ทุกท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมวันแห่งความโชคร้าย จะต้องเป็นวันศุกร์ที่ 13? เราจะพาทุกคนย้อนไปดูความเชื่อเรื่องนี้ตามประวัติศาสตร์ ว่าวันอาถรรพย์นี้เริ่มต้นตอนไหน มีที่มาจากแหล่งใด ถ้าพร้อมแล้วไปชมกันได้เลย
ชาร์ลส์ ปานาติ (Charles Panati) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ได้ตามหาคำตอบวันต้องสาปนี้ โดยเขียนลงหนังสือ ‘Extraordinary Origins of Everyday Things’ ในปี 1987 ซึ่งเขานั้นสามารถย้อนประวัติศาสตร์ไปได้ถึงตำนานเทพนอร์สแถบสแกนดิเนเวีย หรือ ตอนเหนือของยุโรปเลยทีเดียว
ตำนานกล่าวว่า เทพตัวแสบ โลกิ (Loki) ได้พังประตูเข้างานเลี้ยงในฐานะแขกผู้ที่ไม่ได้รับเชิญคนที่ 13 และหลอกลวงเทพฮอด (Hodr) ให้ยิง เบาเดอร์ (Balder) น้องชายโลกิเอง ซึ่งเป็นเทพแห่งแสงสว่าง ความสุข และความดีงาม ด้วยลูกศรปลายมิสเซิลโท ทำให้เบาเดอร์ถูกฆ่าตายในทันที เป็นจุดเริ่มต้นการฆ่าล้างเทพในเหตุการณ์ ‘แร็กนาร็อก’
ความเชื่อนี้ได้ถูกเผยแพร่ไปทางตอนใต้ของยุโรป บริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในช่วงเริ่มต้นของศาสนาคริสต์ ทำให้ชาวคริสต์ในยุคนั้นเชื่อว่า ในวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันที่พระเยซูและสาวกรวม 13 คน ร่วมรับประทาน’อาหารค่ำมื้อสุดท้าย’ ก่อนสาวกที่ชื่อ ยูดาส อิสคาริโอท (Judas Iscariot) จะทรยศพระองค์ ทำให้พระเยซูถูกตรึงกางเขนในวันศุกร์ ทำให้เกิดความเชื่อว่าไม่ควรจัดโต๊ะกินข้าวให้รองรับได้ 13 คน เพราะจะหมายถึง ‘ความตาย’ รวมถึงอาถรรพ์วันศุกร์
แนวคิดเรื่องวันศุกร์เป็นวันโชคร้ายเริ่มขยายกว้างมากขึ้น อาทิ วันศุกร์ คือ วันที่อดัมและเอวากินผลไม้ต้องห้ามจากสวนอีเดน วันที่ลูกชายของอดัมและเอวาฆ่ากันเอง เป็นวันที่วิหารโซโลมอนถูกทำลาย และเป็นวันที่เรือโนอาห์ออกเดินทางในวันน้ำท่วมโลก
ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางฝั่งยุโรปซึ่งบังเอิญตรงกับวันศุกร์ 13 เดือนตุลาคมพอดี นั่นคือ การประหารแกรนด์มาสเตอร์คนสุดท้ายของอัศวินเทมพลาร์ ในปี ค.ศ. 1307 โดยกษัตริย์พระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส (Philip IV) ต้องการเบี้ยวหนี้ที่กู้จากอัศวินเทมพลาร์ จึงออกอุบายใส่ความว่าเป็นพวกนอกรีตทำศาสนาเสื่อมเสีย จะได้มีข้ออ้างในการประหาร กลายเป็นเหตุการณ์อันดำมืดในประวัติศาสตร์และวงการศาสนา
เราขอข้ามไปในศตวรรษที่ 20 เลย ในปี 1907 มีการตีพิมพ์นวนิยายชื่อว่า ‘Friday, the 13th’ เขียนโดย โทมัส วิลเลียม ลอว์สัน (Thomas William Lawson) ซึ่งไม่ใช่นิยายสยองขวัญเกี่ยวกับฆาตรกรหรือผี แต่เป็นเรื่องราวของนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ได้เล่นความเชื่อเกี่ยวกับวันอาถรรพ์นี้ เพื่อปั่นตลาดหุ้นให้ร่วงอย่างหนัก ทำให้วันศุกร์ 13 ในปัจจุบันกลายเป็นวันหวาดผวาของนักลงทุน เพราะตลาดชอบแดง
พอมาถึงยุค 80s คำนี้ก็ถูกใช้ตั้งชื่อภาพยนตร์เป็นครั้งแรก ชื่อเรื่องว่า ‘Friday the 13th’ ปี 1980 โดยฆาตกรใส่หน้ากากฮอกกี้ เจสัน วอร์ฮีส์ (Jason Voorhees) ในเรื่องนั้น ข้อมูลบางแหล่งบอกว่า เกิดวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน ปี 1946 ตอนเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 14 พอดี แต่อีกแหล่งข้อมูลบอกว่า เจสัน เกิดวันศุกร์ที่ 13 กันยายนหรือไม่ก็เดือนธันวาคม ในปีเดียวกัน
โดยเนื้อเรื่องของ ‘Friday the 13th’ ภาคแรกนั้นมีการเชื่อมโยงให้เกิดเหตุการณ์แย่ ๆ ในวันศุกร์ 13 อยู่บ่อยครั้ง อาทิ วันที่เจสันเสียชีวิตตอนเด็กก็คือ วันศุกร์ที่ 13 กันยายน 1957 และ วันที่แม่ของเจสันออกฆ่าคนก็วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 1958 เช่นกัน แม้ผู้กำกับจะกล้าใช้วันอาถรรพ์ที่บุคคลทั่วไปมักจะหลีกเลี่ยง แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แจ้งเกิด และมีการทำภาคอื่นออกมาอีก 12 ภาค กลายเป็นภาพจำของคนยุคสมัยนี้ว่า ‘ฆาตกรเจสัน ในคืนศุกร์ 13’
สุดท้ายถ้าทุกท่านสังเกตกันดี ๆ จะพบว่าตัวเลข 13 และ วันศุกร์ที่ว่าโชคร้ายนั้นได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาและความเชื่อเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ทุกความเชื่อ จะมองว่าเป็นวันที่แย่ไปซะทีเดียว ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่วิจารณญาณของแต่ละบุคคล เพราะแต่ละคน ก็มีความเชื่อเรื่องนี้ในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป
ที่มา: CNN , HISTORY , The Woshinton Post , ScreenRent
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส