หากไม่นับเหตุการณ์ตบสนั่นโลกของนักแสดงคู่เอกคู่นั้น ในงานประกาศผลรางวัล Academy Awards หรือ ‘ออสการ์ (Oscars)‘ ครั้งที่ 94 ประจำปี 2022 ที่จัดขึ้นเมื่อค่ำคืนของวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ต้องถือว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่มีประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ๆ ที่น่าจดจำเกิดขึ้นหลายต่อหลายอย่างมาก ๆ
โดยเฉพาะภาพยนตร์ ‘CODA’ (2021) ภาพยนตร์ออริจินัลสตรีมมิงสุดอบอุ่นหัวใจของ Apple TV ว่าด้วยเรื่องของลูกสาวที่เกิดมาในครอบครัวคนหูหนวก หรือที่เรียกกันว่าโคดา (CODA ย่อมาจาก Child of Deaf Adults – เด็กที่มีพ่อแม่เป็นคนหูหนวก) ที่สร้างประวัติศาสตร์ม้ามืด กลายเป็นภาพยนตร์ออริจินัลบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงเรื่องแรกที่สามารถคว้ารางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) มาครองได้สำเร็จ

อีกสาขาที่สำคัญก็คือ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Best Supporting Actor) ที่ตกเป็นของ ‘ทรอย คอตเซอร์’ (Troy Kotsur) ผู้รับบทคุณพ่อหูหนวก ที่กลายมาเป็นนักแสดงชายคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้เป็นคนหูหนวกคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์
เพราะคนแรกจริง ๆ ที่ได้รับออสการ์ นั่นคือนักแสดงหญิงรุ่นใหญ่ ผู้พิการทางการได้ยินตัวจริงอย่าง ‘มาร์ลี แมทลิน’ (Marlee Matlin) นักแสดงวัย 56 ปีผู้รับบทคุณแม่แจ็กกี รอสซี (Jackie Rossi) คุณแม่อารมณ์ดีในภาพยนตร์เรื่อง ‘CODA’ เรื่องเดียวกัน คือนักแสดงคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยม เมื่อปี 1987 หรือเมื่อ 35 ปีที่แล้ว

แมทลินเกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 1965 ในเขตมอร์ตัน โกลฟ์ (Morton Grove) รัฐอิลลินอยส์ (Illinois) สหรัฐอเมริกา ในครอบครัวชาวยิว เมื่อตอนที่เธออายุได้ 18 เดือน แมทลินเกิดอาการไข้ และอาการเจ็บป่วยนั้นลุกลามจนทำให้สูญเสียการได้ยินแบบหนวกสนิทที่หูข้างขวา และ 80% ที่หูข้างซ้าย เธอก็เป็น CODA เธอเป็นสมาชิกคนเดียวในครอบครัวที่มีปัญหาทางการได้ยิน ในขณะที่อีริก (Eric) และมาร์ก (Marc) พี่ชายอีก 2 คนของเธอนั้นได้ยินตามปกติ
ในวัยเด็ก เธอจึงต้องเรียนภาษาฮิบรูในรูปแบบของภาษามือ และเข้าร่วมชมรมสำหรับคนหูหนวกตามปกติเหมือนกับคนหูหนวกคนอื่น ๆ จนกระทั่งตอนที่แมทลินอายุได้ 7 ขวบ เธอได้มีโอกาสเข้าร่วมกับศูนย์ศิลปะนานาชาติของคนหูหนวก (International Center on Deafness and the Arts- ICODA) แห่งรัฐอิลลินอยส์ ที่นั่น เธอได้มีโอกาสร่วมแสดงละครเวทีเรื่อง ‘พ่อมดแห่งออซ’ (The Wizard of Oz) ซึ่งเธอได้มีโอกาสร่วมแสดงอย่างยาวนานหลายปี

จนเมื่อถึงวัยมัธยม เธอที่กำลังศึกษาชั้นมัธยมปลายที่จอห์น เฮอร์ซีย์ ไฮสกูล (John Hersey High School) เธอมีความสนใจด้านกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม เธอจึงใฝ่ฝันอยากจะเป็นตำรวจ จนได้เข้าศึกษาวิชากฏหมายที่วิทยาลัยชุมชน แต่เธอก็ต้องฝันสลาย เพราะกฏระเบียบไม่อนุญาตให้คนหูหนวกเข้าเป็นตำรวจ ชีวิตของเธอนอกจะต้องเผชิญกับชีวิตที่ยุ่งยากในฐานะคนหูหนวก เธอยังเปิดเผยว่า เธอเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ 2 ครั้งด้วย
แม้แมทลินจะประสบปัญหาจากการเป็นคนหูหนวก แต่แววการแสดงของเธอก็ไปเข้าตา ‘เฮนรี วิงเคลอร์’ (Henry Winkler) นักแสดง ผู้กำกับ และผู้อำนวยการสร้างชาวอเมริกัน หลังจากที่เขาได้ชมเธอแสดงละครเวทีเรื่องหนึ่งของ ICODA เขาจึงได้ชักชวนเธอให้มาร่วมแสดงในภาพยนตร์โรแมนติกดราม่า ‘Children of a Lesser God’ (1986) ที่ตัดแปลงมาจากบทละครเวทีในชื่อเดียวกัน

แมทลินรับบทเป็นซาราห์ นอร์แมน (Sarah Norman) ภารโรงสาวหูหนวกในโรงเรียนภาษาคนหูหนวกที่แม้จะข้ากับนักเรียนหูหนวกได้ดี แต่หัวดื้อ ไม่ยอมหัดพูดเหมือนคนอื่น ๆ จนกระทั่งได้พบกับเจมส์ ลีดส์ (James Leeds รับบทโดย วิลเลียม เฮิร์ต William Hurt) ครูสอนภาษาคนหูหนวกคนใหม่ เขาพยายามจะสอนเธอและเกิดความรักกันในที่สุด ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความนิยมในระดับที่ดี และได้รับคำชื่นชมในการแสดงและถ่ายทอดเรื่องราวของคนหูหนวกอย่างไร้อคติ
แต่ด้วยความที่เฺฮิร์ตเองเป็นนักแสดงยอดนิยมอยู่ก่อนแล้ว รวมทั้งการที่แมทลินเป็นนักแสดงหูหนวกที่ก้าวเข้ามาสู่วงการบันเทิงเป็นครั้งแรก ในยุคที่ฮอลลีวูดแทบจะไม่มีพื้นที่ให้กับคนพิการเลยด้วยซ้ำ ย่อมทำให้มีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น แต่ถึงกระนั้น การแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกของเธอก็ยังได้รับชมจากนักวิจารณ์หลายสำนัก
ทั้งนิตยสาร Time ที่กล่าวว่า “มีพรสวรรค์ที่ไม่ธรรมดา เต็มไปด้วยความฉลาด ไหวพริบที่เหลือร้าย แต่เข้าถึงได้ไม่ยาก” ส่วน The Washington Post กล่าวถึงเธอว่า “ความท้าทายของบทบาทนี้คือการสื่อสารโดยที่ไม่ต้องพูด แมทลินมีลักษณะคล้ายกับดาราในยุคหนังเงียบ เธอแสดงด้วยสายตาและท่าทางของเธอเอง”
ด้วยกระแสคำชื่นชม ทำให้เธอสามารถคว้ารางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาครอง และเธอก็สามารถก้าวไปอยู่จุดสูงสุดของอาชีพนักแสดงได้ ในงานประกาศรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 59 ประจำปี 1987 เธอสามารถสร้างประวัติศาสตร์ เข้าชิง และคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress in a Leading Role) กลายเป็นนักแสดงหูหนวกคนแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถคว้ารางวัลออสการ์ได้สำเร็จ
และสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ยิ่งกว่าก็คือ ในวันนั้นเธอมีอายุ 21 ปี ซึ่งถือเป็นนักแสดงที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลนี้ ชนะเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ (Jennifer Lawrence) ที่ได้รับออสการ์ตอนอายุ 22 ปี และเป็นนักแสดงหญิงคนที่ 4 ที่ได้รับรางวัลสาขานี้ จากการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก ต่อจาก บาร์บารา สไตรแซนด์ (Barbra Streisand), จูลี แอนดรูวส์ (Julie Andrews) และ เชอร์ลีย์ บูต (Shirley Booth)
ในวันนั้น เธอได้กล่าวความรู้สึกต่อแขกในงาน และต่อผู้ชมการถ่ายทอดสดทั่วโลกด้วยภาษามือ (แปลโดย แจ็ก เจสัน (Jack Jason) ล่ามภาษามือ) ในขณะรับรางวัลไว้ดังนี้ :-

ในงานประกาศรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 59 ประจำปี 1987
“ฉันอยากจะขอบคุณหลาย ๆ คน ฉันอยากสารภาพค่ะว่า ฉันไม่ได้เตรียมอะไรมากล่าวบนเวทีเลย แต่ฉันเองก็อยากจะขอบคุณสถาบัน และกรรมการของอคาเดมี (ผู้จัดงานออสการ์) และฉันก็อยากจะขอบคุณเหล่าคนพิเศษทุกคนที่มีส่วนร่วมในภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ฉันเอ่ยนามได้ก็มี แรนดา เฮนส์ (Randa Haines – ผู้กำกับ), แพตทริก พาล์มเมอร์ (Patrick Palmer – ผู้อำนวยการสร้าง) รวมทั้งบรรดานักแสดงและทีมงานทั้งหมด
“และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิลเลียม เฮิร์ต (William Hurt – นักแสดงคู่กับแมทลิน) สำหรับการซัปพอร์ดฉัน และความรักที่ยิ่งใหญ่ของเขาต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ และฉันก็อยากขอบคุณพ่อและแม่ และครอบครัวของฉัน พวกเขาอยู่ที่นี่ในคืนนี้ด้วย และฉันก็อยากขอบคุณพวกคุณทุกคนด้วยค่ะ ฉันรักคุณทุก ๆ คนค่ะ”
แมทลินเผยว่า เธอเคยร่วมงานประกาศรางวัลออสการ์มาแล้ว 8 ครั้ง โดยที่เธอเป็นนักแสดงคนเดียวภายในงานที่ต้องมีล่ามคอยประกบข้าง ๆ เธออยู่ตลอด แน่นอนว่าเธอรู้สึกยินดีกับรางวัลออสการ์ ที่ทำให้เธอก้าวหน้าในอาชีพนักแสดงมาอย่างยาวนาน แต่เธอก็หวังแค่เพียงว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์จะหันมามองนักแสดงและทีมงานอื่น ๆ ที่เป็นคนหูหนวก ก็อยากจะได้รับโอกาสในการทำงานเช่นเดียวกับเธอ

แมทลินได้เปิดเผยความรู้สึกหลังจากได้ออสการ์ครั้งนั้นว่า “ชัยชนะในครั้งนี้ได้ตอกย้ำสิ่งที่วิงเคลอร์บอกฉันตอนอายุ 12 ปีว่า ฉันไม่ควรเลิกทำในสิ่งที่รัก แม้ว่าจะมีคนวิจารณ์และมีผู้ไม่หวังดีก็ตาม” เธอยอมรับว่า ไม่คาดหวังเลยแม้แต่น้อยว่าจะได้รับรางวัลออสการ์ จนเมื่อเฮิร์ด ที่คบกับเธออยู่ตอนนั้น และเป็นผู้ประกาศรางวัลนี้ ได้ประกาศชื่อของเธอออกมา เธอ (ที่ทราบผ่านล่ามภาษามือ) ยังคิดว่าเป็นเรื่องล้อกันเล่นเลย ” ฉันจำได้เลยว่า ตอนแรกฉันคิดว่าเขา (เฮิร์ต) ล้อเล่น แต่ฉันก็ฉุกคิดได้ว่า เขาคงไม่พูดล้อเล่นในทีวีระดับชาติหรอกนะ! (หัวเราะ) “
จากความสำเร็จของ ทรอย คอตเซอร์ นักแสดงหูหนวกคนที่ 2 และนักแสดงชายคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ เป็นเรื่องที่แมทลินเองก็ยินดีมาก ๆ ความสำเร็จของ ‘CODA’ เป็นเหมือนเครื่องยืนยันว่าผู้คนกำลังเปิดที่ทางให้แก่คนหูหนวกมากขึ้น

“ฉันมีความสุขมาก ๆ รู้สึกโล่งใจอย่างที่ก็ไมรู้จะบอกยังไง เพราะในที่สุด สิ่งนี้ก็ยืนยันว่า ทุกคนเคารพงานของเราในฐานะนักแสดง มันเป็นเวลากว่า 35 ปีแล้วที่ฉันรอนักแสดงหูหนวกอีกคนมาร่วมงานกับฉัน ฉันรอหนังเรื่องอื่น ๆ ที่จะส่งสารนี้เหมือนอย่าง ‘CODA’ แต่มันก็ไม่เกิดขึ้น
“คุณอาจเห็นคนหูหนวกไปรับเชิญที่นั่นที่นี่ แต่ไม่ใช่กับ ‘CODA’ ที่มีนักแสดงหลักเป็นคนหูหนวกมากถึง 3 คน ฉันหวังแค่ว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นการเปิดประตูให้คนหูหนวกมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่แค่จะรอให้ประตูเปิดเท่านั้น ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับเราด้วย เราต้องก้าวออกไปทำงาน”
ที่มา: Wikipedia, Britanica, LA Times, ABC News, People, The Hollywood Reporter, IMDB, ETonline
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส