นี่ก็ใกล้จะถึงเทศกาลฮาโลวีนแล้ว พอเวลานึกถึงฮาโลวีนทีไรมักนึกไปถึงมิวสิกวิดีโอเพลง “Thriller” ของไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson) ทุกที และพอนึกถึงเอ็มวีนี้ทีไรภาพที่ปรากฏขึ้นมาก็คือ ไมเคิล แจ็กสันที่กำลังเต้นพลิ้วอยู่ในชุดแจ็กเก็ตสีแดงที่โดดเด่นเป็นสง่าท่ามกลางเหล่าซอมบี้ทั้งหลาย

ไมเคิล แจ็กสันและเหล่าซอมบี้

เสื้อแจ็กเก็ตสีแดงตัวนี้ที่ถูกเรียกขานว่า ‘Thriller Jacket’ นั้นไม่ใช่แจ็กเก็ตธรรมดาแต่ว่ามีเรื่องราวเบื้องหลังมากมายและมีเรื่องราวที่น่าสนใจในการดีไซน์จนปังได้ขนาดนี้

“Thriller” เป็นอัลบั้มชุดที่ 6 ของ ไมเคิล แจ็กสันและถือได้ว่าเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จที่สุดโดยคว้ารางวัลแกรมมี่ได้ถึง 8 รางวัลรวมถึงรางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปีและรางวัลศิลปินชายยอดเยี่ยม นอกจากนี้ยังเป็นอัลบั้มที่ติดอันดับขายดีที่สุดตลอดกาลโดยเพลง “Thriller” เป็นไตเติลแทร็กและแทร็กที่ 4 ของอัลบั้มที่มาพร้อมกับมิวสิกวิดีโอในรูปแบบของภาพยนตร์สั้นความยาว 14 นาทีเป็นเรื่องราวของไมเคิล แจ็กสันที่พาสาวไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ก่อนที่จะออกมาพบกับความสยองจากเหล่าซอมบี้ก่อนที่จะร่วมเต้นไปกับเหล่าผีดิบเหล่านี้ ภาพของแจ็กสันในชุดแจ็กเก็ตและกางเกงหนังสีแดงเป็นอะไรที่ติดตาและประทับอยู่ในใจ เมื่อใดที่ได้ชมมิวสิกวิดีโอเพลงนี้

เดโบราห์ นาดูลแมน แลนดิส (Deborah Nadoolman Landis) นักออกแบบเครื่องแต่งกายเจ้าของหนังสือ ‘Dressed’ หนังสือที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายในภาพยนตร์ฮอลลีวูด คือผู้ที่ออกแบบแจ็กเก็ตแดงในตำนานตัวนี้ เดโบราห์เคยออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง (‘Raiders of the Lost Ark’, ‘Animal House’, ‘The Blues Brothers’, และ ‘Three Amigos’) และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Coming to America’ (1988) นอกจากนี้ยังทำหน้าที่สอนวิชาการออกแบบเครื่องแต่งกาย (Costume Design) ให้กับ UCLA อีกด้วย

เดโบราห์ นาดูลแมน แลนดิส (Deborah Nadoolman Landis) ผู้ออกแบบ Thriller Jacket

มิวสิกวิดีโอ Thriller กำกับโดย จอห์น แลนดิส ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังซึ่งเป็นสามีของเดโบราห์ (‘The Blues Brothers’ (1980), ‘An American Werewolf in London’ (1981), ‘Three Amigos’ (1986) และ ‘Coming to America’ (1988)) มิวสิกวิดีโอเพลงนี้มีความแตกต่างจากมิวสิกวิดีโอทั่วไปในยุคนั้นด้วยการมีความเป็นคอนเซ็ปต์อาร์ตและมีเรื่องราวในรูปแบบของภาพยนตร์สั้น เดโบราห์จึงได้รับโจทย์มาในรูปแบบของบทภาพยนตร์ทำให้เธอต้องใส่ใจการออกแบบทั้งในมิติของเรื่องราวและในมิติทางด้านภาพ

เดโบราห์และจอห์น แลนดิส

เดโบราห์เรียกแนวคิดในการออกแบบชุดแจ็กเก็ตสีแดงตัวนี้ว่า ‘การออกแบบแบบลดทอน’ (Reductive Design) ซึ่งเป็นการออกแบบอย่างน้อยได้มาก หรือที่ใครหลายคนอาจเรียกว่ามีความ ‘มินิมอล’ อันเป็นการออกแบบที่ตรงจุดตรงเป้าและให้เอฟเฟกต์ที่ทรงประสิทธิภาพโดยใช้การออกแบบที่ไม่วุ่นวายและไม่ซับซ้อนหากแต่ผ่านการคิดที่ละเอียดอ่อนและชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วจึงถ่ายทอดออกมาเป็นรูปทรงและสีสันที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมไปด้วยพลังและความหมาย

อย่างแรกที่เดโบราห์ทำในงานชิ้นนี้คือการตีโจทย์ให้แตกเพื่อให้การออกแบบนี้ตรงเป้าและเร้าอารมณ์ผู้ชมได้อย่างดีที่สุด เธอตีโจทย์จากเรื่องราวของเอ็มวีที่แจ็กสันพาแฟนสาวของเขาไปดูภาพยนตร์ด้วยกัน ก่อนที่จะเดินออกมาเพื่อส่งเธอกลับบ้าน เขาเดินไปเต้นไปภายในท้องถนนอันมืดมิด เดโบราห์จึงพยายามคิดว่าสีอะไรที่จะโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้ รวมไปถึงมันจะต้องถ่ายทอดจิตวิญญาณของความสยองขวัญที่เรามักพบเจอในภาพยนตร์สยองขวัญอีกด้วย และเธอจะต้องทำให้ไมเคิล แจ็กสันดูโดดเด่นท่ามกลางบรรยากาศสยองขวัญและเหล่าซอมบี้ทั้งหลายที่จ้องจะทำร้ายเขาและแฟนสาวของเธอ ก่อนที่แจ็กสันจะเป็นคนพาบรรดาผีดิบเหล่านี้เต้นไปด้วยกัน ดังนั้นงานออกแบบชุดนี้จะต้องตอบโจทย์ทั้งทางด้านการเล่าเรื่องและงานด้านภาพ และนี่แหละคือการออกแบบที่เรียกว่า ‘Reductive Design’

 ‘สีแดง’ และ รูปทรงตัว ‘V’ จึงเป็นคำตอบสุดท้ายในการออกแบบแจ็กเก็ตตัวนี้ ซึ่งสีแดงที่นำมาใช้ในการออกแบบครั้งนี้ช่วยตอบโจทย์ในหลายระดับ แน่นอนแรกสุดคือได้ผลดีทางด้านภาพ มันได้ทำให้แจ็กสันดูเด่นและทำให้เขากลายเป็นผู้นำทางการเต้นไปเลย สีแดงบนเรือนร่างสร้างความโดดเด่นเป็นสง่าท่ามกลางบรรยากาศอันมืดมิดรอบด้าน ส่วนรูปทรงตัววี ‘V’ นั้นเป็นไปเพื่อตอบรับกับวัตถุประสงค์หนึ่งของการออกแบบแจ็กเก็ตตัวนี้ที่เดโบราห์อยากออกแบบเครื่องแต่งกายที่จะช่วยให้เรือนร่างของแจ็กสันดูดีมีความสง่าและก็มีความเป็นชายชาตรีมากยิ่งขึ้น เพราะเธอรู้สึกว่าเรือนร่างสะโอดสะองของแจ็กสันนั้นดูบอบบางด้วยน้ำหนักตัวเพียง 99 ปอนด์และเอวแค่ 26-28 นิ้ว อีกทั้งยังมีไหล่ที่ค่อนข้างแคบอย่างมาก เธอจึงอยากออกแบบเสื้อผ้าที่ทำให้เขาดูแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

เดโบราห์ได้ทำการร่างงานออกแบบในหลายรูปแบบจนกระทั่งมาพบไอเดียของการออกแบบโดยใช้รูปทรงตัววี ‘V’ ซึ่งฐานของหัวสองด้านของตัววีจะทำหน้าที่เป็นส่วนของไหล่ที่ขยายออกไปเพื่อรับกับเรือนร่างของแจ็กสันและทำให้เขาดูตัวใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพื่อที่เวลาถูกถ่ายภาพย้อนแสงจะได้ทำให้เงาร่างของแจ็กสันนั้นมีความแข็งแรงดูดีและสวยงาม นอกจากนี้รูปทรงตัววีของแจ็กเก็ตยังสัมพันธ์กับรูปทรงพีระมิดที่เกิดขึ้นจากการวางตำแหน่งการออกแบบท่าเต้นอีกด้วย

รูปทรงตัววี ‘V’
รูปทรงพีระมิดที่เกิดขึ้นจากการวางตำแหน่งการออกแบบท่าเต้น

การออกแบบเครื่องแต่งกายของเดโบราห์มีความสัมพันธ์กับการออกแบบท่าเต้นอย่างมาก ตำแหน่งการยืนของแจ็กสันกับซอมบี้ถูกวางเอาไว้ให้เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมโดยมีแจ็กสันยืนอยู่ตรงตำแหน่งของยอดสามเหลี่ยมหรืออีกนัยหนึ่งคืออยู่ตรงหัวลูกศรของทิศทางการเต้นที่พุ่งออกมาหาผู้ชม ในขณะที่อีกมุมกล้องหนึ่งได้เสริมเติมพลังด้วยการถ่ายจากมุมต่ำซึ่งตามจิตวิทยาของทฤษฎีการถ่ายภาพแล้วภาพมุมต่ำที่เสยขึ้นมาหาผู้ที่ถูกถ่ายจะทำให้ร่างกายของผู้นั้นดูแข็งแกร่งและเปี่ยมไปด้วยพลังมากยิ่งขึ้น ท่าเต้นและการวางจังหวะลีลาของแจ็กสันทำให้อยู่ในรูปของสามเหลี่ยม ส่วนเสื้อแจ็กเก็ตสีแดงที่ถูกออกแบบให้เป็นรูปตัววีซึ่งมองได้ว่าเป็นรูปสามเหลี่ยมคว่ำทำให้สามเหลี่ยม 2 อันทำงานสอดประสานกันไปอย่างเปี่ยมไปด้วยสุนทรียะ อีกทั้งในส่วนหัวของตัววีทั้ง 2 ด้านซึ่งเป็นตำแหน่งของไหล่ยังทอดตัวออกไปยาวเกินเรือนร่างของแจ็กสันในระดับที่พอเหมาะพอเจาะซึ่งช่วยให้ไหล่ของเขาดูกว้างมากยิ่งขึ้นและทำให้เรือนร่างที่บอบบางนั้นมีความสมมาตรงามสง่าน่าชม และมีความกระฉับกระเฉงคล่องแคล่วคล่องว่องไวปราดเปรียว ที่จิตวิทยาของสีแดงและทักษะการเต้นของแจ็กสันทำงานไปในทิศทางเดียวกัน

แจ็กสันยืนอยู่ตรงตำแหน่งของยอดสามเหลี่ยม
รูปทรงสามเหลี่ยมคว่ำบนแจ็กเก็ต

ทุกอย่างทำงานสอดประสานกันไปอย่างดีทั้งลุค สไตล์ รูปร่าง รูปทรงและเงาของร่างที่ถูกถ่ายย้อนแสงไปในความมืดและท่วงทำนองของดนตรีรวมไปถึงทักษะการร้องการเต้นของแจ็กสันทำให้ทั้งหมดทั้งมวลนี้ได้ทำให้บทเพลง “Thriller” เป็นบทเพลงที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลย

ในวันที่ 27 มิถุนายนปี 2011 เสื้อแจ็กเก็ตตัวนี้ได้ถูกประมูลไปในมูลค่ากว่า 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการประมูลโดย Julien’s Auctions ผู้ซื้อคือ นิวตัน เวอร์เรต์ (Milton Verret) ซึ่งนิยามว่าแจ็กเก็ตตัวนี้เป็น “ชิ้นส่วนสำคัญอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์อันน่าจดจำของวงการดนตรีร็อกแอนด์โรล” ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นจากการประมูลในครั้งนี้ได้ถูกบริจาคไปให้กับสวนสัตว์ Shambala Animal Kingdom เป็นสวนสัตว์ที่เสือเบงกอลของ ไมเคิล แจ็กสัน อาศัยอยู่

แต่ทั้งนี้ก็มีกรณีให้สงสัยเกิดขึ้นเมื่อในเครดิตจบของสารคดี HBO เรื่อง ‘Leaving Neverland’ ได้มีตอนที่ เวด ร็อบสัน (Wade Robson) ที่ได้กล่าวอ้างว่าเคยถูกแจ็กสันล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก ได้เผาข้าวของจากแจ็กสันซึ่งมีทั้งถุงมือจากเอ็มวี “Bad” หมวกสีขาวจากเอ็มวี “Smooth Criminal” และหนึ่งในนั้นก็คือแจ็กเก็ตสีแดง ‘Thriller Jacket’ ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่ามันใช่ของจริงหรือไม่ แน่นอนว่าถุงมือกับหมวกนั้นร็อบสันได้ขายให้กับทาง Julien’s Auctions ในปี 2011 ไปในราคาประมาณ 30,000 เหรียญและ 50,000 เหรียญตามลำดับ ซึ่งก็ได้มีการออกมายืนยันแล้ว ทำให้มั่นใจได้ว่าที่ร็อบสันเผาไปนั้นเป็นของปลอม

ภาพจากสารคดี ‘Leaving Neverland’

ส่วนกรณีแจ็กเก็ตนั้น สุดท้ายร็อบสันก็ได้ออกมายอมรับว่าแจ็กเก็ตแดงตัวที่เขาเผาไปไม่ใช่ตัวเดียวกันกับที่แจ็กสันใช้ในเอ็มวีแต่เป็นหนึ่งในตัวที่ถูกทำขึ้นมาใหม่ซึ่งแจ็กสันได้มอบให้เขาไว้เป็นของขวัญ แสดงว่าแจ็กเก็ตตัวนี้เคยมีการทำซ้ำเอาไว้ และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะก่อนนี้แจ็กสันเคยให้นักออกแบบเครื่องแต่งกายชื่อดัง เดนนิส ทอมป์กินส์ (Dennis Tompkins) และ ไมเคิล บุช (Michael Bush) ออกแบบเวอร์ชันอื่น ๆ เพื่อให้แจ็กสันเอาไว้ใส่เวลาเล่นคอนเสิร์ต และหลังจากแจ็กสันเสียชีวิตแล้วพี่น้องของเขาก็ได้ออก J5 collection ซึ่งมีเสื้อแจ็กเก็ตพร้อมลายเซ็นจากเอ็มวี “Thriller” และ “Beat It” ในไซส์ของแจ็กสัน ออกมาขายแบบลิมิเต็ดเอดิชันจำนวน 1,000 ตัว

J5 collection แจ็กเก็ตจาก “Thriller” และ “Beat It”

ด้วยเหตุนี้จึงมี ‘Thriller Jacket’ ที่ไม่ใช่ของทำเลียนแบบออกมามากมายซึ่งหลายตัวมีลายเซ็นของแจ็กสันและเคยถูกนำไปประมูลขาย เช่นในปี 2010 จะเป็นตัวที่มีลายเซ็นสีดำอยู่ที่กระเป๋าหน้าอก ส่วนในปี 2012 จะเป็นตัวที่มีลายเซ็นสีเงินอยู่ที่ด้านหลัง

และเมื่อกลางปีที่ผ่านมาในวาระที่ปีนี้จะเป็นปีครบรอบ 40 ปีของอัลบั้ม ‘Thriller’ เสื้อแจ็กเก็ต (ตัวจริงที่แจ็กสันใส่ในเอ็มวีที่ถูกประมูลโดย Julien’s Auctions) ได้ถูกเคลื่อนย้ายมาประจำอยู่ที่ Rock Hall ในเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอผ่านการรักษาความปลอดภัยในระดับสูงและจะทำการจัดแสดงอยู่ที่นี่เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ใครที่อยากไปสัมผัสเครื่องแต่งกายในตำนานตัวนี้ก็สามารถไปเยี่ยมชมกันได้.

ที่มา

How Michael Jackson’s ‘Thriller’ jacket was made

billboard

barneyoriginals

wsj

slate

nme

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส