หลังจากที่คดีความฟ้องร้องอันยืดเยื้อ จากกรณีที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และนักสิ่งแวดล้อมรวม 19 ราย ได้เป็นโจทก์ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง แผนกคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่เกิดขึ้นจากการให้อนุมัติให้ทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง ‘The Beach’ (2000) เข้าไปตกแต่งเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชายหาดอ่าวมาหยา เกาะพีพี ในเขตอุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่ จนสร้างผลกระทบเสียหายต่อสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยโจทก์ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยจำนวน 100 ล้านบาท เมื่อปี 2542 หรือเมื่อ 23 ปีที่แล้ว
เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา โดยให้จำเลย ได้แก่ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ช่วงปี 2541), กรมป่าไม้, อธิบดีกรมป่าไม้ (ช่วงปี 2541), บริษัท ซันต้า อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์มโปรดักชั่น จำกัด (Santa International Film Productions) ฝ่ายประสานงานและดูแลการถ่ายทำในประเทศไทย, และ ทเวนตีเซนจูรีฟ็อกซ์ (20th Century Fox) ผู้ดำเนินการสร้างภาพยนตร์ มีความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
โดยมีคำสั่งให้กรมป่าไม้ทำการฟื้นฟูสภาพอ่าวมาหยา และให้บริษัททเวนตีเซนจูรีฟ็อกซ์ และบริษัทซันต้า ร่วมกันจ่ายเงินชดเชยจำนวน 10 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูธรรมชาติบนอ่าวมาหยา สิ้นสุดคดีที่มีความยืดเยื้อและไกล่เกลี่ยมาตลอด 23 ปี
การพิจารณาคดีเริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 2542 หลังจากที่ 20th Century Fox ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสมัยของนายกรัฐมนตรีนายชวน หลีกภัย ให้ใช้พื้นที่อ่าวมาหยาเป็นโลเคชันหลักในการถ่ายทำภาพยนตร์ในปี 2541 โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ในเวลานั้น เป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแลการถ่ายทำภายใต้การกำกับของกรมป่าไม้ โดยให้เหตุผลตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติมาตรา 19 ว่าด้วยการสนับสนุน ให้การศึกษา การท่องเที่ยว การอำนวยประโยชน์ การบริการในอุทยานแห่งชาติ
ในระหว่างถ่ายทำ พบว่าทีมงานได้มีการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของอ่าวมาหยาหลายส่วน ทั้งการตัดต้นไม้ดั้งเดิมตามหน้าผาทิ้งไป ถมทรายเพื่อขยายหาด ก่อสร้างนั่งร้าน สร้างที่พักชั่วคราว ใช้แพขนานยนต์เข้าเทียบเพื่อเคลื่อนย้ายจักรกล ปรับพื้นที่บางส่วนเพื่อปลูกต้นมะพร้าวกว่า 100 ต้น (ภายหลังลดเหลือ 60 ต้น) และยังมีการนำต้นไม้ต่างถิ่นมาปลูก เพื่อปรับเปลี่ยนโลเกชันหลักให้ใกล้เคียงกับที่ระบุไว้ในหนังสือนิยาย ชายหาดบางจุดมีการใช้รถแบ็กโฮขุดหน้าดินปรับพื้นที่ให้กว้างกว่าเดิม เพียงเพื่อใช้ถ่ายทำฉากเล่นฟุตบอลชายหาดตามเนื้อเรื่องเพียงแค่ฉากเดียว
แน่นอนว่า กระบวนการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลงและไม่ถูกต้องตามกฏหมาย อีกทั้งยังเป็นการทำลายระบบนิเวศบนเกาะ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก ทำให้พืชประจำถิ่น เช่น รักทะเล พลับพลึงทะเล เตยทะเล ผักบุ้งทะเล ฯลฯ เกิดความเสียหาย แพบรรทุกต้นมะพร้าวแล่นผ่านแนวปะการังที่เป็นจุดเด่นของอ่าว จนทำให้แนวปะการังเกิดความเสียหาย แนวหาดทรายถูกน้ำกัดเซาะเป็นรอยเว้าอย่างรุนแรง ชายหาดถูกขุดเปิดหน้าดินจนพังทลาย ต้นไม้ที่ยึดเกาะหาดทรายบางส่วนล้มโค่น
นอกจากนี้ หลังจากที่ภาพยนตร์ฉาย ตัวอ่าวมาหยาและหมู่เกาะพีพีเล ยังกลายมาเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในนาม ‘Maya Bay’ ทำให้แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวมากกว่า 5,000 คน และเรือ 200 ลำ จนประสบปัญหานักท่องเที่ยวล้น (Overtourism) เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมตามมาอีกมากมาย ทั้งขยะ มลภาวะ หรือแม้แต่ครีมกันแดดที่ส่งผลต่อระบบนิเวศของปะการัง รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อีกด้วย
ในเวลานั้น นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจึงเริ่มออกมาเคลื่อนไหว โดยผู้สร้าง (20th Century Fox) ได้จ่ายเงินประมาณ 4 ล้านบาท หรือประมาณ 1 แสนเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับกรมป่าไม้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการปรับปรุงพื้นที่ชายหาดในการถ่ายทำภาพยนตร์ ในบริเวณถ่ายทำจะมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมชาวบ้านไม่ให้เข้าในพื้นที่ มีตำรวจน้ำคอยเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด บางรายงานเผยว่า มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่ออำนวยความสะดวกในการปรับปรุงพื้นที่ได้อย่างสะดวกด้วย
ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น นักอนุรักษ์ธรรมชาติ และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมเห็นตรงกันว่า ทีมงานกองถ่ายภาพยนตร์นั้นมีส่วนทำลายสภาพแวดล้อมเดิมตามธรรมชาติของชายหาด กระแสความขัดแย้งหนักข้อขึ้นจนทำให้ทีมงานต้องหยุดสร้างไปพักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาสร้างใหม่อีกครั้ง โดยมีรายงานว่า 20th Century Fox ผู้สร้างภาพยนตร์ได้จ่ายเงินประมาณ 4 ล้านบาท หรือประมาณ 1 แสนเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับกรมป่าไม้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการปรับปรุงพื้นที่ชายหาดในการถ่ายทำภาพยนตร์
ในเวลานั้น นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และชาวบ้านในละแวกนั้นจึงเริ่มออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น จนนำไปสู่การฟ้องร้อง โดยโจทก์ได้ขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาท แต่ศาลอุทธรณ์ และและศาลฎีกามองว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงในกรณีนี้ ทำให้คดีความยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
จนกระทั่งในปี 2555 ศาลจึงได้รับคำฟ้องเป็นครั้งแรก โดยโจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1-3 (รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์-กรมป่าไม้-อธิบดีกรมป่าไม้) ในการอนุญาตจำเลยที่ 4 (บริษัทซันต้าฯ) และเพิกถอนใบอนุญาตให้ถ่ายทำภาพยนตร์ของจำเลยที่ 4 และ 5 (21th Century Fox) ให้เป็นโมฆะ รวมทั้งให้จำเลยวางเงินประกันค่าความเสียหาย รวมทั้งให้จำเลยร่วมกันปรับปรุงแก้ไขสภาพชายหาดของอ่าวมาหยาให้กลับคืนสภาพตามธรรมชาติ
ทั้งสองฝ่ายได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยคดีอยู่หลายครั้ง จนถึงปี 2561 ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ได้แก่ ศาล โจทก์ และจำเลย เพื่อลงพื้นที่สำรวจอ่าวมาหยา รวบรวมรายละเอียดหลักฐาน และศึกษาหาแนวทางการฟื้นฟู ส่วนบริษัทภาพยนตร์จะตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูอ่าวมาหยาตามที่โจทก์ยื่นฟ้อง
จนในที่สุด เมื่อวันที่ 13 กันยายน ศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 2 (กรมป่าไม้) ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขอ่าวมาหยาให้คืนกลับสภาพตามธรรมชาติ พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนแก้ไขฟื้นฟูระบบนิเวศของอ่าวมาหยา ส่วนจำเลยที่ 4 (บริษัทซันต้า) และจำเลยที่ 5 (20th Century Fox) ศาลให้รับผิด โดยจำเลยที่ 5 ประสงค์จะจ่ายค่าชดเชยจำนวน 10 ล้านบาทแก่โจทย์ที่ 1 และ 2 (อบจ. กระบี่ และ อบต. อ่าวนาง) เพื่อนำไปใช้ในการอนุรักษ์อ่าวมาหยา ส่วนจำเลยที่ 1 (รมว.เกษตรและสหกรณ์) และจำเลยที่ 3 (อธิบดีกรมป่าไม้) ศาลพิพากษายกฟ้อง
ภาพยนตร์ ‘The Beach’ (2000) เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังนิยายที่เขียนโดย อเล็กซ์ การ์แลนด์ (Alex Garland) ว่าด้วยเรื่องของการผจญภัยของตัวละครที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย และได้บังเอิญพบกับลายแทงที่นำไปสู่เกาะสวรรค์ทางใต้ของอ่าวไทยที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายตามมา โดยมี แดนนี บอยล์ (Danny Boyle) เป็นผู้กำกับ
แม้ว่าจะเป็นหนังที่ทำให้อ่าวมาหยากลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดัง แต่ตัวหนังกลับได้รับคำวิจารณ์ในทางลบ คะแนนนักวิจารณ์ในเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ได้ไปเพียง 21% ตัวหนังถูกจัดให้เป็นผลงานการกำกับที่แย่ที่สุดเรื่องหนึ่งของ แดนนี บอยล์ ส่วนตัวของนักแสดงนำในเรื่องอย่าง ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ (Leonardo DiCaprio) ที่เพิ่งแจ้งเกิดจากภาพยนตร์ ‘Titanic’ (1997) มาหมาด ๆ ก็ยังเคยกล่าวถึงเกาะสวรรค์แห่งนี้ หลังจากที่เริ่มมีกระแสที่กองถ่ายทำได้ทำลายอ่าวจนเสียหายว่า “เท่าที่ผมเห็น ผมว่าทุกอย่างโอเคนะครับ ผมยังไม่เห็นจุดไหนที่ได้รับความเสียหาย” นอกจากนี้ ตัวหนังยังส่งให้ดิแคพรีโอได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงชายยอดแย่ จากเวที โกลเดน ราสเบอรี อวอร์ดส์ (Golden Raspberry Awards) หรือ ราซซี อวอร์ดส์ (Razzie Awards) ครั้งที่ 21 ในปี 2001 ด้วย
อ่าวมาหยาเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพีเล เป็นอ่าวที่อยู่ชายฝั่งทะเลอันดามัน มีภูเขาหินปูนล้อมรอบ ขึ้นชื่อเรื่องของความสวยงามของหาดทรายที่ขาวเนียน และน้ำทะเลที่สะอาดใสจนติดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก แต่หลังจากประสบปัญหาการทำลายระบบนิเวศของกองถ่ายทำ และจากปัญหานักท่องเที่ยวล้น ทำให้สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเสื่อมโทรมอย่างหนัก ทำให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต้องมีการสั่งปิดอ่าวตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา เพื่อให้ธรรมชาติเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูระบบนิเวศ
จนล่าสุด มีข่าวน่าดีใจว่า ระบบนิเวศของอ่าวมาหยานั้น ฟื้นฟูจนเต็มที่และกลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม มีการพบสัตว์กลับมาอยู่ในอ่าวอีกครั้ง เช่น ปูทหาร ปูลม ปูเสฉวนบก ปูไก่ ปลาการ์ตูนสีส้ม ฉลามวาฬ ฉลามหูดำ ฯลฯ และได้มีการเปิดอ่าวต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากปิดไปนานกว่าสามปีครึ่ง โดยจะมีการจำกัดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเดินเล่น ถ่ายรูป พักผ่อนในบริเวณอ่าวรอบละ 375 คนต่อ 1 ชั่วโมง หรือ 4,125 คนต่อวัน เฉพาะช่วงเวลา 07.00 – 18.00 น. ของแต่ละวัน โดยไม่อนุญาตให้ลงเล่นน้ำบริเวณหน้าอ่าวมาหยา
ส่วนในระยะนี้ ยังอยู่ในช่วงเวลาปิดอ่าวประจำปี โดยในปี 2565 นี้ ได้มีคำสั่งปิดอ่าวตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม จนถึงวันที่ 30 กันยายน และจะเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป
ที่มา: Vice, The Thaiger, Wall Street Journal, Channel News Asia, มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร, นิตยสารสารคดี
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส