ในวงการอุตสาหกรรมหนังไทยชื่อของ ยงยุทธ ทองกองทุน ถือเป็นที่รู้จักในฐานะคนเบื้องหลังมามากกว่า 20 ปี ผลงานอย่าง สตรีเหล็ก’, ‘แจ๋วหรือความจำสั้นแต่รักฉันยาว ก็ล้วนแต่ผ่านสายตาและการดูแลของผู้ชายคนนี้มาแล้วทั้งสิ้น นอกจากบทบาทในฐานะผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และผู้เขียนบทภาพยนตร์ เขายังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง GDH 559 บริษัทผลิตภาพยนตร์ชั้นนำของไทยอีกด้วย และช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2021 ยงยุทธได้เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ ประจำประเทศไทยของ Netflix ซึ่งเข้ามารับผิดชอบงานทั้งในด้านการคัดเลือกคอนเทนต์ไทยเพื่อเผยแพร่บน Netflix และดูแลการสร้างภาพยนตร์และซีรีส์ไทยของ Netflix 

แน่นอนว่าจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ beartai BUZZ ได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับเขาเกี่ยวกับกลยุทธ์ของ Netflix ประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ รวมถึงทิศทางของเนื้อหาที่พวกเขาตั้งใจจะพาผู้ชมเดินไปด้วยกันในอนาคตอันใกล้

ยงยุทธ ทองกองทุน

Netflix กับการผลักดันคอนเทนต์ไทย

ยงยุทธ: ที่ผ่านมา Netflix เปิดตัวในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2016 ช่วงนั้นเรายังไม่มีทีม ไม่มีอะไร การที่เริ่มทำออริจินัลคอนเทนต์ ก็เริ่มทำไปทีละขยัก ๆ โดยช่วงแรกอาจจะต้องใช้ทีมงานจากทางฝั่งอเมริกา มาช่วยทำให้มันเกิดขึ้น มันก็เลยจะยังไม่ต่อเนื่อง นั่นคือข้อที่ 1 จากนั้นก็เริ่มทดลองเอาหนังที่เข้าโรงแล้วมาฉายบ้าง มันก็ยังค่อย ๆ เป็นค่อยไป เราเริ่มมาจริงจังและชัดเจนตอนปี 2019 ที่มี ‘The Stranded’ แต่ก็มาเจอโควิดเข้าไปอีก มันก็เลยทำให้บทบาทของหนังไทยอาจจะยังไม่เต็มที่มากนัก แต่ว่าพอผ่านช่วงเวลานั้นมา ตอนนี้เราเริ่มมีทีมไทยเข้ามาดูแลชัดเจนแล้ว และเราได้เรียนรู้เรื่องความต้องการของสมาชิกในตัวแพลตฟอร์มนี้ แล้วเราก็เริ่มกระจายกำลังออกไปเพื่อหาสิ่งเหล่านั้นมาฉายให้ได้ มันถึงเป็นที่มาของโปรเจกต์ ‘ทีไทยทีมันส์’

เราเริ่มทำสิ่งนี้คล้าย ๆ กัน ตอนที่เป็น แคมเปญ ‘Netflix รามา’ เมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา ที่เราเริ่มมีหนังคลาสสิกจากหลายยุคหลายสมัย เพื่อที่จะเป็นการส่งข้อความว่า นี่คือไดเรกชันที่ Netflix กำลังจะเดินทางไปหาคุณนะ

แนวทางของ Netflix ไทยตอนนี้ ทำคอนเทนต์เพื่อตีตลาดไทยหรือต่างชาติ

ยงยุทธ: ณ ตอนนี้คือเราตีตลาดไทยแน่ ๆ ชัดเจนมาก ๆ แต่ว่า มันเป็นคุณสมบัติที่เป็นข้อพิเศษอย่างหนึ่งของ Netflix ก็คือ เวลาที่เราทำคอนเทนต์ อย่างไรก็ตามมันก็จะไปโชว์บน 190 ประเทศทั่วโลก พร้อม ๆ กันด้วย แต่เป้าหมายของเราคือ เราต้องทำให้คนไทยชอบคอนเทนต์ไทยนี้ให้ได้ก่อน แต่ว่าโดยประสบการณ์ผมที่ผ่านมาก็พบว่า หลายต่อหลายครั้งในยุคสมัยต่าง ๆ ที่ผ่านมา ทุกครั้งที่มันจะมีคอนเทนต์ไทยที่แบบว่าไปปักหมุดหรือมันไปสร้างความฮือฮาในต่างประเทศ ถ้าลองย้อนกลับไปดูจริง ๆ ทุกอันก็คือทำเพื่อคนไทย ยังแทบไม่มีอันไหนเลยที่ว่า “ฉันจะทำตีตลาดโลก” แล้วมันตีตลาดโลกได้ แล้วหลายต่อหลายครั้งด้วยความเป็นสากลของเทคนิคการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์หรือซีรีส์อะไรก็ตามเนี่ย มันสามารถไปสื่อสารแล้วก็ชนะใจคนนอกประเทศไทยได้ด้วย เพราะฉะนั้น จุดเริ่มต้น ถ้าถามนาทีนี้ “คนไทย คอนเทนต์ไทยเพื่อคนไทย” เราจะทำมันให้ดีและฮิตในบ้านเรา แล้วพร้อมที่จะอวดออกไปนอกบ้าน

‘The Stranded’

ที่ผ่านมาเวลาคนไทยดูหนังไทย เวลาเห็นตัวอย่าง น่าสนใจมาก ภาพสวย พอดูหนังจริงกลับไม่ชอบเป็นส่วนใหญ่ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ยงยุทธ: ผมว่ามันไม่ได้แค่เฉพาะคอนเทนต์ไทย สิ่งนี้เจอกันกับทุก ๆ คน ครีเอเตอร์ทุกคน คนทำหนังทุกคนแหละครับ เพราะว่าศิลปะมันเป็นอะไรที่ส่วนบุคคลด้วยส่วนหนึ่ง แต่ว่า โอเคเราต้องมีความรับผิดชอบในการเป็นนักเล่าเรื่องของเราแหละ สิ่งที่เราทำให้ดีที่สุดก็คือ เราเชื่อว่าโดยทีมงานของฝั่งคอนเทนต์ตอนนี้ ก็เป็นคนที่ถือว่าเป็นคนที่ค่อนข้างมีแบ็กกราวนด์ในเรื่องของการเป็นคนทำหนังมาก่อน แล้วก็อยู่กับการเล่าเรื่องมานานพอสมควร เพราะฉะนั้นมันก็ควรจะสามารถวิเคราะห์ได้ระดับหนึ่งว่าหนังเรื่องนี้มันเด่นในจุดของมันอะไร และรวมถึงตัวพาร์ตเนอร์ที่เราร่วมงานด้วย เราก็จะคุยกันค่อนข้างเคลียร์ตั้งแต่ต้น วิธีการทำงานของเราคือ จริง ๆ เราใช้คำว่า ‘Partner Manage’ ก็คือเหมือนอย่างที่ผมบอก ผมยกหูคุยว่า “พี่อยากทำอะไร?” แล้วในสิ่งที่คุณมีแพชชันอยู่ คุณมีความพร้อม คุณอยากเล่าอะไร แล้วคุณเห็นภาพอะไร คุณมีแค่ไหน ทั้งหมดมันแปลว่า คนทำเขาทำด้วยการใส่ชีวิตจิตใจของตัวลงไปในโปรเจกต์ นั่นคือข้อที่หนึ่งนะ เพราะฉะนั้นมันมีความอิน มันมีความอยาก เขาก็จะดูแลดูแลโปรเจกต์ลูกของเขาอย่างดีแน่นอน ส่วนที่บอกว่าสุดท้ายออกมาแล้ว แล้วมันจะถูกใจบ้าง หรือไม่ถูกใจคนนี้บ้าง เราก็ยังทำให้มันออกมาอย่างดีที่สุด ให้มันเป็น Best Solution ออกมาได้ แต่มันก็ยากมากที่จะทำให้ทุกคนถูกใจเหมือนกันหมด 

ตัวแพลตฟอร์มจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมหนังไทยได้อย่างไร

ยงยุทธ: ผมว่าเริ่มได้ทันทีเลย ข้อที่ 1 อย่างที่เกริ่นไปว่า ตัวคนดูที่อยู่ใน Netflix มีความชอบดูคอนเทนต์ที่มีความหลากหลาย เราก็ต้องการคอนเทนต์ที่มีความหลากหลาย ก่อนหน้านี้มันก็อาจจะมีข้อจำกัดในความหลากหลายของคอนเทนต์อยู่ ในเชิงของการตอบรับหรือการลงทุนในตลาด หรือกระแสตลาดโดยรวมที่อยู่ในระบบการฉายธรรมดา มันก็อาจจะทำให้ความหลากหลายมันเกิดขึ้นยาก แต่ของเราเนี่ย เราค่อนข้างเปิดกว้าง เพราะฉะนั้น ความหลากหลายในเชิงเนื้อหามีแน่นอน น่าจะมีโอกาสเยอะกว่าในตลาดปกติแน่นอน

ส่วนข้อที่ 2 คืออย่างที่พูดไปอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องของมาตรฐานการผลิต อย่างที่บอก อันนี้มันน่าจะเป็นการเซตมาตรฐานอย่างหนึ่งที่ทำให้ทั้งตลาดก็ต้องเริ่มขยับตัวกันตาม แต่ว่าสิ่งนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นจากเราอย่างเดียว เทคโนโลยีมันเปลี่ยนด้วย ไลฟ์สไตล์ก็เปลี่ยน แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่เรากังวลอยู่ เราไม่ได้กังวลเฉพาะของที่อยู่หน้าจอ เรามองถึงเรื่องหลังจอกันด้วย มันแปลว่า เรื่องของคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่เบื้องหลังการทำงานทั้งหมดนี้ด้วย

ยืนยันให้ทุกคนทำงานในคิวละ 12 ชั่วโมงเท่านั้น และสัปดาห์หนึ่งขอทำงานแค่ 5 วัน อีก 2 วันก็เป็นวันหยุด

อย่างทำงานกับ Netflix เราก็จะระบบการทำงานอยู่ว่า ทุกครั้งที่เป็นออริจินัลคอนเทนต์เนี่ย เราก็จะคุยกับพาร์ตเนอร์ว่าเราซัปพอร์ต และยืนยันให้ทุกคนทำงานในคิวละ 12 ชั่วโมงเท่านั้น อันนี้คือเป็นสิ่งที่เราทำนะ บวกกับว่าสัปดาห์หนึ่งขอทำงานแค่ 5 วัน 2 วันก็เป็นวันหยุด เป็นวันหยุดจริง ๆ ด้วยนะ ไม่ใช่ว่าเป็นวันออกไปบล็อกชอต ไม่ใช่เป็นวันออกไปเดินทางไปหาสถานที่ เราบังคับเลยว่าที่เราทำตารางมา มันเขียนชัด ๆ เลยว่าคุณต้องได้หยุด 2 วัน แล้วก็รวมถึงเรื่องระหว่างคิวต่อคิวที่ถ่ายเนี่ย ต้องมีช่วงเวลาพักไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง อันนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ถามว่าช่วยผลักดัน หรือช่วยยกระดับการทำงานทั้งหน้าจอและหลังจอ มันไปด้วยกันหมด 

‘มนต์รักนักพากย์

สตรีมมิงเจ้าอื่น ๆ ก็เริ่มผลักดันคอนเทนต์ท้องถิ่นมากขึ้น แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้ Netflix แตกต่างกว่าคนอื่น

ยงยุทธ: ผมยังเชื่อว่าเราน่าจะหลากหลายกว่า เพราะว่าการรับรู้ของคนมองว่าเรามีความหลากหลายและแตกต่าง แต่ก็ไม่แน่ใจอย่างดิสนีย์เท่าที่ดูอะ เขาก็มีคอนเทนต์ทำนองแบบดิสนีย์ เขาไม่น่าจะสามารถ หรือเขาอาจจะมีก็ได้นะ ตอนนี้ยังไม่เห็น ที่จะเป็นลักษณะที่ลงลึกหรือวิพากษ์วิจารณ์จัด ๆ หรืออย่าง ‘Girl from Nowhere’ อะไรแบบนี้ เราก็ยังไม่แน่ใจว่าเขาจะผลิตแบบนั้นจริงหรือเปล่า ผมยังรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่เนี่ย จริง ๆ เราไม่ได้กังวลในความที่เป็นคู่แข่งกันหรอก ตอนนี้เรามองในฐานะคนที่อยู่ในแพลตฟอร์ม แล้วเราก็เลือกสิ่งที่ดีที่สุดกลับมาให้คนดูอย่างนี้มากกว่า ซึ่งอย่างที่บอกไปว่า เราก็เห็นอยู่ เรามีทั้งคนชอบตลก ชอบดาร์ก ชอบอะไรที่มี Social Issue อยู่ด้วย มันก็จะเป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาต่อไป ซึ่งเรามีทีมไทยอยู่เต็มไปหมดเลยนะตรงนี้ ที่มาโฟกัสกับเรื่องนี้จริง ๆ

‘Girl from Nowhere’

ความหลากหลายของ Netflix

ยงยุทธ: ผมว่าความหลากหลายเป็นโจทย์หลักของ Netflix เลย อันนี้ไม่ใช่ข้อจำกัด เราเชื่อในเรื่องความแตกต่าง แต่ว่ามันยังต้องอยู่บน Creative Excellence นะ มันต้องเป็นงานครีเอทีฟที่ดี แต่มันไม่ได้แปลว่า จู่ ๆ โยนคอนเทนต์หนัก ๆ ไป แต่ไม่มีการศิลปะการเล่าเรื่องเลย ผมว่าก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เข้ากับคนที่ดู Netflix มันยังต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นคอนเทนต์ที่ ‘3 ส.’ นั่นก็คือต้อง สนุกและสร้างสรรค์ แต่ว่าความหลากหลายมันก็กลายเป็นโจทย์ด้วยซ้ำ เพราะเราต้องหาความหลากหลายนั้นให้ได้ แล้วก็บาลานซ์มันด้วย 

การสอดแทรก Soft Power เข้าไปในหนัง/ซีรีส์ไทย

ยงยุทธ: ต้องตีความก่อนว่าคำว่า Soft Power แปลว่าอะไรแน่ ถ้าอย่างประสบการณ์ของผมเอง ผมรู้สึกว่า Soft Power มันมาเอง ถ้าเราลองมองดี ๆ หลายต่อหลายครั้งที่เรารู้สึกตื่นเต้นกับอะไร แล้วมองว่า “นี่ไง Soft Power” คล้าย ๆ กัน มันเป็นเรื่องที่เราสนใจมากกว่า แล้วเรามีมุมมองที่จะเล่ามันเป็นพิเศษ แล้วพอเรามีมุมมองตรงนั้นอะ มันดันไปเวิร์กกับคนดูด้วย แล้วไปเวิร์กกับชาวต่างชาติด้วย มันเลยเป็น Soft Power

สำหรับไทยคือเราชอบเทียบเกาหลี แต่เกาหลีอย่าลืมว่า จริง ๆ เขาเริ่มในการทำสิ่งนี้มา 30-40 ปี แล้ว เพราะฉะนั้นเราอยู่ในคนละช่วงกับเขา จากประสบการณ์เราเห็น ‘องค์บาก’ หรือ แม้กระทั่งแบบ ‘Squid Game’ เอง เขาก็คงไม่คิดว่า มันจะเป็น Soft Power อะไร เขาคิดว่าซีรีส์เรื่องนี้มันสะท้อนเรื่องชนชั้นในประเทศเขา เหมือนเขามีมุมมอง มีวิธีเล่าเรื่อง มีเทคนิคในการเล่าเรื่องที่มันเป็นเอฟเฟกต์ไปทั่วโลก ผมว่ามันอยู่ในหลักการเดียวกัน คล้าย ๆ กันแหละ คือเราต้องเล่าเรื่องของเราได้แม่น แล้วทำให้มีชีวิตจิตใจที่สุด แล้วอย่างนี้มันจะเป็นสิ่งที่ดึงความสนใจของชาวต่างชาติ แล้วมันก็จะกลายเป็น Soft Power เอง ผมคิดว่า Soft Power ในคอนเทนต์อย่างที่เราทำกันอยู่เนี่ย อาจจะต่างจาก Soft Power ที่นิยามโดยภาครัฐ อาจจะอยู่คนละมิติกัน

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าบริษัทแม่ของ Netflix เริ่มลดงบในการสร้างออริจินัลคอนเทนต์บางประเทศ แล้วสถานการณ์ของไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ยงยุทธ: ยังไม่เคยได้ยินคำว่าลดงบในประเทศไทย แล้วก็ที่ผ่านมาเหมือนกับว่าไม่ได้ตั้งเพดานด้วย ถ้าพูดถึงงบประมาณเนี่ย เรามองตามที่แบบว่าบทมันต้องการอะไร ถ้าเกิดบทนั้นมันเป็นบทที่เราชอบ แล้วมันต้องการเงินในสเกลนี้ เราก็ต้องพยายามดูให้มันเกิดให้ได้ เพราะว่ามันเป็นสเกลที่เหมาะสมกับบท มันไม่เคยมีการตั้งงบว่าปีนี้คุณทำหนังสเกล S ได้ 3 เรื่อง ทำหนังสเกล L ได้กี่เรื่อง ก็ไม่ใช่เลย เพราะว่าระบบการทำงานที่นี่มันดูเป็นก้อนใหญ่มาก แล้วทุกคนก็จะเสนอเรื่องที่อยากทำไปคุยในบัดเจ็ดรวม แล้วมันก็จัดสรรคตามความเหมาะสม เพราะฉะนั้นยังไม่มี

เราจะได้เห็นโปรเจกต์ที่ Netflix ไทยโคโปรดักชันกับต่างชาติบ่อยแค่ไหน

ยงยุทธ: แล้วแต่โปรเจกต์มากกว่า เพราะว่าถ้าอย่างที่บอกว่า ‘ถ้ำหลวง’ มันก็เป็นโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นก่อนที่มีทีมไทย และเป็นการนำโดยทีมอเมริกา สิ่งนี้มันเกิดขึ้นประจำสำหรับ Netflix เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เป็นโจทย์ว่าต้องทำทุกปี มันอยู่ที่เรื่องราวที่เราอยากจะเล่ามากกว่า ข้อดีอย่างหนึ่งของ Netflix คือเราเปิดกว้างแล้วทุกคนเชื่อมถึงกันได้หมด แล้วก็สามารถแชร์เรื่องราวกันได้ค่อนข้างเปิดกว้างกัน จากทีมที่อยู่คนละที่คนละทางกัน

ฝากผลงาน

ยงยุทธ: ผมอยากให้ช่วยกันดูแหละ ว่าสิ่งที่ตั้งใจทำไว้มันออกมาในงานพวกนี้ไหม ถ้ายังไม่ออกช่วย ฟีดแบ็กด้วยเพราะว่า เรายังตั้งใจที่จะทำให้มันออกแหละ ให้มันเป็นอย่างที่เราอยากยกระดับ ทั้งหน้ากล้อง หลังกล้อง ทั้งเรื่องของคอนเทนต์ไทย ของครีเอเตอร์ไทย ให้ทุกอย่างมันดีขึ้นให้ได้ ผมว่ามันเป็นโอกาสแล้วล่ะ มันก็ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวเหมือนกันของคนที่เคยผ่านตรงนั้นมา แล้วพอตอนนี้มาอยู่ในตำแหน่งที่มีโอกาสทำให้มันดีขึ้นได้ ก็จะทำอย่างเต็มที่ แต่ถ้ายังเห็นไม่ชัดจากงานที่ออกมา ก็ช่วยบอกกลับมาด้วยก็แล้วกัน จะได้ทำให้มันหนักขึ้น 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส