ความสำเร็จของภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร ไม่ว่าจะทั้ง Marvel และ DC ยังคงเป็นเหมือนดาบสองคมสำหรับวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดอยู่เสมอ เพราะแม้ว่าตัวหนังจะมีแฟน ๆ ที่ชื่นชอบตัวหนังมากแค่ไหน แต่ในมุมของคนสร้างภาพยนตร์ก็มักมีประเด็นให้ถกเถียง และจุดประเด็นให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอีกมากมาย
อย่างกรณีที่ชัดเจนก็คือ การที่มีคนทำหนังออกมาวิพากษ์วิจารณ์หนังซูเปอร์ฮีโรเหล่านี้ รวมทั้งวัฒนธรรมของหนังซูเปอร์ฮีโรที่หลายครั้งพวกเขาก็มองว่าเป็นบ่อนทำลายวงการฮอลลีวูดอยู่เนือง ๆ ทั้งผู้กำกับระดับเจ้าพ่ออย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ที่เคยเปรียบเปรยหนังซูเปอร์ฮีโรว่าไม่ต่างจากสวนสนุก ส่วนผู้กำกับใหญ่อีกรายอย่าง ริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott) ก็เคยวิจารณ์หนังซูเปอร์ฮีโรด้วยวาทะอันเผ็ดร้อนว่ามักมีบทที่ไม่ค่อยดี และ “น่าเบื่อฉิบหาย” (“Boring as Sh*t”)
ล่าสุด มีคนทำหนังเบอร์ใหญ่อีกรายที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์หนังซูเปอร์ฮีโรด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์เจ้าของผลงานหนังบล็อกบัสเตอร์เบอร์ใหญ่ทั้ง ‘The Terminator’ (1984), ‘Aliens’ (1986), ‘Titanic’ (1997), ‘Avatar’ (2009) และผลงานล่าสุดอย่าง ‘Avatar: The Way of Water’ (2022) ภาคต่อเรื่องราวของชาวนาวีที่จะเข้าฉายในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้
โดยคาเมรอนได้ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times เกี่ยวกับเบื้องหลังของตัวหนัง ‘Avatar: The Way of Water’ ร่วมกับนักแสดงหลักในหนังที่เคยปรากฏตัวในภาคแรกอย่าง แซม เวิร์ธธิงตัน (Sam Worthington) เจ้าของบทบาท เจค ซัลลี (Jake Sully) และ โซอี ซัลดานา (Zoe Saldana) เจ้าของบทชาวนาวีชื่อ เนย์ทีรี (Neytiri) ที่ในภาคนี้จะเล่าเรื่องประเด็นเกี่ยวกับครอบครัวของทั้งคู่หลังจากมีลูกด้วย และได้วิพากษ์วิจารณ์หนังซูเปอร์ฮีโรเกี่ยวกับความสมจริงของตัวละครในหนังเหล่านั้นว่าไม่มีพัฒนาการ การเติบโตของตัวละครถูกแช่แข็งราวกับเป็นเด็กน้อยในโรงเรียน
“ทั้งโซอีและแซมต้องรับบทพ่อแม่ในอีก 15 ปีถัดมา ตัวละครของแซมคือการกระโจนไปสู่การเป็นสิ่งมีชีวิตที่บินได้ และพยายามเปลี่ยนเส้นทางประวัติศาสตร์ด้วยความเชื่ออันบ้าคลั่งและเสี่ยงตาย ในขณะที่ตัวละครของโซอีมักกระโจนไปมาโดยมักจะคิดว่ามีใบไม้ขนาดใหญ่คอยรองรับการตกของเธออยู่ที่ด้านล่าง แต่ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ คุณจะไม่คิดแบบนั้น ผมในฐานะพ่อที่มีลูก 5 คน ผมต้องการจะสื่อว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าตัวละครเหล่านั้นเติบโต เต็มที่และตระหนักว่าพวกเขามีความรับผิดชอบที่นอกเหนือจากความอยู่รอดของพวกเขาเอง”
“ผมเองเป็นคนคลั่งไคล้ความเป็นเด็กนะ แต่มันก็มีความเสี่ยงที่ทำให้ผมไม่อยากทำอะไรเสี่ยง ๆ ในตอนนี้ ผมเห็นความดุร้ายบางอย่างในตัวลูก ๆ ของผม พวกเขายังมีอะไรบางอย่างที่ถูกห้ามทำในตอนนี้จนกว่าพวกเขาจะอายุครบกำหนด แต่มันก็ทำให้มุมมองการเลี้ยงลูกของผมเต็มไปด้วยสีสัน”
“ผมยังอยากทำสิ่งที่คนอื่นไม่อยากทำ เมื่อผมเฝ้าดูหนังที่ยิ่งใหญ่และน่าตื่นเต้นเหล่านี้ ทั้ง Marvel และ DC อายุของตัวละครนี่แทบจะไม่มีความหมายเลยนะ พวกเขาทำตัวยังกับเด็ก ๆ ในโรงเรียนเลย พวกเขาดูเหมือนมีความสัมพันธ์ แต่จริง ๆ แล้วไม่มี เพราะพวกเขาไม่เคยวางสายใยความผูกพันไปสู่ลูก ๆ หลาน ๆ ของพวกเขา ตัวละครเหล่านั้นไม่ได้สัมผัสสิ่งที่จะทำให้เขาเติบโตขึ้นอย่างมีพลัง ความรัก และจุดมุ่งหมายอะไรเลย ผมคิดว่านี่ไม่ใช่วิธีที่ดีในการสร้างภาพยนตร์”
การที่คาเมรอนชื้ว่า คาแรกเตอร์ในหนังซูเปอร์ฮีโรของทั้ง Marvel และ DC นั้น “แบน” และ “อย่างกับเด็ก ๆ” ก็ดูจะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเขาเอง เพราะครั้งหนึ่งเขาเองก็เคยเกือบจะได้กำกับหนังซูเปอร์ฮีโร ‘Spider-Man’ ในช่วงทศวรรษ 1990 หรือก่อนจะมีไตรภาค ‘Spider-Man’ ของโซนี่ (Sony) ด้วยซ้ำ โดยในเวลานั้น คาร์รอลโค สตูดิโอส์ (Carolco Pictures) ได้ซื้อลิขสิทธิ์ ‘Spider-Man’ และวางให้คาเมรอนเป็นผู้กำกับ
โดยคาเมรอนได้เผยในหนังสือ Tech Noir: The Art of James Cameron ที่เขาเขียนว่า เขาต้องการสร้างหนังไอ้แมงมุมให้ออกมามีความสมจริงอย่างที่ควรจะเป็น รวมทั้งสไปเดอร์แมนฉบับของคาเมรอนจะมีความสามารถในการปล่อยใยได้ด้วยตัวเองโดยไม่ได้ใช้เครื่องพ่นใยแบบในคอมิก ซึ่งแม้ว่าโครงเรื่องจำนวน 57 หน้าที่คาเมรอนเขียนออกมา จะเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริหารสตูดิโอ หรือแม้แต่ สแตน ลี (Stan Lee) ผู้ก่อตั้ง Marvel Comics เองก็ชอบบทที่คาเมรอนเขียนมาก แต่ด้วยการล้มละลายของ Carolco Pictures ก็เลยทำให้โปรเจกต์นี้ถูกพับไปอย่างเงียบ ๆ ไปในที่สุด
ที่มา: The New York Times, IndieWire, NME, Insider
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส