เมื่อไม่กี่วันก่อนเพิ่งมีการประกาศกำหนดฉายและเปิดเผยโฉมแรกของภาพยนตร์ “Barbie” ฉบับคนแสดง โดยนักแสดงสาว มาร์โกต์ ร็อบบี (Margot Robbie) รับบทเป็น ‘บาร์บี้’ (Barbie) ที่มาในลุคผมบลอนด์สลวยสวยเก๋ และรอยยิ้มพิมพ์ใจผสานไว้ทั้งความสดใสและเซ็กซี่ มีที่คาดผมลายจุดและชุดสีฟ้าสดใสนั่งอยู่ในรถเปิดประทุนสีชมพูและฉากสีชมพูหวาน ๆ  เห็นแค่นี้ก็ทำให้อยากดูซะแล้ว

แค่นี้ยังไม่พอยังมีการเปิดตัวพ่อหนุ่ม ‘เคน’ (Ken) สุดหล่อหวานใจของสาวบาร์บี้อีกด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหนที่มารับบทนี้แต่เป็นพระเอกหนุ่ม ไรอัน กอสลิง (Ryan Gosling) ที่มาในมาดเท่ในชุดยีนส์เปิดอกโชว์กล้ามล่ำพร้อมผมสีบลอนด์และแววตาขี้เล่น  โดยบาร์บี้เวอร์ชันภาพยนตร์จะเป็นผลงานการกำกับของผู้กำกับสาวเจ้าของรางวัลออสการ์อย่าง เกรต้า เกอร์วิก (Greta Gerwig) โดยเขียนบทร่วมกับคนรู้ใจที่ร่วมงานกันมานานอย่างผู้กำกับหนุ่ม โนอาห์ บอมบาค (Noah Baumbach) ภายใต้การผลิตของ Mattel Films และ Warner Bros. นอกจากนี้ร็อบบียังร่วมเป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ด้วย ภาพยนตร์ Barbie พร้อมฉายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2023

มาร์โก ร็อบบี ในบท ‘บาร์บี้’
ไรอัน กอสลิงในบท ‘เคน’

และแน่นอนว่าพอคิดถึงบาร์บี้ หลายคนก็คงนึกไปถึงเพลงสุดฮิตแห่งยุค 90s อย่างเพลง “Barbie Girl” ของวงป๊อปแดนซ์จากเดนมาร์กนาม ‘Aqua’ ซึ่งหลายคนก็คงลุ้นว่าจะมีเพลงของวงนี้มาประกอบหนังรึเปล่า ซึ่งก็มีคำยืนยันจากทางผู้จัดการของวง Aqua ออกมาแล้วว่าเพลงสุดฮิตเพลงนี้ของวง Aqua จะไม่มาปรากฏอยู่ในหนัง Barbie อย่างแน่นอน ซึ่งทางวงก็ไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจน อาจเป็นไปได้ว่าน่าจะมาจากปัญหาที่ทางวง Aqua กับทาง Mattel แบรนด์ผู้ผลิตบาร์บี้เคยมีปัญหาขึ้นโรงขึ้นศาลกันมาแล้วในอดีตจากรณีเพลง “Barbie Girl” นั่นเอง

I’m a Barbie girl, in the Barbie world

Life in plastic, it’s fantastic

You can brush my hair, undress me everywhere

Imagination, life is your creation

ฉันเป็นสาวน้อยบาร์บี้ ในโลกแห่งตุ๊กตาบาร์บี้

ชีวิตในโลกพลาสติกที่มันช่างมหัศจรรย์

คุณสามารถแปรงผมของฉันและเปลื้องผ้าฉันได้ในทุก ๆ ที่

มันคือจินตนาการ ชีวิตของฉันคือการสรรค์สร้างของคุณ

ปกซิงเกิล “Barbie Girl”

ถึงแม้ว่าดูเผิน ๆ แล้วเนื้อเพลงของ “Barbie Girl” จะดูไม่มีอะไร นอกเสียจากพูดถึงโลกอันสวยสดงดงามและเปี่ยมไปด้วยจินตนาการสรรค์สร้างของตุ๊กตาของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิงอย่างบาร์บี้ แต่หากมองให้ลึกลงไปในเนื้อหาของบทเพลงที่ไม่มีอะไรนี้ จะพบว่าในแต่ละท่อนของเพลงนั้นชวนให้คิดว่าบทเพลงนี้อาจกำลังสะท้อนถึงวัฒนธรรมของการให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตาและความเย้ายวนทางเพศก็เป็นได้

หากมองไปที่ตัวตุ๊กตาบาร์บี้เอง จะพบว่าเธอถูกสร้างขึ้นมาให้มีรูปลักษณ์ที่เย้ายวนและเป็นสาวสวยในแบบพิมพ์นิยมของสังคมอเมริกันที่มีผิวขาว ผมสีบลอนด์ รูปร่างสะโอดสะอง เอวเล็ก หน้าอกใหญ่ ที่ถูกขับเน้นออกมาให้ดูเกินกว่าความเป็นจริงอยู่สักหน่อย ทำให้สัดส่วนของตัวตุ๊กตาดูมีความเกินจริงอยู่บ้าง ทำให้มีคำวิจารณ์ไปในทิศทางที่หลากหลายทั้งการมอมเมาให้เด็กสาวให้ความสนใจไปกับเรื่องรูปร่างหน้าตาที่ต้องเป๊ะเวอร์จนเกินไป หรือไม่ก็ขาดความหลากหลายในความงามรูปแบบต่าง ๆ ของคนที่มีรูปร่างและสีผิวที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งทางผู้ผลิตบาร์บี้คือบริษัท Mattel ก็ออกมาให้คำอธิบายว่าตุ๊กตาบาร์บี้ไม่ได้ตั้งใจสร้างมาให้มีความสมจริง และรูปร่างที่ดูเป๊ะเวอร์นี้ก็ถูกออกแบบมาเพื่อให้ตุ๊กตาสามารถโพสและแต่งตัวได้ง่าย (แต่ในช่วงปลายปี 1997 2-3 เดือนหลังจากที่บทเพลง “Barbie Girl” ได้ไต่ขึ้นสู่อันดับ 1 ในชาร์ตเพลงของสหรัฐอเมริกา และติดชาร์ต Billboard Hot 100 Mattel ได้ออกมาประกาศว่าบริษัทได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของบาร์บี้เป็นครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ โดยปรับให้บาร์บี้มีเอวที่ใหญ่ขึ้น ส่วนสะโพกและหน้าอกถูกปรับให้มีขนาดเล็กลงมีขนาดอยู่ที่ประมาณคัพ B)   

‘Aqua’ เป็นวงดนตรีป๊อปแดนซ์จากเดนมาร์ก ประกอบไปด้วย 2 นักร้อง 2 โปรดิวเซอร์ ดีเจ ‘ลีน ไนสตอรม’ (Lene Nystrøm), ‘เรเน่ ดิฟ’ (René Dif), ‘ซอเรน แรสเตด’ (Søren Rasted) และ ‘คลอส นอร์รีน’ (Claus Norreen)  ซึ่งแต่เดิมรวมตัวกันในนาม ‘Joyspeed’ เริ่มทำเพลงจนประสบความสำเร็จพอประมาณในถิ่นฐานบ้านเกิด และเริ่มแจ้งเกิดในเดนมาร์กประเทศบ้านเกิดและสวีเดนด้วยนาม ‘Aqua’ จากซิงเกิลแรก “Roses Are Red” ที่ขึ้นสู่อันดับที่ 1 ในทั้งสองประเทศ และเริ่มเติบโตนอกบ้านจากผลงานเพลงอัลบั้มแรกและบทเพลง “Barbie Girl”

วง Aqua

Aqua ได้เขียนเพลง “Barbie Girl” หลังจากที่สมาชิกวงได้มีโอกาสชมนิทรรศการ “Kitsch Culture” ซึ่งคำว่า “คิช” นี้เป็นคำในภาษาเยอรมัน ถูกใช้ในการวิพากษ์วัฒนธรรมบริโภคนิยมและกล่าวถึงศิลปะหรือวรรณกรรมที่ไร้คุณค่า ไร้รสนิยมหรือทำขึ้นเพื่อการค้ามากกว่ารับใช้ศิลปะ เพลง “Barbie Girl” หากฟังเผิน ๆ  เหมือนไม่มีอะไรแต่หากลองมองลึกลงไปในเนื้อเพลง จะพบว่าในแต่ละท่อนเพลงนั้นมีนัยที่สื่อถึงภาพลักษณ์ทางสังคมของผู้หญิงที่ต้องมีหุ่นเป๊ะปังสมดังสาวงามตามแบบพิมพ์นิยมที่ต้องผอมเพรียว ผิวขาว สะโพกผาย หน้าอกใหญ่ ถึงจะมีความยวนเย้าเร้าใจชาย ในเนื้อเพลงแต่ละท่อนจึงมีถ้อยคำที่เชื้อชวนให้ชายหนุ่มเข้ามาสัมผัสจับต้องและ ‘เล่นสนุก’ กับเธอ เช่น

“ คุณสามารถแปรงผมฉันได้ เปลื้องผ้าฉันได้ในทุก ๆ ที่”

(You can brush my hair, undress me everywhere) 

“ฉันเป็นสาวบลอนด์สมองกลวงในโลกแฟนตาซี แต่งตัวฉันสิ จัดให้แน่น ๆ ฉันเป็นตุ๊กตาของคุณ”

(I’m a blond bimbo girl in a fantasy world / Dress me up, make it tight, I’m your dolly)

[คำว่า ‘Bimbo’ เป็นคำสแลงที่ใช้เรียกสาวสวยเปี่ยมเสน่ห์น่าดึงดูดแต่ไม่มีความฉลาดหลักแหลม]

“จูบฉันตรงนี้ จับฉันตรงนั้น พ่อคนซุกซน”

(Kiss me here, touch me there, hanky panky)

[คำว่า ‘hanky-panky’ เป็นสแลงที่ใช้กล่าวถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ซึ่งใช้ในบริบทของพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศเป็นส่วนใหญ่]

และ

“คุณจับฉันได้ เล่นฉันได้ ถ้าคุณบอกว่า ‘ผมเป็นของคุณเสมอมา’ (อู้ว โอ้)”

(You can touch You can play If you say, “I’m always yours” (ooh, oh))

หลังจากที่ Aqua ออกวางจำหน่ายอัลบั้มเปิดตัวที่มีชื่อว่า ‘Aquarium’ ในเดือนมีนาคม 1997 และปล่อยซิงเกิลที่ 3 ของอัลบั้มซึ่งก็คือ “Barbie Girl” ในอีก 2 เดือนต่อมา วงอินดี้จากประเทศแถบสแกนดิเนเวียวงนี้ก็ได้กลายเป็นวงดนตรีชื่อดังในทันทีหลังจากที่บทเพลงนี้ได้กลายเป็นเพลงฮิตถล่มทลาย ขึ้นสู่อันดับที่ 7 ในชาร์ต Billboard Hot 100 และมียอดขายกว่า 1 ล้านก็อปปี้ อีกทั้งยังขึ้นสู่อันดับที่  1 ในชาร์ตเพลงของอังกฤษเป็นเวลาหลายสัปดาห์

และด้วยความดังถล่มทลายนี้เรื่องจึงไปถึงทางผู้ผลิตบาร์บี้ บริษัท Mattel ที่หัวร้อนขึ้นมาทันทีที่เห็นว่า Aqua ได้เปลี่ยนบาร์บี้ให้กลายเป็น ‘วัตถุทางเพศ’ ทั้งถอด ทั้งจับ ทั้งจูบ ลูบคลำต่าง ๆ  นานา อีกทั้งยังกล่าวถึงบาร์บี้ว่าเป็น ‘สาวบลอนด์สมองกลวง’ (Blonde Bimbo) อีกทั้งยังมีฉากในมิวสิกวิดีโอที่เคน (รับบทโดยแรปเปอร์ประจำวง เรเน่ ดิฟ) เผลอดึงแขนบาร์บี้ (รับบทโดยนักร้องสาว ลีน ไนสตรอม) จนหลุดออกมาและเอามาแกว่งเล่น ด้วยเหตุนี้ทาง Mattel จึงได้ดำเนินการฟ้องร้องในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าของตุ๊กตาบาร์บี้ “แม้ว่าเราจะพบว่าเนื้อเพลงนั้นเป็นที่ยอมรับได้ แต่เราก็ยังจะยื่นฟ้องอยู่ดีเพราะเพลงนี้ถูกเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเราและแน่นอนโดยที่เราไม่ได้รับการแจ้งเลยสักนิด” และยังกล่าวว่าการกระทำของ Aqua นั้นคือการขโมย “พวกเขากำลังพูดถึงเพลงนี้ว่าเป็นเพลงที่ไพเราะและสนุกสนาน แต่เราเชื่อว่าการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากทรัพย์สินของบริษัทอื่นเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของตนเองนั้นไม่ได้มีทั้งความสนุกสนานและร่าเริง แต่มันเป็นการขโมย !”

ฉากที่เป็นปัญหาในมิวสิควิดีโอ

สุดท้ายในปี 2002 ศาลก็ได้ตัดสินให้วง Aqua พ้นข้อกล่าวหา เพราะว่าเพลง “Barbie Girl” นั้นแต่งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ของการ ‘ล้อเลียน’ และได้รับการคุ้มครองจากบทที่ว่าด้วยอิสระในการพูดหรือแสดงออกภายใต้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ครั้งที่ 1 (First Amendment) และยังได้ยกฟ้องในกรณีที่ MCA Records บริษัทต้นสังกัดของ Aqua ที่ฟ้องร้อง Mattel ในข้อหาหมิ่นประมาทอีกด้วย โดยวินิจฉัยว่าให้มีการยุติคดีความนี้ “ข้อฟ้องร้องของ Mattel นั้นเป็นการกล่าวที่เกินจริงและไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ นอกจากนี้เพลงดังกล่าวยังเป็นเพียงการล้อเลียนทั้งตัวบาร์บี้และค่านิยมในโลกพลาสติกที่เธอเป็นตัวแทน” ซึ่งผลที่ตามมาก็คือบทเพลง “Barbie Girl” ได้รับความสนใจจากสื่อมากมายอันส่งผลดีต่อบทเพลงและชื่อเสียงของวง Aqua ด้วย

ทั้งนี้วง Aqua ไม่ได้เป็นกรณีแรกที่ทาง Mattel ฟ้องร้อง ก่อนหน้านี้ Mattel ก็เคยฟ้องผู้กำกับภาพยนตร์ ทอดด์ เฮย์นส์ (Todd Haynes) จากกรณีที่เอาตุ๊กตาบาร์บี้ไปใช้ในภาพยนตร์เรื่อง “Superstar: The Karen Carpenter Story” ในปี 1987

ถึงแม้เพลง “Barbie Girl” จะได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนที่รู้สึกในทางตรงกันข้ามและรู้สึกยี้กับเพลงนี้ นิตยสาร Blender ได้จัดอันดับ 33 บทเพลงชวนยี้แห่งปี 2004 และเขียนบทความชื่อ “หนีไปซะ !! นี่คือ 50 เพลงที่ห่วยที่สุดตลอดกาล” (Run for Your Life! It’s the 50 Worst Songs Ever!) ซึ่งเรียกวง Aqua ว่าเป็น ‘pedo-pop’ หมายถึงวงป๊อปที่มีความเป็น ‘โรคใคร่เด็ก’ (Pedophilia) และได้กล่าวว่าในท่อนร้องเสียงทุ้มต่ำโดย เรเน่ ดิฟ ที่ร้องว่า ‘come on, Barbie, let’s go party’ นั้นเป็นท่อนที่เสื่อมที่สุดของเพลงเลย

สำหรับความเป็นมาของตุ๊กตาบาร์บี้นั้นเริ่มขึ้นในปี 1945 ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 รุธ แฮนด์เลอร์ (Ruth Handler) และสามีของเธอ เอลเลียต (Elliot) ได้ก่อตั้งบริษัท Mattel ร่วมกับเพื่อนสนิทของทั้งคู่คือ ฮาโรลด์ แม็ตต์สัน (Harold Mattson) โดยได้ไอเดียในการผลิตตุ๊กตาบาร์บี้หลังจากที่รุธเห็นลูกสาวของเธอกำลังนั่งตัดตุ๊กตากระดาษออกมาจากกองนิตยสารและค่อย ๆ เลือกชุดกับเครื่องประดับมาแต่งองค์ทรงเครื่องให้กับตุ๊กตาเหล่านั้น ในยุคนั้นตุ๊กตาส่วนใหญ่ที่มีวางขายตามท้องตลาดมักเป็นตุ๊กตาเด็กน้อยทั่วไป รุธจึงได้มองเห็นโอกาสและช่องทางที่แตกต่างออกไปด้วยการสร้างตุ๊กตาที่มีความเป็นสาวเป็นผู้ใหญ่ ที่ทำให้เด็ก ๆ ได้เล่นเพื่อเติมเต็มความฝันของพวกเขา ชื่อ ‘บาร์บี้’ นั้นจึงมีที่มาจากลูกสาวของรุธนั่นเอง บาร์บี้เปิดตัวครั้งแรกที่ New York Toy Fair ในเดือนมีนาคมปี 1959 และมียอดขายถล่มทลายกว่า 351,000 ตัวโดยขายตัวละ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ปัจจุบันบาร์บี้เป็นของเล่นที่มียอดขายสูงที่สุดในโลก มียอดขายกว่า 1,000 ล้านตัวตั้งแต่ปี 1959 ในกว่า 150 ประเทศ และได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับความหลากหลายของผู้คนในโลก

ตุ๊กตาบาร์บี้ในปัจจุบันที่สะท้อนความหลากหลายของผู้คนในสังคม

ส่วนเพลง “Barbie Girl” ก็ยังคงเป็นเพลงยอดฮิตที่มีคนฟังอยู่เสมอแม้เวลาผ่านไปนานเกือบ 25 ปีแล้ว ในปัจจุบันเพลงนี้มียอดวิวบนยูทูบแตะ 1,000 ล้านวิวไปแล้ว และวง Aqua เองถึงแม้ “Barbie Girl” จะเป็น one hit wonder คือดังเพลงเดียวในสหรัฐอเมริกา แต่ว่าในอังกฤษ Aqua ก็มีเพลงที่ขึ้นสู่อันดับ 1 อีก 2 เพลงคือ  “Doctor Jones” และ “Turn Back Time” และถึงแม้วงจะไม่ได้ออกอัลบั้มมานานแล้วตั้งแต่ ‘Megalomania’ ในปี 2011 แต่ก็ยังมีการรียูเนียนรวมตัวกันแสดงคอนเสิร์ตอยู่เสมอ

ที่มา

The Dark Meaning Behind Aqua’s “Barbie Girl”

Variety

Songfacts

Cheatsheet

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส