มิตรภาพ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และหยาดน้ำตา เชื่อเลยว่าเด็ก ๆ ในยุคนี้ต่างเติบโตมาพร้อมกับแอนิเมชันของพิกซาร์ (Pixar) ที่นอกจากจะคอยเป็นเพื่อนชุบชูใจในวันอันเหนื่อยล้าแล้ว พิกซาร์ยังเป็นเหมือนผู้ชี้ทางให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีขึ้น
‘Toy Story’ ก็เช่นกัน แอนิเมชันเรื่องนี้เปรียบเสมือนความทรงจำที่งดงามของวัยเด็ก เป็นเพื่อนที่ ‘โตมาด้วยกัน’ กับหลาย ๆ คน แต่ทว่า นอกจาก Toy Story จะมีความสำคัญกับคนดูแล้ว หนังเรื่องนี้ยังมีความสำคัญกับพิกซาร์เป็นอย่างมาก เพราะนี่ถือเป็นภาพยนตร์ที่ก่อร่างสร้างฐานให้บริษัท และเปลี่ยนแปลงวงการแอนิเมชันไปตลอดกาล
แต่เดิมพิกซาร์เป็นเพียงแผนกหนึ่งของบริษัทลูคัสฟิล์ม (Lucasfilm) ผู้สร้าง Star Wars โดยงานหลัก ๆ ของพวกเขามักจะเป็นการสร้างฉากเทคนิคพิเศษด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกซะมากกว่า ทว่าต่อมา จอห์น แลสซีเตอร์ (John Lasseter) แอนิเมเตอร์จากดิสนีย์ก็ได้เข้ามาทำงานที่นี่ ซึ่งแลสซีเตอร์ก็ได้หยิบแนวคิดการสร้างแอนิเมชันมาต่อยอดกับทางพิกซาร์ และในปี 1984 เขาก็ได้สร้างแอนิเมชันขนาดสั้นที่ชื่อว่า ‘The Adventures of André & Wally B.’ ออกมา ซึ่งความโดดเด่นของเรื่องนี้คือ เป็นแอนิเมชันที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์กราฟิกเกือบทั้งเรื่อง แม้จะมีความยาวแค่เพียงแค่ 1 นาทีครึ่ง แต่ก็เรียกได้ว่าทะเยอทะยานที่สุดในสมัยนั้น
ระหว่างนี้เองผลงานของพิกซาร์ก็ไปถูกใจ สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) เข้า จอบส์จึงซื้อบริษัทพิกซาร์จากลูคัสฟิล์มมาพัฒนาต่อ และในที่สุดพวกเขาก็ได้คลอดภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดสั้นอย่าง Luxo Jr. ออกมาในปี 1986 ซึ่ง Luxo Jr. ก็คือเจ้าโคมไฟที่เรามักจะเห็นกันในโลโก้ของพิกซาร์นั่นแหละ
Luxo Jr. ได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดสั้นยอดเยี่ยม แม้จะไม่ได้รางวัล แต่แอนิเมชัน 3 มิติเรื่องนี้ก็ทำให้พิกซาร์เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งบริษัทวอลต์ดิสนีย์ ก็มองเห็นถึงศักยภาพของพิกซาร์ ดิสนีย์จึงร่วมออกทุนสร้างให้พิกซาร์ผลิดแอนิเมชันขนาดยาวขึ้นมา ซึ่งพิกซาร์ก็ได้สร้างโปรเจกต์ Tin Toy ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับของเล่นที่มีชีวิตและเด็กน้อยผู้เป็นเจ้าของ แม้ว่าพิกซาร์จะได้แรงสนับสนุนจากดิสนีย์ แต่ทว่าพิกซาร์ก็เลือกที่จะสร้าง Tin Toy โดยท้าทายทุกข้อจำกัดของแอนิเมชันในสมัยนั้น
1.แอนิเมชัน 3 มิติแบบเต็มระบบ
เดิมทีภาพยนตร์แอนิเมชันมักจะผลิตออกมาในรูปแบบ 2 มิติเป็นหลัก ทีมงานเบื้องหลังจึงต้องวาดภาพบนกระดาษใหม่เรื่อย ๆ แบบหน้าต่อหน้า (frame by frame) แต่พิกซาร์กลับเลือกที่จะผลิตทุกอย่างด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกแทน ทำให้ทีมงานไม่ต้องเสียเวลาวาดภาพใหม่ และสามารถขยับจุดเคลื่อนไหวได้ตามต้องการ
2.แอนิเมชันที่ไม่ใช่มิวสิคัล
ในยุคสมัยก่อน เรามักจะคุ้นเคยกับการที่ภาพยนตร์แอนิเมชันแต่ละเรื่อง มักจะมีเพลงประกอบอยู่มากมาย ซึ่งช่วยเพลงของหนังนั้นติดหูผู้ชมตามไปด้วย อย่างของดิสนีย์ก็มักจะให้ตัวละครมาร้องเพลงประกอบในเรื่องประหนึ่งเป็นมิวสิคัล (Musical) ก็ไม่ผิดนัก ซึ่งพิกซาร์คิดว่าเรื่องราวของเขานั้นเข้มข้นเกินกว่าจะให้ตัวละครมาร้องเพลงประกอบเนื้อหา พวกเขาจึงตัดในส่วนของมิวสิคัลออกไป และใช้การวางเรื่องราวแบบภาพยนตร์ปกติแทน
3.แอนิเมชันที่ใช้ดาราดังมาพากย์เสียง
ในช่วงแรกเริ่ม แอนิเมชันมักจะถูกมองข้ามจากเหล่าดารา เพราะกลุ่มผู้ชมส่วนนี้ไม่ค่อยกว้างและถ่ายทอดออกมาได้เพียงแค่เสียงเท่านั้น แต่พิกซาร์ก็เลือกใช้ ทอม แฮงส์ (Tom Hanks) กับ ทิม อัลเลน (Tim Allen) มาพากย์เสียงตัวเอกทั้งคู่ ซึ่งพวกเขาก็ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบคาแรกเตอร์ให้ออกมามีมิติมากขึ้น และสิ่งนี้เองก็ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ของการพากย์หนังโดยซูเปอร์สตาร์
อย่างไรก็ตาม โปรเจกต์การสร้าง Tin Toy ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบหรอกนะ เพราะเรื่องนี้ต้องประสบปัญหาในทุกย่างก้าว ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนเนื้อหาจากเรื่องราวของของเล่นโบราณก็ได้แก้กันหลายรอบจนกลายมาเป็นเรื่องราวของ Woody และ Buzz อย่างที่เรารู้จักกันใน Toy Story
เมื่อหนังต้องเข้าสู่กระบวนการผลิตแล้ว พิกซาร์ก็ยังต้องระดมทีมงานกว่า 100 ชีวิตเข้ามาสร้างสรรค์ภาพยนตร์เรื่องนี้ ถึงแม้ว่าจะใช้แอนิเมเตอร์เกือบ 30 คนด้วยกัน แต่หนังก็ยังต้องแก้ในส่วนของแอนิเมชันอยู่เรื่อย ๆ จนเกือบเสร็จไม่ทัน ขนาดหัวเรือใหญ่ของพิกซาร์ในเวลานั้นอย่าง เอ็ดวิน แค็ตมัล (Edwin Catmull) ได้บอกว่า Toy Story คือแอนิเมชันที่ถูกทำขึ้นมาอย่างเร่งรีบ การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ก็ไม่ได้มาตรฐานและไร้ซึ่งความสมจริง แต่ทว่าด้วยความผิดพลาดต่าง ๆ นานามันก็ได้สร้างความแปลกใหม่ จนกลายเป็นที่จดจำของผู้คนทั้งโลกในที่สุด
22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1995 หลังการเข้าฉายของภาพยนตร์เรื่อง Toy Story แอนิเมชันเรื่องนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก พิกซาร์กลายเป็นสตูดิโอที่โด่งดังในชั่วข้ามคืน และ Toy Story ก็ได้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงที่สุดในปีนั้น แถมหนังยังกวาดคำวิจารณ์ยอดเยี่ยมจากนักวิจารณ์ทุกสำนัก ซึ่ง Toy Story ได้ทำให้ผู้คนตระหนักว่าแอนิเมชันที่ดูได้ทุกเพศทุกวัย ก็สามารถมีเนื้อหาที่เข้มข้นแบบเดียวกับภาพยนตร์ได้ แถมยังสร้างบรรทัดฐานใหม่ ด้วยการเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกที่สร้างด้วยระบบคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ และการใช้ดาราดังมาพากย์เสียงก็ช่วยให้ตัวละครมีชีวิตชีวามากขึ้นด้วย โดยสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นเสมือนไบเบิลที่หลายสตูดิโอนำไปใช้ตาม และกำเนิดภาพยนตร์แอนิเมชัน 3 มิติตามมาอย่างมากมายในที่สุด
ทุกวันนี้ เมื่อมองไปยังค่ายหนังต่าง ๆ เราจะเห็นได้เลยว่าภาพยนตร์แอนิเมชันได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบ 3 มิติกันเกือบหมดแล้ว เพราะสามารถสร้างได้ง่ายและประหยัดทรัพยากรในการสร้างมากกว่าแบบ 2 มิติ แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีภาพยนตร์แอนิเมชัน 3 มิติออกมามากมาย พิกซาร์ก็ยังคงเป็นเจ้าตลาดที่ครองใจผู้คนเสมอมาจวบจนทุกวันนี้ เรียกได้ว่าถ้าหากไม่มีก้าวแรกของ Toy Story ในวันนั้น ภาพยนตร์แอนิเมชัน 3 มิติในวันนี้อาจออกมาอีกรูปแบบหนึ่งเลยก็เป็นได้
ที่มา: Edwin Catmull, abcnews, Pixar, slashfilm, insider, tor, postpace, theconversation, screenrant
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส