จากกระแสหนังฆาตกรสวมหน้ากากคนใหม่ในเรื่อง ‘The Black Phone’ ทำให้เรานึกถึงหน้ากากของฆาตกรระดับตำนานหลาย ๆ คน วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูกันว่าหน้ากากฆาตกรจากหนังหลาย ๆ เรื่องนี้ มีที่มาหรือความพิเศษยังไงกันบ้าง?
Michael Myers (Halloween)
ไมเคิล เมเยอร์ (Michael Myers) ฆาตกรจากแฟรนไชส์ ‘Halloween’ ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชตั้งแต่ 6 ขวบ ด้วยข้อหาฆาตกรรม จูดิธ เมเยอร์ (Judith Myers) พี่สาวของตัวเอง หลังจากถูกขังมา 15 ปี ในวันที่ 30 ตุลา เขาก็ได้หนีออกมาจากโรงพยาบาลจิตเวชที่รักษาตัวอยู่ เพื่อกลับมาไล่ฆ่าน้องสาวแท้ ๆ ญาติเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่อย่าง ลอรี สโตรด (Laurie Strode) ภายใต้หน้ากากสีขาวไร้อารมณ์ และพร้อมฆ่าทุกคนที่เข้ามาขวางทางของเขา
ในช่วงที่ ‘Halloween’ ยังอยู่ในขั้นตอนการถ่ายทำ ทีมงานมีงบประมาณแค่เพียง 300,000 ดอลลาร์ ทำให้ผู้กำกับ จอห์น คาร์เพนเตอร์ (John Carpenter) ตัดสินใจเลือกหน้ากากของ ‘กัปตันเคิร์ก’ จากเรื่อง ‘Star Trek’ ที่ขายในราคาต่ำกว่า 2 เหรียญมาใช้ โดยเอามาดัดแปลงด้วยการโกนคิ้วและจอนด้านข้าง ทาสีขาว แล้วขยายเบ้าตาให้กว้างขึ้น
นับตั้งแต่ฉายครั้งแรกในปี 1978-2018 แฟรนไชส์ ‘Halloween’ สร้างมาแล้ว 10 ภาค แต่ในปี 2018 ได้มีการสร้างภาคต่อของแฟรนไชส์ออกมาในรูปแบบไตรภาค ที่เล่าเรื่องราวต่อจากภาคแรกในปี 1978 เริ่มด้วย Halloween ในปี 2018 ตามด้วย Halloween Kills ในปี 2021 และในช่วงปลายปี 2022 นี้กับ Halloween Ends ซึ่งจะเป็นการปิดตำนานแฟรนไชส์ ‘Halloween’ หลังจากเดินทางมานานกว่า 40 ปี
Leatherface (Texas Chainsaw Massacre)
บับบา ซอว์เยอร์ (Bubba Sawyer) หรือ เลเธอร์เฟซ (Leatherface) ฆาตกรถือเลื่อยไฟฟ้าที่ชอบถลกหนังหน้าของมนุษย์มาทำหน้ากาก เพื่อบ่งบอกถึงตัวตนที่แตกต่างกันออกไป โดยแรงบันดาลใจในการสร้าง ‘เลเธอร์เฟซ’ มาจากเรื่องจริงของฆาตกรต่อเนื่องอย่าง เอ็ด กีน (Ed Gein) ฆาตกรในประวัติศาสตร์ที่ชื่นชอบการถลกหนังมนุษย์มาดัดแปลงเป็นสิ่งของต่าง ๆ จนกลายมาเป็นฆาตกรผู้ไร้ความรู้สึกและไล่ฆ่าคนที่เข้ามาในเขตบ้านของตนแบบไม่เลือกหน้า
เลเธอร์เฟซสร้างภาคต่อออกมาแล้ว 8 ภาค และแต่ละภาคก็มีการเล่าที่มาของครอบครัวกินคนออกมาหลายรูปแบบ ก่อนจะเงียบหายไปนานหลายปีหลังหนังภาคล่าสุดอย่าง ‘Leatherface (2017)’ มีกระแสตอบรับไม่ค่อยดีนัก และในที่สุด ปี 2022 เลเธอร์เฟซก็มีภาคใหม่ของแฟรนไชน์ออกมาฉายผ่านทางเน็ตฟลิกซ์เท่านั้น และตัวหนังมีความยาวกว่า 1 ชม. 23 นาที
Jason Voorhees (Friday the 13th)
เจสัน วอร์ฮีส์ (Jason Voorhees) เด็กชายที่ถูกเด็กวัยรุ่นโยนลงทะเลสาบจนจมหายไป และฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งด้วยมนตร์ดำปลุกชีพเพื่อตามฆ่า ‘อลิซ’ หญิงสาวที่ฆ่า พาเมรา วอร์ฮีส์ (Pamela Voorhees) แม่ของเขา โดยใช้ถุงกระสอบคลุมหน้าเอาไว้เพื่อปิดบังใบหน้าแสนอัปลักษณ์ของเขา แต่เมื่อเจสันทำสำเร็จ เขากลับไม่หยุดแค่นั้น เขายังคงไล่ล่าเหล่าผู้คนที่เข้ามาบริเวณทะเลสาบคริสตัลภายใต้หน้ากากฮอกกี้แทนถุงกระสอบอันเก่า
หลังจากเจสันขึ้นมาจากทะเสสาบในช่วงท้ายของหนังในภาคแรก และได้ไล่ฆ่าเหล่าผู้คนมาเรื่อย ๆ นานถึง 12 ภาค แต่ดูเหมือนยิ่งสร้างภาคต่อออกมามากเท่าไหร่ กระแสตอนรับก็เริ่มจะติดลบมากขึ้นเท่านั้น ทำให้หลังจากออกภาคล่าสุดในปี 2009 ข่าวของแฟรนไชน์เรื่องนี้ก็เงียบหายไปและไม่มีข่าวที่จะกลับมาสร้างภาคต่ออีกเลย
ที่มาของหน้ากากประจำตัวของเจสันมาจาก ในช่วงที่หนังกำลังเริ่มถ่ายทำแต่ก็ยังหาหน้ากากของฆาตกรไม่ได้สักที และในช่วงที่กำลังจัดแสงอยู่นั้น ทีมงานคนหนึ่งก็ได้ใช้หน้ากากฮอกกี้มาช่วยในการจัดแสงแต่ดันไปถูกใจผู้กำกับเข้า ทำให้หน้ากากฮอกกี้ถูกเอามาใช้ โดยมีการแต่งเติมขีดสีแดงสามขีดเข้าไปเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์
Ghostface (Scream)
ฆาตกรชุดดำ หน้ากากขาว ใช้เครื่องแปลงเสียงปกปิดตัวตน ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเป็น โกสต์เฟส (Ghostface) ได้ เพราะหน้ากากนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายของในช่วงเทศกาลฮาโลวีน และเพื่อล้อเลียนสูตรสำเร็จของหนังสยองขวัญไล่เชือดเรื่องอื่น ๆ ภายในหนังเรื่องนี้จึงเต็มได้ด้วยการล้อเลียนหนังเรื่องต่าง ๆ รวมถึงทฤษฎีที่เหล่าคนดูหนังไล่เชือดเคยได้ตั้งเอาไว้ มาใส่ในเรื่องนี้เต็มไปหมด
ในช่วงแรกมีการพูดถึงแรงบันดาลใจในการสร้างหน้ากากว่า มาจากภาพวาด ‘The Scream’ ของศิลปินชื่อดัง เอ็ดเวิร์ด มุงค์ (Edvard Munch) แต่ในช่วงฉลองครบ 25 ปี ของแฟรนไชน์ เควิน วิลเลียมสัน (Kevin Williamson) นักเขียนบทภาพยนตร์ได้เปิดเผยว่า “ในช่วงที่เขากำลังสำรวจสถานที่ถ่ายทำ ผมสะดุดตากับหน้ากากโกสต์เฟสที่อยู่ในกล่องของโรงจอดรถ และผู้กำกับ เวส เครเวน (Wes Craven) ก็พูดว่า ‘นี่มันเหมือนภาพวาด The Scream ของ เอ็ดเวิร์ด มุงค์ เลย’ และเขาก็พูดกับฝ่ายอุปกรณ์ว่า ‘เอาแบบนี้แหละ ทำแบบนี้เลย'”
และหลังจากสร้างหนังภาคต่อออกมา 4 ภาค และหนังภาคต่อที่หายไปนานถึง 11 ปี ในที่สุด ‘Scream’ ก็ออกภาคใหม่มาในปี 2022 และถือได้ว่าเป็นภาคที่ดีที่สุดในแฟรนไชส์ นับตั้งแต่ต้นฉบับในปี 1996 เลยทีเดียว
Pig Mask (Saw)
นอกจากตุ๊กตาหุ่นกระบอกในเรื่องแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ในเรื่องก็คือหน้ากากหมูที่ อแมนด้า ยัง (Amanda Young) เอามาใส่เพื่อปกปิดใบหน้าของตัวเอง แล้วคอยช่วยฆาตกรตัวจริงจับเหยื่อมาเล่นเกมสยอง เพื่อให้คนเหล่านั้นรู้ซึ้งถึงคุณค่าของชีวิต ส่วนคนที่ไม่รอดออกไปจากเกม จิ๊กซอว์ (Jigsaw) ก็จะถูกเลาะผิวหนังบางส่วนเป็นรูปจิ๊กซอว์แล้วเอาศพไปทิ้งไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ
‘SAW’ ภาคแรกฉายในปี 2004 ก่อนจะกวาดรายได้รวมถึง 103 ล้านเหรียญ ทำให้แฟรนไชส์ได้ไปต่อถึง 8 ภาค แต่ดูเหมือนภาคล่าสุดที่ออกมาในปี 2017 จะได้รับเสียงตอบรับที่ไม่ดีนัก ทำให้เรื่องราวของแฟรนไชส์หลักหยุดชะงักลง แต่เนื้อหาถูกนำไปต่อยอดเป็นภาคแยกของแฟรนไชส์ชื่อ ‘Spiral: From the Book of Saw’ แทน
แม้จะไม่มีที่มาของแรงบันดาลใจในการสร้างหน้ากากหมูอย่างชัดเจน แต่ก็มีทฤษฎีออกมาว่า หน้ากากหมูมาจากหนึ่งในนักษัตรของประเทศจีน และในหนังเรื่อง ‘Spiral’ ใช้คำว่าหมูในการดูถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในเรื่องอีกด้วย
Purge Participants (The Purge)
Purge Participants คือเหล่าผู้คนที่เฝ้ารอการใส่หน้ากากปกปิดตัวตนแล้วออกมาตามฆ่าคนที่ตัวเองไม่ชอบในเทศกาล The Purge ที่รัฐบาลจะจัดขึ้น ปีละ 1 ครั้ง และมีระยะเวลา 12 ชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนได้ปลดปล่อยความเครียด ความกดดัน และความรู้สึกต่าง ๆ ที่เก็บเอาไว้ตลอดทั้งปี ซึ่งพวกเขาจะสามารถฆาตกรรม ทำร้ายร่างกาย ปล้น หรือทำลายทรัพย์สินของใครก็ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และจะไม่มีโรงพยาบาลที่ไหนให้การรักษา เมื่อหมดเวลาของเทศกาลทุกอย่างจะหยุดลง และทุกคนจะกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติเช่นเดิม
ในปัจจุบันแฟรนไชส์ ‘The Purge’ มีทั้งหมด 5 ภาค โดยที่แฟรนไชส์เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องดูต่อกัน เพราะในแต่ละภาคมีเนื้อเรื่องที่จบในภาคของตัวเอง และด้วยกำไรที่มาพร้อมกระแสตอบรับในทางที่ดี ทำให้เกิดการขยายแฟรนไชส์ไปเป็นซีรีส์ที่ออกมาแล้วถึง 2 ซีซัน
The Grabber (The Black Phone)
The Grabber ฆาตกรต่อเนื่องที่มีข่าวลักพาตัวเด็กไปแล้ว 5 คน และเด็กเหล่านั้นจะถูกขังเอาไว้ที่ห้องใต้ดิน เพื่อทรมานแล้วค่อยฆ่าทิ้งในภายหลัง ถึงแม้ในช่วงที่เขาลักพาตัวเหยื่อรายล่าสุด เขาจะไม่ได้ใส่หน้ากากเพื่อปกปิดหน้าตาของตัวเอง แต่เมื่อเขาจับเหยื่อลงไปขังเอาไว้ในห้องใต้ดินแล้ว เขาก็มักจะใส่หน้ากาก The Grabber เอาไว้ ซึ่งตัวหน้ากากสามารถถอดชิ้นส่วนของหน้ากากบางชิ้นออกไปได้
ย่อหน้าจากนี้มีสปอยล์
นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่ว่า สาเหตุที่เขาใส่หน้ากากก็เพราะต้องการแสดงละครเพื่อปิดบังความละอายใจต่อการกระทำของตัวเอง สังเกตได้จากในตอนสุดท้ายที่เขาเผชิญหน้ากับ ‘ฟินนีย์’ เหยื่อรายล่าสุดที่ถูกจับตัวมา เขาดูเหมือนจะได้เปรียบในหลาย ๆ ด้าน แต่เมื่อหน้ากากของเขาหลุดออกไป เขากลับตื่นตระหนก พยายามซ่อนใบหน้า และกรีดร้องออกมา รวมถึงทฤษฎีที่ว่าตัว The Grabber เองก็ได้ยินเสียงจากโทรศัพท์ในห้องใต้ดิน แต่เขาเลิกที่จะไม่สนใจเสียงวิญญาณของเหยื่อที่เขาได้ฆ่าไป ทำให้นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เชื่อได้ว่าเขาไม่ได้ใส่หน้ากากเพื่อปกปิดหน้าตา แต่ใส่เพื่อปกปิดความอับอายในจิตใจของตัวเอง
จริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายหน้ากากยังคงติดอยู่ในความทรงจำของแฟนหนังหรือบุคคลทั่วไป แล้วสำหรับคุณล่ะ? หน้ากากจากฆาตกรคนไหนที่น่ากลัวที่สุด
ที่มา: screenrant , therebelcircus , looper
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส