหลายชนิด ทั้งเงินกู้นอกระบบ ยาเสพติด โรงงานกลั่นสุรา บังคับไล่ที่ ปลอมแปลงธนบัตร
เขายังได้จัดตั้งกลุ่มเกมคาร์รอม (Carrom clubs – เกมบนโต๊ะชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในอินเดีย) เพื่อบังหน้าในการประกอบธุรกิจผิดกฏหมาย ทั้งการพนัน ฟอกเงิน และเรียกค่าคุ้มครอง ทำให้ตลอด 2 ทศวรรษที่เขาขึ้นมาเป็นผู้นำแห่งกลุ่มมาเฟีย ทำให้กลุ่มอิทธิพลภายใต้การนำของเขา ทำให้เขามีอิทธิพล และสั่งสมอำนาจออกไปทั่วทั้งตอนใต้ของบอมเบย์ และเป็นกลุ่มมาเฟียที่มีชื่อเสียงด้านการปล่อยเงินกู้ ลักพาตัว และจ้างวานฆ่า
การิมยังได้จัด ‘ดูร์บาร์’ (Durbar) หรือคล้าย ๆ กับศาลหรือบัลลังก์ขึ้นในทุก ๆ สัปดาห์ เพื่อเปิดให้ผู้คนที่มีความคับข้องใจ หรือมีปัญหาด้านการเงิน เข้ามาขอความช่วยเหลือแก่เขา เขามักให้ความช่วยเหลือในหลายรูปแบบ ทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน หรือใช้ลูกน้อง และอิทธิพลของเขาในการจัดการปัญหา รวมทั้งการใช้ศาลเตี้ยจัดการปัญหาให้กับผู้ที่ร้องเรียน ว่ากันว่า เคยมีนักแสดงบอลลีวูดเข้ามาหาการิมเพื่อขอความช่วยเหลือด้วยเช่นกัน นั่นจึงทำให้เขาได้รับความเคารพนับถือ และเกรงกลัวของคนในเมือง เสมือนหนึ่งเป็นผู้นำของเมืองบอมเบย์
นอกจากนี้ เขาเองก็ยังดำเนินกิจการถูกกฏหมายไปควบคู่กัน ทั้งกิจการโรงแรม 2 แห่งในมุมไบ ที่มีชื่อว่า ‘อัล คาริม’ (Al Karim) และ นิว อินเดีย (New India) รวมทั้งกิจการด้านการท่องเที่ยวที่มีชื่อว่า ‘นิว อินเดีย ทัวร์ แอนด์ ทราเวล’ (New India Tours and Travels) อีกด้วย
แม้การิมเองจะประสบความสำเร็จในการดำเนินเส้นทางบนสายมาเฟีย และสายธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว แต่กลับพบว่าเขามักดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย เขาแต่งงานกับผู้หญิงสองคน และมีลูกสาวจากภรรยาของแต่ละคน อีกทั้งยังรับหลานชายมาเลี้ยงเป็นเสมือนลูกชายของเขาคนหนึ่ง
ด้วยอิทธิพลอันแข็งแกร่งทำให้เขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับดาราบอลลีวูดหลายคน เขามักจัดงานอีด (Eid – วันเฉลิมฉลองในศาสนาอิสลาม) อย่างยิ่งใหญ่ และเชิญดาราบอลลีวูดจากทั่วฟ้าเมืองอินเดียมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง แต่ถึงแม้เขาจะมีความสัมพันธ์กับบอลลีวูดอย่างแน่นแฟ้น แต่เขาก็เป็นคนที่ไม่ชอบดูหนัง เพราะเขาไม่ชอบทนนั่งนาน ๆ
เขาเองยังมีความสัมพันธ์กับบุคคลทางการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติอีกหลายคน ได้พบกับนักการเมือง ผู้นำรัฐสภาหลายต่อหลายครั้ง และยังเคยได้มีโอกาสพบกับ ‘อินทิรา คานธี’ (Indira Gandhi) นายกรัฐมนตรีหญิงของอินเดีย ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 วาระอยู่หลาย ๆ ครั้งด้วย
ด้วยอิทธิพลของเขาที่แข็งแกร่ง ทำให้ในทศวรรษที่ 1960 – 1970 เขากลายมาเป็นหนึ่งในสามเจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพล หรือที่เรียกกันว่า ‘เจ้าพ่อมาเฟียแห่งมุมไบ’ (Mafia Dons of Mumbai) ซึ่งประกอบไปด้วย การิม ลาลา ‘ฮาจิ มัสตัน’ (Haji Mastan) และ ‘วรัทยาจัน มุดาเลียร์’ (Varadarajan Mudaliar) ด้วยเหตุนี้ ทั้งสามจึงได้ตกลงที่จะแบ่งเขตการคุ้มครองในมมุมไบออกจากกัน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจใต้ดินในเขตพื้นที่ของตนเองได้อย่างอิสระโดยไม่มีความขัดแย้งระหว่างกัน
ด้วยปัญหาสุขภาพที่เริ่มรุมเร้าในช่วงปลายทศวรรษ 1970 การิมจึงตัดสินใจวางมือ และค่อย ๆ โอนถ่ายกิจการใต้ดิน รวมทั้งอำนาจมาเฟียแห่งแก๊งปาทานไปให้กับ ‘ซาเหม็ด ข่าน’ (Samad Khan) หลานชายของเขา แต่ในยุค 1980 การดำเนินงานธุรกิจใต้ดินของซาเหม็ดกลับทำให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มของ ‘ดาวุด อิบราฮิม’ (Dawood Ibrahim) แก๊งปาทานของการิมไล่สังหาร ‘ชาเบีย อิบราฮิม’ (Shabir Ibrahim) น้องชายของดาวุดตอนกลางวันแสก ๆ ทำให้ดาวุด ตัดสินใจสั่งให้สังหารซาเหม็ดลงในปี 1986 การล้างแค้นในครั้งนี้ทำให้ดาวุดหนีคดีออกนอกประเทศอินเดียนับตั้งแต่นั้นเป็นมา
การิม ลาลา เสียชีวิตลงในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2002 ด้วยวัย 90 ปี เรื่องราวและบุคลิกของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างคาแรกเตอร์ทั้งในภาพยนตร์และนวนิยายหลายเรื่อง เรื่องแรกที่ปรากฏชัดก็คือ ‘Zanjeer’ (1973) ‘เซอร์ ข่าน’ (Sher khan) ที่นำแสดงโดยนักแสดงที่ชื่อว่า ‘ปราณ’ (Pran) ที่มีบุคลิกท่าทางคล้ายคลึงกับลาลา
รวมทั้งตัวละคร ‘อับเดล คาห์เดอร์ ข่าน’ (Abdel Khader Khan) ในนวนิยาย ‘ชานทาราม’ (Shantaram) เขียนโดยนักเขียนชาวออสเตรเลีย ‘เกรกอรี เดวิด โรเบิร์ตส์’ (Gregory David Roberts) ตีพิมพ์ในปี 2003 ที่ว่าด้วยเรื่องของโจรปล้นธนาคารที่หลบหนีจากออสเตรเลียไปยังบอมเบย์ในช่วงปลายยุค 1980
รวมทั้งยังเป็นต้นแบบของตัวละคร ‘ราฮิม ลาลา’ (Rahim Lala) มาเฟียชาวปาทาน แสดงโดย ‘อชัย เทวคัน’ (Ajay Devgn) ในภาพยนตร์ ‘Gangubai Kathiwadi’ (2022) ที่อ้างอิงมาจากคาริม ลาลาด้วยเช่นกัน
ที่มา: wikibio, wikipedia, indianexpress, spicecinemas, indiatvnews, indiatimes, moneycontrol
พิสูน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส