หลังจากที่ ‘Lightyear’ แอนิเมชันเรื่องใหม่ล่าสุดของดิสนีย์และพิกซาร์ ถูกแบนห้ามฉายในโรงภาพยนตร์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัดสินใจแบนเพราะเนื้อหาภายในเรื่องแสดงให้เห็นฉากจูบเพศเดียวกันของตัวละครหญิง
ไม่เพียงแต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เท่านั้นที่แบนหนังเรื่อง ‘Lightyear’ แต่ก็ยังมีประเทศอื่น ๆ มากกว่า 14 ประเทศ ในแถบตะวันออกกลางด้วย เช่น ซาอุดีอาระเบีย, อียิปต์, เลบานอน, คูเวต และยังมีประเทศในแถบเอเชียอย่าง อินโดนีเซีย, มาเลเซีย ที่แบนหนังเรื่องนี้
ภายหลัง ‘คริส อีแวนส์’ (Chris Evans) ผู้พากย์เสียง ‘บัซ’ พระเอกตัวหลักของเรื่อง ได้ออกมาโต้ตอบในประเด็นนี้ว่า “พวกที่ไม่สนับสนุน LGBTQ นั้นโคตรจะงี่เง่า เอาแต่พยายามยึดติดอยู่กับอดีต ซึ่งคนพวกนั้นจะตายและสูญพันธุ์ไปเหมือนไดโนเสาร์”
ซึ่งประเด็นนี้ทำให้หลาย ๆ คนสงสัยว่า ทำไมประเทศส่วนใหญ่ในแถบตะวันออกกลางจึงแบนหนังเรื่องนี้? เหตุผลหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือ ‘การขัดต่อหลักศาสนา’ ซึ่งในประเทศดังกล่าว ประชากรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม และมักจะใช้ ‘กฎหมายชะรีอะฮ์’ หรือเรียกอีกชื่อว่า ‘กฎหมายอิสลาม’
โดยกฎหมายอิสลามจะครอบคลุมในด้านต่าง ๆ ของชีวิตประจำวัน ที่รวมทั้งการปกครอง เศรษฐกิจ การบริหารธุรกิจ การธนาคาร ระบบการทำสัญญา ความสัมพันธ์ในครอบครัว หลักการอนามัย ปัญหาของสังคม รวมไปถึงหลักของความสัมพันธ์ทางเพศ
หลักของความสัมพันธ์ทางเพศ ในศาสนาอิสลามจะไม่มีการรักเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ชายรักชาย หญิงรักหญิง นั้นหมายถึงการรักร่วมเพศเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ก็ไม่ใช่เพียงแค่ศาสนาอิสลามที่ต่อต้านการรักร่วมเพศ แต่ศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ก็เห็นว่าการรักเพศเดียวกันเป็นบาปเช่นเดียวกัน
อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลก็คือ การรักเพศเดียวกันจะทำให้ไม่สามารถขยายเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ ซึ่งสิ่งที่ศาสนาห้ามคือสิ่งที่ขัดกับธรรมชาติของการเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็นการยกเกียรติความเป็นมนุษย์ให้สูงกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น แม้ว่าศาสนาอิสลามจะต่อต้านการรักร่วมเพศ แต่ก็ไม่เข้าไปก้าวก่ายคำสอนของศาสนาอื่น ดังปรากฏในคำภีร์อัลกุรอานว่า “สำหรับพวกท่านก็คือศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉันก็คือศาสนาของฉัน” (อัลกาฟิรูน โองการที่ 6)
ไม่ใช่แค่ ‘Lightyear’ ที่เคยถูกแบนในแถบตะวันออกกลาง แต่แอนิเมชันของพิกซาร์อย่าง ‘Onward’ ก็ถูกแบนมาแล้วเช่นเดียวกัน เหตุเพราะมีการอ้างอิงถึงพ่อแม่ที่เป็นเลสเบี้ยน รวมถึงในเดือนเมษายนที่ผ่านมาซาอุดิอาระเบียก็เคยพยายามตัดซีนที่มีการอ้างอิงถึง LGBTQ ใน ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’
อย่างไรก็ตาม ‘Lightyear’ จะถูกแบนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพียง 6 เดือนเท่านั้น และหลังจากนั้นตัวภาพยนตร์จะถูกจัดไปอยู่ในหมวดประเภทสื่อสำหรับคนอายุ 21 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องการให้ผู้ที่ได้รับชมเป็นผู้ที่คิดไตร่ตรองได้ด้วยตนเองแล้วเท่านั้น
ท้ายที่สุดแล้วแม้ว่า ‘Lightyear’ จะถูกแบนห้ามฉายกว่า 14 ประเทศ แต่ก็สามารถทำรายได้ทั่วโลกในสัปดาห์แรกไปมากถึง 85.6 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 3,020 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส