ในภาพยนตร์ ‘Jurassic World Dominion’ หรือ ‘จูราสสิคเวิลด์ ทวงคืนอาณาจักร’ ไฮไลต์ที่สำคัญที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือ การปรากฏตัวของไดโนเสาร์พันธุ์ต่าง ๆ ที่คราวนี้ไม่ใช่แค่คืนชีพขึ้นมาในสวนสนุกเฉย ๆ แต่ในภาคนี้ พวกมันจะออกโลดแล่นไปอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ เสมือนว่ากลับมาคืนชีพบนโลกนี้อีกครั้ง
และในฐานะที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นการปิดไตรภาค ‘จูราสสิคเวิลด์’ (Jurassic World) อย่างเป็นทางการ เลยจัดเต็มไดโนเสาร์ ทั้งที่เคยมีอยู่จริง และที่ดัดแปลงพันธุกรรมขนกันมานับสิบพันธ์ุ ทั้งไดโนเสาร์ที่เราคุ้นเคยกันจากภาคก่อน ๆ อย่าง ‘ป้าเร็กซี’ ไดโนเสาร์พันธุ์ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus Rex) เจ้า ‘บลู’ ไดโนเสาร์เวโลซีแรปเตอร์ (Velociraptor) ที่มาพร้อมกับลูกน้อยชื่อ ‘เดลตา’
รวมทั้งไดโนเสาร์หน้าใหม่อีกหลายพันธ์ุ เช่น ไตรเซอราท็อปส์ (Triceratops) โมซาซอรัส (Mosasaurus) ไดโนเสาร์ใต้ทะเล ไดโลโฟซอรัส (Dilophosaurus) ไดโนเสาร์ที่มีแผงคอใหญ่ยักษ์แปลกตา และที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ใหญ่สุดเรื่องก็คือ น้อน ‘จิแกนโนโตซอรัส’ (Giganotosaurus) ไดโนเสาร์กินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในภาพยนตร์
บทความนี้ขอพาทุกท่านท่องโลกไดโนเสาร์ ไปพบกับพี่เบิ้มจิแกนโนโตซอรัส ไดโนเสาร์กินเนื้อที่ใหญ่ติดอันดับ 3 ของโลกยุคครีเตเชียส ที่มีอะไรหลายอย่างคล้ายกับทีเร็กซ์ตัวนี้กัน
ฟอสซิลแห่งที่ราบสูงปาตาโกเนีย
‘จิแกนโนโตซอรัส’ (Giganotosaurus) เป็นพันธุ์หนึ่งของไดโนเสาร์จำพวกเธอโรพอด* (Theropod – ไดโนเสาร์กินเนื้อที่เดินด้วยสองขา) เป็นไดโนเสาร์ที่อาศัยอยู่ในสมัยซีโนมาเนียน (Cenomanian) ปลายยุคครีเทเชียส (Cretaceous) เมื่อประมาณ 99.6 – 97 ล้านปีก่อน
โครงกระดูกต้นแบบ หรือโฮโลไทป์ (Holotype) ของจิแกนโนโตซอรัส ถูกขุดพบเป็นครั้งแรกในชั้นหินใต้ดินส่วนที่เรียกว่า Candeleros Formation ในบริเวณเขตที่ราบสูงปาตาโกเนีย (Patagonia) ประเทศอาร์เจนตินาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเขตที่อยู่ปลายใต้สุดของทวีปแอฟริกาใต้ ในปี 1993 โดย ‘รูเบน ดี. คาโรลินี’ (Rubén D. Carolini) นักขุดฟอสซิลมือสมัครเล่น
คาโรลินีค้นพบโครงกระดูกของเธอโรพอดโดยบังเอิญในระหว่างที่เขาขับรถผ่านทุ่งรกร้าง บีญา เอล โชกอน (Villa El Chocón) เมืองนิวเกวน (Neuquén) เขตปาตาโกเนีย หลังจากนั้น จึงได้มีการระดมทีมผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโคมาฮู (National University of Comahue) มาร่วมขุดค้น
ฟอสซิลที่เป็นโฮโลไทป์ชุดแรกนี้มีความสมบูรณ์ราว ๆ 70% ส่วนใหญ๋ประกอบไปด้วยโครงกระดูกส่วนลำตัว เช่น กระดูกสันหลัง โครงกระดูกส่วนอก สะโพก ต้นขา หน้าแข้ง และกะโหลกศีรษะบางส่วนที่แยกส่วนกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณผืนดินกว้างประมาณ 110 ตารางฟุต โดยได้มีการตั้งชื่อคร่าว ๆ ให้กับฟอสซิลที่คาดว่าน่าจะเป็นไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ไว้ก่อนว่า ‘G.Carolini’ เพื่อเป็นเกียรติแก่คาโรลินี ผู้ที่ค้นพบฟอสซิลเป็นคนแรก ๆ
ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดยักษ์พันธ์ุใหม่
ในปี 1994 นักบรรพชีวินวิทยาชาวอาร์เจนตินา ‘โรดอลโฟ โคเรีย’ (Rodolfo Coria) และ ‘เลโอนาร์โด ซัลกาโด’ (Leonardo Salgado) ได้ประกาศการค้นพบนี้ในระหว่างการประชุมสมาคมบรรพชีวินวิทยาของสัตว์มีกระดูกสันหลัง (Society of Vertebrate Paleontology – SVP) ในขณะนั้น ‘ดอน เลสเซ็ม’ (Don Lessem) นักเขียนด้านวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์ชาวอเมริกัน รู้สึกประทับใจการขุดค้นหลังจากที่ได้เห็นภาพถ่ายฟอสซิลบางส่วน จึงได้สมทบทุนสนับสนุนการขุดค้นในครั้งนี้ด้วย
21 กันยายน ปี 1995 โคเรีย และซัลกาโด ได้ทำการตีพิมพ์งานวิจัยรายละเอียดการค้นพบ ‘ฟอสซิลไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดยักษ์พันธ์ุใหม่ จากยุคครีเตเชียสแห่งปาตาโกเนีย’ ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature โดยได้มีการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ให้กับไดโนเสาร์ชนิดนี้ว่า ‘Giganotosaurus Carolinii’ (จิแกนโนโตซอรัส คาโรลินี)
‘กิ้งก่ายักษ์จากแดนใต้’
ชื่อสามัญ ‘Giganotosaurus’ มาจากการผสมคำจากภาษากรีกโบราณ คำว่า ‘Giga / γίγας’ (จิกะ) หมายถึง ‘ยักษ์’, ‘Notos/ νότος’ (โนโตส) หมายถึง ‘ทิศใต้’ และ ‘Sauros/- σαύρος’ (ซอรอส/ซอรัส) หมายถึง ‘กิ้งก่า’ เมื่อรวมกันแล้วได้ความหมายว่า ‘กิ้งก่ายักษ์จากแดนใต้’
ส่วน ‘Carolinii’ เป็นชื่อเฉพาะ (Specific Name) ที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่รูเบน ดี. คาโรลินี ผู้ค้นพบ ปัจจุบันนี้ฟอสซิลของจิแกนโนโตซอรัส ยังคงจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยาเออร์เนสโต บัคมันน์ (Ernesto Bachmann Paleontological Museum) ที่ตั้งอยู่ในบริเวณ บีญา เอล โชกอน ประเทศอาร์เจนตินา ตามความต้องการของคาโรลินี
หลังการเผยแพร่การค้นพบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ในวารสาร Nature จิแกนโนโตซอรัสลกลายมาเป็นที่สนใจในวงการวิทยาศาสตร์และวงการบรรพชีวินเป็นอย่างมาก เพราะมันได้ทำลายสถิติไดโนเสาร์เธอโรพอตในวงศ์ ‘คาร์คาโรดอนโตซอริแด’ (Carcharodontosauridae – กิ้งก่าฟันฉลาม) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แทนที่ ‘ไทแรนโนซอรัส’ (Tyrannosaurus) หรือ ‘ที-เร็กซ์’ (T-Rex) ไดโนเสาร์รุ่นท้าย ๆ ของยุคไดโนเสาร์ (ปรากฏในช่วงปลายยุคครีเตเชียส ประมาณ 68 – 66 ล้านปี) ที่เคยครองตำแหน่งไดโนเสาร์กินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาอย่างยาวนาน
ขนาด ‘ที่แท้จริง’ ของจิแกนโนโตซอรัส
แม้ฟอสซิลของจิแกนโนโตซอรัสที่ขุดเจอจะมีชิ้นส่วนไม่ครบสมบูรณ์ดี ทำให้การระบุขนาดและรูปร่างที่แน่นอนของทำได้ค่อนข้างยาก แต่จากการวิเคราะห์ฟอสซิล 2 ชุด พบว่า ชุดที่เป็นโฮโลไทป์ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature เมื่อปี 1995 นั้นเป็นฟอสซิลขนาดโตเต็มวัย แต่จากการวิเคราะห์ฟอสซิลชุดที่ 2 ที่ถูกขุดพบในปี 1998 ทำให้สามารถประเมินได้ว่า มันน่าจะมีความจากหัวถึงหาง 12 – 13 เมตร (ยาวใกล้เคียงกับทีเร็กซ์) ความสูงประมาณ 7 เมตร น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 6.6 – 8 ตัน หรือมีน้ำหนักเท่ากับคน 125 คนรวมกัน แม้ขนาดตัวของมันจะใหญ่กว่าทีเร็กซ์ แต่น้ำหนักกล้ามเนื้อโดยเฉลี่ยของมันก็ยังถือว่าน้อยกว่าทีเร็กซ์ ที่มีความอุ้ยอ้ายเพราะมีกล้ามเนื้อที่หนักและหนากว่า
แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังไม่ใช่ไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะจริง ๆ แล้วมันเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในโลกอันดับที่ 3 รองจาก สไปโนซอรัส (Spinosaurus) และ คาร์คาโรดอนโทซอรัส (Carcharodontosaurus) ด้วยความที่ตัวของมันเองเป็นสัตว์เลือดอุ่นที่มีระบบเมตาบอลิซึมที่ก้ำกึ่งระหว่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลื้อยคลาน ทำให้ตัวมันเองสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว จาการคำนวณมวลจากซากฟอสซิลที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Vertebrate Paleontology ในปี 2007 ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จิแกนโนโตซอรัสอาจมีน้ำหนักมากถึง 15 ตัน
วิธีการล่าเหยื่อของจิแกนโนโตซอรัส
จิแกนโนโตซอรัสมีความยาวกะโหลกศีรษะ 1.5 ถึง 1.8 เมตร เชื่อมกับกระดูกสันหลังที่มีขนาดแบนและสั้น กะโหลกศีรษะอยู่ในตำแหน่งต่ำ มีกระดูกคอที่แข็งแรง บริเวณจมูกจนถึงดวงตามีหงอน มีกระดูกยื่นออกมาจากคางเล็กน้อย ขากรรไกรแบนราบ ฟันมีลักษณะเป็นฟันเลื่อยคล้ายกับฟันของฉลาม ทำให้จิแกนโนโตซอรัสมักล่าเหยื่อด้วยวิธีการเฉือนเหยื่อด้วยฟันล่างอันคมกริบ จนเหยื่อเกิดบาดแผล เสียเลือดและตายในที่สุด
ต่างจากทีเร็กซ์ ที่มักจะใช้วิธีการกัด เจาะ และล็อกเหยื่อด้วยฟันที่มีความแหลมเหมือนหอก ก่อนจะใช้กล้ามเนื้อคอที่แข็งแรง ออกแรงเหวี่ยง สะบัด กระชากเหยื่อจนกว่าจะขาด (ทีเร็กซ์สามารถกัดช้างและออกแรงเหวี่ยงได้สบาย ๆ ) ทำให้ทีเร็กซ์มีแรงกัดสูงถึง 6,000 กิโลกรัม ถือว่าเป็นสัตว์บกที่มีแรงกัดมากที่สุดในโลก ส่วนจิแกนโนโตซอรัสมีแรงกัดเพียง 1,427 กิโลกรัม น้อยกว่าทีเร็กซ์ประมาณ 3-4 เท่า ซึ่งถือว่าเบามากหากเทียบกับขนาดตัว
เหยื่อของจิแกนโนโตซอรัสส่วนใหญ่จะเป็นไดโนเสาร์จำพวกซอโรพอด (Sauropod) ที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น อาร์เจนติโนซอรัส (Argentinosaurus) แต่ก็มีการสันนิษฐานเพิ่มเติมอีกว่า ลำพังจิแกนโนโตซอรัสเพียงตัวเดียว อาจไม่สามารถโค่นอาร์เจนติโนซอรัส ที่มีขนาดใหญ่ยักษ์ถึง 37-40 เมตร หนักถึง 75-80 ตันได้ง่าย ๆ มันเลยมักจะกินอาร์เจนติโนซอรัส และซอโรพอดวัยเด็กพันธุ์อื่น ๆ ที่ยังไม่โตเต็มที่เสียมากกว่า
จิแกนโนโตซอรัส ปะทะ ทีเร็กซ์
อีกความได้เปรียบของมันก็คือ มันมีความสามารถในการวิ่งได้อย่างรวดเร็ว จากการวิเคราะห์ฟอสซิล พบว่า ด้วยขาที่ยาวและใหญ่โต ทำให้มันสามารถวิ่งทำความเร็วได้มากถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อีกทั้งสามารถเดินหน้าและถอยหลังได้อย่างคล่องแคล่ว รวมทั้งหางที่มีลักษณะบางและแหลม ทำให้สามารถรักษาสมดุลและควบคุมทิศทางของร่างกายได้ดี และเข้าจู่โจมเหยื่อได้อย่างรวดเร็ว
ในขณะที่กล้ามเนื้อขาของทีเร็กซ์จะมีขนาดที่ใหญ่กว่า เมื่อเทียบกับสัดส่วนร่างกาย ทำให้มันสามารถวิ่งได้เร็วสูงสุดเพียง 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น (นึกภาพทีเร็กซ์เหมือนนักกล้าม ที่มีกล้ามเนื้อแน่นแต่วิ่งได้ช้า ส่วนจิแกนโนโตซอรัสเหมือนนักมวย ที่กล้ามเนื้อน้อยกว่า แต่ออกวิ่งได้เร็วและคล่องแคล่วกว่า)
แต่ถึงมันจะมีขนาดร่างกายและขนาดกะโหลกศีรษะขนาดใหญ่มาก ๆ แต่กลับพบว่า จริง ๆ แล้วสมองของมันมีขนาดเล็กมาก ๆ เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวที่ใหญ่มหาศาล หากมองภาพตัดของกะโหลกศีรษะจากด้านบน จะพบว่ากะโหลกของจิแกนโนโตซอรัสนั้นเรียวและแคบกว่าทีเร็กซ์ที่มีลักษณะของกะโหลกกว้างกว่ามาก ทำให้ตัวมันเองมีความฉลาดค่อนข้างน้อย เพราะมีขนาดสมองที่เล็กกว่าของทีเร็กซ์ถึงครึ่งหนึ่ง และยังมีขนาดสมองที่เล็กกว่าสมองของไดโนเสาร์ร่วมยุคครีเตเชียสตอนกลางและตอนปลายโดยค่าเฉลี่ยด้วย
รวมทั้งมันยังมีดวงตาที่มีลักษณะโปนออกด้านข้างคล้ายกิ้งก่า ทำให้มันมองเห็นภาพแบบ 2 มุมมอง (แต่ภาพจะไม่ค่อยคมชัด) เนื่องจากวิวัฒนาการตามสภาพแวดล้อม ที่ช่วยให้มันสามารถมองภาพมุมกว้างบนทุ่งปาตาโกเนียในยุคครีเตเชียสที่มีลักษณะพื้นที่ราบเป็นส่วนใหญ่ได้อย่างง่ายดาย ต่างจากทีเร็กซ์ ที่แม้จะมีมุมมองการรับภาพที่แคบกว่า แต่ก็สามารถรับและรวมภาพจากทั้ง 2 ตาเป็นมุมมองเดียวได้คมชัดคล้ายดวงตามนุษย์ ทำให้ทีเร็กซ์สามารถมองหาเหยื่อ วางแผน และออกล่าได้อย่างชาญฉลาด
ส่วนจิแกนโนโตซอรัส นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า น่าจะใช้วิธีการล่าเหยื่อร่วมกันเป็นกลุ่ม ๆ มากกว่าที่จะออกลุยเดี่ยว เนื่องจากมีการพบกลุ่มซากฟอสซิลของมาพูซอรัส (Mapusaurus) ไดโนเสาร์ที่อาศัยอยู่ในยุคครีเตเชียสตอนต้นที่ตายรวมกันเป็นกลุ่ม ทำให้นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า จิแกนโนโตซอรัสที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน และมีลักษณะคล้ายคลึงกับมาพูซอรัส ก็น่าจะมีลักษณะการล่าเหยื่อเป็นกลุ่มด้วยเช่นเดียวกัน
การปรากฏตัวในแฟรนไชส์ ‘จูราสสิก เวิลด์’ (Jurassic World)
จิแกนโนโตซอรัสปรากฏชื่อครั้งแรกในภาพยนตร์ ‘Jurassic World’ (2015) แต่ไม่ได้ปรากฏกายขึ้นมาเป็นไดโนเสาร์ แต่มาในรูปแบบของสารพันธุกรรมที่อยู่ในการครอบครองของบริษัทอินเจน (InGen) เพื่อใช้ในการดัดแปลงพันธุกรรมไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า ‘อินโดมินัส เร็กซ์’ (Indominus Rex) ที่มีขนาดใหญ่ แข็งแรง ฉลาด และดุร้ายกว่าทีเร็กซ์ทั่ว ๆ ไป
ส่วนในภาพยนตร์ ‘Jurassic World Dominion’ ร่างโคลนนิงของจิแกนโนโตซอรัส อาศัยอยู่บนเกาะของบริษัทไบโอซิน จีเนติกส์ (BioSyn Genetics) ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาโดโลไมต์ (Dolomite) ประเทศอิตาลี โดยไบโอซินคือผู้ขโมยตัวอ่อนไดโนเสาร์มาจากบริษัทอินเจน และได้รับสัญญาว่าจ้างให้จัดหาไดโนเสาร์ผ่านรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศ เพื่อเพาะพันธ์ุและวิจัยเพื่อศึกษาคุณค่าทางเภสัชกรรมของไดโนเสาร์ แต่แอบแฝงด้วยวิธีการได้มาของไดโนเสาร์ และการทดลองวิจัยด้วยวิธีการอันเลวร้าย ที่อาจส่งผลร้ายแรงต่อโลกอย่างที่ไม่อาจควบคุมได้
‘โคลิน เทรวอร์โรว์’ (Colin Trevorrow) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เปิดเผยเบื้องหลังในการเลือกไดโนเสาร์พันธุ์นี้ ผ่านบทสัมภาษณ์ของนิตยสาร Empire ว่า เหตุผลที่เขาต้องการให้จิแกนโนโตซอรัสมาปรากฏในภาพยนตร์ เพราะเขามองว่า “ผมอยากได้อะไรบางอย่างที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับโจ๊กเกอร์ (Joker – วายร้ายจากการ์ตูนและภาพยนตร์ ‘Batman’) น่ะครับ
“มันแค่อยากจะเห็นโลกที่กำลังมอดไหม้”
ที่มา: livescience, wikipedia, thoughtco, fossilera, dinosaurpictures, ngthai, empireonline
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส