แม้หลายครั้งในวงการการหาข้อมูลอ้างอิง โดยเฉพาะในการทำรายงาน ทำวิจัย หรือแม้แต่การหาข้อมูลเพื่อผลิตงานเขียน หรือแม้จะแค่ทำรายงานส่งครูก็ตาม มักจะมีการถกเถียงอยู่เสมอว่า การนำข้อมูลจากเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์ ที่นิยามตัวเองว่า ‘สารานุกรมเสรี’ เนื่องจากมีระบบให้ทุกคนทั่วโลกสามารถแก้ไขข้อมูลได้อย่างเสรีอย่างวิกิพีเดีย (Wikipedia) นั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน

แต่ถึงกระนั้น หลายคนก็อาจเผลอเชื่อ และใช้ข้อมูลในวิกิพีเดียมาเป็นข้อมูลอ้างอิง (Reference) จนหลายครั้งก็อาจละเลยหลงลืมไปว่า ข้อมูลในหน้าเว็บนั้นอาจถูกใครสักคนแอบใส่ข้อมูลปลอม ๆ เอาไว้ และหลายครั้งก็เจ็บตรงที่ข้อมูลเหล่านั้น เป็นข้อมูลที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาอย่างน่าเชื่อถือเสียจนแทบจะไม่มีใครสงสัยเอะใจ

จะมีก็แต่เพียงนักเขียนนวนิยายแนวแฟนตาซีชาวจีนนามว่า อี้ฟาน (Yifan) ที่กลับรู้สึกเอะใจในเรื่องนี้ จนกลายเป็นรายงานที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ Vice World News เมื่อวันพุธที่ 13 กรกฏาคมที่ผ่านมา โดยอี้ฟานเผยว่า เขามีไอเดียกำลังจะเขียนหนังสือนวนิยายเล่มใหม่ โดยมีแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ช่วงยุคกลางของประเทศรัสเซีย เขาเลยเริ่มต้นหาข้อมูลด้วยการเข้าไปอ่านในเว็บไซต์วิกิพีเดียภาษาจีน

และแล้วอี้ฟานก็สะดุดใจกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ของ ‘กาชิน’ (Kashin) เหมืองแร่เงินขนาดใหญ่ ที่ค้นพบโดยชาวนารัสเซียตั้งแต่ปี ค.ศ. 1344 ตั้งอยู่ในบริเวณเขตแดนที่มีชื่อว่าแคว้นทเวีย (Tver) รัฐอิสระที่อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 13-14 หรือประมาณปี 1305 – 1485 และยังมีรายละเอียดระบุว่า เหมืองเงินกาชินเป็นแร่เงินขนาดมหึมาที่สร้างความเจริญมั่งคั่งให้กับแคว้นทเวียเป็นอย่างมาก ว่ากันว่าเหมืองแห่งนี้มีการจ้างทาสมาเป็นคนงานมากถึง 30,000 คน และคนงานอิสระอีกกว่า 10,000 คน

หลังจากแคว้นทเวียล่มสลาย ตัวเหมืองถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของเขตการปกครองราชรัฐมอสโก หรือ แกรนด์ดัชชีแห่งมอสโก (The Grand Duchy of Moscow) จนในที่สุด ทรัพยากรแร่เงินในเหมืองก็ร่อยหรอลงจนถูกสั่งปิดในศตวรรษที่ 18 นอกจากนี้ ในบทความยังระบุรายละเอียดลึกมาก ๆ ลึกไปถึงรายละเอียดด้านองค์ประกอบทางธรณีวิทยาของดินในบริเวณนั้น โครงสร้างของเหมือง หรือแม้แต่กระบวนการวิธีการถลุงให้ได้แร่เงิน ก็มีบอกเอาไว้เสร็จสรรพ

แน่นอนว่า อี้ฟานเกิดความสนใจและหลงใหลในเรื่องราวประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่อันเรืองรองของเหมืองเงินกาชิน ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามทเวีย-มอสโก รวมทั้งข้อมูลด้านสังคม เศรษฐกิจ และประวัติศาสตร์ข้างเคียงเช่น รายละเอียดเกี่ยวกับคนงานเหมือง วิศวกร ขุนนาง ฯลฯ อีกนับหลายร้อยเรื่องที่ถูกร้อยเรียงในบทความของวิกิพีเดียภาษาจีน

Wikipedia

เขาเลยลองสลับหน้าเพื่อเข้าไปหารายละเอียดเพิ่มเติมในวิกิพีเดียภาษารัสเซีย แต่ผลปรากฏว่า ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ในภาษารัสเซีย หรือแม้แต่เว็บกลางที่เป็นภาษาอังกฤษ กลับมีเนื้อหาที่น้อยมาก บางหัวเรื่องมีเนื้อหาเพียงแค่สั้น ๆ หรือบางหัวเรื่องก็ไม่มีบทความอยู่เลย เชิงอรรถที่อ้างอิงบทความบางชิ้นกลับอ้างถึงเอกสารวิชาการเกี่ยวกับการทำเหมืองในศตวรรษที่ 21 จนกระทั่งเขาค้นพบว่า แท้ที่จริงแล้ว กาชินนั้นเป็นเพียงชื่อเมืองหนึ่งของรัสเซีย ส่วนบทความเกี่ยวกับเหมืองเงินอันเรืองรองก็เป็นเพียงประวัติศาสตร์ปลอม ๆ ที่ถูก ‘มั่วนิ่ม’ ขึ้นมา

อี้ฟานได้เขียนรายละเอียดไว้ใน Zhihu เว็บไซต์ถามตอบของจีน (คล้ายกับเว็บไซต์ Quora) ว่า “หัวเรื่องบทความในวิกิพีเดียภาษาจีน มีรายละเอียดมากกว่าวิกิพีเดียภาษาอังกฤษและรัสเซีย มีตัวละครปลอมที่ไม่มีอยู่ในวิกิภาษาจีน-รัสเซียปรากฏในวิกิจีน ตัวละครเหล่านี้ถูกผสมผสานกับบุคคลและเรื่องราวจริงในประวัติศาสตร์ เพื่อไม่ให้ดูออกว่าอันไหนจริง อันไหนปลอม แม้แต่รายละเอียดสงครามทเวีย-มอสโก ที่อยู่รายรอบเหมืองแร่เงินกาชินก็ไม่มีอยู่จริง”

เมื่ออี้ฟานได้เปิดเผยเรื่องนี้ จอห์น ยิป (John Yip) นักวิกิพีเดียชาวจีน และกลุ่มอาสาสมัครของวิกิพีเดียจีน จึงได้ร่วมกันสอบสวนเรื่องราวเกี่ยวกับบทความเหล่านี้ ก่อนจะพบว่า มีเนื้อหาประวัติศาสตร์รัสเซียปลอม ๆ ถูกสร้างขึ้นมากกว่า 200 บทความ รวมทั้งบทความประกอบอีกเกือบร้อยชิ้น รวมทั้งหมดเกือบ 300 บทความ ทั้งหมดนี้สร้างโดยผู้เขียนที่ใช้ชื่อโปรไฟล์ว่า ซีอเหมา (Zhemao)

ซีอเหมาเริ่มต้นสร้างโปรไฟล์ของเธอตั้งแต่ปี 2010 โดยเริ่มเขียนประวัติศาสตร์เท็จที่เกี่ยวกับราชวงศ์ชิงของจีน ก่อนที่จะเริ่มเปลี่ยนมาแก้ไขบทความประวัติศาสตร์รัสเซียแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ ในปี 2012 ก่อนจะขยายไปสร้างบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์รัสเซีย โดยใช้รายละเอียดข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์รัสเซีย ผสมเรื่องราวที่เธอแต่งขึ้นมาจากจินตนาการ

บทความที่ยาวที่สุดของเธอเกือบยาวเท่ากับนวนิยาย ‘The Great Gatsby’ (เขียนโดย เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F.Scott Fitzgerald)) และเขียนบรรยายด้วยวิธีการและโทนเสียงแบบเป็นทางการอย่างสารานุกรม มีการเพิ่มรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้สมจริง แถมยังมีการเพิ่มรูปภาพแผนที่ที่เธอสร้างขึ้นมาเอง และมีการแชร์รูปเหรียญโบราณ ที่เธอกล่าวอ้างว่าได้รับมาจากทีมโบราณคดีของรัสเซียที่ขุดพบด้วย

Wikipedia
แผนที่แคว้น ‘กาชิน’ (Kashin) ในวิกิพีเดียจีน
ที่ซือเหมาทำขึ้นมาเอง (ปัจจุบันถูกลบออกไปแล้ว)

บทความ 30 ชิ้นของเธอกลายเป็นบทความเด่นบนหน้าแรกของวิกิภาษาจีน และยังได้รับการแปลเป็นภาษาอื่น ๆ ทั้งอังกฤษ อาหรับ และรัสเซีย อี้ฟานได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในนั้นมีรายละเอียดมากมายซะจนวิกิพีเดียภาษาอังกฤษและรัสเซียยังต้องอาย”

รายงานการสอบสวนกรณีนี้ในวิกิจีนพบว่า ซือเหมาได้ละเมิดแนวทางปฏิบัติของวิกิพีเดียหลายข้อ ตั้งแต่การเขียนบทความด้วยเรื่องราวที่ไม่มีอยู่จริง หรือใช้วิธีผสมเนื้อหาปลอมเข้ากับข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ อ้างอิงแหล่งข้อมูลปลอม ใส่อ้างอิงที่ไม่เกี่ยวข้องกับบทความ และการสร้างโปรไฟล์ปลอมว่าเธอเป็นลูกสาวของนักการทูตที่ประจำการอยู่ในรัสเซีย สำเร็จปริญญาด้านประวัติศาสตร์รัสเซีย และเป็นพลเมืองรัสเซีย หลังจากแต่งงานกับชาวรัสเซีย

ซือเหมามักสร้างภาพว่าตัวเองเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน และมักแสดงออกถึงความรังเกียจการล้อเลียนทางออนไลน์ จนได้รับการไว้วางใจจากอาสาสมัครในชุมชนวิกิพีเดีย หลายครั้งเธอมีส่วนช่วยเหลือด้านข้อมูลประวัติศาสตร์ให้กับนักศึกษาด้านประวัติศาสตร์ตัวจริงบนวิกิพีเดียจนได้รับการติดแท็ก Barnstar (แท็กรางวัลแสดงความขอบคุณในความขยันค้นหาและผลิตข้อมูลลงวิกิพีเดีย)

Wikipedia
รายละเอียดเกี่ยวกับสงครามทเวีย-มอสโก
ที่ซือเหมาเขียนลงในวิกิพีเดียจีน (ปัจจุบันถูกลบออกไปแล้ว)

ซ้ำร้าย ยังมีการค้นพบว่าเธอสร้างโปรไฟล์หุ่นเชิดขึ้นมาอีก 4 โปรไฟล์ โดยหุ่นเชิดตัวหนึ่งอ้างว่าตัวเองเป็นนักศึกษาปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เคยเรียนที่รัสเซีย และอ้างว่ารู้จักกับซือเหมาในชีวิตจริง ทั้ง ๆ ที่เพิ่งสร้างโปรไฟล์ขึ้นมาได้ไม่นาน ในหน้ารายงานเกี่ยวกับกรณีนี้บนวิกิจีนถึงกับระบุผลกระทบว่าเป็น ‘เหตุการณ์นี้ทำลายความน่าเชื่อถือของวิกิพีเดียภาษาจีน’ ส่วน จอห์น ยิป (John Yip) นักวิกิพีเดียชาวจีน กล่าวกับ Vice World News ว่า “ซีอเหมาคือคนคิดค้นวิธีใหม่เพื่อบ่อนทำลายวิกิพีเดียได้ด้วยคนคนเดียว”

หลังจากที่มีการเปิดเผยว่า ซือเหมาคือผู้เขียนบทความประวัติศาสตร์ปลอม วิกิพีเดียจีนจึงได้แบนบัญชีของเธออย่างถาวร บทความส่วนใหญ่ของซือเหมาถูกลบออกจากวิกิพีเดีย ในขณะที่เนื้อหาบางส่วน อาสาสมัครได้ทำการช่วยกันตรวจสอบและแก้ไขตามข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ข้อเท็จจริงบางส่วนถึงกับต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนแก้ไขด้วย

จากนั้น ซือเหมาได้เผยแพร่จดหมายขอโทษของเธอผ่านวิกิพีเดียภาษาอังกฤษเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ข้อความส่วนหนึ่งเธอสารภาพว่า ตัวเธอเองไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์รัสเซียอย่างที่กล่าวอ้าง แต่เป็นเพียงแม่บ้านที่จบเพียงแค่ชั้นมัธยมปลายเท่านั้น สาเหตุที่เธอเข้าไปแก้ไขประวัติศาสตร์ เป็นเพราะเธอมีความชื่นชอบและมีแรงจูงใจในการศึกษาด้านประวัติศาสตร์เท่านั้น

Wikipedia
หน้าบทความขอโทษของซือเหมา ในวิกิพีเดียจีน
มีระบุว่า ผู้ใช้งานนี้ไม่ได้ใช้งานบนวิกิพีเดียแล้ว (Retired)

เธอเล่าเพิ่มเติมว่า เธอได้สร้างโปรไฟล์หุ่นเชิดขึ้น เนื่องจากเธอรู้สึกว่าอยากมีเพื่อนในจินตนาการ เนื่องจากเธอรู้สึกเบื่อจากการที่เป็นคนไม่ค่อยมีเพื่อน และสามีของเธอมักไม่ค่อยอยู่บ้าน นอกจากนั้นเธอยังขอโทษผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียที่เธอพยายามสนิทสนมและปลอมตัวเป็นนักประวัติศาสตร์รัสเซียอยู่ตั้งนาน

เธอกล่าวในส่วนหนึ่งของจดหมายว่า :-

“มันเหมือนกับที่เขาบอกว่า เมื่อไหร่ที่คุณโกหก คุณก็ต้องโกหกมากขึ้นไปอีก ฉันเองก็ไม่อยากจะลบนับแสน ๆ คำที่ฉันเขียนลงไป ทำให้กลุ่มเพื่อนนักวิชาการของฉันล่มสลาย ปัญหาที่ฉันก่อขึ้นมันยากจะชดเชย ดังนั้นการแบนอย่างถาวรจึงเป็นทางเลือกเดียว ฉันยอมรับการแบนอย่างถาวร และจะไม่ใช่ VPN เพื่อสร้างบัญชีใหม่ขึ้นมาอีก ความรู้ในปัจจุบันของฉันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ฉะนั้น ฉันจะเรียนรู้ด้านงานฝีมือเพิ่มเติมในอนาคต ทำงานอย่างซื่อสัตย์ และจะไม่โกหกหลอกลวงแบบนี้อีก”

ในขณะที่อาสาสมัครในชุมชนวิกิพีเดียจีนหลายคนต่างก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เธอและการกระทำในครั้งนี้ บ้างกล่าวว่าเป็นเหตุการณ์ที่สั่นคลอนความน่าเชื่อถือของวิกิพีเดียภาษาจีน บางคนกล่าวหาว่าเธอมีอาการป่วยทางจิต ในขณะที่ชาวเน็ตบนแพลตฟอร์มเว่ยป่อ (Weibo) บางคนยกย่องความสามารถและความพากเพียรของซือเหมาในการแต่งเติมข้อมูล และสนับสนุนให้เธอลองหันมาเขียนนวนิยาย


ที่มา : Vice, Sixthtone, Oddity Central, Wikipedia: Barnstars

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส