ในหลาย ๆ ครั้งที่เราฟังเพลง ท่อนคอรัสหรือท่อนฮุกของเพลงมักเป็นสิ่งที่เราจำได้ ร้องตามได้และติดหู นักแต่งเพลงมักจะดีไซน์ท่อนนี้ให้มีพลังดึงดูดทำให้มันเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จของบทเพลง ทำให้สิ่งนี้กลายเป็นสูตรที่นักแต่งเพลงและศิลปินไม่ว่ายุคสมัยใดต่างดำเนินตามแนวทางนี้มาโดยตลอด
แต่ถึงอย่างนั้นก็มีหลายเพลงดังทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ไม่จำเป็นจะต้องมีท่อนฮุกมาดึงดูดคนฟัง แต่ก็ยังปังและสำเร็จได้ หลายเพลงเป็นที่จดจำและกลายเป็นบทเพลงอมตะ ในวันนี้เราจะมาดูกันว่ามีเพลงใดบ้างที่ปังได้โดยไร้ซึ่งท่อนฮุกและเพลงนั้นมันโดดเด่นได้เพราะอะไร
“Bohemian Rhapsody” – Queen
ในความหมายทางดนตรี ‘แรปโซดี’ (Rhapsody) หมายถึงเพลงที่มีความยาวไม่แน่นอนและไม่มีโครงสร้างอย่างเป็นทางการตายตัว ซึ่งประกอบด้วยแนวคิดทางดนตรีที่แตกต่างกันจำนวนหนึ่ง ดังนั้น เราอาจจะบอกได้ว่า “Bohemian Rhapsody” ของ Queen นั้นทำตามคำจำกัดนี้อย่างไม่มีบิดพลิ้วเลย
“Bohemian Rhapsody” คือโอเปร่าร็อกที่ประกอบไปด้วยส่วนประกอบทางดนตรีที่หลากหลายในแต่ละท่อนจะมีรสชาติที่แตกต่างกันออกไป มันเปรียบเสมือนกับมหากาพย์แห่งการเดินทางทางดนตรี ที่รวมความมหัศจรรย์ทางดนตรีลงไปในการเดินทางที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานี้โดยไม่สูญเสียจิตวิญญาณของมัน พูดง่าย ๆ ก็คือถึงแม้ว่ามันจะมีส่วนประกอบที่หลากหลายแต่มันก็ผสมกลมกลืนกันได้อย่างลงตัวไม่มีมั่วนั่นเอง และนั่นทำให้มันไม่มีท่อนใดเด่นกว่าท่อนใด หรือมีท่อนฮุกที่เป็นพระเอกของเพลง หากแต่พระเอกตัวจริงก็คือทั้งบทเพลงทั้งเพลงที่ส่วนประกอบต่าง ๆ ได้มาผสานเข้าด้วยกันนั่นเอง
“The Sound of Silence” – Simon & Garfunkel
เพลงโฟล์กคลาสสิกของ Simon & Garfunkel เพลงนี้เป็นเพลงที่เรียงร้อยถ้อยความราวบทกวีและมีการซ้ำชื่อเพลงในช่วงท้ายของแต่ละท่อน เช่น “Within the sound of silence” ในท่อนแรก “And touched the sound of silence” ในท่อนสอง หรือ “Disturb the sound of silence” ในท่อนที่สาม ด้วยวิธีนี้จะช่วยแต่งเติมบทเพลงให้ไพเราะเสนาะหู ตอกย้ำถึงแก่นสารสาระของบทเพลง โดยที่การขาดไปซึ่งท่อนฮุกทำให้เป็นการสร้างความสนใจให้กับผู้ฟังเนื่องจากไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป เรื่องราวจะเล่าต่อไปอย่างไร และ ในที่สุดสิ่งที่ตามมาก็คือถ้อยกวีที่สะกดใจจากการเขียนของ พอล ไซมอน นั่นเอง ดังนั้นเสน่ห์ของ “The Sound of Silence” จึงอยู่ที่ผลรวมของท่อนต่าง ๆ มากกว่าที่จะเป็นท่อนใดท่อนหนึ่ง แต่ละท่อนต่างเสริมส่งความหมายให้กันและกัน และเมื่อเราได้ฟังจนจบเพลงแล้วนั้นเราจึงอิ่มเอมในท่วงทำนองและความหมายอันคมคายของบทเพลงนี้
“Paranoid Android” – Radiohead
ถึงแม้ว่าซิงเกิลแจ้งเกิดของ Radiohead ในปี 1992 อย่าง “Creep” จะเป็นเพลงที่ดำเนินตามสูตร แต่ไม่นานวงสุดล้ำจากอังกฤษวงนี้ก็ได้พัฒนาแนวทางของตนเองจนแปลกและแหวกออกไปไม่เหมือนเดิม ดังเราจะพบได้ในเพลง “Paranoid Android” มหากาพย์แห่งอาร์ตร็อกที่ประกอบไปด้วยท่อนเพลง 4 ท่อนที่สะท้อนแนวคิดบริโภคนิยมและการคอรัปชันทางการเมือง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากบทเพลง “Happiness is a Warm Gun” ของ The Beatles ด้วยท่วงทำนองหลอนจิตทั้งแบบชาวร็อกและแบบอะคูสติก การเรียงร้อยถ้อยดนตรีที่มีความประหลาดและไม่สอดคล้องกัน (แต่กลับอยู่ด้วยกันได้อย่างน่าประหลาด) รวมถึงท่อนของการปลดปล่อยระบายและความคุ้มคลั่งในตอนท้าย ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแล้วแต่ทำให้บทเพลงนี้เป็นดั่งมนต์สะกดของพ่อมดดนตรีที่ให้ผลอย่างชะงัดนัก
“Losing My Religion” – R.E.M.
นี่คือเพลงฮิตถล่มทลายที่ไร้ซึ่งท่อนฮุก แถมยังมีการวางเมโลดี้และองค์ประกอบดนตรีที่แปลกออกไป เมโลดี้และท่วงทำนองส่วนใหญ่ของเพลงนี้มักวนเวียนอยู่แค่โน้ต 3-4 ตัวในคีย์ A ไมเนอร์ มันจึงฟังดูแล้วเหมือนฮึมฮัมพึมพัมไปมา ซึ่งโดยปกติแล้วมันมักจะไม่เวิร์กเลย เพราะคนฟังส่วนใหญ่ย่อมอยากได้เมโลดี้ที่หวือหวามากกว่านี้
แต่หากลองคิดดูว่าทำไมมันถึงเวิร์กอาจจะเป็นด้วยเมโลดี้ที่ฮึมฮัมพึมพัมของเพลงนี้มันเข้ากันได้ดีกับเนื้อร้องที่ชวนครุ่นคิดนึกตรึกตรอง และถึงแม้ว่ามันจะไม่มีการแบ่งท่อนออกเป็นท่อนร้อง ท่อนคอรัส แต่การเรียงเมโลดี้ในหนึ่งท่อนเพลงก็มีน้ำหนัก มีไดนามิก ที่มีเสน่ห์และไม่ทำให้มันน่าเบื่อเลย หากเราลองฟังแล้วจะเห็นได้ถึงการขึ้นลงของตัวโน้ตที่ลื่นไหลและต่อเนื่องกันไปอย่างไม่ขาดตอน เมื่อผสานไปด้วยท่วงทำนองของแมนโดลินแล้วจึงทำให้มันเป็นบทเพลงที่เปี่ยมไปด้วยมนต์ขลังอันลึกลับ
“Blowin’ in The Wind” – Bob Dylan
บทเพลงระดับตำนานของวงการเพลงโฟล์กที่ออกมาในปี 1962 ซิงเกิลจากอัลบั้ม “The Freewheelin’ Bob Dylan” ที่กลายเป็นบทเพลงอมตะและบทเพลงประท้วงที่เอื้อนเอ่ยคำถามชวนคิดสะกดใจในประเด็นของสันติภาพ สงครามและอิสรภาพ
“Yes, and how many times must the cannonballs fly / Before they’re forever banned?” แต่ละท่อนของเพลงนี้ล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์ คล้ายเรากำลังฟังคนอ่านบทกวีประกอบเสียงดนตรี และแน่นอนว่ามันคือบทกวีที่ไม่มีท่อนฮุก หากจะมีก็เป็นเพียงแต่ท่อนที่เรียกว่า Refrain เป็นท่อนปิดท้ายในแต่ละท่อนที่ร้องว่า “The answer, my friend, is blowin’ in the wind / The answer is blowin’ in the wind” ซึ่งนับว่าเป็นท่อนที่ทรงพลังมาก เพราะมันคล้ายเป็นการสนทนาโดยตรงระหว่างดีแลนและผู้ฟัง อีกทั้งยังเป็นการทิ้งปริศนาเชิงปรัชญาเอาไว้ให้เราได้ขบคิดอีกด้วย
“A Day in Life” – The Beatles
แม้ว่า จอห์น เลนนอน (John Lennon) กับ พอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) จะทำงานร่วมกันเป็นประจำในการเขียนเนื้อร้อง จนมีเครดิตคู่เป็น เลนนอน–แมคคาร์ตนีย์ แต่สำหรับบทเพลง “A Day in Life” กลับไม่ค่อยรู้สึกเหมือนเป็นการผสมผสานกันทางความคิดสักเท่าไหร่ เพราะท่อนที่แต่ละคนแต่งนั้นเหมือนไปกันคนละทิศคนละทาง เลนนอนในท่อนร้องเหงา ๆ ส่วนแมคคาร์ตนีย์ในท่อนบริดจ์ที่เหมือนจะสนุกนั้นให้อารมณ์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่นี่กลับเป็นเสน่ห์ของบทเพลงนี้ที่เป็นความงามบนความปั่นป่วนเมื่อเอามันมารวมกันกับท่วงทำนองดนตรีที่สุดแสนจะล้ำอาวอง การ์ด มันเลยยิ่งเป็นอะไรที่แปลกแหวกล้ำเข้าไปใหญ่ นั่นเลยทำให้บทเพลงสุดท้ายปิดอัลบั้มในตำนานของวงอย่าง ‘Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band’ เป็นอะไรที่น่าจดจำอย่างยิ่ง
“Stairway to Heaven” – Led Zeppelin
เพลงไร้ฮุกเพลงนี้อุดมไปด้วยองค์ประกอบที่ทำให้มันโดดเด่นเป็นสง่าไม่ว่าจะเป็นเสียงปิกกิ้งกีตาร์เนิบช้าของ จิมมี เพจ (Jimmy Page) ที่เปิดเข้าเพลงได้อย่างเปี่ยมมนต์ขลัง หรือท่อนโซโลและท่อนระรัวกีตาร์อันเร้าใจในตอนท้ายก็ล้วนแล้วแต่เป็นที่น่าจดจำอย่างยิ่ง
ในส่วนของเนื้อร้องที่แต่งโดย โรเบิร์ต แพลนต์ (Robert Plant) นักร้องนำของวงก็เป็นอะไรที่ออกจะเซอร์และเปี่ยมไปด้วยปริศนา ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงหญิงสาวที่เชื่อมั่นในแสงแวววาวของทองคำและหวังจะใช้มันเพื่อซื้อหาบันไดไต่ไปสู่สวรรค์ ทำให้ในแต่ละท่อนเพลงนั้นชี้ชวนให้คนฟังได้แกะและแงะความหมายด้วยตัวของตัวเอง จนสุดท้ายบทเพลงนี้ก็ถูกครหาว่าพวกเขาจงใจใส่ข้อความลับลงไปในบทเพลงเพื่อบูชาซาตานจนเป็นเรื่องเป็นราวเล่าขานกันมาจนถึงทุกวันนี้
“Space Oddity” – David Bowie
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งบทเพลงระดับตำนาน ที่ไม่ต้องการท่อนฮุกใด ๆ บทเพลงนี้ปล่อยออกมาในเดือนกรกฎาคมปี 1969 จวบจนวันนี้ก็เป็นเวลา 50 กว่าปีแล้ว แต่มันก็ยังข้ามผ่านการเวลาและยุคสมัยจนเป็นบทเพลงที่อยู่ในใจคนทุกยุค (อย่างล่าสุดเชื่อว่าหลายคนอาจเพิ่งเคยฟังเพลงนี้จากภาพยนตร์เรื่อง “The Secret Life of Walter Mitty” แต่ก็รู้สึกประทับใจและได้ติดตามไปหาต้นฉบับฟังในที่สุด)
“Space Oddity” เป็นบทเพลงที่พูดถึงการเดินทางท่องอวกาศ โดยมีตัวละคร ‘ผู้พันทอม’ หรือ Major Tomเป็นตัวละครสมมติที่โบวีได้แรงบันดาลใจจากหนัง Sci-Fi เชิงปรัชญาเรื่อง 2001: A Space Odyssey ผลงานมาสเตอร์พีซของผู้กำกับชั้นครู ‘สแตนลีย์ คูบริก’ (Standley Kubrick) ที่ออกฉายในปี 1968
บทเพลงเปิดด้วยท่อนร้อง “Ground control to Major Tom” ซึ่งต่อมาจะมีการซ้ำเนื้อร้องท่อนนี้อีกหลายครั้ง (จนเป็นท่อนที่จดจำได้ดี) เนื้อเพลงเล่าถึงผู้พันทอมที่ต้องลาภรรยาและครอบครัวเพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจอวกาศ ซึ่งยิ่งห่างไกลโลกเท่าไหร่ ผู้พันทอมก็ต้องเผชิญหน้ากับความเคว้งคว้างเวิ้งว้างไร้สิ้นสุดมากขึ้นทุกที เนื้อร้องและท่วงทำนองสร้างบรรยากาศและช่วยให้ผู้ฟังสัมผัสรับรู้อารมณ์ของตัวละครผู้พันทอมได้เป็นอย่างดีเหมือนเรากำลังดูหนังอยู่เลย และนี่ก็คงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้บทเพลงนี้อยู่เหนือกาลเวลา
“A Birthday Party” – The 1975
บทเพลงฟังสบายคล้ายได้ดีท็อกซ์หูเพลงนี้ก็เป็นบทเพลงไร้ฮุกที่ฟังสบายไร้ความวุ่นวาย ให้เราได้รู้สึกผ่อนคลายไปในท่วงทำนองสบาย ๆ นี้ แถมในมิวสิกวิดีโอในสไตล์แอนิเมชัน 3D ยังเป็นอะไรที่ชวนสนุกกับการแกะ easter eggs ว่าใน MV นี้มี meme ดังอะไรมารวมตัวกันบ้าง
ท่อนร้องของเพลงเปิดด้วย”Hello ,There’s a place I’ve been going” เป็นการเซ็ตเพลงให้ผู้ฟังรู้สึกได้ว่าผู้ร้องกำลังคุยกับผู้ฟังโดยตรง เหมือนการที่ใครสักคนกำลังเล่าเรื่องจากประสบการณ์ของเขาให้เราได้ฟัง “I’ve seen Greg and he was like” “And I’ve seen the girls and they were all like” การเล่าเรื่องในเพลงจึงคล้านเป็นการฟังใครเล่าอะไรให้เราฟังไปเรื่อย ๆ สบาย ๆ เป็นตัวอย่างที่ดีของเพลงร่วมสมัยที่ใช้รูปแบบการเขียนเนื้อร้องที่ไร้ฮุกได้อย่างน่าสนใจ
“ห้องสุดท้าย” – เอ้ รงค์ สุภารัตน์
ปิดท้ายด้วยเพลงไทยกันสักเพลง หากจะพูดถึงเพลงไทยที่ไม่มีท่อนฮุก “ห้องสุดท้าย” ของ เอ้ รงค์ สุภารัตน์ เป็นเพลงหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ เพราะว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่มีความโดดเด่นในการเล่าเรื่องมาก เนื้อหาและอารมณ์ของเพลงมีทั้งความหลอน ความเหงา ความเศร้า และโรแมนติกในระดับที่กลมกล่อม การเล่าเรื่องในเพลงนี้ชี้ชวนให้ผู้ฟังติดตามอย่างใกล้ชิด “ผมมาตามหาผู้หญิงคนหนึ่ง” เสียงเหงา ๆ น่าสงสารของชายเจ้าของเรื่องเป็นคำบอกเล่าเปิดหัวที่ทำให้ผู้ฟังเอาใจจดจ่อติดตามว่าผู้หญิงคนที่ชายหนุ่มตามหานั้นเธอหายไปไหน และในแต่ละท่อนก็คือการค่อย ๆ คลี่คลายเรื่องให้ผู้ฟังได้ตามลุ้นจนพบกับความจริงอันน่าประหวั่นพรั่นพรึงในท้ายที่สุด ก่อนที่จะจบบทเพลงด้วยท่อนเดียวกันกับท่อนเปิดว่า “ผมมาตามหาผู้หญิงคนหนึ่ง” แต่มีการเติมสร้อยอันแสนเศร้าเข้าไปว่า “เธออยู่ไหน” เพียงเท่านี้บทเพลงไร้ฮุกเพลงนี้ก็ได้กลายเป็นเพลงโปรดในใจของใครหลาย ๆ คนไปเป็นที่เรียบร้อย
ที่มา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส