คำว่า “ตายทั้งเป็น” และ “ชีวิตที่ขาดอิสรภาพ” ไม่ว่าใครหากต้องเจอเข้ากับตัวเองก็คงเป็นเรื่องที่สุดจะบรรยาย และภาวนาขอให้ชีวิตนี้อย่าต้องพบเจอกับเรื่องราวเช่นนั้นเลย อย่างน้อยก็ผู้เขียนคนหนึ่งละที่ไม่อยากจะเจอ แต่เรื่องราวทำนองนี้ก็มักจะผ่านมาให้เราได้รับรู้ ได้เห็นจนใจบางไปกับโชคชะตาที่แสนอาภัพของคนในข่าว
ไม่ว่าจะเป็น เอลิซาเบธ ฟริตเซิล (Elisabeth Fritzl) ที่ถูกโจเซฟ ฟริตเซิล (josef fritzl) ชายชาวอิตาลีผู้ที่เป็นพ่อแท้ ๆ ของเธอเองขังเอาไว้ในห้องใต้ดินนานถึง 24 ปี เรื่องราวของ ลูอิซ อันโตนิโอ ซานโตส ซิลวา (Luiz Antonio Santos Silva) ชายชาวบราซิลที่ขังลูกและเมียไว้ในบ้านนาน 17 ปี ต่อให้ตีลังกาคิดเราก็ยากจะเข้าใจในเหตุผลว่าทำไปทำไม และเรื่องราวสะเทือนขวัญเหล่านี้ก็มักจะถูกหยิบจับเอาพล็อตมาสร้างเป็นนิยายและภาพยนตร์ซะด้วยสิ
แน่นอนว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ยังคงมีอีกหลายครอบครัวที่คนในบ้านต้องเผชิญชะตากรรมจากฝีมือของคนที่บอกว่ารัก ดังเช่นเรื่องราวของ ‘บล็องช์ มงนิเยร์’ (Blanche Monnier) สาวสวยที่โด่งดังในอดีตเมื่อ 121 ปีที่แล้ว และยังเป็นที่รู้จักอยู่จนทุกวันนี้
เรื่องราวของเธอเป็นที่สนใจจน ในปี 1930 อ็องเดร ฌีด (André Gide) นักเขียนชาวฝรั่งเศสเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ได้นำเรื่องราวของเธอไปเป็นพล็อตสำหรับนวนิยายของเขา ผู้คนทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างหยิบยกเรื่องราวของเธอมาเขียนถึง เป็นบทความ เป็นข่าว อาจด้วยความตื่นตะลึง ด้วยความสงสาร หรือด้วยความประหลาดใจ แม้กระทั่งเราก็อยากจะเขียนถึงเธอบ้างสักครั้ง ในอีกแง่มุม
เรื่องราวของนักโทษในห้องนอน
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 1901 จดหมายนิรนามถูกส่งไปถึงอัยการสูงสุดแห่งกรุงปารีส เนื้อความในจดหมายเขียนว่า “ฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่จะแจ้งให้คุณทราบถึงเหตุการณ์ที่ร้ายแรง มีผู้หญิงคนหนึ่งถูกขังไว้ในบ้านของ มาดามหลุยส์ มงนิเยร์ เธอถูกปล่อยให้อด และอยู่กับขยะที่เน่าเหม็น พูดได้คำเดียวว่ามันสกปรกมากและเธออยู่อย่างนั้นมา 25 ปีแล้ว” ตำรวจในปัวตีเย (Poitiers) รีบรุดไปที่บ้านของดามมงนิเยร์และขอพบกับหญิงสาวผู้น่าสงสารคนนั้น หลังจากถกเถียงกันอยู่พักใหญ่ มาดามมงนิเยร์ ก็ยินยอมให้ตำรวจขึ้นไปยังห้องนอนชั้นบนซึ่งเป็นห้องใต้หลังคาของ ‘บล็องช์ มงนิเยร์’ หญิงสาวในจดหมายที่พวกเขาต้องการพบ
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปในห้องของเธอ สิ่งแรกที่ออกมาทักทายพวกเขาก็คือ กลิ่นเหม็นสะอิดสะเอียนของอุจจาระและของเน่าเสีย ท่ามกลางความมืดมิดและอับชื้นของห้องนอนชั้นบนที่ไร้แสงตะวัน พวกเขาเห็นเธอนอนเปลือยกายอยู่บนที่นอนสกปรกบนพื้น ด้วยสภาพร่างของผู้หญิงที่มีแต่หนังหุ้มกระดูก ผมของเธอมีสีดำและยาวไปถึงต้นขา เล็บมือและเล็บเท้าโค้งยาว รอบ ๆ ตัวเธอเต็มไปด้วยเศษอาหาร อุจจาระ แมลงและสัตว์กัดแทะ เธอคือ บล็องช์ มงนิเยร์ ผู้หญิงที่หายตัวไปและมีอายุ 52 ปี ในวันที่ถูกพบ
บล็องช์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในทันที นอกจากความสกปรกบนร่างกายเธอแล้ว ความผ่ายผอมของเธอทำให้เธอมีน้ำหนักเพียง 25 กิโลกรัมเท่านั้น นี่คือข้อสงสัยว่าเธอมีชีวิตอยู่มาได้ยังไงในสภาพเช่นนี้ ผู้คนต่างคิดว่าเธอจะต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส ความบอบช้ำทางจิตใจที่เธอได้รับในหลายปีแห่งความโดดเดี่ยวจะมากมายแค่ไหนกันนะ ความสงสัยนี้ทำให้จินตนาการจากคนภายนอกพุ่งปรี๊ด สร้างพลังโกรธแค้นและพุ่งเป้ามาที่แม่ของเธอ มาดามมงนิเยร์กลายเป็นจำเลยที่ถูกรุมประนามในทันที แต่ตัวบล็องช์เองก็กำลังมีอารมณ์โกรธมากมายอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ได้โกรธมาดามมงนิเยร์แม่ของเธอหรอกนะ เธอโกรธหมอ โกรธตำรวจ โกรธคนอื่น ๆ ที่มาพาเธอไปโรงพยาบาลนั่นแหละ อ้าว บล็องช์ ทำไมเป็นงั้นล่ะ?
การจับกุมที่ถูกรุมประนาม
แม่และพี่ชายของเธอถูกจับ และถูกตั้งข้อหาว่าสมรู้ร่วมคิดกันคุมขังบล็องช์ให้ขาดอิสรภาพ แม้ว่าตัวพี่ชายเองจะไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันกับแม่และน้องสาวก็ตาม บ้านของเขาอยู่ห่างออกไปเพียงข้ามถนน ก็คืออยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านแม่ตัวเองนั่นแหละ และก็เป็นที่รู้กันดีอยู่ว่าเขาจะเทียวไปเทียวมาระหว่างบ้านของตัวเองกับบ้านของแม่อยู่เป็นประจำ และเมื่อเรื่องราวของบล็องช์กลายเป็นข่าวพาดหัวไปทั่วฝรั่งเศส ทำให้ประชาชนต่างไม่พอใจกับการกระทำสุดป่าเถื่อนที่หญิงสาวผู้อาภัพต้องได้รับ เพราะเท่ากับว่าเธอถูกกระทำทารุณจากคนในครอบครัวของเธอเอง
2 สัปดาห์ให้หลังมาดามมงนิเยร์เสียชีวิตลงจากอาการป่วยที่เธอเป็นมาระยะหนึ่งแล้ว หลายคนบอกว่าเพราะเธอเครียดเมื่อเห็นผู้คนต่างโกรธแค้น แล้วมายืนด่าทอเธอที่หน้าบ้าน ทำให้สุขภาพของเธอแย่ลงไปอีก เธอจากโลกนี้ไปโดยพกความสงสัยติดตัวเธอไปด้วยว่า พวกเขาเอะอะโวยวายเรื่องนี้กันทำไม? พวกเขาไม่พอใจอะไร ฉันทำอะไรผิด เธอไม่เข้าใจว่าทำไมผู้คนถึงรู้สึกแย่ขนาดนี้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการรักษาบล็องช์ ลูกสาวผู้อาภัพของเธอ
จากความสงสัยจนกลายเป็นปากต่อปาก
เรื่องเม้าท์มอยหอยสังข์นี่เป็นกันมาตั้งแต่อดีตยันปัจจุบันจริง ๆ และต่อมเผือกของประชาชนชาวฝรั่งเศสก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชนชาติใดในโลก ทำให้ข่าวลือในอดีตถูกส่งต่อกันมาเป็นชุดความจำเดียวกันว่า มีสุภาพสตรีแสนสวยสุดอาภัพคนหนึ่ง ที่ชีวิตของเธอขาดอิสรภาพถึง 25 ปี ขาดแบบชนิดที่ขาดจริง ๆ ไม่ได้มีเวลาออกมาเห็นเดือนเห็นตะวัน ทำได้แต่เพียงเล่นขี้ตัวเองอยู่ในห้องใต้หลังคา อับชื้น เน่าเหม็น เต็มไปด้วยสิ่งสกปรกและสัตว์กัดแทะที่น่าขยะแขยง ข่าวลือนี้เล่าว่าการกระทำนี้เกิดจากแม่แท้ ๆ ของเธอเอง ด้วยสาเหตุที่ว่าคู่ชีวิตที่เธอเลือกนั้น ขัดใจแม่
แต่จริงเหรอ มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ น่ะเหรอ ที่แม่จะตั้งใจขังลูกสาวของตัวเองเอาไว้เกือบทั้งชีวิตด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้ ถ้าจะกีดกันเธอจากความรัก ขังแค่ประเดี๋ยวประด๋าวก็น่าจะพอ หรือไม่ก็จับเธอคลุมถุงชนกับคนที่แม่พอใจอย่างที่ยุคสมัยนั้นชอบทำก็น่าจะได้ แล้วขังไม่ขังเปล่า ข่าวลือนี้ยังบอกรายละเอียดปลีกย่อยมาอีกว่า เธอผู้อาภัพจะได้กินเพียงเศษอาหารเหลือจากแม่ของเธอเท่านั้น ไม่มีเสื้อผ้าสะอาดให้ใส่ และนอนอยู่ในห้องมืดมิดที่หน้าต่างปิดตาย ไร้คนเหลียวแล คงมีเพียงกองอุจจาระ แมลงสาบ และหนูโสโครกเท่านั้นที่เป็นเพื่อนเธอ
ข่าวลือนี้ว่ากันว่าแม่ของเธอขังเธอไว้หลังจากที่ทราบว่าลูกสาวชอบพอกับทนายความยากจนคนหนึ่ง ที่อายุมากกว่าเธอหลายปี นอกจากเขาจะแก่และไม่มีเงิน เขายังเป็นโปรเตสแตนต์ในขณะที่ครอบครัวมงนิเยร์มีเชื้อสายขุนนางและเป็นคาทอลิก เพื่อยุติความรักของขวัญกับเรียมแม่ของเธอจึงขังเธอไว้ และแกล้งโพทะนากับเพื่อนและครอบครัวว่าเธอหายตัวไปจากบ้าน “ลูกสาวฉันหายจ้ะ ลูกสาวฉันหาย” และหลังจากวันนั้นผู้คนในละแวกก็ไม่ได้พบเห็นบล็องช์อีกเลย จนเวลาผ่านไป 25 ปี เรื่องราวของบล็องช์ ก็กลับมาเป็นข่าวครึกโครมที่ทำเอาผู้คนทั่วฝรั่งเศสสะเทือนอกสะเทือนใจไปตาม ๆ กัน
ข่าวลือนี้อาจมีความจริงปะปนอยู่บ้างที่ว่า บล็องช์ใช้ชีวิตอยู่ภายในห้องที่สภาพไม่อำนวยต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะมันก็เห็นกันเต็มสองตาของเจ้าหน้าที่นับสิบในวันนั้น แต่เราไม่สามารถยืนยันได้เลยว่าบล็องช์ถูกกักขังด้วยเหตุผลที่ว่าเธอเลือกรักไม่ถูกใจแม่ ทนายความที่เป็นคนรักของเธอมีจริงหรือไม่ ไม่มีใครทราบได้เพราะแม้แต่ชื่อก็ยังไม่มีใครเอ่ยถึง หรือต่อให้มีชื่อก็ไม่แน่ว่าจะใช่หรือเปล่า เขาอาจมีตัวตนอยู่หรืออาจไม่เคยมีตัวตนบนโลกนี้เลยก็เป็นได้
แต่มีเรื่องราวมากมายที่ชวนสงสัยจากปากคำของพี่ชายในการพิจารณาคดี จากสาวใช้และคนที่ทำงานกับครอบครัวมงนิเยร์ จากแพทย์ประจำครอบครัว และจากการวิเคราะห์ของ ฌอง-มารี ออกุสติน ‘Jean-Marie Augustin’ นักประวัติศาสตร์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยปัวติเย ผู้เขียนหนังสือ ‘The true story of the sequestered of Poitiers’ (Ed. Fayard) อาจทำให้นิยายรักรันทดที่ถูกแม่กีดกันอย่างที่เราได้รับทราบ กลายเป็นเรื่องราวของครอบครัว อมโรค ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นเราจะมาทำความรู้จักสมาชิกสำคัญของครอบครัวนี้ไปทีละคน
เรื่องราวของครอบครัวมงนิเยร์
มาดามหลุยส์ มงนิเยร์ (Louise Monnier) เดิมชื่อ หลุยส์ ลีโอไนด์ เดมาร์คอนเนย์ (Louise Léonide Demarconnay) เธอเกิดในปี 1825 ที่เมืองปัวตีเย เป็นลูกสาวของนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ เมื่ออายุได้ 22 ปี เธอแต่งงานกับ ศาสตราจารย์ ชาลส์ เอมิเล มงนิเยร์ (Charles-Emile Monnier) คณบดีของมหาวิทยาลัยปัวตีเย จนให้กำเนิดลูกชายและลูกสาวอย่างละคน นิสัยส่วนตัวของเธอเป็นคนตระหนี่ ก็เรียกว่าขี้เหนียวนั่นแหละนะ เธอกลัวจะไม่มีเงินใช้ กลัวเงินจะหมดไปก่อนที่เธอจะสิ้นลมหายใจ จึงใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ราวกับว่ามันจะช้ำก็ไม่ปาน และที่มากไปกว่านั้นคือการที่เธอเป็นคนซกมก
ในระหว่างการพิจารณาคดีสาวใช้คนหนึ่งของมาดามมงนิเยร์ให้การว่า เธอไม่ชอบเปลี่ยนเสื้อผ้าเพราะเธอมักจะสวมเสื้อผ้าชุดเดิมทุกวัน ส่วนสาวใช้อีกคนก็ยังเล่าว่าเธอมักจะบ่นลูก ๆ ของเธออยู่บ่อย ๆ ว่าพวกเขากินมากเกินไป เรื่องการรับประทานนี่น่าจะหมายถึงอาหารต่าง ๆ บนโต๊ะอาหารที่เธอเห็นว่าสิ้นเปลือง เพราะเธอถึงกับสั่งให้เสิร์ฟขนมปังสำหรับสุนัขในมื้ออาหารแทนขนมปังที่คนควรจะกิน ความตระหนี่จนเกินพอดีของเธอขัดแย้งกับฐานะอันร่ำรวยของเธออย่างน่าโมโหเลยว่าไหมคะ
ก็อยากจะเห็นเหลือเกินว่ามาดามจะมีสง่าราศีขนาดไหน ทำไมถึงหนืดได้ใจขนาดนี้ แน่นอนว่าไม่เคยมีใครเห็นภาพถ่ายที่แท้จริงของมาดามมงนิเยร์ มีเพียงภาพของสุภาพสตรีสูงวัยท่านหนึ่งที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นเธออยู่ทั่วอินเทอร์เน็ต ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สุภาพสตรีที่เห็นอยู่ในภาพนี้คือ ‘แมรี วูดเบิร์น กรีลีย์’ (Mary Woodburn Greeley) มารดาของ ‘ฮอเรซ กรีลีย์’ (Horace Greeley) ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ New-York Tribune และอดีตสมาชิกวุฒิสภาในเวลาสั้น ๆ ของพรรคริพับลิกัน ซึ่งถูกเข้าใจผิดว่าเธอคือมาดามหลุยส์ มงนิเยร์ ต่างหาก
ความขี้งกของมาดามมงนิเยร์เป็นที่เล่าลือ เรียกว่าเด่นชัดจนชาวบ้านเขารู้กันทั่ว และจากคำให้การของสาวใช้กล่าวว่า เธอมีความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติของเธอที่จะไม่ให้กระเด็นไปไหนได้ง่าย ๆ ทั้ง ๆ ที่เธอมีเชื้อสายมาจากขุนนางที่ร่ำรวย เป็นเจ้าของทาวน์เฮาส์ขนาดใหญ่ในปัวตีเย มีบ้านในชนบท มีทรัพย์สินมากมายที่ต่อให้ตายไปสองรอบมาดามก็ไม่น่าจะใช้หมด แถมยังมีอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ให้เช่าอีกเป็นจำนวนมาก และขณะที่เธอเสียชีวิต มาดามหลุยส์ มงนิเยร์ มีเงินจำนวน 300,000 ฟรังก์อยู่ในบัญชีของเธอ ก็เรียกได้ว่าเป็นเศรษฐีที่มีความสุขกับการเก็บอย่างเดียวจริง ๆ
บล็องช์ มงนิเยร์ ลูกสาวผู้อาภัพ
ทางด้านลูกสาว บล็องช์ มงนิเยร์ จัดเป็นสตรีที่เกิดมาในชนชั้นสูงอย่างมีความสุข เธอได้ใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการใช้ แต่เธอก็มักมีปากเสียงกับแม่ของตัวเองอยู่บ่อย ๆ และการโต้เถียงก็เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อบล็องช์โตเป็นสาว เธอเริ่มเข้าไปศึกษาที่ คริสเตียน ยูเนี่ยน และเริ่มซาบซึ้งมากขึ้นจนเกิดอยากจะบวชเสียอย่างนั้น จวบจนช่วงหนึ่งของชีวิตที่เธอเริ่มมีสัมผัสพิเศษ เรียกว่าเป็นประสบการณ์ลี้ลับส่วนตัวที่ทำให้เธอกระหายความสันโดษและทำให้เธอใช้เวลามากขึ้นในห้องนอน
เธอโดดเดี่ยวตัวเองและปฏิเสธที่จะกิน ในช่วงแรกอาจเป็นไปได้ที่เธอกำลังอดอาหารทางศาสนา แต่การกระทำนี้ของเธอกลับรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเธอมีอาการเบื่ออาหารและล้มป่วย ในปี 1872 เมื่อเธออายุได้ 23 ปี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขังตัวเองไว้ในห้องนอน และไม่เคยกลับออกมายังโลกภายนอกอีกเลยหลังจากวันนั้น จากการกระทำนี้ของเธอ เราจะเห็นได้ชัดว่าบล็องช์มีอาการทางจิตอย่างปฏิเสธได้ยาก เธอกำลังประสบปัญหาสุขภาพจิตอย่างร้ายแรง เธอปฏิเสธที่จะสวมเสื้อผ้าในบ้านและมักจะไปยืนเปลือยกายอยู่ที่หน้าต่างห้องนอนซึ่งผู้คนจะสามารถมองเห็นได้จากถนน
นี่อาจจะเป็นสาเหตุให้ดามมงนิเยร์ต้องปิดตายหน้าต่างห้องนอนของเธอซะ เพราะไม่อยากให้ใครเห็นเธอในสภาพเช่นนี้ ซึ่งสภาพจิตของบล็องช์ในตอนนั้นได้ถูกตีความว่าเป็นนิมิตทางศาสนาไปซะฉิบ แต่ท้ายที่สุดก็ได้รับการวินิจฉัยทางจิตเภทในที่สุด แต่จากการที่เจ้าหน้าที่บุกค้นห้องนอนของเธอในปี 1901 ทำให้เกิดข่าวลือแพร่สะพัดมาจนถึงปัจจุบัน ว่าแม่ใจร้ายทำให้สาวสวยกลายสภาพได้น่าเวทนาขนาดไหน ดูความสาวความสวยของเธอเมื่อครั้งกระโน้นสิพวกเราแน่นอนว่าผู้คนในสมัยนั้นเคยเห็นเธอเมื่อวัยสาว แต่ผู้คนในโลกยุคหลังไม่มีใครทราบว่าครั้งที่เธอยังคงความสวยความสาวก่อนที่จะมีสภาพทรุดโทรมเช่นนี้ รูปโฉมที่แท้จริงของเธอเป็นอย่างไร
แต่ที่แน่ ๆ ก็คือภาพถ่ายของหญิงสาวหน้าตาสะสวยที่เผยแพร่อยู่ในอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ภาพของ บล็องช์ มงนิเยร์ ตัวจริงจ้ะ แต่เป็นรูปภาพของสุภาพสตรีท่านอื่นต่างหาก ภาพนี้เป็นภาพของนักแสดงภาพยนตร์เงียบและครูสอนการแสดงชาวอเมริกันชื่อ เมาเดอ ฟีลีย์ (Maude Fealy) รับบทเป็น โรซามุนด์ คลิฟฟอร์ด (Rosamund Clifford) ในละครเรื่อง Becket เธอมีชื่อเสียงโด่งดังมากในยุคนั้นและยังสามารถประกอบอาชีพที่เธอถนัดมาได้จนถึงยุคที่ภาพยนตร์เริ่มมีการบันทึกเสียง และยังคงมีผู้ที่ชื่นชอบผลงานของเธอจนอยากรวมรวมผลงานของเธอไว้เพื่อไม่ให้โลกใบนี้ลืมเลือนเธอ
ภาพซ้ายเป็นภาพของหญิงสาวนิรนามที่มีชีวิตอยู่ในปี 1914 หลังจากการเสียชีวิตของบล็องช์ ในวัย 65 ปี ซึ่งไม่มีใครสามารถสืบค้นได้ว่าเธอเป็นใคร มีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร ภาพขวาเป็นภาพของหญิงสาวที่อาจจะเป็น เอลเฟเมีย โมนิกา (Eufemia Mónica) หญิงสาวที่มีชะตากรรมคล้ายคลึงกับบล็องช์ เพียงแต่เธอไม่ได้นอนเล่นขี้อย่างบล็องช์เท่านั้นเอง (ถ้าเรื่องที่เราทราบมาเป็นเรื่องจริงนะ) เราจะเห็นได้ว่าสุภาพสตรีทั้งสามคนไม่มีเครื่องหน้าที่เหมือนกันเลย มีเพียงโครงหน้าสวยหวานเท่านั้นที่ทำให้เกิดการคาดเดาและการเข้าใจผิด ว่าเธอเหล่านี้คือ บล็องช์ มงนิเยร์ เมื่อวัยสาว
มาร์เซล มงนิเยร์ พี่ชายที่แสนดี
ส่วนทางด้านพี่ชายของเธอ มาร์เซล มงนิเยร์ (Marcel Monnier) หากมองจากภายนอก เขาจัดได้ว่าเป็นชายหนุ่มที่น่านับถือ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม เขาศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยปัวตีเย และได้รับปริญญาเอกด้านกฎหมาย จากนั้นทำงานในรัฐบาลท้องถิ่น และแต่งงานกับหญิงชาวสเปน และมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคนคือ มารี โดโรเรส (Marie Dolores)
ครอบครัวของมาร์เซลอาศัยอยู่ตรงข้ามกับบ้านของมาดามมงนิเยร์ ก็ห่างกันเพียงแค่ข้ามถนนเท่านั้นแหละค่ะ ซึ่งเจ้าของบ้านผู้ครอบครองตัวจริงคือมาดามมงนิเยร์นั่นเอง แต่ยกให้ลูกชายและครอบครัวอยู่อาศัย แยกครัวกันไปเป็นสัดส่วน หากเรามองที่การศึกษา หน้าที่การงานและความเป็นครอบครัว เราจะเห็นได้ว่ามาร์เซลก็เป็นคนดีคนหนึ่ง เป็นมนุษย์ผู้ชายปกติ เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดีอย่างไม่น่าจะมีที่ติ แต่ระหว่างการพิจารณาคดี ก็ทำให้ใครต่อใครได้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของเขาเข้าจนได้
เป็นแง่มุมของชายที่ไร้ความสามารถคนหนึ่ง เพราะเขาไม่กล้าที่จะยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง เขาหงอกับแม่ของตัวเองและสิ่งที่ทำให้ประหลาดใจมากไปกว่านั้นก็คือ คำให้การที่บอกว่าเขาอาจจะเป็น coprophiliac (โรคคอโปรฟีเลีย :ชื่นชอบหลงใหลในอุจจาระจัดอยู่ในกลุ่ม ‘โรคกามวิปริต’ (Paraphilia) บางคนมีความสุขเมื่อพวกเขาสัมผัสกับอุจจาระ)
อดีตแม่บ้านของเขากล่าวว่ามาร์เซลใช้กระโถนในการขับถ่ายมากกว่าที่จะไปเข้าห้องน้ำ และครั้งหนึ่งเขาได้ถือเจ้ากระโถนคู่ใจนั่นเข้าไปในห้องนั่งเล่นซึ่งภรรยาและลูกสาวของเขานั่งอยู่ พร้อมกับปิดหน้าต่างและประตูเพื่อให้พวกเขาได้สูดดมกลิ่นได้เต็มปอด อาห์ สดชื่น (ขมคอขึ้นมาเลย)
คำให้การนี้ของแม่บ้านทำให้เห็นได้ว่า อาการนี้มีความเกี่ยวข้องกับรูปคดีอยู่ไม่น้อย ตรงที่มันอาจโยงใยไปถึงการเป็นโรค coprophiliac จากทัศนคติที่ผิดปกติของเขาต่ออุจจาระ ซึ่งบล็องช์ น้องสาวผู้อาภัพของเขาก็มีอาการนี้ไม่ต่างกัน แต่ถูกปกปิดไว้ ซึ่งต่อมาแพทย์ได้วินิจฉัยแล้วว่าเธอเป็นโรค coprophiliac นั่นแหละ
อย่างไรก็ตาม มาร์เซลยังเป็นพี่ชายที่แสนดีของบล็องช์เสมอ เขาหมั่นไปเยี่ยมเธออยู่เป็นประจำเกือบทุกวัน เพื่ออ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารให้เธอฟัง เราลองมานึกภาพตามเล่น ๆ ว่า มาร์แซลเดินข้ามถนนเพื่อมายังบ้านของแม่เกือบทุกวัน และเดินขึ้นไปที่ห้องของบล็องช์ เพื่อเข้าไปอ่านหนังสือให้เธอฟัง โดยที่ภายในห้องนั้นเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลและกลิ่นอันหอมฉุย โอ้วว…การกระทำของเขาในลักษณะนี้ถูกมองเป็นสองแง่มุม มุมหนึ่งคือเขาเป็นพี่ชายที่แสนดี สุดอบอุ่น ส่วนอีกมุมหนึ่งคือเขาเป็นพี่ชายที่ละเลยน้องสาวของเขาอย่างน่าประหลาดใจ ก็เพราะป่วยกันทั้งคู่ยังไงล่ะ ว่ามะ
ความจริงที่ถูกเปิดเผยในชั้นศาล
ในวันที่พบบล็องช์เมื่อปี 1901 ครอบครัวมงนิเยร์มีแพทย์ประจำครอบครัวมาแล้วถึงสามคน และหนึ่งในจำนวนนั้นคือ ดร.เยรีโน (Dr.Guérineau) ซึ่งเป็นแพทย์ผู้วินิจฉัยเบื้องต้นในวันที่บล็องช์เริ่มป่วย หลังจากที่เขาเสียชีวิตในปี 1882 ดร.เชเดเวญ (Dr.Chedevergne) ก็เข้ามารับตำแหน่งแทน ในคำแถลงต่อศาลเขาอ้างว่าครั้งสุดท้ายที่เขาเห็นบล็องช์คือในราวปี 1986 เมื่อเธออายุได้ 47 ปี และไม่ได้เห็นเธออีกเลย ในขณะที่แพทย์คนที่ 3 ดร.ชีรอน (Dr.Chiron) แพทย์ผู้ซึ่งเข้ามารับหน้าที่ในการดูแลครอบครัวมงนิเยร์ในปี 1897 ให้การว่า เขาไม่เคยเห็น บล็องช์ มงนิเยร์
เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามาดามมีลูกสาว เขาเป็นแพทย์ที่ดูแลมาดามมงนิเยร์เท่านั้น และจากคำให้การของคนในครอบครัวที่อ้างว่าบล็องช์มีอารมณ์ฉุนเฉียวจนรักษาไม่หาย อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มาดามมงนิเยร์ตัดสินใจไม่ส่งบล็องช์ไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่เลือกที่จะเก็บเธอไว้ในห้องห้องนอนของเธอเอง คนนอกอย่างเราก็ทำได้เพียงเดาว่าการตัดสินใจของมาดามอาจเป็นเพราะความอาย หรือบางทีเธอเชื่อว่าน่าจะดูแลที่บ้านดีกว่า เพราะสถานพยาบาลในศตวรรษที่ 19 ก็ไม่ได้ดีเด่อะไรนัก
แต่การตัดสินใจครั้งนั้นก็ได้ผ่านไปแล้ว เกิดขึ้นแล้ว เรียกว่าความผิดสำเร็จแล้วด้วยกฎหมาย ไม่ว่าเหตุผลของมาดามมงนิเยร์จะเป็นเช่นไร โทษก็ยังจะต้องได้รับอยู่ตามระเบียบ ซึ่งเรื่องนี้มาร์เซลได้กล่าวว่า หลังจากที่พ่อของเขาเสียชีวิตในปี 1882 และทั้ง ๆ ที่เขาพยายามขอร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม่ของเขาก็ไม่สนใจที่จะพาบล็องช์ไปรักษาที่โรงพยาบาล เพราะมันขัดกับความต้องการของสามีที่เสียชีวิตไปของเธอ ก็สรุปว่ามาดามก็มีข้ออ้างจนได้ว่าเพราะสามีของเธอกลุ้มใจเรื่องบล็องช์มาก และไม่อยากให้ใครรู้ เบื้องหลังที่หนักแน่นก็ไปตกอยู่ที่ตัวท่านคนบดี สามีของมาดามมงนิเยร์นี่เอง
ซึ่งระหว่างที่บล็องช์ป่วยครอบครัวมงนิเยร์ได้จ้าง มาเรีย ฟาซี (Marie Fazy ) พยาบาลพิเศษ มาดูแลบล็องช์โดยเฉพาะ จากบันทึกการดูแล มาเรียเป็นผู้ดูแลที่ดีเลิศ เธอทุ่มเทและเป็นคนเดียวที่สามารถรับมือและจัดการกับอารมณ์ฉุนเฉียวของบล็องช์ได้เป็นอย่างดี มากกว่านั้นเธอยังเป็นคนเดียวที่ดูแลบล็องช์มานานถึง 20 ปี เรียกว่าเป็นเพื่อนที่ดูแลใกล้ชิด กินนอนอยู่ในห้องเดียวกัน แต่เมื่อมาเรียเสียชีวิตในปี 1896 ปัญหาก็เกิดขึ้นทันทีเลยจ้ะ เพราะทำให้อาการของบล็องช์ทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด เธอไม่เอาใครเลยนอกจากมาเรีย
7 ตุลาคม 1901 เป็นวันที่เริ่มพิจารณาคดีต่อความผิดของมาร์เซล ซึ่งกินเวลาถึง 5 วัน ผู้คนจำนวนมากที่เคยทำงานในบ้านของครอบครัวมงนิเยร์ถูกเบิกตัวมาเป็นพยานในชั้นศาล พวกเขาถูกซักถามเกี่ยวกับสภาพของบล็องช์ ความสะอาดภายในห้องของเธอ และอิสรภาพของบล็องช์ เธอถูกกักขังไว้ตลอดเลยไหม เธอเดินไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระหรือเปล่า และจากคำให้การของพวกเขาก็ทำให้ข่าวลือทั้งหมด ไม่ว่าจะมาจากสื่อไหนก็ตาม เป็นหมันในที่สุด!!
ทุกคนที่ทำงานอยู่ในบ้านมงนิเยร์รู้ว่าเธออยู่ที่นั่นและเธอป่วย เธอไม่ได้ถูกกักขังให้อยู่ในห้องตลอดเวลา และห้องไม่ได้ล็อกกุญแจ แต่เธอไม่เดินออกมาเอง ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เธอสามารถเดินออกมานอกห้อง ไปตามส่วนต่าง ๆ ของบ้านได้ แถมเธอยังเล่นเปียโนได้อีกด้วย อย่างน้อยก็ช่วงเวลาหนึ่งที่อาการป่วยของเธอยังไม่ทรุดมาก และทุกคนในบ้านก็พร้อมใจกันสาบานว่า ระยะเวลา 20 ปี ที่มาเรีย ฟาซี ยังอยู่ดูแลเธอ บล็องช์ไม่ได้มีชีวิตอย่างที่เห็น เธออาบน้ำและห้องของเธอก็สะอาดสะอ้าน
เพราะมาเรียคนเดียวเลยจริง ๆ นะเนี่ย มาเรียควรเป็นอมตะ มาเรียควรมีมากกว่าหนึ่งคน เพราะบล็องช์ไม่เอาใครเลยหลังจากมาเรียเสียชีวิตไป เธอโวยวาย เธอเกรี้ยวกราด ทำลายข้าวของ ช่างไม้คนหนึ่งให้การว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขาเป็นคนที่ต้องเข้าไปซ่อมแซมข้าวของในบ้านมงนิเยร์เป็นประจำ แม้กระทั่งประตูบ้านก็เถอะ
ปัญหาคือ เมื่อบล็องช์มีการต่อต้านการดูแลจากคนอื่น ๆ แบบนี้ แทนที่มาดามมงนิเยร์จะจ้างพยาบาลคนใหม่มาแทนมาเรีย แต่ไม่จ้ะ เธอให้สาวใช้ทำหน้าที่นั้นแทนมาเรีย สาวใช้ซึ่งไม่ได้ผ่านการอบรมในการดูแลคนป่วยมาเลย สาวใช้ซึ่งไม่เข้าใจอารมณ์ของคนป่วยแบบบล็องช์ ทำให้บรรดาสาวใช้ทั้งหลาย ทะยอยลาออกไปทีละคนสองคน
ความผิดที่โยนไปให้ใครไม่ได้เลยจริง ๆ จึงตกอยู่ที่มาดามนี่แหละ เธอทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ แย่ลงไปอีกเพราะความขี้ตืดของเธอเอง จ้างพยาบาลให้ลูกซะก็แล้วน่ะแม่ จริงนะ คำให้การของสาวใช้คนหนึ่งบอกว่า เธอเคยขอชุดนอนใหม่ และผ้าปูที่นอนที่สะอาดจากตู้ผ้าลินินให้บล็องช์เปลี่ยน เพราะเธอไม่อมให้ใครเอาเสื้อผ้าของเธอไปซัก ก็คงจะยอมแต่มาเรียคนเดียวเท่านั้น แต่มาดามปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า เดี๋ยวบล๊องช์ก็จะเอาไปฉีกหรือไม่ก็ทำให้สกปรกอีกเท่านั้นแหละ เพราะเธอมักจะฉีกเสื้อผ้าของเธอแล้วทำเปื้อนอยู่เป็นประจำ
ก็เป็นเรื่องง่ายมาก ๆ ที่บล็องช์จะมีสภาพที่โทรมลงเรื่อย ๆ เพราะสาวใช้ที่หามาใหม่ก็ไม่สามารถดูแลบล็องช์ได้ดี แต่มาร์เซลยังคงมาอ่านหนังสือให้บล็องช์ฟังเป็นประจำ จากคำให้การของเขากล่าวว่า เขาได้พยายามขอให้แม่พาบล็องช์ไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว แต่แม่ปฏิเสธทุกครั้ง และถึงเขาจะอยากพาบล็องช์ไปแค่ไหนเขาก็ไม่มีอำนาจที่จะทำแบบนั้นได้ พาบล็องช์ออกจากบ้านก็ไม่ได้ ทางเดียวที่เขาสามารถจะทำได้ก็คือ รอให้แม่ของเขาตายก่อนแล้วเขาจะทำหน้าที่นั้นเอง และเมื่อเขาถูกถามว่า เวลาไปหาบล็องช์ที่ห้องนี่ ห้องมันสะอาดดีไหม? อืม…มันก็อยู่ในสภาพที่ผมรับได้นะ นี่คือคำตอบของเขา จ้า…รับได้ก็รับได้
ชีวิตของบล็องช์ยังคงดำเนินไปแบบที่มันไม่ควรจะเป็นแต่ก็ต้องเป็นอยู่อย่างนั้น จนวันหนึ่งราว 6 สัปดาห์ก่อนที่ตำรวจจะทราบข่าวจากจดหมายที่ไร้นามผู้ส่ง มาดามแกก็ป่วยค่ะ ป่วยมากจนทำอะไร ๆ อย่างที่เคยไม่ไหว แต่มาร์เซลก็ขี้ขลาดเกินกว่าจะทำหน้าที่แทนแม่ของตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยความไม่รู้หรือความเกียจคร้าน ทำให้บล็องช์ไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควร เธอถูกทิ้งให้นอนบนฟูกฟางสกปรกที่ปกคลุมไปด้วยเศษอาหารเน่าเสีย สิ่งปฏิกูลและสัตว์กัดแทะ ซึ่งก็น่าจะเป็นน้องหนูและน้องแมลงสาบนั่นแหละจ้ะ
มาร์เซลถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกตัดสินจำคุก 15 เดือน แต่ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินทันที ทนายของเขาแย้งว่า ในฐานะผู้ปกครองตามกฎหมายและเจ้าของบ้าน มาดามเป็นผู้รับผิดชอบต่ออาการของบล็องช์ ไม่ใช่มาร์เซล และกฎหมาย (ในขณะนั้น) ไม่ได้กำหนดให้เขาต้องเข้าไปแทรกแซง การอุทธรณ์ก็ประสบความสำเร็จและมาร์เซลได้รับการปล่อยตัวในเดือนพฤศจิกายน 1901
ชีวิตบั้นปลายของหญิงสาวอาภัพ
จนบัดนี้ยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า ใครเป็นผู้เขียนจดหมายนิรนามฉบับนั้น อาจเป็นพี่ชายของเธอเอง หรืออาจจะเป็นแฟนทหารของสาวใช้คนใหม่ในบ้านก็เป็นเรื่องที่เกิดจากการคาดเดาทั้งสิ้น หลังจากเสร็จสิ้นคดีความมาร์เซลขายบ้าน ขายทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เขาได้รับมาจากกองมรดกและย้ายไปอยู่ที่เมืองชายฝั่ง ส่วนบล็องช์ยังคงอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชในเมืองบลัว (Blois) ไปจนตลอดชีวิตของเธอ แน่นอนว่าเธอได้รับการดูแลอย่างดี แต่ก็คงไม่มีความสุขเหมือนตอนที่มาเรีย พยาบาลพิเศษที่เธอสนิทสนมยังมีชีวิตอยู่ จนในที่สุดทั้ง บล็องช์ และ มาร์เซล ก็ได้เสียชีวิตลงในปี 1913
ต่อมาในปี 1930 อ็องเดร ฌีด ใช้เรื่องราวของ บล็องช์ เป็นพื้นฐานในการเขียนนวนิยายเรื่อง ‘La Séquestrée de Poitiers’ ของเขา ซึ่งเรื่องราวในหนังสือเล่มนั้นก็มีอยู่ว่า “มีหญิงสาวคนหนึ่งถูกแม่แท้ ๆ ของตัวเองจับเอาไปขังไว้เพราะไม่เห็นด้วยกับความรักของเธอที่มีต่อชายสูงวัยกว่าและยากจน” ซึ่งก็คือข่าวลือที่เกิดขึ้นกับบล็องช์และทนายความโปรเตสแตนต์ที่ยังคงพูดถึงกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ และเป็นเรื่องราวที่รันทดกว่าขวัญเรียมจากคลองแสนแสบของประเทศไทยเสียอีกแน่ะ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส