เคยไหมที่ได้ยินบางเพลงแล้วมันอยู่ในหัว จนเผลอร้องออกมาโดยไม่รู้ตัว เคยไหมที่เพลงที่ชอบและชวนให้ขยับแข้งขยับขาส่วนใหญ่แล้วมักเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องซ้ำไปซ้ำมา ไม่ต้องคิดไปไหนไกลลองนึกถึงเพลงฮิตติดหูเพลงล่าสุดที่เชื่อว่าใคร ๆ จะต้องเคยได้ยินหรือรู้จักดี (แม้ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเป็นเพลงของใคร) นั่นก็คือ “OK Are you ready ?” ที่มีท่อนร้องติดหูติดปากว่า “วอเอ๊ะ ๆ” ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร มีความหมายอย่างไร รู้แต่เพียงว่าการซ้ำไปมาของมันช่างสนุกสนานเมามันส์และทำให้ติดหูจนมันกลายเป็นเพลงฮิตไปเลย เป็นเวลานานแล้วที่เราเห็นว่าเพลงฮิตหรือเพลงที่ติดหูส่วนใหญ่มักมีการใช้ความซ้ำ (repetition) อยู่ในบทเพลงเสมอและมีแนวโน้มว่าจะมีการใช้ความซ้ำนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ามีข้อมูลหรือคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์มาทำความเข้าใจเรื่องนี้ก็คงดีเลยทีเดียว
คอลิน มอร์ริส (Colin Morris) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientist) และนักการศึกษาจากโตรอนโต ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computational Linguistics) ก็คงมีความสงสัยไม่ต่างไปจากเรา เขาก็เลยทำการทดลองด้วยวิธีที่ถนัดนั่นคือใช้ทฤษฎีวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในการทำความเข้าใจเทรนด์การใช้เนื้อร้องซ้ำในเพลงป๊อป มอร์ริสใช้ศาสตร์ของชีวสารสนเทศ (bioinformatics) ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับที่นักชีววิทยาและนักวิทยาศาสตร์ใช้ในการศึกษาโครงสร้างของ DNA ในสิ่งมีชีวิต โดยนำเอาระบบอัลกอริธึมที่เขาเรียกว่า ‘อัลกอริธึมการบีบอัด’ (compression algorithms) มาใช้ในการศึกษา ด้วยการนำเอาเพลงป๊อปยอดฮิตทั้งหลาย (มอร์ริสใช้เพลงที่ติดชาร์ต Billboard Hot 100 ในการศึกษา) ใส่เข้าไปในระบบเพื่อให้แสดงผลออกมาแบบเดียวกันกับโครงสร้างของ DNA ทำให้เราเห็นโครงสร้าง DNA ของเพลงป๊อปว่ามีการซ้ำมากมายแค่ไหน และมีลักษณะแพตเทิร์นการซ้ำอย่างไร
จากผลการทดลองและการบรรยายบนเวที Ted Talk ‘TEDxPenn’ มอร์ริสได้แสดงให้เห็นว่าเนื้อร้องของเพลงป๊อปมีการใช้ความซ้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งรูปแบบการซ้ำในบทเพลงนั้นมีด้วยกันหลายแบบ มีทั้งการซ้ำแค่คำ ๆ เดียวตลอดทั้งเพลง การซ้ำเป็นวลี การซ้ำเป็นประโยคหรือการซ้ำเป็นกลุ่มก้อนของประโยค
‘อัลกอริธึมการบีบอัด’ ของมอร์ริสนั้นมีรูปแบบการทำงานเพื่อวัดผลการซ้ำของบทเพลง ด้วยการที่มอร์ริสทำการบีบอัดไฟล์เป็นไฟล์ zip และเอาเข้าในระบบอัลกอริทึมเพื่อวัดการบีบอัด ซึ่งหากมีการบีบอัดมากเท่าไหร่ก็แสดงว่าบทเพลงนั้นมีรูปแบบการซ้ำมากเท่านั้น มอร์ริสใช้บทเพลงกว่า 15,000 เพลงในชาร์ต Billboard Hot 100 ตั้งแต่ปี 1958 ถึงปี 2017 มาทำการศึกษา ผลปรากฏออกมาดังภาพด้านล่างนี้ โดยแกน X จะเป็นค่าการบีบอัดซึ่งมีตั้งแต่ 0 ถึง 100 ส่วนแกน Y จะเป็นจำนวนของบทเพลงที่มีค่าการบีบอีดนั้น ๆ ซึ่งจะพบว่าเพลงป็อปส่วนใหญ่มีกราฟที่พุ่งขึ้นสูงตรงค่าที่ 50% แสดงให้เห็นถึงอัตราการบีบอัดที่มากและแสดงว่าเพลงป็อปส่วนใหญ่มีการใช้รูปแบบการซ้ำเป็นจำนวนมาก ส่วนเพลง “Cheap Thrills” ของ Sia ซึ่งมีการใช้คำซ้ำมากก็มีค่าการบีบอัดที่ประมาณ 76% เปรียบเทียบกับการบีบอัดของบทความอธิบายผลการทดลองที่ว่ามานี้ซึ่งมอร์ริสใส่เข้ามาด้วย พบว่ามีการบีบอัดเพียง 10% เท่านั้น (แสดงว่าไม่มีการใช้คำซ้ำเท่าไหร่)
ซึ่งในตารางด้านบนนั้นมอร์ริสได้เอาเพลงที่มีการใช้ความซ้ำมากที่สุด 20 อันดับออกไป เพราะว่าหากใส่เข้ามากราฟที่เห็นจะเป็นดังภาพด้านล่าง นั่นหมายความว่าเพลงที่ซ้ำมาก ๆ แบบสุด ๆ นั้นมีการซ้ำในระดับที่ ‘โค-ตรซ้ำ’ และแตกต่างจากเพลงส่วนใหญ่
มอร์ริสได้ยกตัวอย่างบทเพลงหนึ่งซึ่งมีการใช้คำซ้ำอย่างเห็นเด่นชัด และเป็นติ่งที่โผล่มาในกราฟซึ่งแสดงถึงตำแหน่งของบทเพลงที่มีการซ้ำมากที่สุดในบรรดาเพลงที่อยู่ในชาร์ต Billboard Hot 100 นั่นก็คือเพลง “Around The World” ของ Daft Punk ซึ่งเนื้อร้องทั้งเพลงเป็นการซ้ำคำว่า ‘Around The World’ กว่า 144 ครั้ง !! และค่าการบีบอัดที่วัดได้จากอัลกอริทึมก็คือ 98% ! ซึ่งเป็นค่าที่มากอย่างไม่ต้องสงสัยเลย
และเมื่อเราพิจารณาจากกราฟด้านล่างนี้เราจะเห็นได้ว่าการใช้ความซ้ำในเพลงป๊อปนั้นมีอัตราที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ต่างจากราคาทองหรือราคาน้ำมัน ที่ไม่มีทีท่าว่าจะลงมาเลยและยิ่งชัดเจนเข้าไปอีกเมื่อพบว่าเพลงฮิตติดชาร์ตในระดับ Top 10 มีการใช้ความซ้ำมากเป็นพิเศษกว่าเพลงอื่น ๆ นั่นหมายความว่าเมื่อเวลาผ่านไปเราจะพบบทเพลงใหม่ ๆ ที่มีการใช้คำซ้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน (นั่นหมายความว่ามันจะมีเพลงที่ advance ว่า “OK Are you ready?” ออกมาอีกอย่างแน่นอน)
ต่อไปคือผลของการวิจัยที่แสดงออกมาในรูปแบบของ self similarity matrix หรือ a dot plot ซึ่งเป็นวิธีการที่นักชีววิทยาและนักวิทยาศาสตร์ใช้ในการแสดงผลโครงสร้างของ DNA จากภาพตัวอย่างนี้มอร์ริสได้เอาเพลง “Bad Romance” ของเลดีกากา (Lady Gaga) ที่ผ่านระบบนี้มาเปรียบเทียบกับโครงสร้างของ DNA เราจะพบว่ามันมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน นั่นแสดงว่าบทเพลงก็มี DNA ของบทเพลงและมีโครงสร้างความซ้ำและรูปแบบการจัดเรียงแบบที่ DNA เป็น (หากมีใครมาบอกว่าเลดีกากาทำเพลงเลียนแบบมาดอนนาคงต้องโต้แย้งและบอกว่าเลดีกากาเลียนแบบโครงสร้างของ DNA เสียมากกว่า)
มอร์ริสได้อธิบายว่าระบบนี้ทำงานอย่างไรจึงพล็อตออกมาเป็นภาพแบบที่เห็น ซึ่งระบบจะทำการจัดวางคำซ้ำเป็นแกนตั้งและแกนนอนและมีการตรวจจับคำที่เหมือนกันเมื่อพบคำที่เหมือนกันทั้งสองแกนก็จะพล็อตออกมาเป็นจุดสีและออกมาเป็นภาพร่างดังที่เห็น
ส่วนในภาพด้านล่างจะเป็นตัวอย่างจากเพลง “Tik Tok” ของ Kesha ซึ่งมีค่าความบีบอัดอยู่ที่ 60% จะเห็นโครงร่าง DNA ของเพลงเป็นกล่องสีเขียว นั่นคือการซ้ำที่ปรากฏในท่อนคอรัสส่วนสีชมพูคือท่อน bridge ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับท่อนคอรัสแต่มีรายละเอียดที่แตกต่างจึงแสดงผลออกมาเป็นกล่องเหมือนกันแต่ต่างสี
มาดูเพลงที่มีค่าการบีบอัดที่ 80% กันบ้างกับเพลง “Can’t Get You Out of My Head” ของ ไคลี มิโนก (Kylie Minogue) ซึ่งหากใครเคยฟังเพลงนี้ก็จะนึกขึ้นมาได้เลยว่า ท่อนซ้ำของเพลงนี้คือเมโลดี้ที่ร้องว่า “ลา ลา ลา ลา ลา ลา ลา ล้า” ซึ่งเราจะเห็นเป็นกล่องสีดำในภาพ ส่วนเส้นสีชมพูนั้นก็คือส่วนที่มีคำร้องซ้ำอันเป็นที่มาของชื่อเพลงว่า “I just can’t get you out of my head” นั่นเอง (และแน่นอนว่าพอฟังเพลงนี้แล้วมัน can’t get you out of my head จริง ๆ )
เราสามารถเข้าไปดูภาพร่าง DNA ของบทเพลงต่าง ๆ หรือพิมพ์เนื้อเพลงเองเพื่อตรวจดูรูปแบบความซ้ำได้อย่างสนุก ๆ ใน ‘SongSim’ ของคอลิน มอร์ริส
ส่วนมีมด้านล่างนี้ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจซึ่งมอร์ริสได้หยิบยกมาเป็นตัวอย่าง ทางซ้ายคือเพลง “Run The World (Girls)” ของ บียอนเซ่ (Beyoncé ) ส่วนทางขวามือคือเพลง “Bohemian Rhapsody” ของวง Queen และมีคำอธิบายว่าเพลงซ้ายนั้นแต่งโดยนักแต่งเพลง 6 คนและโปรดิวเซอร์ 4 คน ส่วนทางขวาแต่งคนเดียวโปรดิวซ์คนเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่าเพลงที่แต่งและโปรดิวซ์โดยคนหลายคนทำไมถึงมีการเขียนเนื้อร้องที่ซ้ำไปซ้ำมาและดูไม่มีเนื้อหาอะไรเลย ในขณะที่เพลงที่แต่งคนเดียวโปรดิวซ์คนเดียวกับไม่มีความซ้ำซากและมีเนื้อหามากมาย นี่เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงผลผลิตของอุตสาหกรรมดนตรีป๊อปที่มีรูปแบบและแนวโน้มของการใช้ความซ้ำซึ่งเป็นที่สังเกตได้อย่างชัดเจน
มอร์ริสพยายามโน้มน้าวผู้ฟังและแสดงให้เห็นว่าความซ้ำในบทเพลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี โดยเขาได้พาเราย้อนไปสู่รากฐานของโครงสร้างแห่งความซ้ำที่มีรากเหง้าปรากฏอยู่ในบทกวี โดยยกตัวอย่างจากรูปแบบการประพันธ์ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ที่เรียกว่า ‘iambic’ หมายถึงฉันทลักษณ์ทางการประพันธ์ที่เป็นรูปแบบการเน้นเสียงในพยางค์โดยมองทีละคู่พยางค์โดยพยางค์แรกจะใช้เสียงเบา ส่วนพยางค์หลังจะเน้นเสียงหนัก (จำง่าย ๆ ว่าเหมือนคำว่า ‘I am’ ที่คำว่า I เบา ส่วน am เน้นหนัก) หรือเหมือนกับเสียง “ตึก-โป๊ะ” ของกลองที่ “ตึก” เบา และเน้นหนักที่ “โป๊ะ” ซึ่งมอร์ริสก็เปรียบเทียบแบบนี้เหมือนกันกับจังหวะในบทเพลงที่มีการใช้เสียง kick กับ snare ที่เสียง kick (ตึก) คือเสียงเบา ส่วน snare (โป๊ะ) คือการเน้นหนัก นอกจากนี้มอร์ริสยังนำคำร้องในเพลง “…Baby One More Time” ของบริตนีย์ สเปียส์ (Britney Spears) มาเปรียบเทียบกับโครงสร้าง iambic เพื่อให้เห็นเด่นชัดถึงอิทธิพลของโครงสร้างแบบนี้กับเนื้อร้องในบทเพลง ซึ่งมอร์ริสคิดว่า แมกซ์ มาร์ติน (Max Martin) โปรดิวเซอร์และบริตนีย์นั้นคงไม่ได้ตั้งใจไว้แต่ต้นว่าจะใช้รูปแบบนี้เหมือนเชกสเปียร์ เพียงแต่ว่ามันเป็นสิ่งที่พวกเขาทำออกมาผ่านจิตใต้สำนึกซึ่งอาจเป็นความคุ้นเคยที่มีอยู่ในวัฒนธรรมอยู่แล้วนั่นเอง
ไม่เพียงแค่นั้น มอร์ริสยังพาเราย้อนไปสู่วัฒนธรรมการประพันธ์เพลงคลาสสิกที่มีการใช้ความซ้ำอย่างชัดเจน อย่างเช่นเพลงคลาสสิกในยุคบาโรกของ โยฮัน เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) ที่มีชื่อว่า “Mass in B Minor” ที่มีการซ้ำตัวโน้ตตลอดทั้งเพลงซึ่งเทคนิคที่ว่ามานี้มีชื่อว่า ‘Ostinato’ ซึ่งถ้าหากเป็นเพลงป๊อปในปัจจุบัน การใช้เทคนิคแบบนี้ก็การทำให้เพลงนั้นถูกตีตราว่าน่าเบื่อซ้ำซากก็เป็นไปได้
มอร์ริสได้แสดงให้เห็นว่าเพลงที่ซ้ำซากจำเจนั้นแท้จริงแล้วได้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายที่น่าดึงดูดใจ เขาแนะนำให้ผู้ฟังหยุดคิดว่า earworm ที่ซ้ำซากจำเจเหล่านี้เป็น guilty pleasure (การชอบในสิ่งที่ถูกมองว่าไม่ดี) แต่จงคิดว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้องดีงามแล้ว
สุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะชอบเพลงที่มีความซ้ำซากเหล่านี้หรือไม่ แต่เมื่อใดที่ได้ยินเราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันจะเข้ามา “วอเอ๊ะ ๆ” อยู่ในหัวเราวนเวียนอยู่อย่างนั้นไม่ไปไหน จนเราต้องเผลอร้องออกมาจนได้ล่ะน่า
ที่มา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส