ในทุกวันนี้ที่เทคโนโลยีการฟังเพลงนั้นช่างสะดวกสบายและแสนง่ายดาย มีแค่มือถือเครื่องเดียวก็สามารถฟังเพลงหลากหลายได้บนบริการสตรีมมิงที่มีมากมายหลายเจ้า ทำให้พฤติกรรมการฟังเพลงของผู้ฟังเปลี่ยนไปจากแต่เดิมที่ต้องไปหาซื้ออัลบั้มมาฟังและไล่ฟังไปตั้งแต่ต้นจนจบ กลายมาเป็นเลือกฟังเพียงบางเพลง (เผลอ ๆ บางทีฟังไม่จบเพลงก็เปลี่ยนไปฟังเพลงอื่นเสียแล้ว) ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายครั้งเราเกิดคำถามว่า เรายังจำเป็นที่จะต้องฟังเพลงทั้งอัลบั้มอีกไหม ซึ่งบทความนี้เราจะยืนอยู่ข้างการฟังแบบเต็มอัลบั้มพร้อมเสนอว่ามันมีข้อดีอย่างไรบ้าง
1.ทำให้ได้เจอกับเพลงโดน ๆ ที่ไม่ได้ถูกโปรโมตมาก่อน
แน่นอนว่าเพลงที่ตัดเป็นซิงเกิลและนำออกโปรโมตย่อมเป็นเพลงที่ศิลปินและค่ายมองว่ามีองค์ประกอบที่เหมาะสมที่จะทำให้ถูกใจแฟน ๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอีกหลายเพลงในอัลบั้มที่รอให้เราได้ค้นพบ แน่นอนว่าคนฟังแต่ละคนย่อมมีรสนิยมและความชอบที่หลากหลายแตกต่างกัน ไม่แน่ว่าเพลงบางเพลงที่ถูกวางไว้เงียบ ๆ ภายในอัลบั้มและไม่เคยมีใครเอามันออกมาแนะนำมาก่อนอาจกลายเป็นเพลงโปรดของคุณโดยไม่รู้ตัว
2.เข้าสู่สภาวะการ Flow
การทำอะไรต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่งจะทำให้เราเข้าสู่สภาวะการไหลหรือการเข้าสู่ความโฟลว์ (Flow) ซึ่งในทางจิตวิทยาเชิงบวก สภาวะการไหล/สภาวะการโฟลว์หรือที่เรียกขานกันว่า ‘อยู่ในโซน’ (In the Zone) คือสภาวะทางจิตที่บุคคลที่ทำกิจกรรมบางอย่างจะจมดิ่งลงไปในความรู้สึกของการจดจ่อที่มีพลัง การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และความเพลิดเพลินในกระบวนการของกิจกรรมนั้น ๆ โดยพื้นฐานแล้วการไหลมีลักษณะเฉพาะด้วยการดูดซับอย่างสมบูรณ์ในสิ่งที่ทำ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความรู้สึกที่มีต่อการไหลไปของเวลาหรือเกิดสภาวะไร้กาลเวลา ทำให้เวลาที่เราโฟลว์ไปกับกิจกรรมใด ๆ เราจะไหลไปกับช่วงเวลานั้นจนรู้สึกตัวอีกทีก็พบว่าเวลาผ่านไปนานแล้วแต่กลับรู้สึกว่าผ่านไปเพียงแค่ชั่วครู่เท่านั้น การดูหนังในโรงหนัง การอ่านนิยายแบบรวดเดียว (อาจยังไม่จบก็ได้) หรือการฟังเพลงทั้งอัลบั้มจะทำให้เราเข้าสู่จุดสมาธิหรือสภาวะการไหลซึ่งจะช่วยให้สมองและจิตใจของเราเบ่งบานเต็มที่และส่งผลดีตามมาอีกมากมายอาทิ ความรู้สึกปีติยินดีจากการได้อยู่นอกความเป็นจริงในชีวิตประจำวันและไหลไปจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำอย่างแนบแน่น รู้สึกสงบไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับตัวเองและเกิดความรู้สึกเติบโตเกินขอบเขตของอัตตา เข้าไปสู่สภาวะไร้กาลเวลาและจดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะอย่างถี่ถ้วน
3.เข้าใจในความตั้งใจของศิลปิน
แน่นอนว่าการทำออกมาเป็นอัลบั้มนั้นศิลปินย่อมต้องมีการวางคอนเซ็ปต์เอาไว้และมีความตั้งใจที่จะสื่อสารอะไรบางอย่าง ทั้งในระดับของเพลงเพลงหนึ่งและระดับของอัลบั้ม ไม่ว่าจะมาจากการวางแนวทางเอาไว้ทั้งอัลบั้ม (อย่างพวกที่เป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มจะมีความชัดเจนมาก) การจัดเรียงลำดับของเพลง (บอย โกสิยพงษ์ เรียงลำดับเพลงอัลบั้ม ‘Rhythm & Boyd’ ตามกราฟการเล่าเรื่องแบบในหนังของสตีเวน สปีลเบิร์ก) การเว้นว่างระหว่างแต่ละเพลง และเนื้อหาของแต่ละเพลงที่ถูกเรียงร้อยเข้าด้วยกัน ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ศิลปินตั้งใจจะสื่อสารออกมา ดังนั้นการฟังเพียงแค่บางเพลงเราก็จะได้สารเพียงแค่บางส่วนแต่การรับฟังไปเต็ม ๆ นั่นคือเราได้เสพงานชิ้นนั้นอย่างเต็มอรรถรสแล้วนั่นเอง
บอย โกสิยพงษ์ เคยให้สัมภาษณ์กับทาง The standard เล่าถึงความชื่นชอบในการฟังเพลงทั้งอัลบั้มและแนวคิดในการทำอัลบั้ม ‘Rhythm & Boyd’ ไว้ว่า “เวลาฟังเพลงผมชอบฟังทั้งอัลบั้ม เนื่องจากเราเป็นคนยุคเดิม เลยไม่ได้ฟังเจาะเป็นเพลง ๆ ไป เรานั่งฟังแม้กระทั่งช่องว่างระหว่างเพลง ช่องว่างระหว่างเพลงในอัลบั้มนี้ก็แตกต่างกันหมด ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน แค่ผมเรียงช่องว่างระหว่างเพลงทุกเพลง ก็ใช้เวลา 2-3 อาทิตย์ละ เพราะเราเชื่อว่าการฟังให้รื่นที่สุดจะทำให้คนฟังเข้าใจสิ่งที่เราอยากจะเสิร์ฟ เหมือนเราเป็นพ่อครัว เราก็ต้องทำอาหารเป็นคอร์ส รอจังหวะที่เหมาะสม เปลี่ยนเมนูไปเรื่อย ๆ Interlude ก็เป็นตัวเริ่มต้นที่ผมให้กินไอศกรีมก่อน เพื่อคลีนหู แล้วค่อยเข้าเพลงหลักเพลงแรก นั่นคือ รักคุณเข้าแล้ว คือถ้ามองเป็นเมนู ผมทำต้มยำเป็นเมนูแรก ผมก็จะไม่เสิร์ฟยำเป็นเมนูต่อไป ก็จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น อาจเสิร์ฟผัดน้ำมันหอยแทน หรือของย่างแทน เพื่อให้คนฟังเซอร์ไพรส์ตลอดเวลา”
4.เข้าใจในสารของงานเพลงอย่างลุ่มลึก
ต่อจากข้อที่แล้วคือความตั้งใจของศิลปินในการวางคอนเซ็ปต์และคิดงานเพลงแต่ละเพลงเพื่อให้เข้ามาอยู่ในอัลบั้ม แน่นอนว่าเพลงแต่ละเพลงก็ฟังจบในตัวและเข้าใจความหมายในตัวเอง แต่ทว่าพอเวลาเราฟังแต่ละเพลงต่อเนื่องกันแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของแต่ละบทเพลงภายใต้บริบทของอัลบั้มเดียวกัน ทำให้นอกจากเราจะเข้าใจในเพลงแต่เพลงดีขึ้นแล้ว เรายังเข้าใจในสาระและความหมายของผลงานเพลงอัลบั้มนั้นอย่างลึกซึ้ง เหมือนบทเพลงแต่ละเพลงเป็นจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นที่ถูกนำมาต่อเติมกันเพื่อให้เราเห็นภาพใหญ่ ความเข้าใจในจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นจะเกิดขึ้นเมื่อเราเห็นว่ามันมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร
อย่างในอัลบั้ม ‘LAVNDR’ (อ่านว่า ‘ลาเวนเดอร์’) ของ patrickananda ที่ฟังแต่ละเพลงแล้วก็อิ่มเอมจบในตัว ตอนที่ปล่อยออกมาเป็นซิงเกิลทีละเพลง เราก็อาจยังไม่เห็นถึงความเชื่อมโยงในแต่ละเพลงชัดเจนนัก แต่เมื่อถูกนำมารวมและร้อยเรียงเป็นอัลบั้มเราก็จะพบกับจุดร่วมอะไรบางอย่างรวมไปถึงความสัมพันธ์ของเพลงทั้งหมดและตัวศิลปินที่ทำให้เราเห็นภาพใหญ่ของอัลบั้มนี้ได้อย่างชัดเจน ดังเช่นที่ patrickananda เคยให้สัมภาษณ์กับ beartai เล่าถึงแนวคิดในการร้อยเรียงเพลงในอัลบั้ม ‘LAVNDR’ ว่า “ผมอยากให้อัลบั้มนี้มันพูดถึงประสบการณ์ผมเอง คือปกติผมจะแต่งเพลงจากเรื่องราวของตัวเองอยู่แล้ว อัลบั้มนี้มันเลยพูดถึงความรักของผมกับผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เล่าเรื่องราวเป็นซีเควนส์ตั้งแต่การพบเจอกันของผมกับเขาจนถึงจุดจบในความรักของเรา ผมมองว่าความรักเหมือนดอกไม้ที่มีจุดเริ่มต้น มีจุดที่ดีที่สุด เบ่งบานที่สุด แล้วก็จุดที่มันค่อย ๆ ร่วงโรยแล้วก็ตายไป มันเลยเป็นที่มาของชื่ออัลบั้มนี้ครับ ส่วนที่ใช้เป็นลาเวนเดอร์ก็เพราะว่าเป็นดอกไม้ที่ผมชอบที่สุดครับ”
5.เข้าถึงสุนทรียะแห่งการฟังแบบยุคแอนะล็อก
คำว่าสุนทรียะการฟังเพลงแบบยุคแอนะล็อกหมายถึงการฟังเพลงในแบบยุคก่อนที่ยังไม่ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล เทปคาสเซ็ตต์หรือแผ่นเสียงคือสื่อที่ใช้ในการบันทึกเสียงและรับฟังบทเพลงทั้งหลาย ซึ่งเทปนั้นจะมีเอกลักษณ์คือต้องฟังไล่ไปแบบเป็นเส้นตรง (linear) เพลงต่อเพลง (แต่ถ้าอยากฟังข้ามเพลงก็ใช้วิธีกรอเอาหรือกลับหน้าเทป) ดังนั้นจึงเป็นรูปแบบการฟังที่เดินหน้าไปจากต้นจนจบที่เชิญชวนให้เราเลือกที่จะฟังทั้งอัลบั้มไปแบบเต็ม ๆ ได้โดยง่าย ส่วนแผ่นเสียงเองก็เหมือนกันกับเทปเพียงแต่ว่าผู้ฟังสามารถเลือกเพลงหรือฟังข้ามเพลงได้ง่ายกว่าเพียงยกหัวเข็มและไปวางลงบนแถบเสียงของเพลงที่ต้องการซึ่งจะมีร่องเสียงที่เป็นรอยชัดเจนว่าแต่ละแทร็กนั้นเริ่มต้นที่ตรงจุดไหน แตกต่างจากเทปที่หากอยากฟังเพลงอื่นก็ต้องกรอไปและกะเอาเองว่าขึ้นเพลงใหม่แล้วรึยัง ซึ่งการที่เราเลือกฟังเพลงด้วยสุนทรียะแบบแอนะล็อกผลที่ตามมาก็จะเป็นได้ดังข้อต่าง ๆ ที่กล่าวมาไม่ว่าจะเป็นการได้เจอเพลงโดน ๆ ที่ซ่อนอยู่ในอัลบั้ม การได้ชิมผลงานตามความตั้งใจของศิลปิน (เหมือนทานอาหารแบบโอมากาเสะ วิถีการกินแบบตามใจเชฟ หรือ Chef’s Table นั่นเอง) ค้นพบความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงของแต่ละเพลงในอัลบั้ม รวมถึงเข้าใจในสารของบทเพลงและสารของอัลบั้ม และในที่สุดก็คือการเข้าสู่สภาวะการโฟลว์ซึ่งมีผลดีตามมาอีกมากมาย
หวังว่าจบบทความนี้เพื่อน ๆ น่าจะได้เห็นข้อดีของการฟังเพลงแบบเต็ม ๆ ทั้งอัลบั้มกันแล้ว ใครที่ห่างหายไปจากการฟังเพลงทั้งอัลบั้มหรือใครที่ไม่เคยลองฟังเพลงทั้งอัลบั้มเลย วันนี้ลองเลือกอัลบั้มที่คุณสนใจและลองไหลไปกับมันดูนะครับ แล้วคุณจะรู้ว่ามันช่างดีต่อใจเหลือเกิน.
ที่มา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส