เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อเลยว่าหน้าฟีดของทุกคนคงอุดมไปด้วยตัวอย่างของเหล่าค่ายหนัง จากในงาน ซานดิเอโก คอมิก-คอน (San Diego Comic-Con) เป็นแน่แท้ ซึ่งเนื้อหาที่ปล่อยออกมาในงาน มันก็เยอะชนิดที่ว่า ต่อให้คุณไม่ได้เป็นแฟนหนังหรือไม่ได้ติดตามงานนี้สักเท่าไหร่ คุณก็ต้องเห็นการประกาศโปรเจกต์ระดับยักษ์ใหญ่ของค่ายหนังผ่านตามาอย่างแน่นอน

ว่าแต่เจ้างาน San Diego Comic-Con นี่คืออะไรกันนะ ทำไมมันถึงเป็นมหกรรมสุดยิ่งใหญ่ที่ค่ายหนังถึงชอบมาปล่อยของกัน วันนี้เราจะพาทุกคนไปแบไต๋ถึงเจ้างานนี้กันครับ
San Diego Comic-Con หรือที่แฟนคลับเรียกกันอย่างง่าย ๆ ว่า SDCC นั้น เป็นงานมหกรรมป๊อปคัลเจอร์ที่จัดขึ้นในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแรกเริ่มเป็นเพียงงานสัมมนาของเหล่าคนรักคอมิกและนิยายวิทยาศาสตร์ ต่อมาก็ค่อย ๆ ขยายเนื้อหาออกไปเรื่อย ๆ ให้รวมทั้งภาพยนตร์-ซีรีส์แฟนตาซี และยังผนวกรวมกับกลุ่มหนังสยองขวัญ, แอนิเมชันตะวันตก, อนิเมะ, มังงะ, ของสะสม, การ์ดเกม, บอร์ดเกม, วิดีโอเกม จนกลายเป็นรวมทุกป๊อปคัลเจอร์เท่าที่คุณจะนึกได้ไว้ในงานเดียว
ไอเดียจากงานหนังสือของเหล่าวัยรุ่นดีทรอยต์

ย้อนกลับไปในปี 1964 เหล่าวัยรุ่นแห่งเมืองดีทรอยต์ ได้รวมกันจัดงานมหกรรมของชาวเนิร์ด ที่ชื่อว่า ‘Detroit Triple Fan Fair’ ขึ้นมา โดยคำว่า Triple มาจากสื่อบันเทิงทั้ง 3 อย่าง นั่นคือนิยายแฟนตาซี ภาพยนตร์แฟนตาซี และคอมิกนั่นเอง ซึ่งเจ้างาน Detroit Triple Fan Fair เนี่ยก็ได้ชื่อว่าเป็นงานสัมมนาขนาดใหญ่ ที่ใช้หนังสือเป็นตัวชูโรงด้วยนะ นั่นจึงเป็นงานแรก ๆ ที่ดึงดูดเหล่าเนิร์ดคคอมิกจากทั่วทุกสารทิศให้มารวมกันที่นี่เลยล่ะ
เชล ดอร์ฟ (Shel Dorf) นักวาดการ์ตูนอิสระก็ได้เข้าร่วมในงานนี้ด้วย และเขาก็หลงใหลมนต์เสน่ห์ในบรรยากาศของงานแห่งนี้เอามาก ๆ ในปีต่อมาดอร์ฟจึงขอเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือ Detroit Triple Fan Fair กระทั่งได้รับตำแหน่งให้เป็นผู้จัดงานในปี 1967 และ 1968 ในที่สุด

ต่อมาในปี 1970 ดอร์ฟต้องย้ายกลับไปที่ซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อดูแลพ่อแม่ที่แก่ชราของเขา ซึ่งดอร์ฟก็หอบไอเดียการจัดงานมหกรรมคนรักคอมิกตามมาด้วย ในปีเดียวกันนั้นเขาไม่รอช้ารวมกลุ่มกับเพื่อนอย่าง ริชาร์ด อัลฟ์ (Richard Alf), เคน ครูเกอร์ (Ken Krueger), รอน กราฟ (Ron Graf) และไมค์ โทว์รี (Mike Towry) ในการจัดงานสัมมนาคอมิก ภายใต้ชื่อ Golden State Comic-Minicon ขึ้นมา ซึ่งงานนี้เป็นเสมือนการซักซ้อมสำหรับการระดมทุนในโปรเจกต์ที่ใหญ่กว่านั่นเองล่ะ
ผลตอบรับของ Golden State Comic-Minicon เป็นไปในทางที่ดี หลังจากนั้น 5 เดือน ดอร์ฟกับเพื่อน ๆ จึงจัดงานที่มีสเกลใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และให้ชื่อมันว่า Golden State Comic-con ซึ่งคราวนี้ได้มีการเชิญนักเขียนผู้สร้างตัวละคร Marvel อย่าง แจ็ค เคอร์บี้ (Jack Kirby) เข้ามาร่วมเสวนาในงานครั้งนี้ โดยงานจัดทั้งสิ้น 3 วัน และดึงดูดผู้เข้าชมได้กว่า 300 คนในช่วงเวลานั้น

หลังจากนั้น Golden State Comic-con ก็มียอดผู้เข้าร่วมงานที่น่าพึงพอใจ จนได้จัดงานเรื่อยมาในทุกปี และในปี 1973 งานก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น San Diego Comic-Con อย่างเป็นทางการ ซึ่งชื่อที่เรียกแขกนี้ก็ทำให้ปีต่อมา ผู้คนมากมายเริ่มแต่งตัวแฟนตาซีเข้ามาเที่ยวชมงานกัน จนคอสเพลย์ได้กลายเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมของ Comic-con ไปโดยปริยาย
ปี 1976 ในส่วนการจัดแสดงที่เกี่ยวข้องกับไซไฟ ได้มีการฉายเนื้อหาเรียกน้ำย่อยจากภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง และมันก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้เข้าชมเป็นอย่างมาก ซึ่งหนังเรื่องนั้นเข้าฉายจริงในอีก 1 ปีต่อมา และกลายเป็นตำนานที่ชื่อว่า ‘Star Wars’ หลังจากนั้นจึงเริ่มมีวัฒนธรรมที่ผู้สร้างภาพยนตร์ มักจะฉายตัวอย่างเรียกน้ำย่อยในงานให้เหล่าคนดูในงาน เพื่อโปรโมตหนังมาจนกระทั่งทุกวันนี้

San Diego Comic-Con มีผู้เข้าร่วมงานมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทะลุไปกว่า 5,000 คนในปี 1979 ทางผู้จัดจึงเปลี่ยนสถานที่จัดงานมาเป็น San Diego Convention Center เพื่อรองรับกับจำนวนคนที่จะมาร่วมงาน ซึ่งมีแต่จะมากขึ้นเรื่อย ๆ และ San Diego Convention Center ก็กลายเป็นบ้านของงาน Comic-Con นับแต่นั้น
จากเนิร์ดคัลเจอร์ แปรเปลี่ยนเป็นป๊อปคัลเจอร์
หลังจากปี 2000 เป็นต้นมา San Diego Comic-Con ก็มีผู้เข้าชมเพิ่มมากกว่าหลักหมื่นคนต่อครั้ง จนมากเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2015 ที่มีผู้เข้าร่วมงานถึง 167,000 คน แม้ว่าปีอื่น ๆ จะไม่มากเท่าปีนั้น แต่ก็มีจำนวนผู้เข้าร่วมต่อครั้งมากกว่า 130,000 คนอยู่ดี โดยมีเพียงปี 2021 ที่จำนวนผู้เข้าชมเหลือเพียง 40,000 คน เพราะด้วยสถานการณ์โควิดจึงต้องมีการเว้นระยะห่างและจำกัดผู้เข้าชม ซึ่งในประวัติศาสตร์ของ San Diego Comic-Con มีเพียงปี 2020 เท่านั้นที่ไม่ได้จัดงาน เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด ณ ขณะนั้น

Comic-Con เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของฮอลลีวูด เพราะที่นี่ถือเป็นอีกหนึ่งงาน ที่เหล่าสตูดิโอต่าง ๆ จะได้พบเจอกับแฟนคลับของพวกเขาโดยตรง ซึ่งที่นั่งภายในงานก็ไม่ได้จับจองกันง่าย ๆ นะ แต่เหล่าแฟนคลับก็ยังอุตส่าห์มาต่อแถวรอข้ามวันข้ามคืนกันเพื่อพบปะกับผู้สร้างหนังกันอย่างล้นหลาม โดยพวกเขาต่างรอคอยเพื่อเป็นคนกลุ่มแรกในโลก ที่จะได้เห็นเหล่าสตูดิโอมาปล่อยของกันสด ๆ ทั้งตัวอย่างหนังใหม่ และพบปะกับเหล่านักแสดงอย่างใกล้ชิดไปพร้อมกัน
/cdn.vox-cdn.com/uploads/chorus_image/image/67038127/883578750.jpg.0.jpg)

ในปัจจุบันการจัดงาน San Diego Comic-Con แต่ละครั้ง สร้างเม็ดเงินให้กว่า 180 ล้านเหรียญเข้ามาสู่ซานดิเอโก และถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องมาให้ได้ Comic-Con ได้แปรเปลี่ยนตัวเองจากงานสัมมนาเล็ก ๆ ที่จัดให้แฟนคลับเข้าไปพูดคุยเพื่อพบปะเหล่านักเขียน ขยับขยายเป็นงานรวมป็อปคัลเจอร์ที่แฟน ๆ ต่างหลั่งไหลเข้ามาเพื่อพบเจอกับเหล่าผู้สร้างโดยตรง และมันก็กลายเป็นงานมหกรรมที่คนทั่วทั้งโลกต่างจับตามองในที่สุด
ที่มา: stanleeslacomiccon, news.usc.edu, comic-con, waywardnerd, vocal.media, wikipedia, theperspective
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส