บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนจากซีรีส์ ‘She-Hulk: Attorney at Law’ EP. 9 ตอน ‘Whose Show Is This?’ (นี่มันซีรีส์ใครกันแน่เนี่ย) รวมทั้งเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนและบทสรุปของภาพยนตร์หลายเรื่อง
กลายเป็นกระแสที่ถกเถียงกันแทบจะทันทีสำหรับตอนจบของซีรีส์ ‘She-Hulk: Attorney at Law’ EP. 9 ในชื่อตอน ‘Whose Show Is This?’ (นี่มันซีรีส์ใครกันแน่เนี่ย) ที่ปิดจบซีซันด้วยเรื่องราวที่เรียกได้ว่าทำเอาคนดูแทบจะคาดไม่ถึง ด้วยการนำเสนอผ่านลูกเล่น ‘Breaking the Fourth Wall’ หรือการทลายกำแพงที่สี่ระหว่างตัวละครกับคนดู ที่แม้ว่าในอีพีก่อน ๆ จะมีการใช้ลูกเล่นนี้ ผ่านตัวละครหลัก เจนนิเฟอร์ วอลเทอร์ส (Jennifer Walters) แบบเป็นมุกกรุบกริบเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การหันหน้าเข้ากล้องเพื่อเมาท์มอยกับคนดู
แต่สิ่งที่เป็นข้อถกเถียงที่สร้างความฮือฮาและเสียงแตกในบรรดาแฟน ๆ ก็คือ แม้หลายคนจะพอทราบว่า การ ‘Breaking the Fourth Wall’ นั้นเป็นหนึ่งในความสามารถของซูเปอร์ฮีโร ‘She-Hulk’ ในคอมิกของ Marvel มาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ด้วยการนำเสนอพลังวิเศษนี้ในรูปแบบซีรีส์ ด้วยวิธีการที่สุดเหวี่ยงที่สุดกว่าทุก ๆ ตอน
ตั้งแต่การพูดคุยนินทาเมาท์มอยเรื่องราวในซีรีส์กับคนดูราวกับว่าเป็นเหมือนเพื่อนสนิท การถือวิสาสะเปลี่ยนเรื่องราวตอนจบแบบตามใจตัวเอง ผ่านลูกเล่นต่าง ๆ ทั้งการทะลุมิติบนหน้าเมนู UI บนสตรีมมิง Disney+ การเดินเข้าไปในออฟฟิศของ Marvel Studios เพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนตอนจบใหม่ รวมทั้งการเผชิญหน้ากับ K.E.V.I.N. หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ผู้มีส่วนรับผิดชอบการตัดสินใจเนื้อเรื่องของ MCU (Marvel Cinematic Universe) ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่าหน้าเหมือนใคร
แม้กิมมิกและลีลาการ ‘Breaking the Fourth Wall’ จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะถือเป็นกิมมิกที่ถูกใช้ในภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชันหลายเรื่อง หรือแม้แต่ในเกมและการ์ตูนคอมิกมาอย่างยาวนาน ส่วน She-Hulk เองก็ไม่ใช่ฮีโร Marvel ตัวแรกที่มีพลังวิเศษนี้ เพราะนอกจากนี้ก็มี ‘Deadpool’ ที่เคยใช้กิมมิกนี้มาก่อน แต่ She-Hulk ก็ยังได้เครดิตตรงที่เป็นฮีโรคนแรกสุดใน MCU ที่ใช้พลัง Breaking the Fourth Wall ได้
แต่อย่างไรก็ตาม จากเรื่องราวของซีรีส์ ‘She-Hulk’ ที่นำกิมมิกนี้มาใช้ในการเล่าเรื่องจนเกิดข้อถกเถียงจนเสียงแตกว่ามันเป็นวิธีการที่เหมาะควรกับการเล่าเรื่องแล้วหรือไม่ บางคนก็ชอบเพราะความแปลกใหม่ จิกกัดประชดตัวเอง (และแอบแหย่แฟน MCU พอคัน ๆ) ได้อย่างสนุกสนานกวนเบื้องล่างดี แต่ในขณะที่หลาย ๆ คนก็อาจไม่เข้าใจกับกิมมิกนี้ จนพาลงงใจเหวอกินไปกับความอิหยังวะของมันว่าเล่าเรื่องแบบนี้ก็ได้เหรอ แต่ไม่ว่าจะชอบหรือชังตอนสุดท้ายแค่ไหน บทความนี้ขอพาไปรู้จักกับการทลายกำแพงที่ 4 นี้กันว่ามันคืออะไร มีที่มาอย่างไร และกำแพงที่สี่มันผิดอะไรทำไมเราต้องไปทำลายมันด้วยล่ะ
I. ประวัติศาสตร์แห่งการทลายกำแพงที่ 4
การ ‘Breaking the Fourth Wall’ หรือการทลายกำแพงที่ 4 นั้นไม่ใช่เพิ่งจะมาปรากฏในภาพยนตร์เท่านั้น เพราะจุดเริ่มต้นของมันสามารถสืบย้อนประวัติศาสตร์และต้นกำเนิดไปได้ตั้งแต่ยุคละครเวที รวมถึงการออกแบบฉากและโรงละคร (Theatre) ด้วย
เดอนีส ดีเดอโร (Denis Diderot) นักปรัชญาและนักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศส คือคนแรกที่ใช้คำว่าในการอธิบายทฤษฎีนี้ว่า การ “ทลายกำแพงที่สี่” หมายถึงการจินตนาการพื้นที่ของละครเวทีว่าเปรียบเสมือน “ห้อง” ที่มีกำแพงล้อมรอบ 3 ด้าน และมีด้านหนึ่งเป็น “กำแพงล่องหน” ที่คนดูสามารถมองทะลุเข้าไปยังโลกที่มีตัวละครกำลังดำเนินเรื่องราวอยู่ ส่วนตัวละครก็ดำเนินเรื่องไปในโลกของตัวเองประหนึ่งว่าไม่มีใครเฝ้ามอง
โดยปกติแล้ว ฉากละครเวทีในโรงละครที่เรามักเห็นกันเป็นส่วนใหญ่จะเรียกว่า บ็อกซ์เซต (Box Set) โดยฉากแบบบ็อกซ์เซตนั้นจะเป็นฉากละครเวทีที่ถูกประกอบสร้างขึ้นในลักษณะกล่องที่มีกำแพง 3 ด้าน (ซ้าย-ขวา-หลัง) บ็อกซ์เซตจะมีจุดเด่นคือ ถูกออกแบบมาอย่างมีมิติ และมีองค์ประกอบที่สมจริงกว่าฉากแบน ๆ เช่น มีบานประตูและหน้าต่างที่เปิดปิดได้ ซึ่งเป็นอิทธิพลจากการที่ละครเวทีหันมาเน้นความสมจริง ธรรมดาสามัญมากขึ้นในปลายศตวรรษที่ 18
สิ่งที่ทำให้เกิดกำแพงที่ 4 อีกอย่างก็คือองค์ประกอบของพื้นที่โรงละคร เช่น บริเวณกรอบโค้ง (Arch) บริเวณส่วนหน้าของเวทีที่เรียกว่า พรอซีเนียม (Proscenium) และพื้นที่โค้งบริเวณหน้าม่านจนสุดขอบเวทีที่เรียกว่า แอพรอน (Apron) (ส่วนตัวเวที (Stage) จริง ๆ ที่ใช้ทำการแสดงจะอยู่บริเวณหลัง Proscenium) เข้าไปภายใน) ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดกำแพงล่องหน หรือ ‘กำแพงที่สี่’ เป็นเหมือนกำแพงกระจกที่แบ่งแยกโลกแห่งละครบนเวที (ของนักแสดง) และโลกแห่งความเป็นจริง (ของผู้ชม) ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง
จนกระทั่งเมื่อวิวัฒนาการของละครเวทีเริ่มมีมากขึ้น ทำให้เริ่มมีการคิดค้นละครเวที่ที่แปลกใหม่ ด้วยการให้นักแสดงสามารถทะลุกำแพงออกไปสื่อสาร พูดคุย มีปฏิสัมพันธ์กับคนดูได้ราวกับว่าคนดูคือส่วนหนึ่งของโลกละคร และตัวละครคือตัวตนที่มีอยู่ในโลกความเป็นจริง ซึ่งถือว่าเป็นการทลายขนบของละครเวทีและการแสดงบนเวทีในอดีต รวมทั้งยังทลายขอบเขตจินตนาการและความเป็นจริงระหว่างวรรณกรรมกับผู้เสพวรรณกรรมด้วย ก่อนที่ต่อมาจะถูกนำมาปรับใช้ในการแสดงและสื่อหลายรูปแบบ รวมทั้งงานศิลปะแนว Performance Art ที่เรามักจะเห็นนักแสดงไปร่วมแสดงในระนาบเดียวกันกับผู้ชมโดยที่ไม่มีเวทีคั่นกลาง หรือการดึงผู้ชมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะนั้น ๆ เป็นต้น
II. การทลายกำแพงที่สี่ในภาพยนตร์ (และสื่ออื่น ๆ )
การทลายกำแพงที่ 4 ที่ปรากฏขึ้นครั้งแรก ๆ ในภาพยนตร์หนังเงียบแนวคาวบอยอเมริกันเรื่อง ‘The Great Train Robbery’ ที่ออกฉายในปี 1903 หรือเมื่อ 119 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นหนังเงียบความยาว 12 นาทีที่เล่าเรื่องของแก๊งคาวบอยที่ออกปล้นขบวนรถจักรไอน้ำ ซึ่งความโดดเด่นของหนังเรื่องนี้ก็คือซีนสุดท้ายที่แยกออกมาจากตัวหนัง ที่ปรากฏตัวละครคาวบอยยิงปืนใส่กล้องหนึ่งนัดราวกับว่ากำลังยิงคนดูอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการทลายกำแพงที่ 4 อย่างไม่เป็นทางการนัก แต่ก็ถือว่ายังพอจะจัดให้เป็นการทลายกำแพงที่ 4 ได้
ต่อมาในปี 1918 หนังเรื่อง ‘Men Who Have Made Love to Me’ หนังเงียบแนวชีวประวัติของ แมรี แมคเลน (Mary MacLane) นักเขียนแนวสตรีนิยมชาวอเมริกันที่อ้างอิงมาจากหนังสือที่เธอเขียนเอง ก็มีปรากฏการใช้กิมมิกทลายกำแพงที่ 4 โดยแมรีที่แสดงเป็นตัวเธอเองนั้นได้หันมาพูดกับผู้ชมผ่านกล้องในขณะสูบบุหรี่
และในปี 1936 หนังเรื่อง ‘Reefer Madness’ หนังโฆษณาชวนเชื่อของอเมริกันที่ว่าด้วยเรื่องของเด็กนักเรียนวัยมัธยมที่ถูกล่อลวงไปเสพกัญชา ก่อนจะเข้าไปไปพัวพันกับอุบัติเหตุและอาชญากรรม ก็มีการใช้กิมมิกทลายกำแพงที่ 4 ด้วยการให้ตัวละครสื่อสารกับผู้ชมให้ตระหนักถึงพิษภัยของยาเสพติด โดยเฉพาะกัญชาในตอนท้ายเรื่อง ด้วยน้ำเสียงสีหน้าท่าทางอันขึงขังจริงจัง และมีการขึ้นตัวหนังสือ หรือ Superimpose ตัวใหญ่ ๆ เต็มจอว่า ‘Tell Your Children’ เพื่อให้ผู้ชม ‘จงบอกต่อ’ พิษภัยของกัญชาแก่ลูกหลาน จนทำให้ตัวหนังกลายเป็นที่รู้จักในฐานะหนังคัลต์คลาสสิกในชื่อ ‘Tell Your Children’ ไปแทน
แต่ถ้าในแง่ของการใช้การทลายกำแพงที่ 4 ในฮอลลีวูดเพื่อความบันเทิงที่ถูกนำมาใช้เป็นกิมมิกอย่างจริงจังก็น่าจะยกให้กับหนังเรื่อง ‘Annie Hall’ หนังแนวโรแมนติกคอมีดี้เสียดสี ผลงานการแสดงและกำกับของ วูดดี อัลเลน (Woody Allen) ที่ออกฉายในปี 1977 ซึ่งตัวหนังจะเล่าถึงความสัมพันธ์อันขรุขระของคู่รักในเรื่องด้วยการให้ตัวละคร อัลวี ซิงเกอร์ (Alvy Singer) ที่แสดงโดยอัลเลน หันหน้าเล่าเรื่องของตัวละครกับคนดูเป็นระยะตลอดเรื่อง ตัวหนังการันตีความยอดเยี่ยมด้วยการเข้าชิงรางวัล Oscar 5 รางวัล และกวาดไปได้ 4 รางวัล
อีกตำนานของการทลายกำแพงที่ 4 ในโลกภาพยนตร์ก็คือหนังตลกวัยรุ่นเรื่อง ‘Ferris Bueller’s Day Off’ ที่ฉายในปี 1986 ซึ่งเราจะได้เห็น เฟอร์ริส บิวเลอร์ (Ferris Bueller) วัยรุ่นมาดกวนออกมาสื่อสารกับผู้ชมเหมือนเป็นเพื่อนสนิท เรียกว่าเป็นตำนานจนกระทั่งหนังซูเปอร์ฮีโรอย่าง ‘Deadpool’ (2016) ก็ยังเอาฉากจากหนังเรื่องนี้ไปสวมเข้ากับกิมมิกทลายกำแพงที่ 4 ในฉากท้ายเครดิตด้วยการเซตฉาก คำพูด มุมกล้องให้คล้ายกับหนังต้นฉบับ แถมเดดพูลก็ยังใส่ชุดนอนที่มีความคล้ายคลึงกับหนังต้นฉบับอีกต่างหาก เรียกได้ว่าทั้งล้อเลียนทั้งคารวะในคราวเดียวกัน
หรือถ้าข้ามฝั่งไปยังวงการคอมิก ก็พบการทลายกำแพงที่ 4 อยู่เยอะไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะคอมิกของค่ายใหญ่และเล็กต่างก็เคยใช้กิมมิกนี้กัมมาแล้วทั้งนั้น ทางฝั่ง Marvel ก็อย่างที่ทราบกันว่า ทั้ง ‘Deadpool’ และ ‘She-Hulk’ นั้นมีพลังพิเศษในการทลายกำแพงที่ 4 เพื่อสื่อสารกับคนดู และแอบไปสื่อสารกับคนเขียนและคนวาดการ์ตูน (พร้อมกับจิกแซะตัวเองไปด้วย)
หรือที่คุ้น ๆ กันก็อย่างเช่น ‘Spider-Man’ ที่มักจะมีช็อตที่หันมาแอบเมาท์นอกเรื่องนอกราวกับคนอ่านอยู่บ่อย ๆ หรือแม้แต่วายร้ายอย่าง ‘Loki’ หรือรวมทีมฮีโรอย่าง ‘Fantastic Four’ ก็ล้วนแต่เคยใช้กิมมิกนี้มาแล้วทั้งนั้น ส่วนทางฝั่ง DC ก็มีหลายตัวที่เคยใช้กิมมิกนี้ ตั้งแต่ ‘Superman’ หรือแม้แต่วายร้ายอย่าง ‘Lex Luthor, Jr.’, ‘Harley Quinn’ และคู่รักอย่าง ‘Joker’ ก็เคยทลายกำแพงที่ 4 เพื่อเล่าแผนการชั่วร้ายของตัวเองกับคนอ่านมาแล้ว
ส่วนในฝั่งของการ์ตูน ก็มีการทลายกำแพงที่สี่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการ์ตูนแนวคอมีดี้จากฝั่งตะวันตก ทั้ง ‘Southpark’, ‘The Simpson’, ‘Family Guy’, ‘Looney Toons’ (ถ้าจำกันได้ ตัวละคร บักส์ บันนี (Bugs Bunny) นี่น่าจะหันมาคุยกับคนดูบ่อยสุดแล้วล่ะ) หรือที่เล่นกับกิมมิกนี้แบบสุด ๆ ไปเลยก็เช่น ‘Chowder’ และ ‘SpongeBob SquarePants’ หรือแม้แต่การ์ตูนสำหรับเด็กเล็กอย่าง ‘Mickey Mouse Clubhouse’ และ ‘Dora the Explorer’ ที่ชี้ชวนให้หนู ๆ น้อง ๆ พูดหรือทำท่าทางตามตัวละครก็นับว่าเป็นการทลายกำแพงที่ 4 ด้วยเช่นเดียวกัน
III. เราทลาย ‘กำแพงที่ 4’ ไปเพื่ออะไร ?
1. เพื่อให้ตัวละครช่วยเล่าเรื่อง อธิบายเนื้อหา ความเป็นมาเป็นไปต่าง ๆ แก่ผู้ชม
โดยให้ตัวละครเป็นผู้สื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ซึ่งอาจหมายรวมถึงการให้ตัวละครเล่าที่มาที่ไปกับคนดูโดยตรง หรือให้ตัวละครเป็นผู้เปิดประเด็น หรือคอยเป็นไกด์ที่คอยอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์นั้น ๆ
ยกตัวอย่างเช่น ตัวละคร จอร์แดน เบลฟอร์ต (Jordan Belfort) ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง และเผยกลโกงกับผู้ชมเป็นระยะ ๆ ใน ‘The Wolf of Wall Street’ (2013) หรืออย่างในซีรีส์ ‘House of cards’ ก็มีทั้งฉากที่ตัวละคร ฟรานซิส อันเดอร์วูด (Francis Underwood) หันหน้าพูดกับกล้องเพื่ออธิบายอะไรบางอย่างแก่คนดู
หรือแม้แต่การเผยความในใจของตัวละครนั้น ๆ อย่างเช่นการเล่าถึงความรู้สึกในความสัมพันธ์ของตัวละครคู่รักใน ‘Annie Hall’ ซึ่งจะทำให้คนดูเรียนรู้ถึงนิสัยใจคอของตัวละครนั้น ๆ และรู้สึกเชื่อ เข้าอกเข้าใจ และมีความรู้สึกร่วมไปกับตัวละคร
หรืออย่างในหนัง ‘The Big Short’ (2015) ที่ว่าด้วยเรื่องของกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงตลาดหุ้นวอลสตรีท หลายครั้งเราจึงได้เห็นตัวละครหันมาพูดคุย และอธิบายคำศัพท์ในวงในตลาดหุ้นให้คนดูค่อย ๆ เข้าใจและตามทันสถานการณ์อินไซต์ที่เกิดขึ้นในหนังได้มากยิ่งขึ้น
หรือถ้าเอาแบบกวนโอ๊ยก็ต้องยกให้ซีนสุดท้ายของหนัง ‘Kiss Kiss Bang Bang’ (2005) ที่เราจะได้เห็น โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Robert Downey Jr.) นั่งสรุปเรื่องราวและสิ่งที่อยู่ในหนัง ก่อนที่ วัล คิลเมอร์ (Val Kilmer) จะเดินเข้ามาปิดปากเขาให้หยุดพูด และขอโทษผู้ชมที่ในหนังใช้คำว่า F**k เยอะไปหน่อย
และแน่นอนว่า ใคร ๆ ก็ตกหลุมรักสาวน้อย อะเมลี ปูแลง (Amélie Poulain) จากหนังนอกกระแสในตำนาน ‘Amélie’ (2001) เหตุผลหนึ่งที่เป็นแบบนั้นก็คงเป็นเพราะความชอบสังเกตสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ของผู้คนด้วยสายตาไร้เดียงสาของอะเมลี โดยเฉพาะการที่เธอคอยบอกเล่าถึงสิ่งที่เธอชื่นชอบแก่คนดูอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะฉากจำจากหนังฉากนี้ นั่นก็คือฉากที่เธอบอกกับคนดูว่า เธอชอบแอบมองผู้คนท่ามกลางความมืดในโรงหนัง
2. เพื่อแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื้อเรื่องและสิ่งต่าง ๆ
ในหลาย ๆ ครั้งเรามักจะเห็นการทลายกำแพงที่ 4 ของตัวละครเพื่อแสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์ หรือด่าเนื้อเรื่องที่ตัวเองกำลังเผชิญแบบตรงไปตรงมา ทั้งการวิจารณ์เนื้อเรื่อง (ที่คนเขียนบทเขียนขึ้นมาเอง) ว่าไร้สาระ ไม่เมกเซนส์บ้าง หรือวิจารณ์กองถ่ายว่าหมดงบแล้ว เลยไม่มีเงินทำโปรดักชันให้ดีไปกว่านี้ได้บ้าง หรือไม่ก็เลยเถิดไปวิพากษ์วิจารณ์ผู้บริหาร หรือไม่ก็ใช้ตัวละครในการวิพากษ์วิจารณ์ แซะวงการบันเทิงมันซะเลย
ซึ่งในซีรีส์ ‘She-Hulk’ เรามักจะได้เห็นเจนหันมาบ่นถึงเนื้อเรื่องที่มีปัญหากับคนดูอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งเจนในร่าง ‘She-Hulk’ ต้องเข้าไปแก้เรื่องเอาเองในตอนสุดท้าย ด้วยการมุดเข้าไปในหน้าเมนูของ Disney+ ไปโผล่ที่ออฟฟิศ Marvel Studios เข้าไปขอร้องกลางโต๊ะประชุมทีมเขียนบท หรือบุกเข้าไปคุยกับปัญญาประดิษฐ์ K.E.V.I.N. เพื่อขอร้องให้เปลี่ยนเนื้อเรื่องใหม่กันดื้อ ๆ เสียอย่างนั้น แถม K.E.V.I.N. ก็ยังเล่นมุกจิกกัดตัวเองด้วยการให้ She-Hulk คืนร่างเป็นเจนตามเดิมเพราะค่าทำซีจีแพง เอางบไปลงกับซีจีเรื่องอื่นหมดแล้ว เป็นต้น
หรือในลองช็อตสุดฮาในเครดิตท้ายหนัง ‘บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม 2’ (2550) ที่โหน่ง ชะชะช่า และครอบครัว รุมด่า หม่ำ จ๊กม๊ก ผู้กำกับโทษฐานที่เอามาแสดงแบบมาเร็วตายเร็วก็ถือว่าเข้าข่าย หรือในหนังบางเรื่องที่มีผู้บรรยาย (Narrator) ตัวละครก็อาจจะหันมาคุยหรือทะเลาะกับผู้บรรยายในเรื่องไปด้วยเลย ซึ่งส่วนใหญ่จะเหมาะกับเนื้อหาแนวตลก หรือเบาสมองมากกว่าหนังแนวซีเรียสจริงจัง
3. เพื่อทลายเส้นแบ่งจินตนาการของผู้ชม และเน้นย้ำความ ‘ไม่จริง’ ของเนื้อหา
หลายครั้งเรามักจะเห็นตัวละครบางตัวหันมาพูดกับคนดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงเรื่องแต่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง การคุยนอกเรื่องในขณะเกิดเหตุการณ์กับคนดู (เช่น อยู่ดี ๆ ก็หันมาพูดกับคนดูระหว่างคุยกับคนอื่น หรือกำลังทำอย่างอื่นอยู่) หรือแม้แต่การเล่นกับพรอป กราฟิก ตัวอักษรที่ขึ้นบนจอราวกับว่าเป็นวัตถุ มีทั้งตั้งแต่แก้คำผิด หรือเข้าไปยุ่งกับกราฟิกเหล่านั้นไปเลยก็มี ทั้งที่ในความเป็นจริงยังไงก็ทำไม่ได้
ในหนัง ‘Gremlins 2: The New Batch’ (1984) ก็มีฉากการทลายกำแพงที่สี่แบบน่ารักปนขนลุกด้วย เมื่อตัวหนังที่กำลังเล่าเรื่องในจังหวะที่ตัวเกรมลินกำลังอาละวาด อยู่ดี ๆ ฟิล์มก็ไหม้จนขาดเหลือแต่ผ้าใบขาว ๆ ก่อนจะเผยให้เห็นเงาของเกรมลินที่กำลังเข้ายึดและอาละวาดใส่จอหนังเข้าให้ซะแล้ว
ในหนังเจ้าพ่อมาเฟียในตำนานอย่าง ‘Goodfellas’ (1990) ก็ใช้การทลายกำแพงที่ 4 ทำลายเส้นแบ่งของตัวหนังและช็อกคนดูมาแล้ว ตัวหนังตลอดเรื่องแทบจะเล่าดำเนินเรื่องแบบภาพยนตร์ปกติ แต่อยู่ดี ๆ ตัวละคร เฮนรี ฮิลล์ ก็หันมาคุยกับคนดูเสียอย่างนั้น แถมยังมีซีนท้ายเรื่องที่ตัวละคร ทอมมี เดวิโต ยิงปืนรัวใส่คนดู ซึ่งช็อตนี้เป็นคารวะช็อตยิงปืนใส่คนดูจากหนัง ‘The Great Train Robbery’ อีกที
ในหนัง ‘Birds of Prey’ (2020) ของ DC ก็ถือว่าเป็นหนังที่เล่าด้วยการทลายกำแพงที่ 4 ได้คุ้มค่ามาก ๆ เรื่องหนึ่ง เพราะนอกจากตัวละคร ฮาร์ลีย์ ควินน์ ในหนังจะหันหน้ามาเล่าเรื่องกับคนดูแล้ว ก็ยังมีการแนะนำตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องด้วยการใช้กราฟิกสีสันสดใส แถมยังมีกิมมิกด้วยการให้ ฮาร์ลีย์ ควินน์ เล่าเรื่องย้อนหน้าย้อนหลังสลับไป ๆ มา ๆ แบบไม่เป็นเส้นตรง นึกจะย้อนเรื่องไปไหนก็ย้อนไปเลยอีกต่างหาก ซึ่งทำให้ตัวหนังครึ่งแรกมีการเล่าเรื่องแบบไม่ตามลำดับเวลา)
หรือแม้แต่หนังสายลับ เจมส์ บอนด์ (James Bond) ก็มีช็อตทลายกำแพงที่ 4 กับเขาด้วยเหมือนกัน ซึ่งปรากฏอยู่ในภาค ‘On Her Majesty’s Secret Service’ (1969) ภาคนี้มีความสำคัญตรงที่เป็นหนังภาคแรก (และภาคเดียว) ของเจมส์ บอนด์คนใหม่ในเวลานั้นอยาง จอร์จ ลาเซนบี (George Lazenby) ที่มารับช่วงต่อจากนักแสดงคนก่อนอย่าง ฌอน คอนเนอรี (Sean Connery) ที่รับบทนี้จนโด่งดังเป็นพลุแตก และคนดูก็ติดภาพเจมส์ บอนด์คนแรกไปแล้วด้วย
เพื่อไม่ให้คนดูปฏิเสธว่าลาเซนบีคือนักแสดงเจมส์ บอนด์คนใหม่ ในทีแรกโปรดิวเซอร์จะพยายามอธิบายการเปลี่ยนหน้าของเจมส์บอนด์ว่าไปศัลยกรรมเปลี่ยนใบหน้าเพื่อหลบหนีศัตรู แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใส่ สิ่งที่หลงเหลือในหนังจึงมีเพียงการใส่ Easter Egg จากภาคก่อน ๆ เพื่อเชื่อมโยงถึงคอนเนอรี และฉากเปิดเรื่องริมชายหาด หลังจากที่หญิงสาวขับรถหนีบอนด์ไปดื้อ ๆ บอนด์จึงหันมาพูดกับกล้องก่อนตัดเข้าไตเติลว่า “ทีกับอีกคนไม่ยักเจออะไรแบบนี้” (“This never happened to the other fellow.”) ซึ่งเป็นการสื่อถึงตัวของลาเซนบีเอง และอ้างอิงถึงบอนด์คนก่อนอย่างคอนเนอรี และก็ยังมีความหมายตามบริบทของเรื่องราวไปด้วยในเวลาเดียวกัน
4. เพื่อความบันเทิงลูกเดียว
นอกจาก ‘Deadpool’ ที่ถือว่าจัดเข้ามาอยู่ในหมวดนี้ได้ ก็ยังมีหนังอีกหลายเรื่องที่ใช้การทลายกำแพงที่ 4 ด้วยเหตุผลเพื่อความบันเทิงและกวนเบื้องล่างล้วน ๆ ซึ่งมันตลกตรงที่มันทลายเส้นแบ่งจินตนาการเสียสิ้น และพลิกความคาดหมายของคนดูจากพล็อตหรือสถานการณ์ซ้ำซากจำเจให้กลายเป็นกลายเป็นมุกที่คาดไม่ถึง และหลายครั้งมันก็กลายไปเป็นมีมฮา ๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตต่ออีกทอด
ใน ‘Monty Python and the Holy Grail’ (1975) หนังตลกแนวแฟนตาซีเสียดสีตำนานยุคกลางก็ไม่พลาดที่จะมีช็อตทลายกำแพงที่ 4 ทั้งการที่อยู่ดี ๆ ในระหว่างที่กองทัพของกษัตริย์อาเธอร์วิ่งบุกเข้าทำศึกในยุคกลาง แต่ดันมีตำรวจยุคปัจจุบันทะลึ่งขับรถเข้าไปจับกุมตัวนักแสดง แถมยังเอามือมาบังกล้องไม่ให้ถ่ายต่ออีกต่างหาก หรือที่กาวสุด ๆ ก็น่าจะเป็นช็อตนักแสดงทหารที่ดันใช้กะลามะพร้าววิ่งกุบกับ ๆ แทนม้า!
การทลายกำแพงที่ 4 ที่ทั้งฮา จี๊ด และกวนเบื้องล่างอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ‘Wayne’s World’ (1992) ที่เสียดสีการโฆษณาแฝงสินค้า หรือไทอิน (Tie-In) ในวงการภาพยนตร์ ซีนนี้ก็เลยเสียดสีด้วยการไทอินสินค้าแบบโชว์ให้เห็นโลโก้สินค้าโดดเด่นทะลุจอแบบประชดไปเลย ทั้งการยิ้มให้กล้องราวกับพรีเซนเตอร์ตอนกำลังกิน Pizza Hut เคี้ยวขนม Doritos พร้อมชูห่อขนมให้เห็นโลโก้ชัด ๆ ใส่ชุด Reebok ที่มีโลโก้ทุกจุดตั้งแต่หัวจรดเท้า โชว์กระปุกยาแก้ปวด Nuprin ไฮไลต์เม็ดยาในมือให้เห็นเด่น ๆ ก่อนตบท้ายด้วยการหยิบกระป๋อง Pepsi ขึ้นโชว์กล้อง พูดสโลแกนและยกขึ้นจิบ เอาเข้าไป
หรือแม้แต่ฉากที่พี่เผือก (พงศธร จงวิลาส) ตะโกนด่าทหารในหนัง ‘พี่มาก…พระโขนง’ (2556) ในระหว่างร่วมรบกับเพื่อน ๆ ในสงครามว่า “นี่ก็ยิงจังเลยไอ้เหี้-!” ซึ่งก็ถือว่าเป็นการทลายกำแพงที่ 4 แบบไทย ๆ ที่ฮาและกลายเป็นมีมในเวลาต่อมา
หรือแม้แต่ในหนัง ‘Fight Club’ (1999) นอกจากตัวพล็อตเองที่ถือว่าแหวกแนวสุด ๆ แล้ว วิธีการเล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้ก็แหวกแนวด้วยการทลายกำแพงที่ 4 โดยเฉพาะตัวละคร ไทเลอร์ เดอร์เดน ที่นอกจากจะปรากฏตัวในฐานะตัวละครแล้ว ก็ยังรับหน้าที่เป็นผู้บรรยายเรื่องด้วย เรียกว่าเป็นการทลายกำแพงมาตั้งแต่เปิดหนังแล้ว เพียงแต่คนดูยังไม่ทันรู้ตัวต่างหาก
IV. แล้วเมื่อไรควรจะทลายกำแพงที่ 4
สำหรับคนดู การทลายกำแพงที่ 4 มากเกินควร หรือใส่เข้ามาอย่างไม่จำเป็น ก็ทำให้ตัวหนังดูน่ารำคาญ สิ่งที่คนทำหนังควรจะคำนึงในการใส่เข้ามาก็คือ การวางแผนไว้ก่อนว่าจะใส่เป็นระยะ ๆ หรือจะใส่ช็อตเดียวแบบปัง ๆ ไปเลย อีกส่วนสำคัญก็คือ การใช้ตัวละครที่มีเสน่ห์ จะทำให้การทลายกำแพงที่ 4 เป็นไปอย่างมีพลังและทำงานกับตัวหนังได้มากกว่า
และควรคำนึงถึงจังหวะในการใส่ด้วย เพราะการทลายกำแพงที่ 4 ในช่วงเวลาที่ผิดหรือไม่เหมาะสม อาจทำให้การเล่าเรื่องของหนังไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ตัวหนังแทนที่จะพึ่งพาการเล่าที่มีพลัง กลายเป็นว่าต้องพึ่งพาเทคนิคพิเศษคอยบังคับและประคับประคองเรื่องราวไปเรื่อยแบบตามมีตามเกิด และแถมยังไปลดความสมจริงที่ควรจะมีในหนังไปเสียเปล่า ๆ เข้าทำนองเดียวกับหนังตลก การทลายกำแพงที่ 4 อย่างพร่ำเพรื่อมากเกินไปก็อาจทำให้ตัวหนังออกมาเลอะเทอะเกินกว่าจะตลกไปเลยก็เป็นได้
ที่มา: Wikipedia/Fourth wall, Wikipedia/She-Hulk, Wikipedia/Denis Diderot, Colider, Movieweb, Masterclass, DigitalSpy, Premiumbeat, Marvel
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส