สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต ณ ปราสาทบาลมอรัล ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 (ตามเวลาท้องถิ่น) สิริพระชนมายุ 96 พรรษา ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมถวายความอาลัยด้วยหลากหลายเรื่องราวดี ๆ ของพระองค์
พระนามเต็มของพระองค์
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีพระปรมาภิไธยเดิมคือ ‘Elizabeth Alexandra Mary’ และพระปรมาภิไธยอย่างเป็นทางการ ‘Elizabeth the Second, by the Grace of God, of the United Kingdom, Canada and Her other Realms and Territories, Queen, Head of the Commonwealth, Defender of the Faith’
ความหมายของตัว ‘r’ ที่ต่อท้ายพระปรมาภิไธยย่อ
ทุกครั้งที่ทรงลงพระปรมาภิไธยย่อ ‘Elizabeth r.’ เราจะสงสัยกันว่าตัว ‘r’ ที่ตามหลังพระนามมีความหมายอย่างไร จริง ๆ แล้ว ‘r’ ตัวนี้มาจากภาษาละติน ย่อมาจากคำว่า ‘Regina’ ซึ่งแปลว่า ‘Queen’ หรือ ‘พระราชินี’ นั่นเอง
ทรงจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาปีละ 2 ครั้ง
ควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะทรงจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาในวันเสด็จพระราชสมภพจริง ๆ ของพระองค์คือ วันที่ 21 เมษายน เป็นครั้งแรก และจะทรงจัดอีกครั้งในเดือนมิถุนายน ตามโบราณราชประเพณีตั้งแต่ ค.ศ. 1784 ที่พระมหากษัตริย์จะทรงจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาในเดือนที่มีสภาพอากาศดีอีกหนึ่งครั้งเพราะจะได้ไม่เป็นปัญหากับขบวนเทิดพระเกียรติของกองทหารที่มาถวายความเคารพ และประชาชนที่มาเฝ้ารอรับเสด็จ
ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 สหราชอาณาจักรเฉลิมฉลอง “Platinum Jubilee” เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ครบ 70 ปี ซึ่งนับว่าเป็นการครองสิริราชสมบัติได้ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษเลยทีเดียว
ไม่เคยพระราชทานสัมภาษณ์กับสื่อใด ๆ ทั้งสิ้น
ตลอดรัชสมัยของพระองค์ สื่อมวลชนจะไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าสัมภาษณ์ใด ๆ เลย จนมีพระราชสมัญญานามว่า ‘Elizabeth the silent’ ตามที่สื่อมวลชนเรียกขานมานาน มีเสียงซุบซิบกล่าวว่าไม่ทรงโปรดให้เข้ามายุ่งกับเรื่องส่วนพระองค์ จนบางครั้งถึงกับกล่าวกันว่าทรงมีเรื่องลับ ๆ ที่ไม่อยากให้ใครรู้เลยไม่อยากพระราชทานสัมภาษณ์ใด ๆ เป็นการตัดปัญหา
ทรงเคยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2
ในปี พ.ศ. 2488 ขณะที่โลกกำลังเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2 พระองค์ทรงเข้าร่วมหน่วย ‘Women’s Auxiliary Territorial Service’ ของกองทัพอังกฤษ ทรงทำหน้าที่เป็นช่างเครื่องยนต์ อีกทั้งยังทรงขับรถบรรทุกส่งของสนับสนุนกำลังทหารด้วยพระองค์เอง และนับว่าพระองค์คือสมาชิกราชวงศ์ที่เป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวที่เคยเข้ากองทัพร่วมรบในสงคราม
ไม่ต้องทรงใช้เอกสารหรือใบอนุญาตใด ๆ ทั้งสิ้น
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เคยเสด็จพระราชดำเนินไปแล้วทั่วโลกกว่า 250 ครั้ง ในกว่า 100 ประเทศโดยไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง หรือเอกสารใด ๆ ทั้งสิ้น รวมถึงการได้รับการยกเว้นภาษี แต่พระองค์เองก็ทรงจ่ายภาษีจากรายได้ส่วนพระองค์ทุกปีไม่เคยขาด เคยมีเรื่องขำขันที่พูดกันว่าพระองค์สามารถขับรถโดยไม่ต้องมีใบขับขี่ เพราะใบขับขี่ทั้งหมดในสหราชอาณาจักรจะต้องผ่านการขออนุญาตจากพระองค์เอง จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่พระองค์จะต้องทรงขออนุญาตตัวเองขับรถ
กระเป๋าถือส่วนพระองค์ใช้ส่งสัญญาณลับ!
กระเป๋าถือส่วนพระองค์ใบย่อมที่พระองค์ทรงถือติดพระกรด้วยทุกครั้งมันคืออุปกรณ์ในการสื่อสารกับข้าราชบริพารว่าต้องทำอะไร อย่างไร ณ เวลานั้น อย่างเช่นถ้าพระองค์ทรงทำกระเป๋าหล่นพื้น นั่นแสดงว่ากำลังทรงมีปัญหากับการพระราชปฏิสันถารในขณะนั้น ให้รีบนำพระองค์ออกจากพื้นที่ตรงนั้นด่วนที่สุด หรือถ้าทรงวางกระเป๋าไว้บนโต๊ะในระหว่างเสวยพระกระยาหารค่ำ นั่นแสดงว่าทรงอยากจะลุกออกจากโต๊ะแล้ว เป็นต้น ยังทรงมีการใช้กระเป๋าถือในการสื่อสารกับนางสนองพระโอษฐ์อยู่ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์
พระองค์ทรงใช้จ่ายอย่างประหยัดจนไม่น่าเชื่อ
พระองค์ทรงโปรดที่จะเสวยอาหารง่าย ๆ เช่นพวกซีเรียล หรืออาหารที่ยังเสวยไม่หมด จะทรงนำกลับมาเสวยใหม่อยู่เสมอ และพระองค์ทรงนำของที่เสียหายกลับมาซ่อมใช้ใหม่ เช่น ผ้าต่าง ๆ หรือถุงมือที่ขาด พระองค์จะไม่ทรงทิ้งเด็ดขาด และว่ากันว่าพระองค์ทรงได้รับการยกย่องในเรื่องของการดัดแปลง มิกซ์ แอนด์ แมตช์ ชุดเก่าของพระองค์ให้นำมาใช้ใหม่ได้อยู่ตลอด แม้กระทั่งชุดที่ทรงสวมตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ผ่านมา นั่นคือครั้งที่ 6 ที่พระองค์ทรงสวมชุดนั้น
ไม่เคยทรงเข้าเรียนในโรงเรียนเลย
พระองค์ไม่มีวุฒิการศึกษาใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะไม่เคยเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาใด ๆ เลย แต่พระองค์ทรงได้รับการศึกษามากมายหลากหลายแขนงวิชา จากพระอาจารย์ที่เข้ามาถวายการสอนถึงในวัง เช่นวิชาประวัติศาสตร์ กฎหมายรัฐธรรมนูญจาก เฮนรี มาร์เตน (Henry Marten) นักกฎหมายชื่อก้อง รองศาตราจารย์ใหญ่จากมหาวิทยาลัยอีตัน และได้ อาร์คบิชอป แห่งแคนเทอร์เบอรี มาเป็นครูสอนศาสนา
ไม่ทรงโปรดกระเทียม
ปกติพระองค์จะไม่ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับเรื่องรายการอาหารมากนัก เพียงแต่ว่ามีข้อห้ามเด็ดขาดเรื่องการใส่กระเทียมและหัวหอมที่มากเกินไปในรายการอาหารต่าง ๆ เพราะไม่ทรงโปรดอย่างยิ่ง และในภายหลังถึงกับมีคำสั่งจากต้นเครื่องส่วนพระองค์ว่าห้ามใส่กระเทียมในรายการอาหารต่าง ๆ ของสมาชิกราชวงศ์อื่น ๆ อีกด้วย เพราะไม่ทรงโปรดให้มีกลิ่นปากในการมีพระราชปฏิสันถารกับใคร ๆ นั่นเอง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส