หากถามว่าดนตรีประเภทไหนที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง แกรมมี อวอร์ดส (Grammy Awards) มากที่สุดเกือบทุกปี หวยคงมาตกที่ดนตรีที่มีชื่อคล้องจองกันอย่าง ‘ฮิปฮอป (Hiphop)’
‘ฮิปฮอป’ เป็นดนตรีที่มีการพัฒนามาจากดนตรีแบล็ก มิวสิค (Black Music) ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นดนตรีบลูส์, กอสเปล, โซล, ฟังก์ และโดยเฉพาะ ‘ดนตรีแจ๊ส’ ซึ่งเปรียบเสมือนรากของดนตรีฮิปฮอปในปัจจุบัน
ฮิปฮอปเริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงต้นยุค 70s ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐฯ โดยเฉพาะเมืองฝั่งอีสต์โคสต์อย่างนิวยอร์ก ซิตี้ เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง สภาเมืองต้องตัดงบประมาณด้านการศึกษา ผนวกกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังมานาน โดยเฉพาะย่านบรองซ์ ในนิวยอร์ก ที่ผู้คนตกงานจำนวนมาก แถมสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ก็มีอาชญากรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ด้วยเหตุนี้ผู้คนที่สิ้นหวังในการใช้ชีวิต ก็พยายามค้นพบหนทางสู่ความสุขของตัวเองเท่าที่จะเป็นไปได้ หนึ่งในนั้นก็คือชายที่ชื่อ ‘แอฟริกา แบมบาตา (Afrika Bambaataa)’
แบมบาตาเป็นชายคนแรก ๆ ที่เริ่มต้นพัฒนาดนตรีฮิปฮอปขึ้นมา เขาเริ่มจากการนำแผ่นเสียงของศิลปินผิวสียุคดิสโก้หรือแจ๊ส มาเปิดคู่กับเทิร์นเทเบิลของเขา ก่อนจะจัดปาร์ตี้เล็ก ๆ ในห้องนอนของตัวเอง ซึ่งความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ได้ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายไปในหมู่ของคนผิวสีทั่วประเทศ
ฟากฝั่งเวสต์โคสต์ ฮิปฮอปของที่นี่มีจุดเริ่มต้นที่คล้ายคลึงกัน หลังจากที่วัฒนธรรมดีเจแพร่ขยายไปทั่วสหรัฐฯ ดีเจอายุน้อยหลายคนก็เริ่มนำผลงานแผ่นเสียงของศิลปินแจ๊สยุคฟรีแจ๊ส, อวอง การ์ด, ฮาร์ดบ็อพ อย่าง ออร์เน็ตต์ โคลแมน (Ornette Coleman), อัลเบิร์ต ไอย์เลอร์ (Albert Ayler), เฮอร์บี แฮนค็อก (Herbie Hancock) หรือ จอห์น โคลเทรน (John Coltrane) ในยุคหลัง ๆ (อัลบั้ม ‘A Love Supreme’) มา Loop หรือทำ Sampling เรียกได้ว่านำสุ้มเสียงเก่า ๆ เหล่านั้นมาขัดสีฉวีวันใหม่ในแบบฉบับของตัวเอง โดยดีเจคนแรก ๆ ที่คิดค้นสิ่งนี้ก็คือ Dr. Dre
พอ Dr. Dre เริ่มจากการนำแผ่นเสียงเหล่านั้น มาเล่นกับบีต (beat) ของเพลงมากขึ้นก็ก่อเกิดเป็นดนตรีแนวใหม่ที่มีชื่อว่า ‘ฮิปฮอป’ ในเวลาต่อมามีการแบ่งฮิปฮอปออกเป็น 2 แบบ นั่นก็คือแบบ อีสต์โคสต์ (East Coast) และ เวสต์โคสต์ (West Coast) ซึ่งฮิปฮอปทั้ง 2 แบบนี้ ค่อนข้างมีความใกล้เคียงกันอย่างมาก จะแตกต่างกันที่เรื่องซาวด์ และความหนักแน่นของเนื้อหาแค่นิดหน่อยเท่านั้น
อีสต์โคสต์ฮิปฮอป จุดเริ่มต้นมาจากนิวยอร์ก ซิตี้ มีศิลปินชูโรงอย่าง The Notorious B.I.G., DJ Kool Herc หรือ Run-D.M.C. ส่วนเวสต์โคสต์ฮิปฮอป จุดเริ่มต้นมาจากลอสแอนเจลิส มีศิลปินชูโรงอย่าง N.W.A, Snoop Dogg, ทูพัค ชาเคอร์ (Tupac Shakur) หรือ เคนดริก ลามาร์ (Kendrick Lamar) ในปัจจุบัน
‘แรป (Rap)’ คือการพูดในลักษณะคำกลอนลงบนจังหวะเพลง วิธีการร้องมักจะคล้ายกับเสียงพูด ซึ่งแรปถือเป็นองค์สำคัญประกอบของวัฒนธรรมดนตรีฮิปฮอป การแรปส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับทุกอย่างบนโลก ทั้งเรื่องสังคม ความรัก หรือแม้กระทั่งการเมือง เรามักจะเรียกศิลปินที่แรปว่า ‘แรปเปอร์’
นักประวัติศาสตร์ดนตรีหลายคนเคยพูดไว้ว่า แท้จริงแล้ว ‘แรป’ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมคนผิวสีมาอย่างยาวนาน ย้อนกลับไปช่วงปี 1800 สมัยนั้นคนผิวสีที่ทุกข์ทรมานจากการเป็นทาส มักจะระบายความอัดอั้นในใจผ่านการพูดประกอบดนตรี (Speech-song) ซึ่งสิ่งนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของดนตรีกอสเปล บลูส์ แจ๊ส และฮิปฮอปในเวลาต่อมา
‘แรปเปอร์ (Rapper)’ มักจะใช้การแรปของตัวเองเป็นตัวสะท้อนสิ่งที่พวกเขาคิดต่อสังคมหรือโลก หากให้ยกตัวอย่างศิลปินแรปที่โดดเด่นในเรื่องนี้ ก็คงหนีไม่พ้นวง N.W.A ที่มักจะใช้การแรปของพวกเขาสะท้อนปัญหาโครงสร้างสังคม โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาการใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อคนผิวสีในคอมป์ตัน ในตอนนั้นเพลงส่วนใหญ่ของ N.W.A หลายเพลงมีท่อนแรปด่า จนท.ตำรวจ ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงอย่างมาก จนหลายครั้งทางวงถูกแบนจากการเล่นคอนเสิร์ตหรือทำอัลบั้มเลยทีเดียว พวกเขาเปรียบการแรปของตัวเองเป็นการระบายความรู้สึกต่อการถูกกดขี่ทางด้านเชื้อชาติ ถ้าใครเคยได้ชมหนัง ‘Straight Outta Compton’ ก็คงได้เห็นฉากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับคนผิวสีในเมืองคอมป์ตันอยู่แทบจะทั้งเรื่อง
โลกของดนตรีฮิปฮอป มีหัวใจอยู่ที่การแรปอย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น และบ่อยครั้งที่แรปเปอร์มักจะคิดค้นศัพท์แสลงใหม่ ๆ ขึ้นมา จนเป็นคำศัพท์ที่รู้กันและถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายจวบจนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่นอัลบั้ม ’The Chronic’ ผลงานเดี่ยวชุดแรกในปี 1992 ของ Dr. Dre มีการสร้างสรรค์คำเฉพาะขึ้นมาใหม่มากมาย โดยคำเหล่านี้มาจาก Snoop Dogg ที่เปลี่ยนคำต่าง ๆ โดยการเพิ่มคำว่า “izzle” ต่อท้ายคำเหล่านั้น จนกลายมาเป็นศัพท์ใหม่มากมาย ยกตัวอย่างเช่นคำว่าบ้าน (house) ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น “hizzouse” หรือคำว่าแน่นอน (for sure) ก็ถูกเปลี่ยนเป็นคำว่า “fo’shizzle” แทน
ถ้าพูดถึงดนตรีแรปหรือฮิปฮอปสมัยใหม่ ศิลปินหลายคนมักจะย้อนกลับไปหาสุ้มเสียงแบบเดิม ๆ ในยุค 60s – 80s จะเห็นได้ว่า เคนดริก ลามาร์ หันมาสนใจดนตรีแจ๊ส และนีโอ โซลมากขึ้นโดยผลงานที่เห็นได้ชัดคือ ‘To Pimp A Butterfly’ ซึ่งเป็นอัลบั้มที่มีส่วนผสมของดนตรีแจ๊สหนักมาก เช่นเดียวกับ เจ. โคล (J. Cole) เอง กับอัลบั้ม ‘4 Your Eyez Only’ ก็เต็มไปด้วยอิทธิพลของดนตรีโซลและแจ๊สอัดแน่นอยู่ในนั้น
การแรปในปัจจุบัน มักจะมีเนื้อหาที่สะท้อนถึงปัญหาสังคม เรื่องของการเสียดสีตำรวจอาจจะน้อยลง (แต่ยังคงมีอยู่) แต่เรื่องของเชื้อชาติยังคงเป็นสิ่งที่เราได้เห็นอยู่แทบจะทุกวัน Childish Gambino หรือ โดนัลด์ โกลเวอร์ (Donald Grover) นักร้องนักแสดงหนุ่ม ฝากผลงานที่สะท้อนปัญหาสังคมในอเมริกันได้อย่างแอบยลที่สุด ในมิวสิควิดีโอระดับไวรัลของเขาอย่าง ‘This Is America’ เขาได้สะท้อนสัญลักษณ์ทางการเมืองมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจำลองเหตุการณ์การยิงกราดในโรงเรียน ความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืน หรือเหยียดเชื้อชาติในสังคมสหรัฐฯ
ปัจจุบันนอกจากดนตรีฮิปฮอปจะกลายมาเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมดนตรีโลกแล้ว มันยังแทรกซึมอยู่ในวัฒนธรรมอื่น ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ กีฬา หรือแม้กระทั่งแฟชัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้ดนตรีที่เคยถูกสร้างขึ้นจากในห้องนอน ได้กลายมาเป็นดนตรีที่มีอิทธิพลต่อคนทั้งโลก
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส