การเสื่อมความนิยมของการ ‘เฟดเอาต์’ (fade-out) ที่เป็นการจบเพลงด้วยเสียงที่ค่อย ๆ เบาลงไปเรื่อย ๆ ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็ชวนให้เกิดความสงสัยไม่น้อยว่าทำไมเพลงในยุคหลัง ๆ ถึงมักที่จะเลือกจบแบบฉับพลันทันทีหรือที่เรียกว่า ‘โคลด์เอนดิ้ง’ (Cold Ending) มันน่าจะมีเหตุผลอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ภายใต้เรื่องนี้
การจบเพลงด้วยเทคนิคที่เรียกว่าเฟดเอาต์คือการที่ในท้ายเพลงจะมีการร้องเล่นท่อนเดิมซ้ำไปเรื่อย ๆ โดยที่ระดับเสียงนั้นจะค่อย ๆ ลดลงทีละนิด ๆ ท่วงทำนองก็บรรเลงต่อไปเรื่อย ๆ ทอดยาวไปจนกระทั่งเสียงนั้นเบาลงจนเงียบสนิท ให้ความรู้สึกว่าบทเพลงนี้ยังคงบรรเลงต่อไปไร้สิ้นสุด เทคนิคนี้เป็นที่นิยมใช้กันเป็นปกติในช่วงทศวรรษที่ 50s และยังใช้ต่อมาอีกสามทศวรรษ แต่แล้วเมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 90s ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
ในปี 1985 เพลงยอดนิยม 10 อันดับแรกของปีไม่มีเพลงไหนเลยที่จบแบบฉับพลันทันทีหรือโคลด์เอนดิ้ง แต่เมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 90s ความนิยมในการใช้เฟดเอาต์ก็ค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงเรื่อย ๆ เช่นเพลงยอดนิยม 10 อันดับในปี 2011, 2012 และ 2013 มีเพียงแค่หนึ่งเพลงเท่านั้นที่มีการใช้เฟดเอาต์นั่นคือเพลง “Blurred Lines” ของ โรบิน ธิก (Robin Thicke) ที่ตั้งใจจะใช้เทคนิคนี้เพื่อให้มันมีความเรโทร
เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่ชอบเฟดเอาต์สักเท่าไหร่ บ้างก็ว่าศิลปินคงหมดมุกคิดอะไรไม่ออกก็เล่นง่ายใช้วิธีให้เสียงมันเฟดเบาลงไปแบบนั้นเลย แต่ในความเป็นจริงแล้วนี่อาจเป็นความเห็นที่ผิด เพราะแต่ไหนแต่ไรมาการใช้เฟดเอาต์นั้นก็มีทั้งความเป็น ‘ศิลป์’ และ ‘ศาสตร์’ มาโดยตลอด
Fade-Out ศิลปะแห่งการจบเพลง
จริง ๆ แล้วการใช้เฟดเอาต์มีให้พบตั้งแต่ในการประพันธ์เพลงคลาสสิก อย่างในงานเพลงของ กุสตาฟ โฮลส์ (Gustav Holst) ผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลงชุดแบบ orchestral suite อันลือลั่นในชุด “The Planets” ที่รังสรรค์ขึ้นมาจากการตีความดาวทั้ง 7 ดวงในระบบสุริยะจักรวาลออกมาเป็น movement ทั้ง 7 ได้แก่ “Mars, the Bringer of War”, “Venus, the Bringer of Peace”, “Mercury, the Winged Messenger”, “Jupiter, the Bringer of Jollity”, “Saturn, the Bringer of Old Age”, “Uranus, the Magician” และ “Neptune, the Mystic” การหลับตาฟัง movement ทั้ง 7 ในชุด The Planets ให้ความรู้สึกเหมือนได้เดินทางท่องจักรวาลไปยังดาวดาวอันตระการทั้งหลายเหล่านี้ แต่ละบทเพลงให้ความรู้สึกอลังการราวกับกำลังฟังบทเพลงประกอบภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อันเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ
เหมือน กุสตาฟ โฮลส์ จะจินตนาการได้อย่างดีถึงพลังของเฟดเอาต์ เขาจึงได้นำเอาเทคนิคนี้มาใช้ในคอนเสิร์ตปี 1918 ของเขา ในขณะที่กำลังบรรเลงบทเพลงสุดท้ายของชุดเพลงนั่นคือ “Neptune, the Mystic” ในช่วงท้ายของบทเพลงโฮลส์ได้ให้นักร้องประสานเสียงผู้หญิงทำการร้องในขณะที่เดินออกไปจากเวทีช้า ๆ พร้อมทั้งได้สั่งให้มีการปิดประตูไปด้วยในขณะที่นักร้องกำลังเดินออกไปจากห้องแสดง ทั้งนี้นักร้องต้องร้องซ้ำในท่อนสุดท้ายไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้ชมจะไม่ได้ยินเสียงร้องนั้น จนกว่าเสียงนั้นจะค่อย ๆ จางหายไปในความเงียบงัน โฮลส์ไม่ได้นำเอาเทคนิคนี้มาใช้เท่ ๆ แต่ว่าเขามีจุดประสงค์และความตั้งใจในการใช้มันเพราะว่าดาวเนปจูนนั้นเป็นดาวที่เรารู้กันว่าเป็นดาวที่อยู่ไกลดวงอาทิตย์ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาลจึงอยากจะถ่ายทอดบทเพลงที่สะท้อนให้เห็นถึงความห่างไกลและเปลี่ยวเหงาของดาวดวงนี้รวมถึงความลี้ลับของจักรวาลผ่านงานเพลงของเขา
ส่วนการใช้เทคนิคเฟดเอาต์ด้วยการบันทึกเสียงครั้งแรก เกิดขึ้นในงานเพลงของ จอร์จ โอลเซ่น (George Olsen) ในปี 1930 ที่มีชื่อว่า “Beyond the Blue Horizon” เพื่อสร้างสัมผัสแห่งโลกความจริงเวลาที่รถไฟวิ่งผ่านเราไป ในช่วงท้ายเพลงเสียงของรถไฟจะค่อย ๆ จางหายไปตามระยะทางที่รถไฟค่อย ๆ วิ่งห่างเราไป
ในช่วงเวลานั้นกระบวนการบันทึกเสียงมีความเป็นระบบกลไกที่เคร่งครัด การสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงนั้นจะถูกบันทึกโดยตรงเข้าไปที่แผ่นเสียง ดังนั้นการพยายามที่จะใช้เทคนิคการจบเพลงแบบที่เสียงค่อย ๆ เบาลงจึงเป็นอะไรที่ช่างกล้าและท้าทายมาก แพทริก ฟีสเตอร์ (Patrick Feaster) นักชาติพันธุ์วิทยาจาก Indiana University Bloomington ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สื่อเสียงในยุคแรก ๆ กล่าวว่า การทำเช่นนี้มักจะหมายถึงการค่อย ๆ นำแผ่นเสียงออกจากแหล่งกำเนิดเสียงอย่างช้า ๆ เขายกตัวอย่างการบันทึกเสียงของ Berliner Gramophone ในปี 1894 ที่ชื่อว่า “Spirit of ’76” ซึ่งเป็นตัวอย่างแรก ๆ ของการใช้เฟดเอาต์จากการบันทึกเสียง เราจะได้ยินเสียงการแสดงขบวนพาเหรดและการเดินขบวนเพื่อต้อนรับนายพลวอชิงตันสู่บอสตันในปี 1776 เป็นการจำลองเหตุการณ์ที่สนุกสนานซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง ในช่วงท้ายเพลงเราจะได้ยินว่าเสียงที่อึกทึกเหล่านี้ค่อย ๆ ถอยห่างออกไป
เทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าได้มีส่วนสำคัญในความนิยมของการใช้เฟดเอาต์ การบันทึกเสียงด้วยระบบไฟฟ้าที่เริ่มต้นในทศวรรษที่ 20s ทำให้ซาวด์เอนจิเนียร์ในสตูดิโอสามารถเพิ่มและลดกำลังเสียงและการใช้เฟดเอาต์ก็ง่ายยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อการบันทึกเสียงด้วยเทปแม่เหล็กมีให้ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย จนมาในยุค 50s , 60s ที่การบันทึกเสียงไม่ได้มีไว้สำหรับบันทึกเสียงการแสดงสดอีกต่อไป ขอบเขตของงานบันทึกเสียงจึงเริ่มมีมิติของความเป็นศิลปะมากยิ่งขึ้น ศิลปิน โปรดิวเซอร์และซาวด์เอนจิเนียร์ต่างพยายามคิดค้นวิธีแปลก ๆ ใหม่ ๆในการสร้างสรรค์สุ้มเสียงให้น่าสนใจ
เฟดเอาต์จึงได้กลายมาเป็นเทคนิคในการสร้างสรรค์และเครื่องมือสำคัญในการทำเพลง เฟดเอาต์ได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาจากข้อจำกัดเรื่องเวลา เช่น การที่ดีเจต้องการให้เพลงนั้นมีความยาวไม่เกิน 3 นาที ทำให้เพลงใดก็ตามที่อัลบั้มเวอร์ชันนั้นมีความยาวเกินกว่านี้ต้องถูกตัดให้สั้นลงและใส่เฟดเอาต์ตรงท่อนฮุกในช่วงที่ใกล้ ๆ นาทีที่ 3 ของเพลง อีกทั้งยังมีเรื่องของเวลาที่จำกัดของแผ่นเสียงซิงเกิล ทำให้เฟดเอาต์ได้เข้ามาแก้ปัญหาในเพลงที่มีความยาวเกินความจุของแผ่นเสียง
ในอีกด้านหนึ่งซาวด์เอนจิเนียร์ได้ค้นพบว่าเฟดเอาต์นั้นช่วยสร้างผลกระทบทางอารมณ์ได้เป็นอย่างดี เทคนิคทั้งหลายในการบันทึกเสียงสามารถสร้างอารมณ์และรูปแบบของเสียงที่ไม่สามารถพบได้ในชีวิตจริง เช่นการทำมัลติแทร็กกิ้งและการใช้รีเวิร์บ แน่นอนว่าเฟดเอาต์ก็เป็นเทคนิคหนึ่งที่ช่วยสร้างอารมณ์ที่ประทับใจให้กับบทเพลงได้เหมือนกัน ในที่สุดซาวด์เอนจิเนียร์ก็ได้ค้นพบเสน่ห์บางอย่างจากการใช้เทคนิคเหล่านี้และเทคโนโลยีก็ได้ช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์เอฟเฟกทั้งหลายให้กับบทเพลงได้โดยเฉพาะในผลงานของบรรดาศิลปินเพลงป๊อป
เฟดเอาต์ถูกเอามาใช้ในเพลง “Strawberry Field Forever” ของ The Beatles เนื่องจากว่าตอนอัดเสียงช่วงใกล้จะจบเพลงตรงที่มีเสียงเพอร์คัสชันและการบรรเลงสุดเซอร์ จอร์จ มาร์ติน (George Martin) ได้เฟดเสียงลงไปในจุดที่เขาคิดว่ามันโอเคและน่าจะจบเพลงได้แล้ว แต่วงก็ยังไม่หยุดบรรเลงและทันใดก็เริ่มบรรเลงอะไรที่น่าสนใจขึ้นมา มาร์ตินก็เลยรีบปรับเสียงกลับมาอีกครั้ง ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นไปในแบบที่เราได้ฟังกัน
The Beatles เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำเอาเทคนิคนี้มาใช้ เอียน แมคโดนัลด์ (Ian MacDonald) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ‘Revolution in the Head’ ว่าในช่วงแรก ๆ The Beatles ชอบที่จะจบเพลงแบบโคลด์เอนดิ้งมากกว่า แต่ต่อมาพวกเขาได้เริ่มเปิดใจใช้เฟดเอาต์หลังจากที่หยุดทัวร์ในปี 1966 การที่ได้ปลดเปลื้องตนเองจากการเอาบทเพลงที่เล่นบนเวทีมาสร้างสรรค์ใหม่ทำให้พวกเขาได้มีพื้นที่ในการสร้างสรรค์อะไรได้มากขึ้นและทำให้สามารถคิดวิธีการจบเพลงที่แตกต่างออกไป นั่นจึงทำให้พวกเขาอ้าแขนรับเฟดเอาต์มาใช้ในการจบบทเพลง
นอกจาก “Strawberry Field Forever” แล้วยังมีเพลงฮิตอื่น ๆ จาก The Beatles ที่ใช้เทคนิคนี้เช่นเพลง “A Day in the Life” ซึ่งจบลงด้วยกลุ่มคอร์ดที่ดังก้องกังวานไปเรื่อย ๆ ในช่วง 40 วินาทีสุดท้ายของเพลง ก่อนที่สุ้มเสียงเหล่านี้จะค่อย ๆ เงียบลงไปเรื่อย ๆ จนไปสู่ความเงียบสงบในท้ายที่สุด หรือจะเป็น “Hey Jude” ที่มีท่อนเฟดเอาต์ที่ยาวพอ ๆ กับท่อนปกติของเพลง นอกจากนี้ยังมีการเฟดแบบหลอก ๆ ในเพลง “Helter Skelter” ที่ดูเหมือนว่าเพลงกำลังจะจบลง แต่จู่ ๆ เสียงดนตรีก็ดังขึ้นมาอีกครั้ง (คล้าย ๆ กับ “Strawberry Field Forever”)
ในบางมุมเฟดเอาต์ก็ถูกมองว่าเป็นการจบเพลงแบบขี้เกียจเพราะไม่รู้ว่าจะจบอย่างไรดี แต่ในความเป็นจริงแล้วมีวิธีที่น่าสนใจในการใช้มัน อย่างการใส่ความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้ฟังในไม่กี่วินาทีก่อนที่ทุกอย่างจะเงียบลง ยกตัวอย่างเช่น เสียงกล่องดนตรีที่ค่อย ๆ เลือนหายไปในเพลง “I’m Not in Love” ของ 10cc หรือเสียงของฟลูตในเพลง “Caroline, No.” ของ The Beach Boys “Life During Wartime” ของ Talking Heads ก็ไม่ได้จบเพลงด้วยการจางหายไปในท่อนบรรเลงหรือเล่นท่อนคอรัสซ้ำ ๆ แต่กลับจบลงด้วยการที่ เดวิด เบิร์น (David Byrne) ร้องเพลงท่อนใหม่ทั้งหมด มันทำให้ผู้ฟังเกิดความสงสัยว่า “เพลงนี้มีเนื้อเพลงอีกกี่ท่อนเนี่ย ?” ซึ่งปริศนานี้ได้รับการไขกระจ่างในเวอร์ชันปี 2005 ซึ่งปรากฏว่ามีเนื้อเพลงต่อไปจากนั้นอีกนิดหน่อย (ในเวอร์ชันแสดงสดได้ทำเก๋ด้วยการให้เดวิด เบิร์นร้องไปวิ่งไป และพอถึงใกล้ ๆ ท่อนเฟดเอาต์ เบิร์นก็ร้องไปจนถึงจุดหนึ่งก็ออกไปวิ่งรอบเวทีและปล่อยให้วงบรรเลงไปเรื่อย ๆ)
ความเป็น ‘ศาสตร์’ ของการเฟดเอาต์
และนี่ก็คือตัวอย่างความเป็น ‘ศิลป์’ ของเฟดเอาต์ส่วนความเป็น ‘ศาสตร์’ นั้นซูซาน โรเจอร์ส (Susan Rogers) โปรดิวเซอร์ ซาวด์เอนจิเนียร์ และอาจารย์จาก Berklee College of Music นั้นได้อธิบายว่าการเฟดเสียงที่ถูกต้องนั้นจะต้องทำในสิ่งที่เรียกว่า ‘Chasing the Fade’ ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วย Fletcher-Munson Curve ที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับเสียงและการได้ยินย่านเสียง เธอยกตัวอย่างว่าในระดับเสียงที่ 100db หูของเราจะสามารถได้ยินย่านเสียงต่ำ กลาง และสูงได้ แต่หากปรับระดับเสียงลงมาที่ 40db จะพบว่าย่านเสียงเดียวที่เราได้ยินคือย่านกลางซึ่งเป็นย่านของเสียงร้อง นั่นหมายความว่าถ้าการเฟดนั้นมีการปรับระดับเสียงของทั้ง 3 ย่านเสียงลงมาในระดับเดียวกันพอถึงจุดหนึ่งเราจะได้ยินแต่เสียงของนักร้อง ซึ่งซูซานได้ใช้เทคนิคนี้ในเพลง “Slow Love” ของ Prince ที่เธอเป็นซาวด์เอนจิเนียร์ และหากอยากให้เสียงทั้ง 3 ย่านมีการเฟดไปพร้อม ๆ กันโวลลุ่มเสียงของย่านกลางจะต้องถูกปรับลงมาให้ต่ำกว่าอีก 2 ย่านดังภาพด้านล่างนั่นเอง
การเฟดที่ดีนั้นไม่ได้เป็นแค่การหมุนปรับลูกบิดเท่านั้น เจฟฟ์ รอธส์ไชลด์ (Jeff Rothschild) ซาวด์เอนจิเนียร์ที่เคยร่วมงานกับ Bon Jovi และ Nelly Furtado ได้อธิบายว่าการจะเฟดให้ดีนั้นต้องปรับเสียงให้ “ลดลงอย่างเร็วในตอนแรก” จากนั้นจึงค่อย ๆ ให้มันเงียบลง “นั่นคือสิ่งที่ฟังดูเป็นธรรมชาติสำหรับหูของคุณ” เช่นเดียวกับองค์ประกอบของเพลง การเฟดเอาต์ก็มีจุดเริ่มต้น ตรงกลาง และจุดสิ้นสุดเหมือนกัน
เดวิด ฮูรอน (David Huron) จาก School of Music and Center for Cognitive and Brain Sciences ที่ มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตทได้ตีความการเฟดเอาต์ในมิติที่แตกต่างออกไป “ด้วยการใช้เฟดเอาต์ ดนตรีสามารถชะลอการจบลงของมันอย่างไม่มีกำหนด” ฮูรอนเขียนไว้ใน ‘Sweet Anticipation: Music and the Psychology of Expectation’ “ท่วงทำนองของการ ‘หยุด’ ถูกแทนที่ด้วยท่วงทำนองของความเป็น ‘อนันต์’ ” แนวคิดของฮูรอนได้รับการสนับสนุนเชิงประจักษ์จากผลการวิจัย นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการดนตรีของมหาวิทยาลัยดนตรีฮันโนเวอร์ในเยอรมนีได้ให้นักศึกษาดนตรีเคาะจังหวะของเพลงเดียวกันในเวอร์ชันต่าง กัน เวอร์ชันหนึ่งจบลงด้วยการเฟดเอาต์ อีกเวอร์ชันจบลงด้วยการจบแบบโคลด์เอนดิ้ง เมื่อฟังตอนจบแบบโคลด์เอนดิ้ง นักศึกษาจะหยุดเคาะโดยเฉลี่ย 1.04 วินาทีก่อนเพลงจบ ส่วนตอนที่ฟังเฟดเอาต์ การเคาะของพวกเขายังคงดำเนินต่อไป 1.40 วินาทีหลังจากเพลงจบ นี่แสดงให้เห็นว่าการเฟดเอาต์ช่วยให้บทเพลงสามารถมีชีวิตอยู่ได้นอกเหนือจากตัวตนทางกายภาพของมัน ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าบทเพลงยังไม่สิ้นสุดลงอย่างแท้จริงและยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ไร้สิ้นสุด
ดังนั้นเฟดเอาต์จึงไม่ได้เป็นแค่เพียงเรื่องของเทคนิค แต่หากมองในเชิงปรัชญาแล้วเฟดเอาต์ได้เป็นตัวแทนของความหวังที่เกิดขึ้นในชั่วขณะของความตายและให้สัมผัสของความเป็นนิรันดร์ในช่วงเวลานั้น บางทีมันอาจจะแสดงออกถึงการหลบหนีจากโลกเชิงกายภาพที่มีขอบเขตจำกัด ไปสู่ช่วงเวลาของอิสรภาพและความเป็นนิรันดร์
ก็ถ้ามันดีอย่างนี้แล้วทำไมเฟดเอาต์ถึงเสื่อมความนิยมลง ?
เราสามารถพบเสน่ห์ของเฟดเอาต์ได้ในบทเพลงอมตะหลายต่อหลายเพลงเช่น “Let’s Stay Together” ของ Al Green, “Like a Prayer” ของ Madonna หรือว่า “Crazy in Love” ของ Beyonce’ แต่สุดท้ายแล้วเทคนิคสร้างสรรค์ที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์นี้ก็ค่อย ๆ เฟดเอาต์สมดังชื่อของมัน เชื่อว่าในปัจจุบันมีหลายต่อหลายเพลงที่เราฟังแล้วรู้สึกขัดใจและคิดว่าหากใช้เฟดเอาต์จบเพลงมันคงดีกว่านี้แน่ เช่น “That’s What I Like” ของ Bruno Mars หรือ “Heartless” ของ Kanye West ก็ถ้ามันดีแบบนี้แล้วทำไมจู่ ๆ เฟดเอาต์ถึงค่อย ๆ เสื่อมความนิยมไป
ลองมาดูข้อสันนิษฐานแรกจากทางฝั่งของจิตวิทยากันก่อน ถึงแม้ว่าเฟดเอาต์จะให้ความรู้สึกว่าช่วงเวลาของบทเพลงนั้นจะอยู่กับเราตลอดกาล แต่ความรู้สึกที่เราต้องการจุดจบของสิ่งใดสิ่งหนึ่งในชีวิตนั้นเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้บทเพลงในทศวรรษที่ 90s ตัดสินใจที่จะจบลงแบบโคลด์เอนดิ้ง ความนิยมในการจบแบบโคลด์เอนดิ้งอาจมีความสัมพันธ์กับ “Need for Closure Scale” ซึ่งเป็นมาตรวัดทางจิตวิทยาที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในปี 1993 (เพื่อใช้วัดระดับของความต้องการความแน่นอนในเรื่องต่าง ๆ ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงในมาตรวัดนี้ จะเป็นคนที่ไม่ชอบความคลุมเครือ มีการตัดสินใจอย่างรวดเร็วและมีความคิดเห็นที่หนักแน่น) พบว่าช่วงเวลานั้นเฟดเอาต์ก็เริ่มค่อย ๆ หายไปจากวงการเพลงและถูกแทนที่ด้วยการจบแบบโคลด์เอนดิ้ง
ข้อสันนิษฐานต่อมาคือการเกิดขึ้นของ iPod ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ Apple ได้พัฒนาขึ้นในปี 2001 ทำให้เราสามารถเร่งความเร็วหรือกดเปลี่ยนไปที่เพลงต่อไปได้ง่ายเพียงสัมผัส ดังนั้นใครล่ะจะหยุดรอให้เพลงจบลง ผู้ฟังในยุคนั้นจึงตัดสินใจเลือกไปเพลงต่อไปโดยไม่รีรอที่จะให้เพลงจบลงด้วยการเฟดเอาต์ อิตาล เชอร์ (Itaal Shur) นักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ผู้ร่วมแต่งเพลงกับซานตานา (Santana) ในเพลง “Smooth” กล่าวว่า “เรากำลังอยู่ในวัฒนธรรมของการกดข้าม ลืมวินาทีสุดท้ายของเพลงไปได้เลย” เชอร์กล่าว “ลองไปที่คลับแล้วคุณจะพบว่าคุณคงไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังท่อนที่ 3 ของเพลงด้วยซ้ำก่อนที่ดีเจจะเล่นเพลงถัดไป ดนตรีเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบิลต์อารมณ์ไปแล้ว” เขากล่าว “เมื่อถึงจุดพีคแล้ว ก็ได้เวลาไปต่อ”
หรือบางทีคำตอบอาจเป็นอะไรที่ง่ายกว่านี้ การที่เฟดเอาต์ได้เสื่อมความนิยมลงไปอาจด้วยเหตุผลเดียวกับที่เราหยุดใส่เสื้อผ้าบางสไตล์ มันเป็นเรื่องของพลังลึกลับจากจิตสำนึกส่วนรวมที่มนุษย์ต่างรู้สึกไปในทิศทางเดียวกันในช่วงเวลาหรือในยุคหนึ่ง ๆ
เมื่อบริบทและปัจจัยแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไป ความนิยมในบางสิ่งบางอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ถึงแม้ในบางครั้งเราเองก็ไม่รู้ว่าทำไมความสนใจและความนิยมถึงเปลี่ยนไปในทิศทางนั้น ก่อนที่สิ่งใหม่จะเข้ามาแทนที่ และไม่แน่ว่าในวันข้างหน้าเราอาจพบกับวิธีการจบเพลงที่แตกต่างออกไปเกินกว่าที่จะจินตนาการได้ในวันนี้
ที่มา
A Little Bit Softer Now, a Little Bit Softer Now …
Why more pop songs should end with a fade out
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส