ใครที่เคยดูซีรีส์โจรกรรมชื่อดังอย่าง ‘Money Heist’ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในความน่าสนใจของซีรีส์เรื่องนี้คือ “ตัวละคร” ที่แต่ละคนนั้นจะมีคาแรกเตอร์และอุปนิสัยที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป ซึ่งตัวละครเหล่านี้ถูกออกแบบและดีไซน์มาเพื่อให้คนดูนั้นสนใจ ถึงแม้ว่าภายในเรื่องจะมีตัวละครหลักอยู่หลายคน แต่คนดูก็สามารถจดจำและแยกแยะแต่ละตัวละครต่าง ๆ ได้

หนึ่งในองค์ประกอบที่ถูกใส่ไว้ในตัวละครและมีความน่าสนใจ คือ “โรคและอาการ” ประจำตัวของแต่ละคน ซึ่งทำให้คาแรกเตอร์ดูมีมิติมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นองค์ประกอบเพิ่มเติมในการดำเนินเรื่องราวได้อีกด้วย

beartai BUZZ จึงอยากแนะนำตัวละครจากซีรีส์ ‘Money Heist’ กับโรคและอาการของพวกเขาที่มีอยู่ในชีวิตจริงให้ได้รู้จักกัน ว่าจะมีโรคและอาการอะไรบ้าง
เริ่มกันที่ตัวละครแรก เบอร์ลิน รับบทโดย เปโดร อาลอนโซ (Pedro Alonso) กับโรคเฮลเมอร์ ไมโอพาธี (Helmer’s Myopathy) และ โรคไซโคพาธ (Psychopath)

- โรคเฮลเมอร์ ไมโอพาธี
ภายในซีรีส์ ‘Money Heist’ ได้มีการพูดถึงโรคเฮลเมอร์ ไมโอพาธี ของเบอร์ลินไว้อย่างชัดเจนว่า “โรคนี้อาจทำให้มีอาการตัวสั่น และเป็นโรคที่มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก หากเทียบเป็นสัดส่วนจากจำนวนคนที่เป็นโรคนี้ 10 คน จะมีโอกาสเสียชีวิตถึง 9 คน และรอดเพียงคนเดียวเท่านั้น” อีกทั้งผู้ชมอาจเห็นได้จากหลาย ๆ ครั้งที่อาการของเขานั้นกำเริบ คือ “มือสั่น” จนไม่สามารถควบคุมได้
ข้อมูลจากคลังข้อมูลยา มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุไว้ว่า “ไมโอพาธี” คือ อาการผิดปกติที่เกิดกับกล้ามเนื้อ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การได้รับแอลกอฮอล์ในปริมาณสูง หรือการได้รับยาบางชนิด โดยความผิดปกติของกล้ามเนื้ออาจจะแสดงในรูปแบบไม่จำเพาะ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และในบางครั้งผู้ป่วยอาจเกิดอาการทางกล้ามเนื้อที่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้

- โรคไซโคพาธ
ภายในซีรีส์ไม่ได้มีการยืนยัน 100% ว่าเบอร์ลินนั้นเป็นโรคนี้ แต่มีการกล่าวถึงลักษณะและท่าทางของเขาว่ามีอาการหลายอย่างที่เข้าข่ายกับอาการทางจิตและบุคลิกภาพผิดปกติ คล้ายกับโรคไซโคพาธ เช่น ชอบหลงตัวเอง ไม่มีท่าทีที่เห็นอกเห็นใจ มีอีโก้สูง ต้องการเป็นที่ชื่นชอบในกลุ่มคนแปลกหน้า

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุไว้ว่า “โรคไซโคพาธ” เป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม โดยมีลักษณะขาดความเห็นใจผู้อื่น ขาดความสำนึกผิด ความรู้สึกด้านชา ไม่เกรงกลัว ขาดความยับยั้งชั่งใจ และชอบเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ซึ่งโรคนี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าหรืออมิกดาลา (Amygdala) ด้านจิตใจและสังคม หรือสาเหตุอื่น ๆ คนที่มีอาการของโรคนี้จะมีจิตใจที่แข็งกระด้าง มีความผิดปกติทางอารมณ์ และมีพฤติกรรมตอบสนองต่อความต้องการของตนเองโดยไม่สนใจผู้อื่น
คนที่ 2 มอสโก รับบทโดย ปาโก้ โทส (Paco Tous) กับโรคกลัวที่แคบ (Claustrophobia)

- โรคกลัวที่แคบ
มอสโกเคยพูดถึง “โรคกลัวที่แคบ” ของเขา ขณะที่นั่งคุยกับเดนเวอร์ (ลูกชาย) ว่า “ฉันไม่สามารถทนสถานที่ที่ฉันต้องไปอยู่ตอนขุดเหมืองได้”
ข้อมูลจากรัชวิภาเอ็มอาร์ไอเซ็นเตอร์ ระบุไว้ว่า “โรคกลัวที่แคบ” คือ อาการวิตกกังวลผิดปกติจนอยู่เฉยไม่ได้ เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์หรือสถานที่ที่ถูกกักล้อมบริเวณแคบหรือต้องอยู่คนเดียว เช่น ขณะอยู่ในลิฟต์ อุโมงค์ หรืออื่น ๆ โรคนี้ไม่ได้มีอันตรายถึงชีวิต แต่อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้
คนสุดท้าย โมนิกา กัซตามบีด์ (ตัวประกัน) รับบทโดย เอสเธอร์ อาเซโบ้ (Esther Acebo) กับโรคสต็อกโฮล์ม ซินโดรม (Stockholm Syndrome)

- โรคสต็อกโฮล์ม ซินโดรม
ภายในซีรีส์เรื่องนี้ได้มีการกล่าวถึงโรคสต็อกโฮล์ม ซินโดรม ซึ่งเป็นอาการที่ตั้งชื่อมาจากคดีการปล้นธนาคารที่เกิดขึ้นจริงในกรุงสต็อกโฮล์ม ปี 1973 โดยผู้ชมจะเห็นโรคนี้ได้จากความสัมพันธ์ของตัวละครโมนิกาและเดนเวอร์
ข้อมูลจากโรงพยาบาลวิภาวดี ระบุไว้ว่า “โรคสต็อกโฮล์ม ซินโดรม” เป็นอาการของคนที่ตกเป็นเชลยหรือตัวประกันเกิดมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนร้าย หลังจากต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันระยะหนึ่ง และอาจจะลงเอยด้วยการแสดงอาการปกป้องคนร้ายหรือยอมเป็นพวกเดียวกัน อีกทั้งนักจิตวิทยายังได้วิเคราะห์โรคนี้ไว้ว่านี่อาจเป็นพฤติกรรม “การเห็นผิดเป็นชอบ”

โดยภายในซีรีส์เรื่องนี้อาจจะยังมีโรคและอาการที่ถูกใส่ไว้ในตัวละครอีกมากมาย อีกทั้งยังมีความน่าสนใจอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ที่ทำให้ซีรีส์ ‘Money Heist’ กลายเป็นซีรีส์ที่คนดูหลงรัก และนำไปสู่การรีเมกเวอร์ชันใหม่ของเกาหลีอย่าง ‘Money Heist: Korea – Joint Economic Area’ โดยภายในซีรีส์เรื่องใหม่นี้เราอาจได้รู้กับตัวละครใหม่ หรือความน่าสนใจอื่น ๆ ก็เป็นได้ หากใครที่สนใจซีรีส์เรื่อง ‘Money Heist’ ทั้ง 2 เวอร์ชัน ก็สามารถรับชมได้แล้ววันนี้ บน Netflix
ที่มา: คลังข้อมูลยา, กรมสุขภาพจิต, รัชวิภาเอ็มอาร์ไอเซ็นเตอร์, โรงพยาบาลวิภาวดี
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส