เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2002 อัลบั้มชุดที่ 2 ของ Coldplay ‘A Rush of Blood to the Head’ ได้ออกวางจำหน่าย ในปี 2022 อัลบั้มชุดนี้มีอายุครบ 20 ปี
ย้อนกลับไปในปีที่ย่างก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ Coldplay ได้ประกาศการมาถึงของพวกเขาด้วยอัลบั้มเปิดตัว ‘Parachutes’ (2000) และผลลัพธ์ก็เป็นไปตามที่วงดนตรีหน้าใหม่วงนี้วาดหวังเอาไว้นั่นคือ อัลบั้มชุดนี้ได้รับทั้งการยกย่องและเป็นที่ชื่นชอบจากผู้ฟังโดยทั่วไป ซึ่งก็หมายความว่ามันได้กลายเป็นอัลบั้มยอดนิยมและขายดิบขายดีด้วยนั่นเอง Coldplay ไม่เพียงแต่จะได้รับความสนใจในประเทศบ้านเกิด (อังกฤษ) เท่านั้นหากแต่ยังมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วทุกมุมโลก ด้วยซิงเกิลยอดนิยมอย่าง “Yellow”, “Trouble” และ “Don’t Panic”
Coldplay ไม่ได้หยุดยั้งความสำเร็จไว้แค่นั้น พวกเขาคือวงดนตรีที่ต้องการผจญภัยไปในภูมิทัศน์ทางดนตรีให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม พวกเขาคือวงดนตรีที่ไม่ได้ต้องการแสดงแค่ในคลับเล็ก ๆ ในประเทศบ้านเกิด แต่อยากจะขับขานบทเพลงและบรรเลงท่วงทำนองให้ดังกึกก้องไปในอารีน่าและสนามกีฬาทั่วโลก (และสิ่งนี้ก็เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเราแล้ว) พวกเขามีความปรารถนาที่จะเป็น “หนึ่งในวงดนตรีที่ดีที่สุดในโลก”
เพื่อให้ความฝันของพวกเขาสำเร็จดังตั้งใจ Coldplay ไม่รอช้าที่จะเดินหน้าทำอัลบั้มชุดต่อมา ซึ่งต่อมาได้มีชื่อว่า ‘A Rush Of Blood to the Head’ พวกเขากำลังยืนอยู่บนทางเลือกที่สำคัญ อยู่บนจุดที่เรียกว่าอาถรรพ์อัลบั้มที่ 2 พวกเขาต้องเลือกระหว่างเดินตามรอยความสำเร็จที่ได้รับจากเมื่อครั้งเปิดตัวด้วยอัลบั้มแรก หรือจะเลือกเดินในทางใหม่ที่พวกเขาเชื่อว่าจะทำให้พัฒนาและก้าวไกลไปกว่าเดิม เข้าใกล้ความเป็นตัวตนของพวกเขามากขึ้นกว่าเดิม
Coldplay เริ่มบันทึกเสียงอัลบั้มชุดนี้เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2001 และเสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน 2002 แต่เมื่อได้ฟังผลงานที่เสร็จสิ้นแล้ว พวกเขากลับรู้สึกยังไม่พอใจ จึงตัดสินใจที่จะหยุดพักและทบทวนทิศทางกันอีกครั้งเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง ในตอนนั้นหลายเพลงได้ถูกโละทิ้งเพราะฟังดูเข้ากับอัลบั้มเก่ามากกว่าที่จะเป็นเพลงที่ควรอยู่ในอัลบั้มใหม่ คริส มาร์ติน (Chris Martin) นักร้องนำของวงได้เล่าว่า “สำหรับเราความก้าวหน้าและความพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราในฐานะนักดนตรี” ความทะเยอทะยานดังกล่าวทำให้พวกเขาจมอยู่ภายใต้ความตึงเครียด แต่ในท้ายที่สุดพวกเขาก็ข้ามผ่านมันไปได้และเร่งพัฒนาเนื้อหาและทิศทางของบทเพลงใหม่เพื่อให้ทันต่อวันจำหน่ายที่ได้วางเอาไว้
ในภาพรวมของอัลบั้มชุดนี้ สิ่งที่มีความใหม่แตกต่างไปจาก ‘Parachutes’ ก็คือการเพิ่มสีสันของกีตาร์ที่มาพร้อมสุ้มเสียงที่หนักแน่นและมีลีลาที่น่าสนใจกว่าเดิม อีกทั้งยังเพิ่มเติมความโดดเด่นของเปียโนที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น (เห็นได้ชัดจากเพลงฮิตของอัลบั้มนี้อย่าง “In My Place” และ “The Scientist”) ซาวด์ทั้งหลายถูกดีไซน์เพื่อให้สามารถสร้างความประทับใจให้กับแฟนเพลงได้ทั้งในเวทีเล็กและเวทีใหญ่ทั่วโลกที่พวกเขาพร้อมจะไปเยือน ซึ่งไม่เพียงแต่บ่งบอกถึงการพัฒนาและความมั่นใจในฐานะวงดนตรี แต่ยังเพิ่มขอบเขตของบทเพลงให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
แทร็กเปิดอัลบั้ม “Politik” เป็นสิ่งที่ยืนยันในความตั้งใจที่จะก้าวเดินในทางใหม่ของ Coldplay ที่ต้องการจะเปลี่ยนจากการเปิดประตูผับ ไปสู่การเปิดประตูสนามกีฬาและก้าวเข้าสู่อารีน่าอันยิ่งใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้เห็นจะมีแต่เพียงวงร็อกจากดับบลิน ‘U2’ เพียงวงเดียวเท่านั้นที่เคยไปเขย่าอารีน่าทั่วโลก นอกจากนี้ “Politik” ยังเป็นบทเพลงที่สะท้อนบรรยากาศและความรู้สึกหลังเหตุการณ์ 9/11 อีกด้วย เพลงนี้ถูกบันทึกเสียงใน 2 วันหลังจากที่มีการก่อการร้าย 9/11 ซึ่งคริส มาร์ตินได้เล่าว่า “ผมเขียนเพลงนี้เมื่อวันที่ 11 กันยายน และเราบันทึกเสียงกันเมื่อวันที่ 13 พวกเราทุกคนกำลังสับสนและหวาดผวาเหมือนคนอื่น ๆ ทั่วโลก เราเลิกทัวร์และหยุดพักสักวันสองวัน แต่แล้วกลับกลายเป็นหงุดหงิดเข้าไปอีก ผมอยากแต่งเพลงและทำอะไรสักอย่าง เพราะในช่วงเวลาแบบนั้นคุณไม่มีทางรู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีก”
“In My Place” คือทัพหน้าแห่งการทะลวงสู่การผจญภัยทางเสียงดนตรีครั้งใหม่ของ Coldplay นอกจากจะเป็นซิงเกิลนำของอัลบั้มแล้วยังเป็นบทเพลงแรกที่พวกเขาบันทึกเสียงสำหรับอัลบั้มชุดนี้ ซึ่งทำให้พวกเขากล้าที่จะเดินหน้าต่อไปและมั่นใจว่ายังสามารถแต่งเพลงดี ๆ ออกมาได้อีก หลังจากที่พบกับช่วงเวลาเคว้งคว้างที่ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่หลังจากความสำเร็จของ Parachutes ด้วยท่วงทำนองของซาวด์กีตาร์ที่มีลีลาน่าจดจำและสุ้มเสียงที่ฟังดูเวิ้งว้างกว้างไกลผนวกกับเสียงกลองที่หนักแน่นกังวาล จึงไม่ยากที่วงจะจินตนาการได้ว่าหากเล่นเพลงนี้ในสถานที่ใหญ่ ๆ แล้วมันจะปังมากแค่ไหน
“God Put a Smile upon Your Face” อีกบทเพลงที่มีไลน์และซาวด์กีตาร์เท่ ๆ เป็นบทเพลงที่ถึงแม้จะถูกชื่นชมน้อยกว่าเพลงฮิตเพลงอื่น แต่หลายคนก็ชอบเพลงนี้และบอกว่ามันถูกประเมินค่าต่ำเกินไป
“The Scientist” เป็นอีกบทเพลงที่เป็นลายเซ็นของอัลบั้มชุดนี้ แค่เพียงอินโทรเปียโนมาก็เท่บาดใจแล้ว เพลงนี้คือความกลมกล่อมลงตัวอย่างที่สุดระหว่างความซึ้งเศร้าเหงาเพราะรัก ความลุ่มลึกทางเนื้อหา และความน้อยแต่มากของเสียงดนตรีที่มีท่วงทำนองที่ฟังหวานหูและลีลาที่น่าประทับใจ
เสียงอาร์เพจจิโอเปียโนที่เล่นซ้ำ ๆ ไปมาในท่อนอินโทรของ “Clocks” คล้ายดั่งเวทมนต์สะกดจิตสะกดใจให้เราต้องมนต์ ก่อนจะพาไปสัมผัสกับซาวด์เวิ้ง ๆ และจังหวะที่หนักแน่นเร้าใจ ในตอนแรกเพลงนี้จะถูกเก็บเอาไว้เพื่อใช้พัฒนาต่อไปในอัลบั้มชุดหน้า แต่ว่าหลังจากที่วงตัดสินใจรื้อเพลงกันใหม่ เพลงนี้ก็ถูกนำกลับมาขัดสีฉวีวรรณจนออกมาผ่องอย่างที่เราได้ฟังกัน
ถึงแม้เนื้อหาในเพลง “Daylight” จะไม่มีอะไรมาก และท่อน outro ก็ร้องซ้ำไปมาแต่ว่าเนื้อร้องที่พูดถึงการรู้ตัวว่าเรากำลังรักใครสักคนอยู่และการถ่ายทอดเนื้อหาผ่านคู่ตรงข้ามระหว่างความมืดและแสงสว่างก็เป็นอะไรที่คมคายดี แถมเพลงนี้พอเล่นสดแล้วก็ไม่ขี้เหร่เลยทรงพลังไม่น้อยเลยทีเดียว
ถ้าหากเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเล่นในสถานที่ใหญ่ ๆ เพลง “Green Eyes” ก็คงจะเป็นอะไรที่ไม่เข้าพวก แต่การที่มีเพลงนี้มันทำให้อัลบั้มชุดนี้มีความกลมกล่อม ในแง่อัลบั้ม “Green Eyes” คือจุดพักสบาย ๆ ก่อนไปลุยต่อในช่วงท้ายของอัลบั้ม ในแง่การแสดงสดนี่คือเพลงพักเบรกที่ทรงคุณค่าและมันได้สร้างช่วงเวลาที่น่าประทับใจให้กับไลฟ์นั้น ๆ เช่นในการแสดงที่บรัสเซลส์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา Coldplay ได้ชวนแฟนเพลงสาวขึ้นมาแจมเพลงนี้ด้วยกันบทเวทีเป็นโมเมนต์ที่น่ารักและน่าประทับใจสุด ๆ
“Warning Sign” บทเพลงแห่งความคิดถึงและโหยหา บนท่วงทำนองที่งดงามและเรียบง่ายซึ่งจะคืนชีพกลับมาในอัลบั้ม “X&Y” ภายในร่างของเพลง “Fix You”
และปิดท้ายด้วย 3 เพลงสุดท้ายของอัลบั้ม “A Whisper”, ไตเติลแทร็ก “A Rush of Blood to the Head” และ “Amsterdam” ซึ่งโทนของเพลงทั้ง 3 นี้ยังมีความเกาะเกี่ยวกับเพลงในอัลบั้ม Parachutes เช่น “A Whisper” ที่มีอารมณ์แบบเดียวกันกับ “Shiver” เนื้อหาของเพลงนี้สะท้อนช่วงเวลาที่ประสบกับความสับสนในตัวตนและหนทาง เสียงนาฬิกาถูกใช้เป็นสัญญะของช่วงเวลาที่ผันผ่าน และเสียงกระซิบเปรียบเสมือนสัญญาณที่เป็นคำตอบของการเดินหน้าแต่ว่ายังมีความแผ่วเบาราวเสียงกระซิบอยู่หาได้เป็นถ้อยคำที่ชัดเจนแก่ใจ
ตอนแรกที่เห็นชื่ออัลบั้ม “A Rush of Blood to the Head” ก็ยังงงอยู่ว่ามันหมายความว่าอะไร แต่พอมาฟังไตเติลแทร็กเพลงนี้ก็เข้าใจได้ว่าคำคำนี้หมายความถึงช่วงเวลาที่เราทำอะไรลงไปโดยไม่รู้สึกตัว เหมือนเวลาโกรธจนเลือดขึ้นหน้าหรือโกรธจนขาดสติควบคุมตัวเองไม่ได้นั่นเอง เพลงนี้พูดถึงการทำอะไรผิดพลาดลงไปในความสัมพันธ์ซึ่งหลายครั้งเรามักแก้ตัวด้วยคำว่าขาดสติ แต่ความสูญเสียและเจ็บปวดที่เกิดขึ้นนั้นยากที่จะกู้คืนกลับมาได้
บทท่วงทำนองเศร้า ๆ เหงาหม่นของ “Amsterdam” มันได้มอบความหวังและกำลังใจให้ชีวิต โดยบอกกับเราว่าแม้ในช่วงเวลาที่ความหวังริบหรี่แต่ชีวิตนี้ยังเป็นของเรา จงอย่าปล่อยตัวเองให้จมไปในความเศร้าหมอง เพลงนี้วงแต่งกันที่อัมสเตอร์ดัมตามชื่อเพลงเลย และแน่นอนว่าเวลาที่วงไปเล่นคอนเสิร์ต ณ เมืองนี้ก็จะไม่พลาดที่จะเล่นเพลงนี้อย่างแน่นอน
ปกอัลบั้มชุดนี้ก็เป็นอีกสิ่งที่น่าจดจำ ออกแบบโดยช่างภาพ ‘Sølve Sundsbø’ ที่ทำงานให้กับนิตยสารแฟชั่น Dazed & Confused ในช่วงปลายทศวรรษ 90s ซึ่งจ้างให้เขาสร้างภาพที่ ‘ให้ความรู้สึกถึงเทคโนโลยีในบรรยากาศขาวโพลน’ ในฐานะศิลปิน Sundsbø พยายามทำผลงานต้นฉบับที่ไม่เหมือนใคร โดยสร้างภาพที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน เขาถ่ายภาพโดยใช้เครื่องสแกนสามมิติที่เอาไว้ใช้วัดขนาดศีรษะสำหรับหมวกกันน็อคของนักขับเครื่องบินขับไล่ของ USAF เพื่อสร้างงานให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของเขา
นางแบบของภาพถ่ายชื่อ ‘Mim’ ต้องสวมเครื่องสำอางสีขาวล้วน ร่วมกับผ้าคลุมผ้าทวิลล์หลากสี เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดและสวยงามตามที่ต้องการ ด้วยการที่เครื่องสแกนไม่สามารถระบุสีบางส่วนบนผ้าคลุมได้อย่างถูกต้องจึงทำให้พื้นที่เหล่านั้นของภาพถูกแทนที่ด้วยลายดิจิทัล และหัวในภาพก็ถูกตัดออกไปเนื่องจากเครื่องไม่สามารถสแกนรายละเอียดที่ความสูงเกิน 30 เซ็นติเมตรได้ ในตอนแรก Sundsbø เห็นงานตัวเองแล้วก็ยังกลัวเอง “ผมคิดว่ามันสวยมาก แต่ผมแน่ใจว่านิตยสารจะไม่มีวันเอามันไปใช้อย่างแน่นอน” อย่างไรก็ตามบรรณาธิการของนิตยสารชอบภาพนี้มาก และในที่สุดก็ได้นำภาพนี้มาใช้ หลังจากเห็นภาพดังกล่าวในนิตยสาร คริส มาร์ตินจึงได้ติดต่อ Sundsbø เพื่อขออนุญาตใช้ภาพดังกล่าวเป็นหน้าปกซิงเกิล “A Rush of Blood to the Head” (ซึ่งภาพปกซิงเกิลอื่น ๆ ในอัลบั้มก็ใช้ภาพในสไตล์เดียวกันนี้ของ Sundsbø เป็นปก) นอกจากนี้มาร์ตินยังถาม Sundsbø เพื่อขอไอเดียเก๋ ๆ Sundsbø ก็แนะนำมาว่าเขาอยากสแกนศีรษะของสมาชิกแต่ละคนในวง ปกอัลบั้มชุดนี้ได้รับเลือกจากรอยัลเมล์เพื่อนำไปผลิตเป็นชุดแสตมป์ “ปกอัลบั้มคลาสสิก” ที่ออกในเดือนมกราคม 2010
‘A Rush of Blood to the Head’ คือย่างก้าวที่มั่นคงและแข็งแกร่งของ Coldplay มันได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์และแฟนเพลงทั่วโลก เป็นคำตอบของคำถามที่ว่า Coldplay จะไปได้ไกลแค่ไหนจะหยุดความสำเร็จไว้แค่ที่อัลบั้มแรกรึเปล่า ซึ่งเราพบว่าในอัลบั้มนี้ Coldplay ได้เติบโตขึ้นไปในทิศทางที่น่าประทับใจและมันก็พาพวกเขาไปไกลยิ่งกว่าเดิม ทั้งพิชิตเวทีโลกที่ใหญ่กว่าและคว้ารางวัลแกรมมี่ไปพร้อมกัน อีกทั้งยังคงเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดของ Coldplay มาจนถึงปัจจุบัน แม้เวลาจะผันผ่านไปกว่า 20 ปีแต่อัลบั้มชุดนี้ก็ยังคงยืนเด่นเป็นสง่าข้ามผ่านกาลเวลาไม่ว่าจะเปิดฟังในช่วงเวลาใดมันก็ยังคงสร้างความอิ่มเอมใจให้กับเราได้เสมอ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส