หลาย ๆ ท่านคงสงสัยกันว่าทำไมภาพยนตร์จาก Netflix เรื่อง ‘Blonde’ ถึงได้รับการจัดเรตเป็นแบบ NC-17 ซึ่งเป็นเรตที่มอบให้เฉพาะภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงเท่านั้น และเป็นเรื่องแรกของ Netflix ที่ได้รับเรตนี้ แถมฉากโป๊เปลือยหรือความรุนแรงในเรื่องก็มีน้อยมากถ้าเทียบกับภาพยนตร์เรื่องอื่นที่ได้เรตเดียวกัน
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าเรต NC-17 คืออะไร NC-17 คือ เรตที่กำหนดเกณฑ์ภาพยนตร์ที่ฉายในโรงว่า ไม่อนุญาตให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปี เข้าชมโดยเด็ดขาด เพราะเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเหมาะกับผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่เท่านั้นเนื่องจากเต็มไปด้วย ความรุนแรง เพศ และการใช้ภาษา ซึ่งต่างจากเรต R ตรงที่ว่า เยาวชนต่ำกว่า 17 ปีดูได้แต่ต้องมีผู้ปกครองดูด้วย
แต่ทำไมถึงได้เรตภาพยนตร์? ในเมื่อมันฉายอยู่ในสตรีมมิงเสมือนรายการทีวี คำตอบคือ มีความเป็นไปได้ว่า ทาง Netflix อาจต้องการส่ง ‘Blonde’ เข้าชิงรางวัลออสการ์ ซึ่งตามกฎของออสการ์ หนังต้องมีรอบฉายในโรงภาพยนตร์อย่างน้อย 7 วัน จึงจะมีสิทธิ์เข้าชิงออสการ์ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นหนังจะได้เป็นเรตทีวีคือ TV-MA ทำให้ส่งเรื่องนี้หมดสิทธิ์เข้าชิงออสการ์ และเมื่อวันที่ 8 กันยายน ‘Blonde’ ก็ได้เข้าฉายใน ‘เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 79’
นำไปสู่ประเด็นหลักของเรื่องนี้คือ ในเมื่อภาพยนตร์ ‘Blonde’ มีสิทธิ์เข้าชิงรางวัลออสการ์แล้ว ทำไมถึงต้องให้เรตเป็น NC-17? เรื่องอื่นมีฉากที่หวือหวารุนแรงกว่านี้อีก จนเป็นที่ถกเถียงกันบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งนี่อาจเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เขาหยิบมาใช้ในการโปรโมตภาพยนตร์แบบอ้อม ๆ ก็เป็นได้ หรือที่เรียกว่า ‘Marketing Controversy’ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ใช้กันมาเนิ่นนานในวงการภาพยนตร์เรต NC-17 (หรือ เรต X เดิม)
กลยุทธ์ ‘Marketing Controversy’ คือการนำประเด็นที่ถกเถียงกันในสังคม หรือ ประเด็นที่อ่อนไหว มานำเสนอเพื่อใช้ทำการตลาดหรือการโฆษณาของตน แถมทุกท่านก็คงทราบดีว่า Netflix นั้นใช้กลยุทธ์นี้เก่งแค่ไหน โดยประเด็นที่นำมาหยิกยกในเรื่องนี้ คือ เรต NC-17 ซึ่งเป็นเรตหนังที่น้อยเรื่องนักจะอยู่ในโหมดนี้ เพราะจะถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นภาพยนตร์ลามกอนาจาร และจะไม่ได้การตอบรับที่ดีจากสังคม
ถึงแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้เรตดังกล่าว แต่ภายในก็ไม่ได้มีฉากโป๊เปลือยจนดูไม่ได้ถึงขนาดเป็นเรต NC-17 ด้าน แอนดรูว์ โดมินิก (Andrew Dominik) จุดประเด็นนี้ให้ผู้คนถกเถียงกันจากการใ่ห้สัมภาษณ์ว่า “ผมรู้สึกประหลาดใจที่หนังผมได้เรตนี้ ผมก็ทำอยู่ในกรอบนะ และคนอเมริกันก็แปลกจริง ๆ เมื่อพูดถึงทัศนคติเรื่องเพศ คุณว่าไหม? ผมไม่รู้ว่าทำไม แต่พวกเขาสร้างสื่อลามกมากกว่าใคร ๆ ในโลกอีกนะ”
ด้านนักแสดงนำ อนา เดอ อาร์มัส (Ana de Armas) ที่รับบทเป็น มาริลิน มอนโร (Marilyn Monroe) ก็ออกมาจุดประเด็นเรื่องนี้เช่นกันจากการให้สัมภาษณ์ว่า “ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีการจัดเรตนี้ขึ้น ฉันสามารถบอกคุณได้เลยว่ามีรายการหรือภาพยนตร์จำนวนหนึ่งที่มีเนื้อหาทางเพศมากกว่า ‘Blonde’ เสียอีก แต่การที่จะเล่าเรื่องนี้ สิ่งสำคัญคือเราต้องแสดงช่วงเวลาทั้งหมดในชีวิตของมอนโร ไม่ใช่แค่ฉัน ฉันเชื่อว่าทีมงานหลายคนก็ไม่พอใจกับสิ่งนี้”
ไม่ว่าผู้คนจะเชื่อในสิ่งที่ผู้กำกับและนักแสดงพูดหรือไม่นั้น ถ้าอยากพิสูจน์คำพูดเหล่านั้นว่าเป็นจริงมากน้อยเพียงใด สุดท้ายก็ต้องเข้าไปดูเรื่องนี้อยู่ดี เป็นไปตามกลยุทธ์ ‘Marketing Controversy’
แต่กลยุทธ์นี้ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน นั่นคือ ถ้าจุดประเด็นจนเป็นที่ฮือฮา ให้คนมาถกเถียงภาพยนตร์ของเราได้แล้ว ถ้าเป็นไปตามที่วางกลยุทธ์ไว้ เรื่องนั้นจะปังปุริเย่ไปเลย แต่ถ้าไม่ก็จะปัง (พัง) พินาศแทน เพราะมีโอกาสจะโดนกระแสสังคมตีกลับ หรือสังคมตีความในสิ่งที่หนังต้องการสื่อผิดไปจากจุดประสงค์
ที่มา: THE CONVERSATION , Vulture , L’Officiel
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส