ซีรีส์แฟนตาซีฟอร์มยักษ์ ‘House of the Dragon’ เปิดตัวแรง ด้วยความอลังการ เข้มข้น และเกมการเมืองเฉือนคมที่เป็นเสน่ห์ของจักรวาล ‘Game of Thrones’ นอกจากนี้ยังเล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวละครหลากหลายตัว หนึ่งในนั้นคือ ออตโต ไฮทาวเวอร์ (Otto Hightower รับบทโดย รีส อีวันส์ – Rhys Ifans) หัตถ์ของพระราชา ผู้สุขุม คมคาย และทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ แต่ดูไปดูมาก็ยิ่งชวนสงสัยว่าจริง ๆ แล้ว ชายคนนี้มีแผนการซ่อนอยู่ในใจมากกว่าที่พวกเราคิด
Beartai BUZZ จึงขอชวนทุกคนมารู้จักเรื่อง(ไม่)ลับของ ออตโต ไฮทาวเวอร์ จาก ‘House of the Dragon’ ที่มีแต่แฟนหนังสือเท่านั้นที่รู้กันดีกว่า แน่นอนว่าบทความนี้มีการสปอยล์เนื้อหาสำคัญของตัวละครจากหนังสือนิยาย อัคคีและโลหิต (Fire and Blood) ดังนั้นหากใครต้องการดูซีรีส์แบบได้อรรถรสเต็มที่ ข้ามบทความนี้ไปก่อนแล้วค่อยย้อนกลับมาอ่านก็ได้
เขาเป็นอัศวิน
อัศวินเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติอย่างมากในเจ็ดอาณาจักร ออตโต ไฮทาวเวอร์เองก็เป็นอัศวินและถูกเรียกขานว่า “เซอร์” แต่วันเวลาเหล่านั้นก็ล่วงเลยมานานแล้ว ปัจจุบันเขาทำหน้าที่เป็นหัตถ์ของพระราชาให้กับกษัตริย์วิเซริส
เขาไม่ใช่ผู้นำตระกูล
ออตโตเป็นลูกชายคนรองและน้องชายของลอร์ดแห่งไฮทาวเวอร์ เขาจึงไม่เคยคาดหวังว่าจะได้เป็นผู้สืบทอดของตระกูลผู้ปกครองโอลด์ทาวน์ ดังนั้นเขาจึงหันมาไล่ตามความสำเร็จในด้านการศึกษาและการเป็นอัศวินแทน
การเป็นลูกคนรองในเจ็ดอาณาจักรเป็นเรื่องยาก เพราะนอกจากจะไม่ได้รับที่ดินหรือสมบัติแล้ว ยังไม่ได้รับสิทธิ์การสืบทอดใด ๆ อย่าง เน็ด สตาร์ก จาก ‘Game of Thrones’ เองก็ได้รับตำแหน่งลอร์ดแห่งวินเทอร์เฟลเนื่องจากแบรนดอนผู้เป็นพี่ชายตายเพราะถูกกษัตริย์บ้า (Mad King) สังหาร
เขามีลูกหลายคน
ในซีรีส์ ‘House of the Dragon’ เราอาจเห็นแค่อลิเซนต์ (Alicent Hightower รับบทโดย โอลิเวีย คุก – Olivia Cooke) เป็นลูกสาวคนเดียวของออตโต แต่ในหนังสือเขามีลูกชายอีกหลายคน แต่มีเพียงคนเดียวที่เข้าไปมีบทบาทสำคัญในศึกมังกรร่อนระบำนั่นคือ เซอร์เกวน ไฮทาวเวอร์ (Ser Gwayne Hightower) ผู้กลายเป็นรองผู้บัญชาการหน่วยพิทักษ์เมือง เขาทำหน้าที่สายลับ คอยสอดส่องมองหาบุคคลที่อาจคิดคดทรยศต่อเอกอนที่ 2 หลานชายของตัวเอง สุดท้ายเขาตายด้วยน้ำมือของ ลูเธอร์ ลาร์เจนต์ (Luthor Largent) ผู้บัญชาการหน่วยพิทักษ์เมืองที่ยังคงจงรักภักดีต่อ เดมอน ทาร์แกเรียน (Daemon Targaryen รับบทโดย แมตต์ สมิธ – Matt Smith)
เขาเป็นหัตถ์ราชาให้กษัตริย์ 3 องค์
ใคร ๆ ในเจ็ดอาณาจักรต่างก็คิดว่าตำแหน่งหัตถ์ราชาเป็นตำแหน่งที่ทรงเกียรติ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นตำแหน่งที่อยู่ยากและแทบไม่ได้รับคำขอบคุณใด ๆ จากคนอื่น ออตโต ไฮทาวเวอร์เข้าใจเรื่องนี้ดีเพราะเขาเป็นหัตถ์ราชาให้กับกษัตริย์ถึง 3 องค์
ตามเนื้อหาในหนังสืออัคคีและโลหิต ออตโตได้รับใช้กษัตริย์เจเฮริสที่1 ผู้เก่งกล้าสามารถทั้งด้านการรบและการปกครองในช่วงท้าย ๆ ของช่วงชีวิตของพระองค์ จากนั้นจึงเข้าสู่รัชสมัยของกษัตริย์วิเซริสซึ่งเป็นหลานของกษัตริย์เจเฮริส วิเซริสเป็นกษัตริย์ผู้อ่อนโยนแต่ปกครองอย่างอ่อนแอเพราะกลัวปัญหาและความขัดแย้ง ส่วนกษัตริย์องค์สุดท้ายที่เขาทำหน้าที่หัตถ์ราชาให้ก็คือเอกอนที่ 2 ผู้เป็นหลานของเขาเอง
เขาเคยเป็นผู้ปกครอง (โดยพฤตินัย) ของอาณาจักรทั้งเจ็ด
ตระกูลทาร์แกเรียนอาจดูทรงพลังเพราะพวกเขาคือผู้ขี่มังกร แต่จริง ๆ แล้วพวกทาร์แกเรียนเองก็เคยทำเรื่องโง่ ๆ หลายครั้ง ทำการตัดสินใจผิดพลาดหลายหน อย่างไรก็ตามหนึ่งในทาร์แกเรียนที่มากความสามารถที่สุดคือกษัตริย์เจเฮริสที่1 พระองค์เก่งทั้งการรบและการปกครอง ได้รับสมญาผู้ประนีประนอมและยังกล่าวว่าเป็นผู้รวมเจ็ดอาณาจักรให้เป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริง พระองค์ปกครองเจ็ดอาณาจักรยาวนานถึง 55 ปี แต่ช่วงท้ายของชีวิตพระองค์ตกอยู่ในความเศร้าและแตกสลาย เนื่องจากการจากไปของราชินีที่รักและลูกชาย
ดังนั้นออตโตจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการปกครองเจ็ดอาณาจักรในช่วงนั้น เขากลายเป็นผู้ปกครองเจ็ดอาณาจักรโดยพฤตินัย ด้วยความสามารถของเขาเจ็ดอาณาจักรก็ยังคงสงบและมีเสถียรภาพในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เขาเข้ามาดูแลการบ้านการเมืองระหว่างที่กษัตริย์เจเฮริสล้มป่วย
กษัตริย์วิเซริสเคยถอดเขาออกจากตำแหน่งหัตถ์ราชา
ออตโตเป็นคนมากความสามารถและประสบการณ์ แต่ก็มาพร้อมกับความหยิ่งผยองและเชื่อในความเหนือกว่าของตัวเองและตระกูล หลังการแต่งงานระหว่างกษัตริย์วิเซริสกับอลิเซนต์ ทั้งคู่มีบุตรชายด้วยกันคือเอกอนที่ 2 ออตโตพยายามโน้มน้าวให้กษัตริย์เลือกหลานชายของเขาเป็นทายาทสืบทอดบัลลังก์เหล็กแทนเจ้าหญิงเรนีร่า แต่พระองค์ปฏิเสธแถมยังปลดออตโตออกจากตำแหน่งหัตถ์ราชา ออตโตจึงเดินทางกลับโอลด์ทาวน์
แม้ว่ากษัตริย์วิเซริสจะเป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่ชั่วร้ายน้อยที่สุดในจักรวาล A Song of Ice and Fire เขาก็ไม่ทนเวลามีคนมาท้าทายตัวเอง แต่ถึงจะปลดออตโตออกจากตำแหน่งไปแล้ว เขาก็ยังรักษาความสัมพันธ์กับอดีตหัตถ์ราชาคนนี้เนื่องจากออตโตยังมีฐานะเป็นพ่อตา ออตโตถูกปลดจากตำแหน่งเป็นเวลา 11 ปี จากนั้นจึงกลับมารับตำแหน่งเดิมอีกครั้งและทำหน้าที่ต่อไปอีก 9 ปี
เขาคือสาเหตุของศึกมังกรร่อนระบำ
ระหว่างที่ออตโตไม่อยู่ในสภา อลิเซนต์ก็เริ่มรวบรวมเหล่าขุนนางที่สนับสนุนลูกชายเธอในการขึ้นเป็นทายาทสืบทอดบัลลังก์เหล็ก จากนั้นเมื่อออตโตกลับมารับตำแหน่งเดิมของตัวเองอีกครั้ง เขาก็เริ่มแผนการเพื่อให้หลานชายขึ้นนั่งบัลลังก์ หลังจากกษัตริย์วิเซริสสิ้นพระชนม์ ออตโต อลิเซนต์ และเซอร์คริสตัล โคล (Criston Cole รับบทโดย เฟเบียน แฟรงเคิล – Fabien Frankel) กลายเป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดศึกมังกรร่อนระบำ (หรือสงครามมังกรเริงระบำ, ศึกการร่ายรำแห่งมังกร ตามแต่จะเรียก)
เขาตายด้วยน้ำมือของเรนีร่า
แม้เขาจะเป็นหนึ่งในตัวการหลักที่ทำให้เกิดศึกมังกรร่อนระบำ แต่ออตโตไม่มีชีวิตยืนยาวพอที่จะเห็นจุดจบของศึกนี้ หลังจากเซอร์คริสตันและ เจ้าชายเอมอนด์ ทาร์แกเรียน หายตัวไปจากคิงส์แลนดิ้ง เจ้าหญิงเรนีร่า (Rhaenyra Targaryen รับบทโดย มิลลี อัลค็อก – Milly Alcock และเอ็มมา ดาร์ซีย์ – Emma D’Arcy) ก็บินกลับไปที่นั่นพร้อมกับเจ้าชายเดมอนเพื่อยึดบัลลังก์เหล็กและอ้างสิทธิ์ในการครองบัลลังก์ของเธอ จากนั้นจึงประกาศว่า ออตโต ไฮทาวเวอร์เป็นคนทรยศและตัดคอของเขา ออตโตเป็นคนแรกที่เจ้าหญิงเรนีร่าตัดสินประหารชีวิต
เขามีชื่อเสียงฉาวโฉ่ เป็นที่เลื่องลือในเจ็ดอาณาจักร
ประวัติศาสตร์ของเจ็ดอาณาจักรไม่ได้จดจำ ออตโต ไฮทาวเวอร์ ในฐานะหัตถ์ราชาที่ฉลาดและมากความสามารถในการปกครอง แต่กลับจดจำเขาว่าเป็นคนฉลาดแกมโกงและเป็นหัตถ์ที่ไร้ประสิทธิภาพ ไพลอส (Pylos) ผู้เป็นเมสเตอร์ของ สแตนนิส บาราเธียน (Stannis Baratheon) เคยพูดถึงออตโตด้วยความผิดหวังและดูถูกว่าเป็นคนมีความรู้สูงแต่ล้มเหลว
การเป็นหัตถ์ของพระราชาอาจเปรียบเทียบกับสำนวนไทย ๆ ของเราได้ว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกแขวนคอ” เพราะถึงจะทำดีแต่ก็ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครรู้สึกขอบคุณหรือยกย่อง หากกษัตริย์เกิดปกครองล้มเหลวขึ้นมาเมื่อไร หัตถ์ราชาจะกลายเป็นคนผิดลำดับแรก ๆ และถูกสาปส่งจากประชาชน ในกรณีของออตโตเองก็เช่นกัน แถมการวางแผนการร้ายที่แยบยลจนเป็นชนวนสงครามมังกรร่อนระบำ ก็ทำให้ตัวเขาถูกจดจำในฐานะหัตถ์ราชาที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์เวสเทอรอสอีกด้วย
สามารถรับชม ‘House of the Dragon’ ได้ทุกวันจันทร์ทาง HBO Go
ที่มา: Screenrant
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส