“Stranger Things” ซีรีส์ไซไฟสยองขวัญมาแรงที่ออกฉายทาง “Netflix” ได้กลับมาพร้อมซีซันที่ 4 ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างความประทับใจให้กับคอซีรีส์แล้ว ยังสร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการดนตรีด้วยการที่เพลง “Running Up That Hill” ของ ‘เคต บุช’ (Kate Bush) ศิลปินหญิงชาวอังกฤษ ได้ข้ามกาลเวลามาติดอันดับ 4 บนชาร์ต Billboard Hot 100 เป็นครั้งแรก หลังจากที่เพลงนี้ถูกปล่อยมาตั้งแต่ปี 1985 ซึ่งเป็นเพลงแรกของบุช ที่บทเพลงของเธอสามารถติดอันดับท็อป 5 ของชาร์ต Billboard Hot 100 และเป็นการกลับมาเข้าชาร์ตอีกครั้งในรอบ 36 ปี ตั้งแต่ปีที่บทเพลงปล่อยออกมาซึ่งในตอนนั้นทำได้สูงสุดเพียงอันดับที่ 30 เท่านั้น แค่นี้ยังไม่พอ “Running Up That Hill” ยังมียอดสตรีมมิงเกือบ 30 ล้านครั้งทำให้บทเพลงนี้ไต่ขึ้นอันดับที่ 1 บทชาร์ตเพลงสตรีมมิงส่งผลให้เพลงนี้ครองอันดับ 1 บนชาร์ตยอดขายเพลงดิจิทัล
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นใจกับการที่บทเพลงแห่งยุค 80s ได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหลังจากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโลกของซีรีส์ ซึ่งซีรีส์ “Stranger Things” ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากยุค 80s มาไม่น้อยเลยทั้งอิทธิพลของเรื่อง มู้ดแอนด์โทน บรรยากาศ การดีไซน์ ฉาก เสื้อผ้าหน้าผม รวมไปถึงซาวด์แทร็ก ซึ่งต้องบอกว่าซีรีส์ได้นำเอาเอกลักษณ์และกลิ่นอายของยุค 80s มาสวมใส่เข้าไว้ในซีรีส์ได้อย่างลงตัว รวมไปถึงบทเพลง “Running Up That Hill” ที่เข้ากันดีทั้งเนื้อหา ท่วงทำนอง และจังหวะที่บทเพลงปรากฏตัวอยู่ในซีรีส์ซึ่งนอกจากจะมอบช่วงเวลาอันน่าอัศจรรย์ให้กับซีรีส์แล้ว ตัวบทเพลงเองยังได้พบกับการเดินทางครั้งใหม่ที่น่าประทับใจ
“Running Up That Hill” มีชื่อเต็ม ๆ ว่า “Running Up That Hill (A Deal With God)” เนื่องจากแต่เดิมชื่อเพลงนี้คือ “Deal With God” เป็นบทเพลงจากอัลบั้มชุดที่ 5 “Hounds of Love” ของศิลปินหญิงคนสำคัญแห่งยุค 80s ‘เคต บุช’ เนื้อหาของ “Running Up That Hill” พูดถึงการทำข้อตกลงกับ ‘พระเจ้า’ เพื่อแลกชีวิตกันกับบุคคลอื่น บุชอธิบายว่า “มันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง เมื่อพวกเขารักกันมาแต่เกิดปัญหาและความไม่มั่นคงในเรื่องของความสัมพันธ์ ถ้าผู้ชายสามารถเป็นผู้หญิง และผู้หญิงสามารถกลายเป็นผู้ชาย ถ้าพวกเขาสามารถตกลงกับพระเจ้าได้ เปลี่ยนมุมมองของตนเองเพื่อเข้าใจมุมมองของอีกฝ่าย เพื่อเข้าใจว่าการเป็นอีกคนเป็นอย่างไร บางทีมันอาจจะเคลียร์ความเข้าใจผิดต่าง ๆ ที่มี เมื่อเรารู้ในปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้มันก็จะไม่มีปัญหาอีกต่อไป”
แรกเริ่มเดิมทีบุชตั้งชื่อเพลงนี้ไว้ว่า “Deal With God” แต่ต้นสังกัดของเธออยากให้เปลี่ยนชื่อเพราะว่าพวกเขาคิดว่าสถานีวิทยุในประเทศที่เคร่งศาสนา (อย่าง อิตาลี ไอร์แลนด์) คงจะไม่เล่นเพลงที่มีคำว่า “พระเจ้า” อยู่ในชื่อเพลงแน่ ๆ บุชคิดว่ามันเป็นเหตุผลที่ตลกดี แต่เธอก็ยินยอมที่จะเปลี่ยนชื่อเพราะเธอทุ่มเททำบทเพลงนี้และเพลงอื่น ๆ ในอัลบั้มเป็นเวลากว่า 2 ปี เธอเลยไม่อยากที่จะให้เพลงของเธอติดแบล็กลิสต์เพียงเพราะชื่อเพลง ซึ่งบุชก็แลกเปลี่ยนกับการที่ตอนแรกทางค่ายต้นสังกัดอยากปล่อยเพลง “Cloudbusting” ออกมาเป็นซิงเกิลแรก แต่บุชโน้มน้าวให้ทางค่ายปล่อยเพลง “Running Up That Hill” ออกมาแทน ซึ่งบุชยอมให้ทางค่ายเปลี่ยนชื่อเพลงแล้ว ดังนั้นครั้งนี้เธอจึงขอให้ค่ายยอมทำตามคำร้องขอของเธอบ้าง
มันเป็นการประนีประนอมในการสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นได้ยากสำหรับบุช และเป็นการประนีประนอมที่ทำให้เธอรู้สึกเสียใจในภายหลัง เพราะเธอรู้สึกว่า “Deal With God” เป็นชื่อที่เหมาะสมแล้วและมันก็สื่อถึงแก่นของเพลงได้ดีอีกด้วย
คอนเซ็ปต์ของเพลง “Running Up That Hill” เหมือนเป็นการกลับด้านการตกลงต่อรองกันในวรรณกรรมเยอรมนีเรื่อง “เฟาสต์” (Faust) ของเกอเธ่ ที่เล่าเรื่องชายผู้ขายวิญญาณให้กับปีศาจเมฟิสโต (Mephisto) เพื่อแลกกับทุกสิ่งอย่างบนโลก ตอนที่บุชคิดไปถึงเรื่องการสลับชีวิตกันกับผู้อื่น เธอก็คิดว่ามันคงจะต้องมีการตกลงกันกับปีศาจ แต่แล้วเธอก็คิดได้ว่าการตกลงกับปีศาจนั้นอาจธรรมดาไป หากตกลงกันกับพระเจ้าน่าจะมีพลังมากกว่ามันก็เลยกลายมาเป็น “Deal With God” ในที่สุด
บุชแต่งเพลง “Running Up That Hill” โดยใช้ซินธิไซเซอร์ดิจิทัล ‘Fairlight CMI’ และเป็นหนึ่งในศิลปินกลุ่มแรก ๆ ที่ใช้อุปกรณ์นี้ ก่อนหน้านี้บุชเคยใช้เครื่องดนตรีนี้ในอัลบั้ม ‘Never For Ever’ ในปี 1980 ของเธอมาก่อน โดยปกติแล้วบุชจะเขียนเพลงโดยเริ่มจากเปียโน แต่การแต่งเพลงบน Fairlight ได้เปิดประตูแห่งแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ซึ่งบุชพบว่ามันมีบางอย่างเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของเสียงจากเครื่องดนตรีชิ้นนี้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเธอ “คุณได้ยินเสียงของมันซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถสร้างความรู้สึกเศร้าหรือมีความสุขและทำให้เกิดภาพขึ้นมาทันทีซึ่งจะช่วยให้คุณได้แนวคิดที่นำคุณไปสู่บทเพลงได้ ดังนั้นทุกอย่างจึงเป็นสิ่งสำคัญในการ พยายามหาทิศทางที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และเสียงที่ดีนั้นมีคุณค่าทางศิลปะมาก”
บุชไม่เพียงแต่เขียนเพลงด้วยตัวเธอเองเท่านั้น แต่เธอยังเป็นโปรดิวเซอร์อีกด้วยเริ่มต้นจากอัลบั้ม ‘The Dreaming’ ในปี 1982 ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้ยากในวงการดนตรี ณ ขณะนั้นที่ศิลปินจะแต่งเพลงเอง ทำเพลงเอง และโปรดิวซ์เองโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับศิลปินหญิง หากจะมีสักคนที่เป็นเช่นนี้ก็คงจะเป็น โจนี มิชเชล (Joni Mitchell) เจ้าของบทเพลง “Both Sides Now” ศิลปินหญิงที่มีอิทธิพลต่อวงการดนตรีและได้รับการยกย่องอย่างล้นหลาม
“Running Up That Hill” เป็นบทเพลงฮิตที่สุดของบุชในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเธอมีผู้ติดตามแต่เพียงเล็กน้อยแต่สำหรับในอังกฤษบ้านเกิดของเธอ เธอเป็นที่รู้จักดีและมีเพลงฮิตติดชาร์ตเป็นเรื่องปกติ และอัลบั้ม “Hounds Of Love” ของเธอสามารถเอาชนะอัลบั้ม “Like A Virgin” ของมาดอนนา (Madonna) ครองตำแหน่งสูงสุดของชาร์ตและได้รับความนิยมไปทั่วโลก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในสหรัฐอเมริกาสักเท่าไหร่
ความสำเร็จจากเพลง “Running Up That Hill” ในอเมริกาไม่ได้ทำให้บุชได้รับความนิยมมากขึ้นแต่อย่างใด บุชยังคงไม่ค่อยได้แสดงสดและไม่เคยเล่นคอนเสิร์ตในอเมริกาเลย ค่ายเพลงของเธอมีปัญหาในการโปรโมตเธอที่นั่น เพราะเธอไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศและไม่ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับนักข่าวชาวอเมริกันมากนัก
เพลง “Running Up That Hill” มีอีกเวอร์ชันที่รีมิกซ์ใหม่ในปี 2012 ซึ่งขึ้นสู่อันดับที่ 6 ในสหราชอาณาจักร ในเวอร์ชันนี้มีการปรับคีย์ลงมาครึ่งเสียงเพื่อให้เหมาะกับช่วงเสียงของบุชที่ต่ำลงมา เพลงนี้เปิดตัวครั้งแรกในงานโอลิมปิกที่ลอนดอนในปี 2012 ถึงแม้บุชจะไม่ได้ปรากฏตัวในงานนี้ แต่เพลงก็ถูกนำมาใช้ในส่วนสำคัญของงานเมื่อนักกีฬาเดินเข้ามาสู่สนาม
ในเรื่องของมิวสิกวิดีโอนั้น บุชมักใช้การเต้นรำเพื่อสื่อความหมายในมิวสิกวิดีโอเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ในบทเพลงของเธอ ในตอนที่เธอปล่อยเพลง “Running Up That Hill” ออกมา เธอรู้สึกว่าความเป็นศิลปะของงานวิดีโอประกอบเพลงได้ถูกลดทอนลงโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ใน MTV บุชได้อธิบายถึงแนวคิดในการถ่ายทอดบทเพลงของเธอผ่านการเต้นว่า “ในช่วงว่างระหว่างอัลบั้มล่าสุดกับอัลบั้มนี้ ฉันเคยได้ดูวิดีโอทางโทรทัศน์ที่คนอื่นทำอยู่บ้าง และฉันก็รู้สึกว่าการเต้นซึ่งเป็นสิ่งที่เราเคยทำกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิดีโอก่อนหน้านี้… กลับถูกใช้เพียงเล็กน้อย มันถูกแทนที่ด้วยภาพที่จับจด ยุ่งเหยิง และการเต้นรำที่วุ่นวาย โดยไม่มีการแสดงออกที่จริงจังและการแสดงออกที่ยอดเยี่ยม ซึ่งการเต้นรำนั้นสามารถให้ได้ ดังนั้นฉันจึงรู้สึกว่ามันจะน่าสนใจเพียงใดที่จะสร้างรูปแบบการถ่ายทอดง่าย ๆ ระหว่างคนสองคน ที่มีความคลาสสิกและถ่ายทำอย่างเรียบง่าย นั่นคือสิ่งที่เราพยายามทำจริง ๆ ผ่านการเต้นอย่างจริงจัง”
ในวิดีโอบุชและคู่เต้นของเธอ ไมเคิล เฮอร์วิว (Michael Hervieu) สวมชุดฮากามะแบบญี่ปุ่น ออกลีลาการเต้นที่ผสานสอดคล้องซึ่งกันและกัน ก่อนที่ทั้งเธอและเขาจะแยกห่างจากกันไปโดยกลุ่มคนแปลกหน้าที่สวมหน้ากาก และปิดท้ายด้วยท่วงท่าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการยิงธนูซึ่งเป็นท่าเดียวกันกับในปกของซิงเกิลที่เป็นภาพที่บุชกำลังง้างคันธนูด้วยท่วงท่าและแววตาที่มุ่งมั่น วิดีโอนี้กำกับโดย เดวิด การ์ฟาธ (David Garfath) และออกแบบท่าเต้นโดย ไดแอน เกรย์ (Diane Grey)
แต่แล้วแทนที่จะมิวสิกวิดีโอที่บุชตั้งใจทุ่มเททำมานี้จะได้ออกอากาศทาง MTV พวกเขากลับตัดสินใจใช้ฟุตเทจจากการแสดงของบุชในรายการโทรทัศน์ BBC แทน ซึ่งแพดดี บุช (Paddy Bush) พี่ชายของบุชได้อธิบายว่า “MTV คงไม่ได้สนใจที่จะออกอากาศวิดีโอที่ไม่มีการเคลื่อนไหวริมฝีปากแบบลิปซิงค์สักเท่าไหร่ พวกเขาคงชอบที่จะเห็นคนออกมาร้องเพลงกันเสียมากกว่า”
ส่วนสาเหตุที่ “Running Up That Hill” ได้กลับมาเป็นที่ฮิตถล่มทลายอีกครั้งหลังถูกใช้ประกอบในซีรีส์ Stranger Things ซีซัน 4 อาจเป็นเพราะว่ามันถูกนำมาใช้ได้อย่างถูกบริบท ถูกที่ ถูกเวลา โดยเพลงนี้ถูกใช้เป็นเพลงโปรดของตัวละคร ‘แม็กซ์ เมย์ฟิลด์’ (Max Mayfield) ที่ผ่านพ้นเหตุการณ์ร้ายแรงและหนักหนาในชีวิต จนทำให้เธอเริ่มทำตัวเหินห่างจากเพื่อน และมักสวมหูฟังฟังบทเพลง “Running Up That Hill” ที่เล่นจากเทปคาสเซ็ตต์เพื่อเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำของเธอ
ความหมายของบทเพลง “Running Up That Hill” ที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยและตกลงกันกับพระเจ้าสอดคล้องกับสถานการณ์ในชีวิตของเมย์ฟิลด์ที่มักสวดอ้อนวอนกับพระเจ้าขอให้เรื่องราวร้าย ๆ เกิดขึ้นกับเธอแทนที่จะเป็นบิลลี่พี่ชายของเธอ อันเป็นการบรรเทาความรู้สึกผิดและเจ็บปวดที่เธอไม่สามารถช่วยอะไรคนที่เธอรักได้เลย ดังนั้นบทเพลงนี้ของ เคต บุช จึงเป็นเสมือนเพื่อนที่เข้าถึงหัวอกหัวใจของเธอ
ฉากสำคัญอันเป็นภาพจำของซีรีส์นี้ที่บทเพลง “Running Up That Hill” และเรื่องราวของเมย์ฟิลด์ได้ผสานเข้าด้วยกันคือฉากที่เมย์ฟิลด์ลอยสูงขึ้นกลางอากาศพร้อมดวงตาที่เลื่อนลอยและกำลังเผชิญหน้ากับเจ้าปีศาจร้ายจากโลกกลับด้าน ‘เว็กนา’ กลุ่มเพื่อนรักของเธอได้กดเล่นเครื่องเล่นเทป Walkman เพื่อปลุกเธอกลับมาสู่โลกแห่งความจริง ในตอนนี้เองที่บทเพลง “Running Up That Hill” ได้ช่วยเธอไว้จากเงื้อมมือของเจ้าปีศาจร้ายและกลับมาสู่โลกแห่งความจริงที่มีมิตรภาพอันงดงาม
นอร่า เฟลเดอร์ (Nora Felder) ผู้ดูแลเพลงซาวด์แทร็กใน Stranger Things อธิบายว่าเนื้อเพลงของ “Running Up That Hill” เข้ากันได้ดีกับเนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแม็กซ์ เมย์ฟิลด์ “เมื่อแม็กซ์ต้องโดดเดี่ยวและเหินห่างจากผู้อื่นอย่างเจ็บปวด ‘ข้อตกลงกับพระเจ้า’ อาจสะท้อนความเชื่อโดยของแม็กซ์ว่ามีเพียงปาฏิหาริย์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เท่านั้นที่สามารถช่วยให้เธอปีนข้ามเนินเขาแห่งชีวิตที่ทอดตัวต่อหน้าเธอได้”
เฟลเดอร์จึงได้ส่งจดหมายขออนุญาตใช้เพลงไปถึง เวนดี โครว์ลีย์ (Wende Crowley) รองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาดเชิงสร้างสรรค์ของ Sony Music Publishing “เคต บุช จะเป็นผู้คัดเลือกในเรื่องลิขสิทธิ์เพลงของเธอด้วยตัวเอง และด้วยเหตุนี้เราจึงนำบทของซีรีส์และฟุตเทจมาให้เธอตรวจสอบก่อน เพื่อให้เธอได้เห็นอย่างชัดเจนว่าเพลงของเธอจะถูกนำไปใช้อย่างไร” โครว์ลีย์กล่าว
ปรากฎว่าบุชเองก็เป็นแฟนตัวยงของซีรีส์ Stranger Things และเธอก็เข้าใจในวัตถุประสงค์ของผู้สร้างและเห็นด้วยกับไอเดียที่จะใช้เพลง “Running Up That Hill” หลังจากได้ออกฉายบุชได้โพสต์ข้อความบนเว็บไซต์ของเธอเพื่อชื่นชมและแบ่งปันความอิ่มเอมใจกับการฟื้นคืนชีพของบทเพลงของเธอ “ยอดเยี่ยมและน่าจับตามองมาก” มันน่าตื่นเต้นจริง ๆ ! ฉันเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อสำหรับซีรีส์ตอนที่เหลือในเดือนกรกฎาคมนี้เลยล่ะ” บุชกล่าว “ฉันหวังว่ามันจะมอบคุณค่าในการได้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งให้แก่แฟน ๆ ที่รักซีรีส์เรื่องนี้ รวมถึงฉันด้วย” “ฉันขอขอบคุณพี่น้องดัฟเฟอร์อีกครั้ง เพราะซีรีส์ Stranger Things ที่น่าทึ่งของพวกเขา ทำให้เพลงนี้ได้เข้าถึงกลุ่มคนฟังใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น”
นอกจากนี้ วิโนน่า ไรเดอร์ (Winona Ryder) หนึ่งในนักแสดงจากซีรีส์ Stranger Things ก็เป็นแฟนตัวยงของเคต บุช เช่นกันและเธอเองก็เป็นอีกหนึ่งเสียงที่เชียร์ให้ใช้เพลงของบุชในซีรีส์นี้ นอกจากนี้ไรเดอร์ยังชอบใส่เสื้อยืด เคต บุช มาออกกองอีกด้วย
และนี่ก็คือเรื่องราวที่น่ามหัศจรรย์ของการที่บทเพลงและซีรีส์หรือภาพยนตร์ได้เป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนและมอบชีวิตชีวาให้แก่กัน ในปัจจุบันที่โลกเดินไปข้างหน้า การได้มองย้อนกลับมาและสดับฟังบทเพลงที่ข้ามผ่านกาลเวลานั้นช่างเป็นเรื่องที่น่าประทับใจและมันทำให้เราได้รู้ว่าบทเพลงที่ล่วงเลยมาตามกาลเวลานั้น ไม่ได้สูญหายไปไหนหากแต่ยังคงพร้อมที่กลับมามีชีวิตและโลดแล่นใหม่ได้อีกครั้งเสมอ แถมยังจะเป็นชีวิตใหม่ที่มีชีวิตชีวายิ่งกว่าเดิมอีกด้วย.
ที่มา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส