ข่าวการเปิดตัวไตเติลภาพยนตร์และซีรีส์ใหม่ใน Marvel Cinematic Universe (MCU) บนเวทีงาน ซานดิเอโก คอมิก-คอน (San Diego Comic-Con) ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นานมานี้ ทั้งการเปิดตัวอย่างใหม่ของไตเติลในเฟส 4 ที่กำลังจะมาในอีกไม่นาน และการเปิดตัวไตเติลในเฟส 4 และ 5 และการปูทางไปสู่เฟส 6 ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่าเป็นมหากาพย์แห่งพหุจักรวาล หรือ ‘The Multiverse Saga’ ย่อมสร้างความตื่นเต้นฮือฮาให้กับแฟนซูเปอร์ฮีโรฝั่ง Marvel ที่เตรียมตั้งตารอคอยชนิดที่เรียกว่า ‘ห้ามตาย’ ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่ในอีกมุมหนึ่ง การเปิดตัวภาพยนตร์และซีรีส์ออกมาทีเดียวพร้อม ๆ กันทีละหลายสิบไตเติล ก็หมายถึงการที่ทีมงานในฝ่ายต่าง ๆ ก็ต้องลงแรงทำงานหนักยิ่งขึ้นเพื่อให้แต่ละงานสามารถออกได้ทันตามกำหนด โดยเฉพาะส่วนที่สำคัญในสื่อของ Marvel Studio ที่แทบจะขาดไม่ได้ในแทบจะทุกไตเติลก็คือ งานด้าน VFX หรืองานด้านสเปเชียลเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ที่คอยเนรมิตเรื่องราวสุดจินตนาการ และพลังของตัวละครต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างที่เราเห็นกันในจอ และนั่นก็อาจต้องแลกมาด้วย ‘ฝันร้าย’ ของคนทำงานด้วยเช่นกัน

Marvel

เมื่อไม่นานมานี้ ศิลปินวิชวลเอฟเฟกต์จากหลายบริษัทที่เคยรับทำงานวิชวลเอฟเฟกต์ให้กับ ภาพยนตร์และซีรีส์ของ Marvel Studios ต่างก็ออกมาแฉประสบการณ์ความโหดร้ายที่ Marvel ได้กระทำต่อพวกเขา แม้การรับงานให้กับสตูดิโอเจ้าใหญ่ระดับโลกจะถือเป็นเครดิตชั้นดีให้กับบริษัทและตัวศิลปินเอง แต่ที่จริงแล้วพวกเขามองว่ามันเป็น ‘ฝันร้าย’ ต่างหาก

26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ศิลปินวิชวลเอฟเฟกต์รายหนึ่ง (ไม่ประสงค์ออกนาม) ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้ที่เคยทำงานด้านวิชวลเอฟเฟกต์ให้กับ Marvel Studios หลายเรื่อง ได้เปิดเผยผ่านบทความบนเว็บไซต์ Vulture เกี่ยวกับการทำงานให้กับ Marvel โดยศิลปินรายนี้เกริ่นในบทความว่า เป็นที่รู้กันดีว่า ในวงการวิชวลเอฟเฟกต์ การทำงานกับ Marvel เป็นอะไรที่สุดแสนจะยากลำบากซะจนกลายมาเป็นตลกร้ายเอาไว้เล่าสู่กันฟังในวงการแบบขันขื่น

(ในที่นี้ศิลปินไม่ได้ระบุว่าเป็นเพศใด ผู้เขียนจึงขอใช้สรรพนามแทนว่า ‘ฉัน’)

“ในหนังเรื่องหนึ่ง ตัวฉันเองเคยต้องทำงานติดกันนานถึง 6 เดือน และฉันต้องทำ OT ตลอด 7 วันทั้งสัปดาห๋ สัปดาห์ไหนที่ดี ๆ หน่อยก็ได้ทำงานประมาณ 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ Marvel บังคับให้คุณต้องทำงานหนักตลอด เพื่อนร่วมงานที่นั่งข้าง ๆ ฉันสภาพนี่โทรมมาก แล้วก็ร้องไห้ด้วย บางคนนี่ถึงกับกลัวการรับโทรศัพท์ไปเลย”

Marvel

ศิลปินคนนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เพราะด้วยความที่ Marvel นั้นมีไตเติลที่จะกลายเป็นหนังและซีรีส์ระดับบล็อกบัสเตอร์อยู่ในมือมากมาย Marvel ในฐานะสตูดิโอ จึงมีอำนาจต่อรองเหนือบริษัทวิชวลเอฟเฟกต์ ทำให้เหล่าบริษัทวิชวลเอฟเฟกต์ที่อยากจะได้งานระดับบิ๊กดีล (ไม่ว่าจะเพราะอยากได้พอร์ตงานหรืออยากได้เงิน หรือทั้งสองอย่าง) จึงต้องแข่งกันเสนอราคา

และแน่นอนว่า ใครที่เสนอราคาได้ต่ำที่สุด Marvel ก็จะเลือกบริษัทนั้น เพื่อไม่ให้ทุนสร้างบานปลาย และศิลปินยังเล่าเสริมว่า โดยปกติแล้ว สิ่งที่มักเกิดขึ้นในเกือบทุกโปรเจกต์ของ Marvel ก็คือมักจะใช้ทีมวิชวลเอฟเฟกต์เพียงแค่ 2 คนซึ่งหมายถึงตัวของศิลปินคนนี้ กับอีกคนเพียงเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก และหมายความว่าพวกเขาทั้งคู่จะต้องรับผิดชอบเกินหน้าที่ ในขณะที่หนังค่ายอื่น ๆ หนึ่งเรื่องมักใช้ศิลปินวิชวลเอฟเฟกต์ร่วมกันทำงานประมาณ 10 คน

อีกฝันร้ายก็คือ Marvel เป็นสตูดิโอที่ขึ้นชื่อเรื่องของการสั่งแก้งานตลอดกระบวนการสร้าง ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย ไปจนถึงการสั่งรื้อแก้ฉากในองก์ที่ 3 ใหม่ทั้งหมดในบางครั้้ง รวมไปถึงการที่ Marvel มักจะถ่ายซ่อมระหว่างทางไปเรื่อย ๆ และมักกำหนดวันฉายเรื่องต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจนจนไม่สามารถเลื่อนได้ แต่ถึงกระนั้น Marvel ก็ยังสั่งให้แก้งานอยู่ตลอดแม้ว่าจะเข้าใกล้วันฉายเต็มทีแล้วก็ตาม

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยดีลระดับบิ๊กที่อาจไม่ได้มีมาบ่อย บริษัทวิชวลเอฟเฟกต์จึงต้องยอมทำตามที่ Marvel สั่งทุกอย่าง แต่หากว่าบริษัทใดไม่สามารถทำตามที่ Marvel ร้องขอได้ บริษัทนั้นก็อาจโดนขึ้นบัญชีดำ ที่หมายความว่า บริษัทนั้นจะไม่ได้รับโอกาสในการร่วมงานกับ Marvel ในอนาคตอีกต่อไป

Marvel

“มีสตูดิโอวิชวลเอฟเฟกต์แห่งหนึ่ง ไม่สามารถสร้างวิชวลเอฟเฟกต์ได้ทันครบตามจำนวนช็อต และช็อตที่เพิ่งถ่ายทำใหม่ตามที่ Marvel สั่งได้ทันตามกำหนด บริษัทของฉันจึงต้องรับช่วงต่อ นับแต่นั้น บริษัทเดิมก็ถูกขึ้น Blacklist จากการจ้างงานของ Marvel ไปแล้วเรียบร้อย”

ศิลปินยังเล่าถึงความจู้จี้จุกจิกของ Marvel ด้วยว่า กิตติศัพท์ในวงการมักพูดถึงลูกค้าผู้น่ารักอย่าง Marvel ว่าเป็น ‘Pixel-F**ked’ หรือศัพท์ในวงการที่หมายถึงลูกค้าที่จุกจิกและสั่งแก้ในระดับพิกเซล โดย Marvel มักจะสั่งแก้รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้ว่าบางครั้งในบางจุดก็แทบจะไม่เป็นที่สังเกตเห็น และบางครั้งพวกเขาก็ยังไม่รู้ว่าพวกเขาจะเคาะแบบไหนกันแน่ จึงมักจะให้ศิลปินลองแก้ลองปรับไปเรื่อย ๆ ทำให้ยิ่งเสียเวลาหนักเข้าไปอีก

ศิลปินรายนี้ได้แจกแจงสาเหตุของปัญหาเหล่านี้ด้วย อย่างแรกก็คือ ผู้กำกับที่ทำงานกับ Marvel ล้วนแต่ยังไม่เคยมีประสบการณ์กับงานด้านวิชวลเอฟเฟกต์ ผู้กำกับเหล่านี้มักมาจากการกำกับหนังเล็ก ๆ สายอินดี้ หรือหนังสายรางวัล จึงยังไม่เคยทำงานกับวิชวลเอฟเฟกต์มาก่อน ทำให้ไม่รู้วิธีการออกแบบ จัดองค์ประกอบภาพ และถ่ายทำเพื่อรองรับการเพิ่มวิชวลเอฟเฟกต์เข้าไปในซีนนั้น ๆ ให้ออกมาดูไม่ปลอม ไม่ลอยได้อย่างไร

Marvel

ปัญหาต่อมาคือ ทีมงานมักไม่มีผู้กำกับภาพดูแลในขั้นตอนโพสต์โปรดักชัน ทำให้ทีมวิชวลเอฟเฟกต์ไม่สามารถนำเอาช็อตหนังจำนวนมหาศาลที่พวกเขาได้มาเอามาใช้เล่าเรื่องได้ ยกตัวอย่างเช่นในฉากต่อสู้ตอนท้ายของหนังเรื่อง ‘Black Panther’ (2018) ที่ตัวละครเคลื่อนไหวและต่อสู้กันแบบประหลาด ๆ เหมือนตุ๊กตุ่นลอยไปลอยมาบนอวกาศ เหมือนหลุดออกมาจากการ์ตูน ซึ่งทำให้ภาษาหนังดูออกมาไม่ค่อยดี

อีกประการหนึ่งคือ Marvel มักชอบร้องขอสิ่งที่เรียกว่า ‘Final Render’ หรือไฟล์เรนเดอร์แบบไฟนอลที่ทำวิชวลเอฟเฟกต์สมบูรณ์แบบแล้ว (ซึ่งต้องใช้เวลานานมากกว่าการตรวจงานจากเวอร์ชันดราฟต์) เพราะผู้กำกับยังไม่แน่ใจ ยังนึกภาพไม่ออกว่าภาพที่ออกมาจะเป็นอย่างไร และยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะถ่ายทำออกมาอย่างไรด้วย

ท้ายบทความ ศิลปินรายนี้ยังได้เสนอวิธีการที่ Marvel จะสามารถแก้ไขในเรื่องนี้ได้ นั่นก็คือการต้องฝึกให้ผู้กำกับเข้าใจในการทำงานร่วมกันกับวิชวลเอฟเฟกต์ เพื่อให้มีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องในการทำงานตั้งแต่เริ่่มต้น รวมทั้งการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อรวมตัวคนทำงานด้านวิชวลเอฟเฟกต์ เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทวิชวลเอฟเฟกต์รับงานจากสตูดิโอใหญ่ ๆ ยอมแม้ว่าจะถูกกดราคา และหลายครั้งละเลยสวัสดิภาพ และสุขภาพกาย สุขภาพจิตของคนทำงาน เพียงเพราะบริษัทอยากได้เครดิตในการทำงานกับสตูดิโอระดับโลกเพียงเท่านั้น

Marvel

นี่ไม่ใช่กรณีแรกที่ทีมงานวิชวลกราฟิกออกมาแฉประสบการณ์ฝันร้ายในการทำงานกับ Marvel เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีศิลปินวิชวลเอฟเฟกต์หลายคน ต่างก็ออกมาแฉความโหดร้ายของสตูดิโอยักษ์ใหญ่บนเว็บไซต์ Reddit ว่า พวกเขาล้วนแต่มีประสบการณ์การร่วมงานในทางที่ไม่ดี เพราะ Marvel เป็นสตูดิโอที่ทำงานด้วยยาก อีกทั้งพวกเขายังถูกบีบเรื่องเวลา และความเหลาะแหละ ไม่ชัดเจนของผู้ดูแลโปรเจกต์

ตัวศิลปินต้องแบกรับความกดดันจากบริษัทในฐานะที่ Marvel เป็นลูกค้ารายใหญ่ จึงต้องทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ แต่ได้ค่าตอบแทนต่ำจนไม่คุ้มค่ากับการทุ่มเท จนทำให้ศิลปินหลายคนเกิดความเครียดสะสม และผลงานที่ออกมาก็ไม่ได้เป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจนัก จนบางคนถึงกับกล่าวว่า Marvel คือสตูดิโอที่ ‘จัดการด้านวิชวลเอฟเฟกต์ได้ห่วยแตกที่สุดเท่าที่เคยมีมา’

ณ ตอนนี้กระแสออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ถือว่าเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ในขณะที่ Marvel เองก็ยังไม่ได้มีถ้อยแถลงหรือกล่าวถึงในประเด็นนี้แต่อย่างใด คงต้องรอดูกันต่อไปว่าสตูดิโอระดับโลกรายนี้จะมีท่าทีต่อคำวิจารณ์ในกรณีนี้อย่างไรบ้าง


ที่มา: Vulture, The Gamer

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส