‘Extraordinary Attorney Woo : อูยองอูทนายอัจฉริยะ’ ดำเนินมาถึง ep ที่ 12 แล้ว แน่นอนว่าในทุกตอนที่ออกอากาศมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้น่าพูดถึงและใน ep9 ที่ได้นำเสนอเรื่องราวของบังกุปงชายหนุ่มที่เข้าถึงหัวอกเด็กและอยากปลดปล่อยพวกเขาจากความเข้มงวดของพ่อแม่ ได้เกิดความเชื่อมโยงเล็ก ๆ ที่กลายเป็นหัวใจสำคัญที่ยิ่งใหญ่ จนนำพาให้นึกย้อนไปถึง ‘Free Willy’ ภาพยนตร์แนวครอบครัวที่กินใจเรื่องหนึ่ง และอดชื่นชมไม่ได้กับการเขียนบทที่แยบคายในซีรีส์น้ำดีเรื่องนี้
มากไปกว่านั้นการปรากฏตัวขึ้นในช็อตสั้น ๆ ของ ‘เคย์โกะ (keiko)’ วาฬเพชฌฆาตจาก ‘Free Willy’ ยังทำให้เรานึกถึง “Will You Be There” เพลงเพราะ ๆ ที่หลายคนยังคิดถึงของ ‘Michael Jackson’ อีกด้วยสิ
*คำเตือน : เนื้อหาต่อไปนี้อาจมีสปอยล์ ผู้ที่ยังไม่ได้รับชมซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo : อูยองอูทนายอัจฉริยะ โปรดพิจารณาในการอ่าน
ฉากประทับจิตสะกิดใจไม่กี่เสี้ยววินาที
ฉากเล็ก ๆ ของภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ ก็เปรียบเสมือนคำพูดกินใจของใครสักคน ที่อาจจะย้ำเตือนให้กับคนที่ ‘รู้สึก’ ไปด้วยกัน หวนนึกถึงเรื่องราวบางช่วงบางตอนของชีวิตตนเองและผู้อื่นได้ง่าย ๆ ซึ่งซีรีส์อูยองอู ทนายอัจฉริยะก็สามารถทำสิ่งนั้นให้สำเร็จออกมาได้อย่างน่าชื่นชม กับฉากของการปลดปล่อยที่ตัวเอกของเรื่องนึกถึงเรื่องราวประทับใจขึ้นมาได้ในเสี้ยววินาที
ในฉากที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้คือบางช่วงบางตอนของ Ep9 ที่ถึงแม้ว่าทีมทนายอูยองอูจะแพ้คดีในชั้นศาล แต่การกระทำและอุดมการณ์ของบังกุปง ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่น่าหวาดหวั่นสำหรับผู้ปกครอง แต่สิ่งที่เขาคิดและทำออกมานั้น อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อยกับชีวิตที่ควรจะได้รับของเด็ก ๆ ในซีรีส์ และแน่นอนในโลกชีวิตจริงขั้นมาบ้างก็เป็นได้ ด้วยความคิดที่ว่า “หนึ่ง เด็ก ๆ จะต้องเล่นเดี๋ยวนี้ สอง เด็ก ๆ จะต้องสุขภาพแข็งแรงเดี๋ยวนี้ และสาม เด็ก ๆ จะต้องมีความสุขเดี๋ยวนี้” เพราะหากผ่านช่วงเวลานี้ไปแล้ว ความสุขและความสนุกสนานเหล่านั้นที่ควรจะได้รับตามช่วงวัย จะไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้อีก
ซีรีส์ในตอนนี้นำเสนอถึงด้านที่ เด็ก ๆ กลุ่มหนึ่งต้องรับภาระหนักเรื่องการเรียนจากความคาดหวังของผู้ปกครอง ด้วยความรักความหวังดีที่อาจจะหลงลืมไปว่า สิ่งที่เด็ก ๆ ต้องเผชิญมันคือความกดดันและหนักเกินไปแล้วนะสำหรับพวกเขา การจะเข้าเส้นชัยแห่งการศึกษาเพื่ออนาคต ต้องแลกมากับเวลาที่เสียไปในการเรียนพิเศษที่โหดหินใช่เล่น พวกเขาต้องอยู่ในสถาบันกวดวิชาที่เข้มงวดไม่ต่างจากกรงขัง เต็มไปด้วยกฎระเบียบที่จำต้องยอมรับ ห้ามออกนอกห้องจนกว่าสถาบันจะปิด ไม่ได้กินอาหารตรงเวลาและดีต่อสุขภาพ เด็กหลายคนกินบะหมี่สำเร็จรูป อาหารจังก์ฟู้ดและคาเฟอีน อย่างเกินพอดี เพื่อจะได้ติวและติวต่อไปอย่างเร่งรีบ
การปลดแอกเด็กที่ปังกุบงเอ่ยอ้างถึง จึงเป็นการเรียกร้องให้ปลดปล่อยเด็ก ๆ ให้เป็นอิสระจากกรงของการแข่งขันที่มีพ่อแม่เป็นผู้กำหนดความสำเร็จ และได้ใช้เวลานาทีทองของช่วงวัยนี้ให้มีความสุขอย่างเต็มที่ และถึงแม้ว่าการเรียกร้องครั้งนี้จะทำให้เขาต้องรับโทษตามกฎหมายกำหนด แต่เด็ก ๆ ก็ได้ถูกปลดปล่อยออกไปจากความคิดเดิม ๆ ของผู้ใหญ่แล้วจริง ๆ ซีรีส์ใช้ช่วงเวลาประทับใจสั้น ๆ นี้ปล่อยตัวแสดงสมทบตัวใหม่เข้ามาในทันทีทันใด เมื่ออูยองอูสัมผัสได้ถึงการปลดปล่อยที่คล้ายคลึงกับชีวิตของเคย์โกะ (keiko) วาฬเพชฌฆาตเพื่อนรัก และความเชื่อมโยงนี้ทำให้อยากซูฮกคนเขียนบทว่าช่างปล่อยคิวได้ประจวบเหมาะอะไรเช่นนี้
keiko วาฬเพชฌฆาตตัวแรกที่ได้กลับคืนสู่ธรรมชาติ
แม้เคย์โกะ จะไม่ใช่วาฬเพชฌฆาตตัวเดียวที่มีครีบโค้งงออย่างที่เห็น เพราะโลกใบนี้ยังเคยได้ยินเรื่องราวของ ‘ทิลิคุม (Tillikum)’ วาฬเพชฌฆาตสัตว์แสดงของสวนน้ำซีเวิลด์ (SeaWorld) ในเมืองออร์แลนโด ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำร้ายคนเลี้ยงจนเสียชีวิตไปแล้วถึง 3 คน จากความเครียดและอาการทางจิตที่ต้องใช้ชีวิตอย่างน่าเศร้าถึง 33 ปี ในอควาเรียม ทั้งสองตัวมีครีบโค้งงอจากการถูกขังอยู่ในพื้นที่จำกัดเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ เคย์โกะเป็นวาฬเพชฌฆาตตัวแรกที่ถูกปล่อยให้เป็นอิสระ ต่างจากทิลิคุมที่ไม่เคยถูกปลดปล่อยจากพันธนาการเลย จนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต
เมื่อถึงฉากสำคัญของเรื่องราวใน Ep นี้ ที่นักแสดงสมทบรูปหล่อว่ายผ่านหน้าอูยองอูออกไปนอกห้องพิจารณาคดี เราจึงมั่นใจได้ว่าเป็นเคย์โกะที่ถูกปลดปล่อยให้เป็นอสิระหลังจากทำงานรับใช้ สร้างความสุขให้กับมนุษย์ในที่แคบ ๆ มาอย่างยาวนานถึง 26 ปี ซีรีส์จับเอาคีย์เวิร์ดของการถูกพันธนาการมาเปรียบเทียบเอาไวตั้งแต่ในช่วงแรก ที่อูยองอูนึกถึงเคย์โกะจนว่าความในชั้นศาลอย่างเข้าใจหัวอกและความตั้งใจของบังกุปง จนในที่สุดความตั้งใจนั้นก็สำเร็จ ที่อย่างน้อยก็เข้าไปแตะใจใครได้หลายคน
ถึงแม้ว่าเรื่องราวต่อจากนั้นจะน่าเศร้า เพราะคนกับสัตว์นั้นต่างกัน สัตว์ที่ถูกกักขังเป็นเวลานานเมื่อถูกปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติมักไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข เคย์โกะเป็นวาฬเพชฌฆาตที่ถูกจับมาตั้งแต่อายุได้ 2 ปี เมื่อปี ค.ศ.1976 จากมหาสมุทรแอตแลนติกใกล้ไอซ์แลนด์ ได้รับการเลี้ยงดูและฝึกฝนให้คุ้นชินกับมนุษย์ จนได้เป็นสัตว์แสดงในสวนน้ำมารีนแลนด์ในออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา ก่อนจะได้เป็นสัตว์แสดงประจำสวนสนุกเรย์โน อเวนทูรา (Reino Aventura) ในเมืองเม็กซิโกซิตี้ จนฉายแววโด่งดังเข้าขั้นพระเอก และได้รับเลือกให้เป็นตัวละครเด่นในภาพยนตร์เรื่อง Free willy (1993) ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมากมายและสร้างออกมาถึง 3 ภาค
จากชื่อเสียงที่ดังคับฟ้านี้ทำให้เกิดการเรียกร้องให้ปล่อยเคย์โกะกลับบ้านอย่างในภาพยนตร์ จนในที่สุดเคย์โกะถูกปล่อยกลับบ้านเกิดอีกครั้ง หลังถูกจองจำอยู่ในสวนน้ำเป็นเวลา 26 ปี แต่หลังจากนั้นอีก 1 เดือนให้หลัง จากการติดตามชีวิตของเคย์โกะพบว่า อิสระที่ได้รับไม่ได้สร้างความสมบูรณ์ในชีวิตให้เคย์โกะอย่างแท้จริง มันยังคงว่ายน้ำอย่างโดดเดี่ยว วนเวียนอยู่ใกล้บริเวณที่ถูกปล่อย ไม่สามารถรวมฝูงกับวาฬเพชฌฆาตตัวอื่นได้ หาอาหารไม่เก่งถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้นจะถูกฝึกให้หาอาหารด้วยตัวเองมาแล้วก็ตาม และมักว่ายเข้าไปขออาหารจากเรือประมงอยู่เป็นประจำ จน 1 ปีหลังจากนั้นมันได้จบชีวิตลงเพียงลำพังในอ่าวทักเนส ประเทศนอร์เวย์ ด้วยอาการปอดบวม
Will You Be There
เมื่อพูดถึงชีวิตของเคย์โกะและความพิเศษในฉากสั้น ๆ จากซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo กันไปแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะต้องเอ่ยถึงภาพยนตร์ที่เคย์โกะรับบทเป็นนักแสดงนำนามว่า ‘วิลลี่’ ในเรื่อง Free Willy กันสักหน่อย เพราะช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาอวดโฉมเคย์โกะสู่สายตาชาวโลกกันเลยทีเดียว และเป็นสาเหตุให้เกิดกระแสอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่าที่ถูกนำมากักขังในสถานที่ปิด จนเกิดการบริจาคจากทั่วสารทิศและได้เงินมาถึง 7 ล้านเหรียญ ซึ่งนำมาสู่การปลดปล่อยเคย์โกะในที่สุด
ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าถึงมิตรภาพระหว่าง เจสซี่ (Jason James Richter) เด็กชายตัวน้อยกับ วิลลี่ (keiko) วาฬตัวยักษ์ ที่เพียงพบหน้ากันก็ตกหลุมรักกันเสียอย่างนั้น จากสาเหตุที่ว่า ชีวิตของเราช่างเหมือนกันอะไรอย่างนี้ เป็นการสื่อถึงสองชีวิตที่ต้องมาอยู่เพียงลำพัง เจสซี่เป็นเด็กกำพร้าที่ไม่เคยเห็นหน้าพ่อและถูกแม่ทอดทิ้งหายต๋อมไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่มีเพื่อนสนิทอย่างแท้จริง มีเพียงแต่นักสังคมสงเคราะห์คอยช่วยเหลือและจัดหาครอบครัวให้ จนได้ไปอยู่กับเกลน (Michael Madsen) และแอนนี่ กรีนวู๊ด (Jayne Atkinson) สองสามีภรรยาที่ต้องการรับบุตรบุญธรรม
เมื่อสองชีวิตสุดอาภัพโคจรมาพบกัน ความเข้าใจก็บังเกิด ฟากหนึ่งเป็นเด็กชายที่ถูกพ่อแม่ทิ้งและต้องมาอยู่กับพ่อและแม่บุญธรรม อีกฟากหนึ่งเป็นวาฬเพชฌฆาตที่ถูกจับมาจองจำและถูกฝึกโดย เลย์ ลินด์เล่ย์ (Lori Petty) และแรนดอล์ฟ จอห์นสัน (August Schellenberg) ชาวอินเดียนแดงที่ชอบสื่อสารกับสัตว์ ถึงแม้ว่าเด็กอย่างเจสซี่และสัตว์อย่างวิลลี่ จะได้รับความรักความเอาใจใส่จากผู้เลี้ยง แต่ทั้งสองชีวิตก็ขาดในสิ่งที่คล้ายกันนั่นคือครอบครัวที่แท้จริง
โดยในตัวภาพยนตร์ดำเนินไปด้วยการสื่อสารถึงมิตรภาพของคนกับสัตว์ ความรักความอบอุ่นที่ต้องการเพียงอ้อมกอด ความเข้าใจ การปรับตัวเข้าหากันโดยใช้ความรักนำทาง พร้อมกับเสียงเพลงสุดอบอุ่น “Will You Be There” ของ ไมเคิล แจ็กสัน ที่ไม่ว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ เพลงนี้ก็ยังอยู่ในหัวใจของใครหลายคน และถึงแม้ว่าจุดจบของการปลดปล่อยจะไม่สวยงามอย่างในภาพยนตร์ แต่เราก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า ทุกชีวิตต้องการความรักความอิสระด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าคนหรือสัตว์ก็ตาม ด้วยการยืนยันจากมโนภาพของอูยองอู (อีกแล้ว) ในฉากที่เคย์โกะกับทนายคนสวยจ้องตากัน ปิ๊ง ๆ ๆ “มันก็คือการถูกปลดปล่อยเท่านั้นแหละ อูยองอู”
ฉากสั้น ๆ นี้ทำให้ผู้เขียนคิดไปไกลถึงเหตุการณ์ในภาพยนตร์ ซีรีส์และชีวิตจริง ว่าถึงแม้ทุกชีวิตอยากได้อิสระ ไม่มีใครอยากถูกขังให้ขาดอิสรภาพ แต่อิสรภาพที่ถูกมอบให้ด้วยการตัดสินใจจากคนอื่น อาจไม่ใช่อิสรภาพที่สมบูรณ์พร้อมต่อการดำรงค์ชีวิตที่ปลอดภัยเสมอไป เพราะสัตว์บางชนิดเมื่อนำออกมาจากธรรมชาติและถูกเลี้ยงโดยมนุษย์ อาจต้องดูแลไปตลอดชีวิตเหมือนอย่างชีวิตของเคย์โกะที่ต้องจบชีวิตลงในวัยที่ยังไม่สมควร
สามารถรับชมสารคดีชีวิตของ ทิลิคุม ได้จากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง BLACKFISH บท NETFLIX และเรื่องราวสุดประทับใจของเคย์โกะ จากภาพยนตร์เรื่อง Free Willy บน Apple TV
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส