เมื่อ 31 ปีก่อน ในวันที่ 24 กันยายน 1991 ‘Nirvana’ ได้ปล่อยอัลบั้มที่มีชื่อว่า ‘Nevermind’ อัลบั้มที่เปลี่ยนโฉมหน้าวงการดนตรีโลกไปจากเดิม ด้วยการเป็นตำนานของวงการเพลงร็อกที่ไม่ได้เพียงเปลี่ยนสุ้มเสียงของเพลงกรันจ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเพลงร็อกอีกด้วย การแต่งเพลงของ เคิร์ต โคเบน (Kurt Cobain) ฟรอนท์แมนของวงได้พัฒนาและเปลี่ยนโฉมหน้าของวงการดนตรีไปตลอดกาลและได้ส่งต่อเสียงเหล่านี้ไปยังคนรุ่นใหม่และนักดนตรีรุ่นต่อ ๆ ไป อีกทั้งยังมีการเข้ามาของสมาชิกใหม่อย่าง เดฟ โกรห์ล (Dave Grohl) ที่มารับหน้าที่มือกลองที่ทำให้พลังเร่าร้อนของวัยรุ่นหัวขบถจาก Nirvana ยิ่งเดือดดุยิ่งขึ้นไปอีก
‘Nevermind’ ได้ทำให้เพลงนอกกระแสอย่างกรันจ์และแนวดนตรีแบบ ‘ซีแอตเทิล ซาวนด์’ กลายมาเป็นเพลงกระแสหลักที่โดนใจคนฟังหมู่มาก และถีบตัวขึ้นไปสู่การเป็นอัลบั้มอันดับ 1 บนชาร์ต Billboard 200 น็อกแชมป์อย่างอัลบั้ม ‘Dangerous’ ของไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson) และกลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดของปีจากทุกสำนัก ทำยอดขายมหาศาลกว่า 30 ล้านก็อปปี้ทั่วโลกเป็นหนึ่งในอัลบั้มขายดีที่สุดตลอดกาล
ในโอกาสครบรอบ 31 ปีของหนึ่งในอัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์ดนตรี เราจะกลับไปย้อนฟังและย้อนดูเรื่องราวเบื้องหลังของแต่ละบทเพลงจากอัลบั้มนี้กัน
“Smells Like Teen Spirit”
เคิร์ตเล่าว่าในตอนที่เขียนเพลง “Smells Like Teen Spirit” ในหัวของเขามีแต่เพียงว่าเขากำลังพยายามเขียน “เพลงป๊อปที่ดีที่สุด” ในตอนนั้นอิทธิพลหลักของเคิร์ตคือวง The Pixies “ผมเชื่อมต่อกับวงนั้นหนักมาก… เราใช้ความรู้สึกของไดนามิกจากพวกเขา ทั้งนุ่มนวลและเงียบงัน จากนั้นก็ดังและหนักแน่น” อันที่จริง คริสต์ โนโวเซลิช (Krist Novoselic) มือเบสของวงก็กังวลว่าเพลงนี้จะมีกลิ่นอายของวง The Pixies มากจนเกินไป และบอกกับเคิร์ตว่า “พวกเราจะโดนผู้คนจับตอกตะปูแน่ ๆ ว่ะพวก”
ที่มาของบทเพลงนี้มาจากค่ำคืนแห่งความขบถที่เคิร์ตกับเพื่อนสาวของเขา แคธลีน แฮนนา (Kathleen Hanna) ฟรอนต์แมนสาวของวง Bikini Kill ได้มีร่วมกัน แคธลีนเล่าว่า ในคืนหนึ่งของเดือนสิงหาคมปี 1990 หลังจากเธอและเคิร์ตได้เติมเชื้อไฟด้วยวิสกี้ของแคนาเดียนคลับ เธอก็นึกขึ้นมาในใจว่า “นักสตรีนิยมสาวผู้โกรธแค้นคนนี้…จะตัดสินใจทำประโยชน์ให้กับสาธารณะสักหน่อย” จากนั้นเธอก็นำกระป๋องสีไปฉีดพ่นด้านนอกของ ‘ศูนย์การตั้งครรภ์ของวัยรุ่น’ ที่เพิ่งเปิดได้ไม่นาน ซึ่งแคธลีนมองว่าสถานที่แห่งนี้เป็น “แนวหน้าสำหรับปฏิบัติการของพวกฝ่ายขวาที่บอกเด็กสาววัยรุ่นว่าพวกเธอจะต้องตกนรกหากพวกเธอตัดสินใจทำแท้ง” เธอจึงพ่นลงไปตรงผนังของศูนย์แห่งนี้ว่า ‘ทุกคนที่นี่คือคลินิกทำแท้งปลอมว่ะ’ ขณะที่เคิร์ตเองก็เสริมด้วยตัวอักษรสีแดงสูง 6 ฟุตว่า ‘พระเจ้าเป็นเกย์’ ภารกิจเสร็จสิ้น พวกเขาก็ดื่มกันต่อและจบลงที่อะพาร์ตเมนต์ของเคิร์ต ซึ่งแคธลีนได้ควักปากกามาร์กเกอร์ยี่ห้อ Sharpie ขีดเขียนภาพวาดลงไปบนผนังของเขา รวมทั้งคำว่า ‘เคิร์ตมีกลิ่นเหมือนวิญญาณวัยรุ่น (Teen Spirit)’ ซึ่งเป็นชื่อของแบรนด์ระงับกลิ่นกายที่ โทบี เวล (Tobi Vail) แฟนสาวของเขาชอบใช้ หลังจากค่ำคืนนั้นเคิร์ตผู้ที่ตื่นมาพบกับข้อความบนผนังห้องได้เกิดความรู้สึกประทับใจและเข้าใจผิดว่าเพื่อนสาวของเขากำลังชมเชยว่ากลิ่นกายของเขานั้นเหมือนกับจิตวิญญาณแห่งความขบถของวัยรุ่นหนุ่มสาว เคิร์ตได้โทรหาแคธลีนในอีก 6 เดือนต่อมาและพูดว่า “เฮ้ คุณจำคืนนั้นได้ไหม ? มีบางอย่างที่คุณเขียนไว้บนผนังห้องของผม… มันค่อนข้างเจ๋งจริง ๆ และผมขอเอามันไปใช้นะ”
เพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงสุดท้ายที่เขียนขึ้น ก่อนที่ Nirvana จะเดินทางไปแคลิฟอร์เนียเพื่อบันทึกเสียงอัลบั้ม Nevermind เคิร์ตได้ส่งเทปเดโมของเพลงนี้ให้ บุทช์ วิก (Butch Vig) โปรดิวเซอร์ของอัลบั้มฟังหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่จะมีการอัดเสียงกัน บุทช์จำได้ดีว่าตอนนั้นเคิร์ตได้แนะนำเพลงนี้กับเขาว่า “เฮ้ บุทช์ เรามีเพลงใหม่ให้คุณ และเราก็ได้ เดฟ โกรห์ล มาตีกลองให้ด้วย เขาเป็นมือกลองที่เก่งที่สุดในโลก !” จากนั้นเคิร์ตก็เปิดเพลงนี้ให้บุทช์ฟัง “มันเริ่มต้นด้วยเสียงกีตาร์ในตอนเริ่มต้น มันบิดเบี้ยวจนแทบไม่ได้ยินอะไรเลย แต่ภายใต้ความคลุมเครือ ผมได้ยินคำว่า ‘Hello Hello’ กับท่วงทำนอง เมโลดี้และโครงสร้างคอร์ด และถึงแม้ว่าการบันทึกเสียงจะแย่มาก แต่ผมก็ตื่นเต้นมากเลย”
ก่อนที่จะมีการบันทึก Nirvana ได้เล่นเพลงนี้สด ๆ ให้บุทช์ฟังในห้องซ้อม “มันทำเอาผมเหวอไปเลย” บุทช์เล่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยิน เดฟ โกรห์ล เล่นสด และมันก็ฟังดูน่าทึ่งมาก ผมถึงกับเหวอไปเลยตอนนั้นเมื่อได้ยินมัน ผมจำได้ว่าเดินวนไปวนมาและคิดว่า ‘โอ้ พระเจ้า มันช่างฟังดูรุนแรงเหลือเกิน’”
และเพื่อให้เพลงนี้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น บุทช์ได้ใช้กลอุบายบางอย่างในสตูดิโอ แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว เคิร์ตจะไม่เต็มใจให้ใช้มันก็ตาม “เคิร์ต ผมอยากให้วางไลน์กีตาร์และเสียงร้องทับลงไป 2 ชั้นเพื่อให้เสียงมันพุ่งออกมาจากลำโพงไปเลย” แต่เคิร์ตคิดว่ามันเป็นการ ‘โกง’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเสียงร้องของเขา ดังนั้นบุทช์ก็เลยหลอกว่าที่อัดไปมันมีปัญหาและให้เคิร์ตอัดเสียงร้องแก้ไปหลาย ๆ เทค ซึ่งเคิร์ตก็ร้องมันออกมาได้อย่างสม่ำเสมอ และบุทช์ก็สามารถเอามันมาใช้ซ้อนกันเป็น 2 ชั้นทำให้เพลงนี้ดูมีพลังมากขึ้นอย่างที่เราได้ยินกันในทุกวันนี้นั่นเอง
“In Bloom”
Nirvana เคยพัฒนาเพลง “In Bloom” มาก่อนที่ Smart Studios กับบุทช์สำหรับเป็นเพลงในอัลบั้มชุดที่ 2 กับทางค่าย ‘Sub Pop’ ซึ่งสุดท้ายก็จบลงด้วยการเป็นเดโมที่ถูกนำมาพัฒนาเป็นอัลบั้ม ‘Nevermind’ ที่ออกกับทางค่าย DGC Records ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ Nirvana พร้อมที่จะใส่เต็มเพื่อให้ผลงานของพวกเขาประสบความสำเร็จ ในตอนที่ Nirvana ได้มาทำเพลงที่สตูดิโอ Sound City ในแคลิฟอร์เนีย เพลงนี้เป็นเพลงแรกที่พวกเขาทำในอัลบั้ม “ผมคุ้นเคยกับมันเพราะเราเคยทำมันมาก่อนกับ Sub Pop” บุทช์กล่าว “ผมคิดว่าคงจะดีถ้าเริ่มด้วยเพลงที่ผมคุ้นเคย”
Nirvana ได้มีเปลี่ยนแปลงไปจากในช่วง Smart Studios เพราะมีเดฟ โกรห์ลเข้ามาเสริมทัพ ซึ่งไม่เพียงแต่นำสไตล์การตีกลองอันทรงพลัง เขายังสามารถร้องประสานไปกับเสียงร้องนำของเคิร์ตได้อีกด้วย ซึ่งนั่นทำให้มันเป็นส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับ “In Bloom” ต่อมาเมื่อเพลงได้เสร็จสิ้นแล้ว มันได้มาพร้อมกลิ่นอายของความป๊อปที่ติดหูมากที่สุดเพลงหนึ่งของ Nevermind ส่วนเนื้อเพลงนั้นก็มีถ้อยความที่แอบจิกกัดแฟนเพลงใหม่ ๆ ที่เพิ่งเริ่มติดตามวงหลังจากความสำเร็จในยุคใต้ดินของอัลบั้ม ‘Bleach’ แฟน ๆ ซึ่งอยากร้องเพลงพร้อมกับ ‘ทุกบทเพลงที่น่ารักของเรา’ (He’s the one / Who likes all our pretty songs / And he likes to sing along /And he likes to shoot his gun) ส่วน ชาร์ลส์ อาร์. ครอส (Charles R Cross) ผู้เขียนชีวประวัติของเคิร์ตและวง Nirvana เชื่อว่าเพลงนี้เป็นเรื่องราวของ ดีแลน คาร์ลสัน (Dylan Carlson) เพื่อนรัก เพื่อนเสพ (ยา) ของเคิร์ต ผู้ชื่นชอบอาวุธปืนและผู้บุกเบิกวงเอ็กเพอร์ริเมนทัลร็อกนาม ‘Earth’ ซึ่งต่อมาเขาได้เป็นเพื่อนเจ้าบ่าวให้กับเคิร์ตและเป็นคนซื้อปืนลูกซองที่เคิร์ตใช้ในการฆ่าตัวตายนั่นเอง
“Come As You Are”
แม้ว่าในท่อนร้อง ‘And I swear that I don’t have a gun.’ จะฟังดูน่ากลัวในช่วงเวลาหลังจากที่เราได้รู้ว่าเคิร์ตฆ่าตัวตายด้วยปืน แต่เนื้อเพลง Come As You Are กลับเป็นเพลงที่ Nirvana อยากจะเล่นสนุกไปกับการเล่นคำ “เราอยากให้เพลงนี้เกือบจะเป็นเหมือนกับเพลงเด็ก เราแค่อยากจะบอกกับผู้คนว่าพวกเขาควรทำอะไรให้มันเรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้” เดฟกล่าว “โฟกัสของเคิร์ตคือเมโลดี้ เขาเคยบอกว่าดนตรีมาก่อนและเนื้อเพลงมาทีหลัง”
และดนตรีของ “Come As You Are” ก็มาก่อนจริง ๆ และก็เป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้วว่าริฟฟ์กีตาร์ที่วนเวียนไปมาตลอดทั้งแทร็กได้รับแรงบันดาลใจจากเพลง “Eighties” ซึ่งเป็นซิงเกิลในปี 1984 จากวงโพสต์พังก์ในตำนาน ‘Killing Joke’ ความคล้ายคลึงกันระหว่าง “Come As You Are” กับ “Eighties” ทำให้เคิร์ตกังวลใจกับแผนการที่จะปล่อยเพลง “Come As You Are” ในฐานะซิงเกิลที่ 2 ของ Nevermind และคิดกันว่าควรเลือก “In Bloom” แทน
“เคิร์ตรู้สึกกังวลกับ Come As You Are มากเพราะมันคล้ายกับเพลง Killing Joke มากเกินไป” แดนนี่ โกลด์เบิร์ก (Danny Goldberg) ผู้จัดการของ Nirvana ได้เล่าถึงความกังวลของเคิร์ต “แต่เราทุกคนคิดว่ามันเป็นเพลงที่ดีสำหรับการไปต่อ” โกลด์เบิร์กมองว่า “Come As You Are” มีศักยภาพพอที่จะพาวงไปยังแฟนเพลงกลุ่มเมนสตรีม แต่สุดท้ายแล้วโกลด์เบิร์กก็ยอมรับว่าเคิร์ตคิดถูกเพราะว่ามีคนพูดถึงความคล้ายคลึงกับเพลง Killing Joke และวิพากษ์วิจารณ์กันไปมากมายจริง ๆ รวมถึงมีการยื่นฟ้องกันเรื่องการลอกเลียนเพลงในที่สุด แต่ดูเหมือนว่าทางวง Killing Joke ได้ตัดสินใจถอนฟ้องไปหลังจากการเสียชีวิตของเคิร์ต ด้วยความที่จริง ๆ แล้ว Nirvana นั้นเป็นแฟนวง Killing Joke มาโดยตลอด ทำให้หลายปีต่อมาเมื่อ เดฟ โกรห์ล ได้พบกับ พอล ราเวน (Paul Raven) มือเบสของวงที่หลังเวทีคอนเสิร์ตของ Pantera พวกเขาก็ได้สานต่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเรื่อยมาเช่น โกรห์ลเคยไปช่วยวางไลน์กลองให้กับอัลบั้ม ‘Killing Joke’ (2003) อัลบั้มต้อนรับการกลับมาอีกครั้งในปี 2003 ของวง
“Breed”
เพลงสุดร้อนแรงที่อาจทำให้หลายคนคิดถึงเพลง “อยากเห็นหน้าคุณ” ของ Loso เพลงนี้แต่เดิมชื่อว่า “Imodium” ซึ่งมาจากชื่อของยาแก้ท้องร่วงที่ใช้โดย แทด ดอยล์ (Tad Doyle) ของวง TAD จากซีแอตเทิลที่ใช้เพื่อแก้ท้องเสียขณะทัวร์คอนเสิร์ตร่วมกับ Nirvana
เนื้อเพลงกล่าวถึงประเด็นเรื่องความไม่แยแสและความกลัวของวัยรุ่นชนชั้นกลางชาวอเมริกัน และแสดงให้เห็นถึงฝีมือการเขียนเพลงของเคิร์ตในสไตล์เสียดสีและกล่าวถึงความไร้แก่นสารออกมาได้อย่างมีแก่นสารเป็นอย่างดี ‘I don’t mind if I don’t have a mind’ / ‘We can plant a house, we can build a tree’
“Lithium”
เคิร์ตเคยบอกว่าเพลง “Lithium” เป็น “หนึ่งในเพลงที่ผมทำเสร็จจากความพยายามที่จะเขียนมันด้วยตัวเองแทนที่จะเอาบทกวีของผมและสิ่งอื่น ๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน” ซึ่งในเนื้อหาของเพลงนั้นเคิร์ตกล่าวว่ามันเป็นเพลงของผู้ชายคนหนึ่งที่สูญเสียคนรักของเขาไป และเขาก็ได้ตัดสินใจที่จะหาพระเจ้าก่อนจะฆ่าตัวตาย “มันเป็นเรื่องยากสำหรับผมที่จะเข้าใจความต้องการในสิ่งอย่างศาสนา แต่ผมก็เข้าใจดีว่าผู้คนต้องการสิ่งนี้สำหรับชีวิตของพวกเขา”
ในหนังสือประวัติวง Nirvana ‘Come As You Are: The Story of Nirvana’ ที่เขียนขึ้นโดย ไมเคิล อาเซอร์ราด (Michael Azerrad) เคิร์ตได้กล่าวว่าแรงบันดาลใจบางส่วนของเพลงนี้ได้รับมาจากช่วงเวลาที่เขาใช้ชีวิตร่วมกับ เจสซี รีด (Jesse Reed) เพื่อนของเขาและพ่อแม่ของรีดที่เป็นคริสเตียน ซึ่งทำให้เคิร์ตมีทัศนะต่อเรื่องของศาสนาว่า “ผมเคยรู้สึกเสมอว่าบางคนควรมีศาสนาในชีวิตของพวกเขา … ไม่เป็นไร ถ้ามันจะช่วยใครซักคนก็ไม่เป็นไร เพราะผู้คนต้องการมัน”
เพลงนี้เป็นเพลงหนึ่งที่อัดยากมากที่สุดในอัลบั้ม ซึ่งบุทช์เล่าถึงช่วงเวลาตอนอัดเสียงเพลงนี้เอาไว้ว่า “ระหว่างที่เราอัดเพลง ‘Lithium’ ผมรู้สึกว่าซาวด์มันดูผิดเพี้ยน ทุกคนชอบเร่งจังหวะเพลงให้มันเร็วไป มันไม่ใช่ความผิดของเดฟเพียงคนเดียวหรอก มันคือความผิดของทุกคนในวงเลยต่างหาก แต่วันนั้นผมด่าเดฟว่า ‘นายเคยใช้เครื่องเคาะจังหวะบ้างหรือเปล่าวะ’ มันกลายเป็นคำพูดแทงใจเขาอย่างแรง เมื่อเดฟกลับไปที่โรงแรม เขาถึงกับนอนไม่หลับ วันต่อมาเขาอัดกลองเพลงนี้อีกครั้งเพียงเทคเดียวโดยที่ไม่ต้องใช้เครื่องเคาะจังหวะช่วยด้วยซ้ำ ซึ่งมันออกมาสมบูรณ์แบบอย่างเหลือเชื่อ”
“Polly”
เพลง “Polly” ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวที่น่าสยดสยองและหดหู่ที่มาจากหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นในเมืองทาโคมา รัฐวอชิงตันในช่วงกลางทศวรรษที่ 80s เจอรัลด์ เฟรนด์ (Gerald Friend) ผู้ร้ายข่มขืนได้ลักพาตัวเด็กหญิงอายุ 14 ปีระหว่างทางกลับบ้านจากคอนเสิร์ตร็อก ในตอนนั้นเด็กสาวได้พยายามโบกรถกลับบ้าน โชคร้ายที่รถที่จอดรับเธอคือรถบ้านของเฟรนด์ ที่แสร้งจอดรับเธออย่างสุภาพก่อนที่จะจับเธอมัดไว้กับคานของรถบ้านและทารุณเธออย่างโหดร้าย แต่เด็กสาวได้ชิงจังหวะหลบหนีออกมาตอนที่เฟรนด์จอดรถที่ปั๊มน้ำมัน และเขาได้ถูกจับกุมในอีกวันถัดมา เคิร์ตเล่าเรื่องราวจากมุมมองของผู้ข่มขืน ซึ่งทำให้ผู้ฟังเกิดความสยดสยองเป็นอย่างยิ่ง “Let me take a ride,cut yourself / Want some help, please myself”
ก่อนนี้ “Polly” เกือบจะได้ใช้ชื่อว่า “Hitchhiker” และ “Cracker” แต่สุดท้ายก็มาจบที่ “Polly” ตอนที่กำลังบันทึกเสียงเพลงนี้กัน บุทช์ วิก และสมาชิกคนอื่น ๆ ในวงเห็นตรงกันว่าควรอัดเพลงนี้แบบเต็มทุกชิ้น แต่เคิร์ตกลับหยิบกีตาร์โปร่ง 5 สายขึ้นมาและเล่นเพลงนี้วนไปเรื่อย ๆ โดยไม่สนใจใคร บุทช์จึงรีบไปหยิบเครื่องอัดเสียงมาตั้งใกล้ ๆ และเห็นด้วยกับเคิร์ตว่าเพลงนี้ควรทำเป็นอะคูสติกมากกว่า
“Territorial Pissings”
สุ้มเสียงความร็อกของเพลงนี้ได้มาจากการที่เคิร์ตต่อตรงกีตาร์ของเขาไปที่มิกซ์ ซึ่งวิธีการแบบเก่าในการได้มาซึ่งเสียงกีตาร์ที่แตกพร่า ในแบบยุคแรก ๆ ของงานฮาร์ดคอร์แบบงบน้อย เนื้อร้องของเพลงนี้เคิร์ตถ่ายทอดจินตนาการในช่วงวัยเด็กที่เขาจินตนาการว่าตัวเองเป็นเอเลียนที่เดินทางมายังดาวโลก แบบเดียวกับ E.T. และรอคอยพ่อแม่ที่แท้จริงมาพาเขากลับไปยังที่ที่จากมา ซึ่งเคิร์ตได้นำเอาเรื่องนี้มาใช้ในการเปรียบเปรยกับการปฏิบัติที่ไม่ดีของชาวอเมริกันที่มีต่อคนพื้นเมืองและผู้หญิงในอเมริกา
“ในอาณาจักรสัตว์ ตัวผู้จะฉี่เพื่ออ้างสิทธิ์ในพื้นที่ และผมมักจะเห็นว่าพวกผู้ชายมักทำตัวในเรื่องของเพศและอำนาจในทางเดียวกัน ผมอยากจะเห็นไอ้พวกคนที่วิญญาณสูญหายพวกนี้ถูกพันด้วยหนังไข่ของพวกมันและแปะป้ายว่า ‘เศษสวะ’ ไว้ที่ร่างกาย”
“Drain You”
“Drain You” คือมาสเตอร์พีซของการซ้อนเลเยอร์เสียงกีตาร์ในเพลงของ Nirvana ซึ่งโดยปกติแล้วเคิร์ตจะยี้การทำแบบนี้มาก แต่บุทช์ก็หาวิธีหลอกล่อให้เคิร์ตรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่โอเคและมันเป็นการทดลองความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของการทำงานในสตูดิโอ (เช่น บุทช์เคยหลอกล่อด้วยการบอกว่า The Beatles และจอห์น เลนนอนก็เคยทำการซ้อนเสียงเพื่อให้เพลงมีความแน่นและมีมิติ หรือ หลอกเคิร์ตว่ามันมีปัญหาบางอย่างในท่อนที่อัดไปเลยขอให้เคิร์ตลองอัดใหม่และเล่นเปลี่ยนไปหลาย ๆ แบบ) ด้วยเหตุนี้บุทช์ก็เลยลองให้เคิร์ตลองอัดเสียงกีตาร์ให้แตกต่างกันไปในแต่ละแบบด้วยการทดลองใช้แอมป์และเอฟเฟกต์ที่แตกต่างกันไป ส่วนบุทช์ก็ลองปรับเสียงแพนไปมา หรือลองปรับโวลุมขึ้นบ้างลงบ้าง เหมือนกับวาทยกรเวลาควบคุมวงออร์เคสตร้า ทำให้บุทช์นิยามผลลัพธ์ที่ออกมาว่ามันเป็น “ซาวด์กีตาร์ในแบบออร์เคสตร้า”
ด้วยความที่ท่อนกลางของเพลงนี้เป็นช่วงเวลาของความบ้าคลั่ง ที่มาพร้อม 17 ห้องเพลงที่เต็มไปด้วยซาวด์ยุ่งเหยิงฟังไม่ได้ศัพท์ ทำให้เดฟเรียกมันว่า “Bohemian Rhapsody แห่ง Nevermind” เคิร์ตได้ทดลองใส่เสียงประหลาด ๆ ลงไป เช่น การใส่เสียงนอยซ์ต่าง ๆ เสียงพ่นสเปรย์หรือเสียงบีบของเล่นที่มีเสียงร้องแปลก ๆ ออกมา ซึ่งทำให้คิดไปถึงวงดนตรีที่บุกเบิกกระแสดนตรีนอยซ์ร็อกอย่าง ‘Sonic Youth’ ที่เป็นทั้งแรงบันดาลใจและเพื่อนกับวง Nirvana เคิร์ตเคยบอกกับคิม กอร์ดอน (Kim Gordon) ตอนก่อนที่จะทำอัลบั้มนี้ว่าเขาอยากให้ซาวด์มันเหมือนกับวง Sonic Youth ซึ่งกอร์ดอนก็ตอบกลับไปแบบขำ ๆ ว่า “อย่าดีกว่านะเคิร์ต กูว่ามันเป็นแบดไอเดียว่ะเพื่อน”
สุดท้าย “Drain You” ก็กลายเป็นหนึ่งในเพลงโปรดของเคิร์ต แต่เดิมจะมีชื่อว่า “Formula” ซึ่งอาจอ้างอิงถึงผลิตภัณฑ์ทดแทนนมผงสำหรับทารก มันจึงไม่แปลกเลยว่าเนื้อเพลงของมันได้ถ่ายทอดเรื่องราวของความรักที่ทารกมีต่อแม่ แต่ในแง่หนึ่งเพลงนี้น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากความสัมพันธ์ที่ถึงแม้จะสั้นแต่ว่าเข้มข้นระหว่างเคิร์ตกับ โทบี เวล อย่างท่อนเปิดของเพลงที่ร้องว่า “I’m lucky to have met you.” ก็เป็นสิ่งที่โทบีเคยบอกกับเคิร์ต แต่ภายใต้มุมมองของความรักในเพลงนี้มันเป็นความโรแมนติกที่ซ่อนไว้ด้วยความเป็นไปได้ของการทำลายล้างที่เกิดจากการถูกคนรักของเราดูดกลืนความรู้สึกที่มีจนแห้งเหือด และเลือกทิ้งไว้เพียงซากที่แห้งกรังเมื่อรักนั้นจบลง
“Lounge Act”
ไลน์เบสเก๋า ๆ ใน “Lounge Act” ของคริส และจังหวะลีลาของมันเป็นที่มาของเพลงนี้ เพราะพวกเขารู้สึกว่ามันฟังดูเหมือนเพลงเลานจ์ เคิร์ตบอกว่าในบรรดาเพลงทั้งหมดเพลงนี้เป็นเพลงที่เขาตั้งใจเขียนถึง โทบี เวล “ผมไม่เคยเขียนเพลงถึงคุณเลย นอกจากเพลง ‘Lounge Act’ ซึ่งเป็นเพลงที่ผมจะไม่เล่นมันเลย นอกเสียจากในเวลาที่ไม่มีภรรยาอยู่ใกล้ ๆ”
ในท่อนร้อง “I’ll arrest myself, I’ll wear a shield.” อ้างอิงถึงรอยสักรูปโล่ที่มีตัว ‘K’ อยู่ภายในซึ่งมันเป็นโลโก้ของค่ายเพลง K Records ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจให้โอบกอดจิตวิญญาณของวัยเยาว์อยู่เสมอ เนื่องจากวงหลาย ๆ วงที่ทำเพลงภายใต้สังกัดของ K Records เช่น ‘Beat Happening’ มักจะเล่นเพลงที่มีความเรียบง่าย และดูไร้เดียงสา แต่ในขณะเดียวกันก็มีความไพเราะและเป็นผู้ใหญ่ด้วย สิ่งนี้ได้สื่อถึงความรู้สึกของเคิร์ตที่ต้องการจะปกป้องอารมณ์และหัวใจของเขาจากการถูกทำร้ายและแตกสลาย
“Stay Away”
เพลงนี้เป็น 1 ใน 3 เพลงจาก Nevermind (อีก 2 เพลงคือ Breed และ Territorial Pissings) ที่ใช้จังหวะอันเร่าร้อนแบบฮาร์ดคอร์พังก์ แต่เดิมเพลงนี้มีชื่อว่า “Pay To Play” ซึ่งเนื้อหาของเพลงดูเหมือนจะเกี่ยวกับหลาย ๆ อย่างทั้งความรำคาญใจ (“stay away”) การขาดซึ่งความนิยมชมชอบ (“I’d rather be dead than cool”)
ซึ่งรอยสักคำว่า “Stay Away” ที่อยู่เหนือคิ้วขวาของ Post Malone ก็มาจากเพลงนี้นั่นเอง ซึ่งมาโลนเคยพูดก่อนที่จะเริ่มเล่นเพลงนี้ในคอนเสิร์ตที่เขาอุทิศให้กับวง Nirvana ว่า “นานมาแล้วผมสักชื่อเพลง ๆ หนึ่งไว้บนหน้าของผม มันเป็นหนึ่งในเพลงโปรดที่สุดของผม”
“On a Plain”
เคิร์ตเคยบอกกับนักข่าวชาวอังกฤษ จอน ซาเวจ (Jon Savage) ว่าเพลง “On a Plain” เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ความแปลกแยกแบบคลาสสิก , ผมคิดว่าอย่างงั้นนะ” แม้ว่าเคิร์ตอาจจะเปลี่ยนคำอธิบายทุกครั้งที่ถูกถามถึงความหมายในเพลงนี้ โดยบอกว่าเนื้อเพลงของเขาเป็นส่วนใหญ่นำมาจาก “ชิ้นส่วนของบทกวีของเขาที่ถูกโยนเข้าด้วยกัน” และบทกวีเหล่านี้ “มันไม่มีธีมอะไรทั้งนั้น”
อย่างเนื้อร้องในท่อน “Don’t quote me on that” ก็เป็นการอ้างอิงถึงการพูดกันตลก ๆ ที่สตูดิโอ Sound City ในช่วงเวลาที่เขียนเพลงนี้ ซึ่งโกรห์ลได้เล่าให้ ไมเคิล อาเซอร์ราด ผู้เขียนประวัติวงฟังว่า “ตอนนั้นมีคนพูดว่า ‘มายองเนสอยู่ที่ไหน’ และคนอื่นมักจะตอบกลับมาว่า “อยู่ในตู้เย็น แต่อย่าบอกว่าฉันเป็นคนบอกนะ'”
ในหนังสือ Come As You Are: The Story of Nirvana (1993) ของอาเซอร์ราด ได้เขียนว่าเนื้อเพลงในท่อน “My mother died every night.” เป็นการอ้างอิงถึงความสัมพันธ์อันเลวร้ายระหว่างเคิร์ตกับแม่าในช่วงที่เขายังเป็นวัยรุ่น ซึ่งคำว่า “แกะดำ” ในเพลงนี้หมายถึงเคิร์ตนั่นเอง
“Something in the Way”
“Something in the Way” ไม่เคยเปิดตัวในฐานะซิงเกิลและไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งในลิสต์เพลงแสดงสดของวงเลย แต่การที่มันถูกนำมาใช้ประกอบตัวอย่างแรกของหนังซูเปอร์ฮีโร “The Batman” ในเวอร์ชันปี 2022 ได้ทำให้มันกลายเป็นเพลงฮิตติดชาร์ตไปเลย
ว่ากันว่าเพลง “Something in the Way” มีที่มาจากช่วงเวลาที่เคิร์ตไม่มีที่อยู่อาศัยและกินอยู่หลับนอนอยู่ใต้สะพาน ‘Young Street Bridge’ ใกล้กับบ้านในวัยเด็กของเขาในเมืองเอเบอร์ดีน รัฐวอชิงตัน บ้านเกิดของเขา ในช่วงที่เคิร์ตหนีออกจากบ้าน ซึ่งความเชื่อที่ว่าเขานอนอยู่ใต้สะพานนั้นถูกหักล้างโดย คิม โคเบน น้องสาวของเคิร์ต และ คริส โนโวเซลิก ที่ให้สัมภาษณ์ไว้และปรากฏอยู่ในหนังสือชีวประวัติของเคิร์ต ‘Heavier Than Heaven’ (2001)
ส่วนเคิร์ตเองก็เคยกล่าวว่าเพลงนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นอัตชีวประวัติของเขาหรอก โดยบอกกับอาเซอร์ราดว่าเนื้อเพลงนั้นมันอาจจะพูดถึงอะไรก็ได้ไม่ว่าจะ “ฉันกำลังอยู่ใต้สะพาน ฉันกำลังจะตายด้วยโรคเอดส์ หรือถ้าฉันป่วยและเคลื่อนไหวไม่ได้ และฉันเป็นคนข้างถนน ทั้งหมดนั่นเป็นการจินตนาการทั้งนั้นแหละ”
“Endless, Nameless”
เพลงนี้เป็น hidden track ของอัลบั้ม โดยจะเริ่มต้นประมาณ 10 นาทีหลังจากสิ้นสุดเพลง “Something in the Way” และอยู่ในแทร็กเดียวกัน
เพลงนี้ถูกบันทึกในช่วงที่พวกเขากำลังเฟลจากการบันทึกเสียงเพลง “Lithium” เคิร์ตขอให้ บุทช์ วิก อัดเสียงต่อไปเรื่อย ๆ ในขณะที่เดฟและคริสกำลังเริ่มเล่นเพลงนี้ บุทช์ได้เล่าว่าตอนนั้น “ความโกรธและความหงุดหงิดในเสียงของเคิร์ตนั้นช่างน่ากลัวจริง ๆ ตอนนั้นเขากำลังหลุดเลย” บุทช์จำได้ว่าตอนนั้นเคิร์ตทั้ง “โกรธแค้น ขุ่นเคือง เดือดดาลและกรีดร้อง”
เพลงนี้ต่างจากเพลงอื่น ๆ ในอัลบั้ม Nevermind เพราะมีการบันทึกเสียงแบบสด ๆ ดิบ ๆ โดยไม่มีการใส่เสียงทับในภายหลัง เสียงร้องและกีตาร์ของเคิร์ตถูกบันทึกไว้ด้วยไมโครโฟน Shure SM57 ที่ออกแบบมาสำหรับใช้ในการพูดไม่ใช่เพื่ออัดเสียงร้องในเพลง บุทช์เล่าว่าตอนนั้น “เราหลั่งไหลไปกับเสียงเบสและกลองที่เทใส่ไมโครโฟนของเคิร์ต” และเคิร์ตก็ได้ทุบกีตาร์ของเขาระหว่างการอัดเสียง ซึ่งทำให้ต้องหยุดอัดไปหนึ่งวันหลังจากที่พวกเขารู้ว่ามันเป็นกีตาร์มือซ้ายเพียงตัวเดียวที่มีอยู่ ในหนังสือประวัติของ Nirvana ‘Come As You Are’ โดย ไมเคิล อาเซอร์ราด จะมีรูปถ่ายของกีตาร์ที่ถูกทำลายเป็น Fender Stratocaster Japan สีดำ
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่อัลบั้มนี้ก็ยังคงอยู่ยืนยงเป็นอมตะ ให้เราได้เรียนรู้ถึงพัฒนาการของความสร้างสรรค์ในวงการดนตรี ผ่านประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงและความขบถอันเร่าร้อนของ Nirvana ซึ่งนำมาซึ่งพรมแดนใหม่ ๆ ของโลกดนตรี แผ้วถางทางให้ศิลปินรุ่นต่อมาได้มีเส้นทางในการค้นหาอะไรใหม่ ๆ สืบต่อไป
ที่มา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส