ซีรีส์ ‘House of the Dragon’ เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่และได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี แถมยังประกาศสร้างซีซัน 2 เป็นที่เรียบร้อยหลังจากฉายไปตอนเดียวเท่านั้น นับเป็นซีรีส์น้ำดีคุณภาพสูงอีกเรื่องของ HBO ที่ออกมาสู้กับสตรีมมิงรายอื่นได้สมศักดิ์ศรี
ตอนที่ 1 ของ ‘House of the Dragon’ พาเรากลับไปยังดินแดนเวสเทอรอสเมื่อประมาณ 200 ปีก่อนเหตุการณ์ใน ‘Game of Thrones’ ทำให้มีกลิ่นอายชวนคิดถึงที่แฟนซีรีส์ชุดนี้รู้สึกตื่นเต้นหลายอย่าง ใครแอบเห็น Easter Egg ที่เชื่อมโยงไปถึง ‘Game of Thrones’ ตรงไหนบ้าง ลองมาเช็กดูว่าตรงกับ Easter Egg ที่เรารวมมาให้หรือไม่ (แน่นอนว่าเตือนสปอยล์ไว้ก่อนตรงนี้สำหรับคนที่ยังไม่ได้ดูซีรีส์ ‘Game of Thrones’ และ ‘House of the Dragon’)
‘House of the Dragon’ เริ่มต้นด้วยการประชุมมหาสภา…เช่นเดียวกับตอนจบของ ‘Game Of Thrones’
ในซีรีส์ ‘House of the Dragon’ เราจะเห็นว่าฉากเริ่มต้นของเรื่องราว (และเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของกระตูลทาร์แกเรียน) ก็คือการประชุมมหาสภาเพื่อประกาศตัวทายาทสืบทอดบัลลังก์เหล็กของกษัตริย์เจเฮริส ทาร์แกเรียน ที่ 1 (Jaehaerys I Targaryen) เช่นเดียวกับตอนจบของ ‘Game of Thrones’ ที่มีการประกาศกษัตริย์องค์ใหม่ผู้ครองบัลลังก์เหล็กอย่าง แบรน สตาร์ก (Bran Stark) ภายในการประชุมมหาสภาเช่นเดียวกัน
‘House of the Dragon’ เป็นเหตุการณ์ 172 ปีก่อนการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์บ้า (Mad King)
หลังการประชุมมหาสภา เรื่องราวใน ‘House of the Dragon’ ไทม์สคิปไป 9 ปีหลังจากกษัตริย์วิเซริสขึ้นครองราชย์ ซึ่งเราจะได้เห็นข้อความปรากฎบนจอว่า เป็นเหตุการณ์ 172 ปีก่อนการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์บ้าหรือ Mad King เป็นการบอกเล่าแบบง่าย ๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องราวของซีรีส์ทั้งสองเรื่องมีความเชื่อมโยงกัน
ข้อความกล่าวถึง แดเนริส สตอร์มบอร์น (Daenerys Stormborn)
นอกจากข้อความช่วงเปิดเรื่องจะกล่าวอ้างอิงถึงกษัตริย์บ้าแล้ว ยังกล่าวว่าเป็นเหตุการณ์ก่อนการถือกำเนิดของแดเนริส สตอร์มบอร์น ที่สำคัญเธอยังเป็นคนตระกูลทาร์แกเรียนคนสุดท้ายอีกด้วย ทำให้เรามองเห็นภาพกว้าง ๆ ตั้งแต่จุดรุ่งเรืองของตระกูลทาร์แกเรียนจนถึงจุดจบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น
แบล็กไฟร์และดาร์กซิสเตอร์ คือดาบเหล็กวาลีเรียนใน ‘House Of The Dragon’
‘House of the Dragon’ มีการกล่าวถึงเหล็กวาลีเรียนอยู่ในหลาย ๆ ฉาก เช่น ตอนที่เดมอนมอบสร้อยคอให้กับเรนีร่า แต่ Easter Egg ที่ทำให้หลายคนตื่นเต้นที่สุดก็คือการพูดถึงดาบที่สร้างจากเหล็กวาลีเรียนอย่างแบล็กไฟร์และดาร์กซิสเตอร์ ดาบสองเล่มซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน ผู้ถือครองดาบแบล็กไฟร์ในอดีตคือเอกอนผู้พิชิต (Aegon the Conqueror) ปฐมกษัตริย์แห่งตระกูลทาร์แกเรียน ส่วนผู้ถือครองดาร์กซิสเตอร์ก็คือพี่สาวผู้กลายเป็นภรรยาของเขา วิเซนยา (Visenya) ดาบทั้งสองเล่มผ่านการผจญภัยมามากมาย เนิ่นนานก่อนเกิดเหตุการณ์ใน ‘House of the Dragon’ ซะอีก แต่พวกมันกลับหายไปในช่วงของ ‘Game of Thrones’
เรนีร่าและอลิเซนต์พูดคุยกันถึงเจ้าหญิงไนมีเรีย
เป็นอีกหนึ่งฉากของ ‘House of the Dragon’ ที่ทำให้เราเห็นถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานและลึกล้ำของจักรวาลแห่งนี้ นั่นคือการพูดคุยของสองสาวเรนีร่าและอลิเซนต์ถึงเจ้าหญิงไนมีเรีย (Nymeria) เจ้าหญิงนักรบในตำนานผู้สร้างตระกูลมาร์เทล (Martell) นอกจากนี้การพูดถึงเรื่องราวของไนมีเรียในฉากนี้ยังเป็นการอ้างถึงซีรีส์ภาคแยกอย่าง ‘10,000 Ships’ ซึ่งเป็นเรื่องราวของเจ้าหญิงไนมีเรียอีกด้วย
ราชินีเอ็มมา (Queen Aemma) กับอ่างน้ำร้อน
ฉากราชินีเอ็มมาแช่น้ำร้อนในอ่างเพื่อผ่อนคลายร่างกายที่หนักอึ้งจากการทรงครรภ์ เป็นอีกหนึ่ง Easter Egg ที่ทำให้นึกถึงฉากการอาบน้ำของแดเนริส แต่ขณะที่เอ็มมาทนรับได้แค่น้ำอุ่น แดเนริสกลับมีร่างกายที่ทนต่ไฟและความร้อน อย่างที่เราได้เห็นกันใน ‘Game of Thrones’
เดมอน ทาร์แกเรียน (Daemon Targaryen) คือผู้บัญชาการหน่วยพิทักษ์เมือง
เจ้าชายเดมอน ทาร์แกเรียน คือผู้บัญชาการหน่วยพิทักษ์เมืองหรือก็คือหน่วยผ้าคลุมทองที่เราคุ้นเคยกันดีใน ‘Game of Thrones’ นั่นเอง หน่วยผ้าคลุมทองมีบทบาทสำคัญในช่วงต้นของซีรีส์ ‘Game of Thrones’ และมีบทบาทอยู่ตลอดเรื่อง เนื่องจากเป็นกองกำลังส่วนตัวของผู้มีอำนาจ
ตราประจำตระกูลต่าง ๆ และการประลอง
การประลองเพื่อเฉลิมฉลองการถือกำเนิดทายาทสืบทอดของกษัตริย์วิเซริสเป็นอีกหนึ่ง Ester Egg ที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะทำให้นึกถึงการประลองที่จัดขึ้นเพื่อฉลองให้กับ เน็ด สตาร์ก (Ned Stark) ที่กลายเป็นหัตถ์พระราชาแล้ว ยังทำให้เราเห็นตราประจำตระกูลต่าง ๆ มากมาย เช่น ตรามังกรแดงสามหัวบนพื้นดำซึ่งเป็นตราประจำตระกูลทาร์แกเรียน, ตราหมาป่าไดร์วูล์ฟของตระกูลสตาร์ก, ตราสิงโตทองคำของตระกูลแลนนิสเตอร์, ตรากวางสีดำบนพื้นสีเหลืองของตระกูลบาราเธียน, ตราจุดสีดำบนพื้นแดงของตระกูลโคล, ตราหอคอยที่ลุกไหม้ของตระกูลไฮน์ทาวเวอร์ เป็นต้น
ส่วนรายละเอียดเล็กน้อยที่ถูกดัดแปลงจากในหนังสือก็คือการประลองที่เซอร์คริสตัน โคลเอาชนะเจ้าชายเดมอนในหนังสือเกิดขึ้นที่เมเดนพูล ไม่ใช่ที่คิงส์แลนดิง และการประลองก็จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่กษัตริย์วิเซริสขึ้นครองราชย์ ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อฉลองการกำเนิดของทายาทสืบบัลลังก์
‘House Of The Dragon’ เริ่มต้นด้วยการตายของคนตระกูลแอร์ริน เช่นเดียวกับ ‘Game Of Thrones’
เรื่องราวสุดเข้มข้นของ ‘Game of Thrones’ เริ่มต้นด้วยความตายของ จอน แอร์ริน (Jon Arryn) หัตถ์พระราชา ผู้เป็นมือขวาของกษัตริย์โรเบิร์ต บาราเธียน (Robert Baratheon) ทำให้ เน็ด สตาร์ก ถูกขอร้องแกมบังคับให้มาเป็นมือขวาคนใหม่จนนำไปสู่เรื่องราวตามที่เราได้เห็น ส่วน ‘House of the Dragon’ ราชินีเอ็มมา แอร์ริน ภรรยาของกษัตริย์วิเซริสก็สิ้นพระชนม์ระหว่างให้กำเนิดบุตร เป็นความตายที่นำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่เราจะได้เห็นกันในอนาคต
“ดราคาริส”
“ดราคาริส” คือหนึ่งในประโยคไอคอนที่แฟน GoT จำได้ดี เมื่อแดเนริสเอ่ยประโยคนี้ครั้งแรก มันทั้งทรงพลัง เต็มไปด้วยความมั่นใจ และน่าเกรงขาม ขณะที่เรนีร่ากลับต้องเอ่ยมันออกมาด้วยความทนทุกข์ เพราะเธอไม่ได้ใช้ไฟของมังกรเพื่อเผาศัตรู แต่ใช้เพื่อเผาร่างของแม่และน้องชายของตัวเอง
การอ้างอิงถึงหนังสือ Feast For Crows
อีกหนึ่ง Easter Egg ที่น่าสนใจของ ‘House of the Dragon’ ซีซัน 1 ก็คือการอ้างอิงถึงผลงานของ จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน (George R.R. Martin) นั่นคือหนังสือเรื่อง A Feast for Crows (ชื่อไทย กาดำสำราญเลือด) ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือชุด A Song of Ice and Fire โดยกษัตริย์วิเซริสกล่าวว่า “…ต้องทนทุกข์กับอีกาที่มากินซากศพของพวกมัน” แม้ประโยคจะไม่ได้ถอดมาจากหนังสือแบบตรงเป๊ะ แต่ก็สอดคล้องกับชื่อเรื่องและเนื้อหาของ A Feast for Crows ที่กล่าวถึงความสยดสยองของสงคราม ชะตากรรมของผู้คนมากมายที่รออยู่ และความตายในเวสเทอรอส
หัวกะโหลกของ บาเลเรียน (Balerion) มฤตยูดำ
‘House of the Dragon’ จะกล่าวถึงมังกรหลายตัว แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีตัวไหนเทียบได้กับความยิ่งใหญ่ของบาเลเรียน สมญานามของมันคือ “มฤตยูดำ” มังกรที่ครั้งหนึ่งกษัตริย์เอกอนผู้พิชิตเป็นผู้ขี่มัน หัวกะโหลกขนาดใหญ่ยักษ์ของมันปรากฎอยู่ในตอนที่ 1 พร้อมกับกษัตริย์วิเซริสซึ่งเป็นผู้ได้ขี่มังกรบาเลเรียนเป็นคนสุดท้าย เขาขี่มังกรบาเลเรียนได้ประมาณ 1 ปีก่อนที่มันจะตาย ทำให้ไทม์ไลน์ปัจจุบันในเรื่อง เวการ์ (Vhagar) กลายเป็นมังกรที่ตัวใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในเวสเทอรอส
ต้นเวียร์วูดในคิงส์ แลนดิ้ง
ต้นไม้โบราณเก่าแก่ที่วินเทอร์เฟลคือหนึ่งในสัญลักษณ์ของ ‘Game of Thrones’ และมีความเกี่ยวข้องกับทางเหนือของดินแดนเวสเทอรอส แต่ในซีรีส์ ‘House of the Dragon’ เราจะได้เห็นต้นเวียร์วูดในป่าเทพเจ้า (Godswood) ที่คิงส์ แลนดิ้ง เป็นฉากหลังระหว่างที่สองสาวเพื่อนรักเรนีร่าและอลิเซนต์พูดคุยกันในช่วงเวลาพักผ่อน ซึ่งก่อนหน้านี้เราอาจเข้าใจกันว่าต้นเวียร์วูดถูกตัดขาดกับชาวแอนดัลในเวสเทอรอสมานานก่อนจะเกิดเหตุการณ์ใน ‘House of the Dragon’ แต่เวียร์วูดต้นนี้ที่ยังหลงเหลืออยู่อาจถูกปลูกไว้โดยทาร์แกเรียนบางคน นอกจากนี้ในตอนที่ 1 ยังมีการเอ่ยถึง “ทวยเทพทั้งเก่าและใหม่” ด้วย
การล่มสลายของวาลีเรีย
การล่มสลายของวาลีเรียถูกเอ่ยถึงสั้น ๆ ใน ‘House of the Dragon’ โดยในเรื่องไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดอะไรมากนัก แต่มันก็ทำให้เรารู้ว่าเกิดภัยพิบัติบางอย่างขึ้นจนทำให้วาลีเรียเก่าล่มสลาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณ 100 ปีก่อนยุคของเอกอนผู้พิชิต เหตุการณ์ล่มสลายของวาลีเรียครั้งนั้นเกิดจากเปลวไฟของวงแหวนภูเขาไฟทั้ง 14 ลูกที่รายล้อมคาบสมุทรวาลีเรียอยู่ปะทุออกมา ทำให้ผู้คน สถานที่ แม้กระทั่งมังกรถูกทำลาย แต่ตระกูลทาร์แกเรียนรอดมาได้เพราะพวกเขาออกเดินทางจากวาลีเรียมายังดราก้อนสโตน เนื่องจาก แดนิส หนึ่งในบรรพบุรุษของเอกอน เห็นนิมิตเหตุการณ์ดังกล่าวล่วงหน้า
นิมิตของเอกอน ที่มาของลำนำแห่งน้ำแข็งและไฟ (A Song Of Ice and Fire)
เรียกได้ว่าเป็นการเปิดเผยครั้งใหญ่เลยก็ว่าได้สำหรับการเอ่ยถึงนิมิตของเอกอน ก่อนประกาศให้เรนีร่าเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์เหล็ก กษัตริย์วิเซริสได้เผยความลับที่สืบทอดต่อมาในบรรดาทายาทว่า เอกอนเห็นนิมิตของฤดูหนาวอันโหดร้าย ความมืดที่อาจกลายเป็นจุดจบของเผ่าพันธุ์มนุษย์ แน่นอนว่าความฝันในครั้งนี้หมายถึงไนต์คิงและเหล่าไวต์วอล์กเกอร์ เอกอนเรียกนิมิตของเขาว่า “ลำนำแห่งน้ำแข็งและไฟ” เพราะเขาเชื่อว่า มีแค่ตระกูลทาร์แกเรียนซึ่งครองบัลลังก์เหล็ก (ไฟ) เท่านั้นที่จะต่อกรกับเหล่าไวต์วอล์กเกอร์ (น้ำแข็ง) ได้ เชื่อว่าแฟน GoT ต้องมีกรี๊ดกันบ้างในฉากนี้ เพราะนอกจากจะเป็นเหตุการณ์ที่เราได้เห็นใน ‘Game of Thrones’ แล้ว นี่ยังเป็นชื่อหนังสือชุด A Song Of Ice and Fire อีกด้วย
วิเซริสครอบครองกริชแคทส์พาว (The Catspaw Dagger) กริชที่อาร์ยาใช้ปลิดชีพไนต์คิง
นอกจากจะเป็นผู้ครอบครองดาบเหล็กวาลีเรียนแล้ว กษัตริย์วิเซริสยังมีอาวุธที่ทำจากเหล็กวาลีเรียนอีกหนึ่งชิ้น นั่นคือกริชแคทส์พาว มันไม่ใช่กริชธรรมดา เพราะอีก 200 ปีต่อมากริชเล่มนี้ถูกใช้ในการพยายามสังหารแบรน สตาร์ก และไม่กี่ปีหลังจากนั้นอาร์ยา สตาร์ก ได้ใช้กริชเล่มนี้สังหารไนต์คิง อาจดูไม่แปลกเท่าไรที่ตระกูลทาร์แกเรียนจะเป็นผู้ครอบครองกริชเล่มนี้มาก่อน เพราะมันทำจากเหล็กวาลีเรียนและตัวด้ามยังทำมาจากกระดูกมังกร แต่สิ่งที่น่าสนใจคือวิเซริสสัมผัสกริชเล่มนี้ไปด้วยระหว่างที่เขาเอ่ยถึงนิมิตของเอกอน
“สัญญากับข้า…”
เมื่อวิเซริสเผยความลับเรื่องนิมิตของเอกอนให้กับเรนีร่า เขากล่าวว่า “สัญญากับข้าสิ เรนีร่า สัญญา” เป็น Easter Egg แสนเศร้าที่อ้างไปถึงเหตุการณ์ระหว่างเน็ด สตาร์กและลีอานนาผู้เป็นน้องสาว เพราะนี่คือประโยคสุดท้ายที่เธอเอ่ยกับเน็ดที่ทาวเวอร์ออฟจอย (Tower of Joy) หลังเธอมอบทารกที่เพิ่งถือกำเนิดให้กับเขาก่อนตัวเองจะสิ้นใจ เธอขอให้เน็ดสัญญาว่าจะเลี้ยงดู จอน สโนว์ ในฐานะลูกนอกสมรสของเน็ด เพื่อให้เขาเติบโตอย่างปลอดภัยและจะไม่เปิดเผยชาติกำเนิดที่แท้จริงของจอนเป็นอันขาด
เพลงธีมของ ‘Game Of Thrones’ ถูกนำมาใช้ใน ‘House Of The Dragon’
‘House of the Dragon’ ได้ตัวผู้ประพันธ์เพลงอย่าง รามิน จาวาดี (Ramin Djawadi) ผู้เคยแต่งเพลงประกอบให้กับ ‘Game of Thrones’ กลับมาอีกครั้ง ในซีรีส์ภาคนี้จึงมีการนำท่วงทำนองที่คุ้นหูกันดีกลับมาด้วย ซึ่งมันก็ออกมาลงตัวกับหลาย ๆ ฉาก รวมถึงการนำเพลง Intro ของ ‘Game of Thrones’ มาใช้ นอกจากนี้ยังมีการนำเพลงธีมของตระกูลทาร์แกเรียนจาก GoT มาใช้ในซีรีส์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
สามารถรับชม ‘House of the Dragon’ ตอนใหม่ได้ทุกวันจันทร์ ทาง HBO Go
ที่มา: screenrant.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส