จากพื้นที่เรือนจำที่อยู่ใจกลางเมืองสมุทรปราการ สู่การพัฒนามาเป็นหอชมเมือง ส่วนจัดแสดงนิทรรศการ และพื้นที่ให้บริการประชาชน ในพื้นที่ 13 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา วันนี้แบไต๋จะพาทุกท่านไปเยี่ยมชมในทุก ๆ มุม ของหอชมเมืองหลังใหม่แห่งนี้ หลังจากใช้เวลาในการก่อสร้างถึง 10 ปี
ก่อนจะเป็นหอชมเมือง: เคยเป็นเรือนจำมาก่อน
ก่อนที่จะเป็นหอชมเมืองแบบที่ทุกท่านได้เห็นกันนั้น ในอดีต พื้นที่ดังกล่าว เป็นที่ตั้งของเรือนจำกลางสมุทรปราการ ใช้เป็นที่คุมขังนักโทษมานานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2480 จนถึงวันที่ทางจังหวัดได้เล็งเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากอยู่ใจกลางเมือง อยู่ในพื้นที่ชุมชน รวมไปถึงพื้นที่ภายในที่คับแคบ และยิ่งนานวัน ยิ่งมีผู้ถูกคุมขังมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้จัดสร้างเรือนจำแห่งใหม่ขึ้นมาในปีพ.ศ. 2540 ในพื้นที่อำเภอคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ มีการย้ายผู้ถูกคุมขังทั้งหมดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2544 เป็นอันสิ้นสุดการใช้งานเรือนจำใจกลางเมืองสมุทรปราการ และหลังจากนั้นเป็นต้นมา เรือนจำแห่งเก่าที่ว่านี้ ได้ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ให้ได้เห็นกันจนชินตา ถึงแม้ว่าอาคารบางส่วนจะถูกทุบทิ้งและรื้อถอนไปบ้างก็ตาม แต่ยังมีบางส่วนที่ยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ อย่างแนวกำแพงและหอสังเกตการณ์ ซึ่งได้นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของรั้วและการตกแต่งบริเวณโดยรอบหอชมเมืองสมุทรปราการ


หอชมเมืองสมุทรปราการ ได้วางศิลาฤกษ์เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 2555 จนผ่านพ้นมาถึง 10 ปี ถึงได้ฤกษ์ในการเปิดให้เข้าชมอย่างเต็มรูปแบบ
ก่อนหน้าที่จะเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทงการนั้น หอชมเมืองสมุทรปราการ ได้ถูกใช้งานเป็นพื้นที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชาชนที่อาศัยในจังหวัดสมุทรปราการ รวมไปถึงเป็นพื้นที่จัดงานกิจกรรมของทางจังหวัดในบางครั้ง เช่น งานวันเด็กแห่งชาติ, งานประกวดพระเครื่องโดยชมรมพระเครื่องจังหวัดฯ
สำหรับการเข้าชมหอชมเมืองสมุทรปราการในครั้งนี้ ทางแบไต๋จะขอนำพาคุณผู้อ่านไปชม 2 โซนหลัก ๆ คือโซนนิทรรศการ และโซนหอชมเมือง ซึ่งทั้ง 2 โซนที่ว่านี้ ถือเป็นโซนหลัก ๆ ของหอชมเมืองสมุทรปราการเลยก็ว่าได้

ส่วนจัดแสดงนิทรรศการ
เริ่มต้นที่ส่วนการจัดแสดงนิทรรศการ ทางหอชมเมืองได้ใช้ชื่อนิทรรศการนี้ว่า “ร้อยเรื่องเมืองปากน้ำ” บอกเล่าเรื่องราวของเมืองสมุทรปราการ โดยไล่เรียงตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของสยาม มีการทำการติดต่อทางการค้าที่เมืองพระประแดง ซึ่งถือเป็นหน้าด่านที่สำคัญด่านแรกในสมัยนั้น ผ่านพ้นมาสู่ยุคกรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น จากเมืองแห่งการค้าการขาย กลายมาเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันศัตรูและเหล่าผู้รุกรานรวมไปถึงนักล่าอาณานิคมจากหลากหลายประเทศ ด้วยการก่อสร้างป้อมมากมายหลายตำแหน่ง




จนมาถึงรัชกาลที่ 4 รัชสมัยแห่งการทำนุบำรุงศาสนา สมุทรปราการถือเป็นอีก 1 จังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ การบูรณะองค์พระเจีย์ภายในวัดพระสมุทรเจดีย์ หรือที่ชาวสมุทรปราการเรียกกันว่า “พระเจดีย์กลางน้ำ” บูรณะให้เป็นรูปทรงแบบที่เห็นกันในปัจจุบัน ในนิทรรศการนี้ได้ทำแบบจำลองขึ้นมา ซึ่งได้จำลององค์พระเจดีย์องค์เดิมก่อนได้รับการบูรณะให้ได้เห็นกัน

รวมไปถึงบอกเล่าถึงประเพณีที่เกิดขึ้นในสมุทรปราการไว้อีกด้วย อาทิ ประเภณีโยนบัว (รับบัว) วัดบางพลีใหญ่ใน, ประเภณีสงกรานต์ของชาวรามัญ (ชาวมอญ) และประเภณีสมโภชน์องค์พระเจดีย์กลางน้ำ
หลังจากนั้น ยังได้บอกเล่าเรื่องราวของวิกฤติการณ์ “ร.ศ. 112” ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 จุดเริ่มต้นของการต่อสู้ระหว่างไทยและฝรั่งเศส จนนำมาสู่การสูญเสียดินแดน และการใช้เงินถุงแดงในท้องพระคลังเพื่อชำระค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ฝรั่งเศส



มีการจำลองภาพของสงครามที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น รวมไปถึงได้จำลองปืนเสือหมอบ ปืนใหญ่ที่ติดตั้งภายในป้อมพระจุลจอมเกล้า โดยป้อมดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในสามป้อมที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน อยู่ในพื้นที่ของฝั่งพระสมุทรเจดีย์และฝั่งพระประแดง (อีก 2 ป้อม คือ ป้อมผีเสื้อสมุทร และป้อมแผลงไฟฟ้า)


หลังจากที่ได้บอกเล่าถึงวิกฤติการณ์ไปแล้ว ก็นำมาสู่ยุคของการพัฒนา พัฒนาในด้านสาธารณูปโภค อาทิ ไฟฟ้า ประปา คมนาคม และการสื่อสาร โดยเมืองปากน้ำ สมุทรปราการ ถือเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญของการคมนาคมของไทย นั่นคือ เส้นทางรถไฟสายแรกของไทย “ทางรถไฟสายปากน้ำ” เส้นทางกรุงเทพ – ปากน้ำ ระยะทาง 21.3 กิโลเมตร





หลังจากนั้น ได้พบกับส่วนจัดแสดงที่ให้เห็นภาพปัจจุบันของเมืองสมุทรปราการ เมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรม เป็นเมืองที่ตั้งของโรงงานทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก รวมกันกว่า 7,000 แห่ง เป็นจุดศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์







และปิดท้ายในส่วนนิทรรศการ ด้วยการยกเมืองสมุทรปราการเกือบทั้งเมือง มาอยู่ใต้เท้าของเรา ทำให้เราเห็นภาพสมุทรปราการได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงมีการนำกระเช้าเดินทางขนาดเท่าของจริง จากส่วนหนึ่งของโครงการเส้นทางกระเช้าลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ได้ซ้อมลองนั่งกันก่อน ก่อนที่โครงการนี้จะกลายเป็นจริงในอนาคตข้างหน้านี้



และสิ่งหนึ่งที่พลาดไม่ได้ คือตู้กาชาปองของที่ระลึกของหอชมเมือง ที่บรรจุแบบลองหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบจำลองหอชมเมือง, นกนางนวล, จระเข้ และอีกมากมาย ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสมุทรปราการ แน่นอนว่าเรื่องเกลือ ๆ แบบนี้ รู้ว่าเสี่ยงแต่ยังคงขอลอง… (ค่าเสี่ยงดวงกาชาปอง ครั้งละ 10 บาท)

นอกจากจะได้ไขตู้กาชาปองแล้ว ส่วนของตลับนั้น ยังสามารถใช้แทนเสียงของเราเพื่อโหวตว่าอยากเห็นการพัฒนาของจังหวัดสมุทรปราการในด้านใดบ้าง ได้แก่ ด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม, ด้านคุณภาพชีวิต, ด้านคมนาคม, ด้านการท่องเที่ยว และสุดท้าย ด้านความปลอดภัย

สำหรับส่วนนิทรรศการนั้น มีเวลารับชมตั้งแต่จุดแรกไปจนถึงจุดสุดท้าย รวมเวลา 2 ชั่วโมง โดยจะปล่อยให้เข้าชมทุก ๆ 20 นาที
ส่วนหอชมเมือง
มากันที่ส่วนของหอชมเมืองกันบ้าง ซึ่งสามารถขึ้นชมทัศนียภาพรอบเมืองปากน้ำ สามารถมองไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทย รวมไปถึงกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก และฝั่งพระราม 3 (บางส่วน) โดยสามารถเข้าชมได้ที่ชั้น 23 ถึงชั้น 25 ของหอชมเมือง

อย่างที่เห็นในภาพนี้ เมื่อก้าวออกมาจากลิฟต์ที่ชั้น 23 คุณจะได้พบกับวิวทิวทัศน์รอบเมืองสมุทรปราการ สามารถรับชมได้แบบ 360 องศา พร้อมทั้งยังสามารถใช้บริการกล้องส่องทางไกล เพื่อมองไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น (โดยจะต้องหยอดเหรียญ 10 บาท เพื่อใช้งาน และสามารถใช้งานได้เป็นเวลาประมาณ 5 นาที)


หอชมเมืองแห่งนี้ สามารถมองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยา, อ่าวไทย, เมืองสมุทรปราการ และกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกได้บางส่วน (การจะมองเห็นมุมมองฝั่งกรุงเทพมหานครแบบชัดมากหรือชัดน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและมลภาวะที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน)




ในส่วนของชั้น 25 นอกจากจะเป็นชั้นที่สามารถรับชมวิวทิวทัศน์รอบเมืองปากน้ำได้แล้วนั้น ยังมีส่วนการจัดแสดงอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสมุทรปราการ อาทิ การบอกกล่าวเล่าเรื่องจากคนท้องถิ่น, สมุทรปราการกับโรคระบาดร้ายแรงในประเทศไทย อันเป็นที่มาของมูลนิธิราชประชาสมาสัย และการตั้งศูนย์รักษาที่อำเภอพระประแดง, พื้นที่คุ้งบางกระเจ้า แหล่งฟอกอากาศขนาดใหญ่ของสมุทรปราการ, โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ แหล่งผันน้ำลงสู่เจ้าพระยา จากพระราชดำริสู่โครงการที่ทำได้จริง








นอกเหนือจากโซนนิทรรศการและหอชมเมืองนั้น พื้นที่ภายในหอชมเมืองสมุทรปราการ ยังเป็นที่ตั้งของส่วนราชการในจังหวัดสมุทรปราการ อย่างเทศบาลนครสมุทรปราการ ซึ่งได้ย้ายที่ตั้งจากภายในพื้นที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ มายังหอชมเมืองแห่งนี้ รวมไปถึงยังมีพื้นที่ใช้สอยหลากหลายรูปแบบ เช่น ห้องสมุด และห้องประชุมขนาดใหญ่
รายละเอียดคร่าว ๆ ของหอชมเมืองสมุทรปราการ
สำหรับการเข้าชมหอชมเมืองและนิทรรศการนั้น ทางหอชมเมืองสมุทรปราการจะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันอังคาร จนถึงวันอาทิตย์ (ปิดทำการเฉพาะวันจันทร์) เข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 17.00 น. (เข้าชมนิทรรศการรอบสุดท้าย 15.00 น.) โดยแบ่งเป็นสองส่วน ได้แก่
- ส่วนของหอชมเมือง (ชั้น 23 – ชั้น 25) สามารถขึ้นลิฟต์แล้วไปรับชมได้เลย ไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า และไม่มีการจำกัดรอบเวลา
- ส่วนของนิทรรศการ จะเปิดให้เข้าชมเป็นรอบ ๆ รอบละ 2 ชั่วโมง โดยเริ่มรอบแรก 10.00 น. และจะปล่อยรอบถัด ๆ ไป ทุก ๆ 20 นาที ผู้ที่สนใจเข้าชม จะต้องลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านการกรอกแบบฟอร์ม และเลือกวัน – เวลาที่สะดวกต่อการเข้าชมนิทรรศการ ซึ่งสามารถคลิกได้ที่ลิงก์นี้ หรือจะสแกนคิวอาร์โค้ดก็ได้เช่นกัน

ผู้เขียนขอแนะนำว่า ควรลงทะเบียนล่วงหน้าอย่างน้อย 2 – 3 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบข้อมูลและส่งอีเมลยืนยันกลับมา แต่ถ้าไม่สะดวกในการลงทะเบียนล่วงหน้า ก็ยังสามารถมาในรูปแบบลงทะเบียนที่หน้าทางเข้า (Walk-In) ก็ได้เช่นกัน (แต่ระยะเวลาในการรอรอบเข้าชมอาจจะนานกว่า และขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เข้าชมที่มาลงทะเบียนในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น)
ในช่วงนี้ ทางหอชมเมืองได้เปิดให้เข้าชมโดยที่ไม่ต้องเสียค่าเข้าชมหรือค่าแรกเข้า โดยจะเปิดให้เข้าชมฟรีตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึง 31 ตุลาคม 2565 และหลังจากนั้น จะเริ่มจัดเก็บค่าเข้าชม ท่านละ 60 บาท
หลากวิธีเดินทางมายังหอชมเมืองสมุทรปราการ
สำหรับการเดินทางมายังหอชมเมืองสมุทรปราการนั้น นอกจากการโดยสารด้วยรถยนต์ส่วนตัว ยังสามารถเดินทางได้อีกหลากหลายวิธี อาทิ
- รถไฟฟ้าบีทีเอส: ลงที่สถานีปากน้ำ แล้วเดินเท้า หรือโดยสารด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือรถสองแถวในละแวกนั้นก็ได้ (ในอนาคต จะมีสกายวอล์กให้เดินจากชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารมายังหอชมเมือง ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง)
- รถเมล์โดยสาร เดินทางมายังปากน้ำ สมุทรปราการ โดยรถเมล์สาย 25 (ปากน้ำ – ท่าช้าง), 102 (ปากน้ำ – พระราม 3), 142 (ปากน้ำ – เคหะธนบุรี), 145 (ปากน้ำ – หมอชิต), 365 (ปากน้ำ – ศรีเอี่ยม – บางปะกง), 507 (ปากน้ำ – ขนส่งสายใต้ใหม่), 508 (ปากน้ำ – ท่าราชวรดิษฐ์), 511 (ปากน้ำ – ขนส่งสายใต้ใหม่) และ 536 (ปากน้ำ – หมอชิต)
- รถสองแถวรับจ้าง: สายปากน้ำ – ก.ม. 30 (สาย 30), สายปากน้ำ – บางปู (สาย 36), สายปากน้ำ – คลองด่าน, สายปากน้ำ – ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ (สำโรง), สายปากน้ำ – พระประแดง, สายปากน้ำ – แยกศรีเอี่ยม, สายปากน้ำ – มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 (ราม 2: วิทยาเขตบางนา)
- รถตู้โดยสาร: สายปากน้ำ – คลองด่าน, สายปากน้ำ – เดอะมอลล์บางกะปิ, สายปากน้ำ – มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ราม 1: วิทยาเขตหัวหมาก), สายปากน้ำ – ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์
- เรือโดยสารข้ามฟาก เส้นทางตลาดปากน้ำ (ตลาดวิบูลย์ศรี) – พระสมุทรเจดีย์
ถือได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของสมุทรปราการ ที่รอให้คุณผู้อ่านทุกท่านได้มาเยี่ยมชม และใช้เวลาว่างของท่านในการพักผ่อนหย่อนใจในสถานที่แห่งนี้ พร้อมทั้งได้รับความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์กลับไปอีกด้วย หากคุณผู้อ่านมีเวลา อยากขอเชื้อเชิญมายังหอชมเมืองสมุทรปราการแห่งนี้
สำหรับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ทางเฟซบุ๊ก “หอชมเมืองสมุทรปราการ”
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส