จะเป็นเช่นไรเมื่อบุรุษพยาบาลคนหนึ่งสวมบทเป็น ‘เทวดาแห่งความตาย’ ตัดสินใจแอบปลิดชีวิตของผู้ป่วยไปนับสิบ เพื่อที่ว่าผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน แม้ผู้ป่วยและญาติจะไม่รู้เรื่องเลยก็ตาม กลายเป็นประวัติศาสตร์อันดำมืดของวงการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา ที่ผู้ก่อเหตุคือบุคลากรทางการแพทย์ จนทาง Netflix ได้หยิบเรื่องราวนี้มานำเสนอในหนังเรื่อง ‘The Good Nurse’ เขาคนนี้เป็นใครกัน ทำไมถึงตัดสินใจทำเช่นนั้น ถ้าพร้อมแล้วไปชมกันได้เลย
ประวัติโดยย่อของฆาตกร
ฆาตกรคนนี้ชื่อว่า ชาร์ลส์ คันเลน (Charles Cullen) เป็นลูกคนที่ 8 ของครอบครัว เกิดวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1960 เมืองเวสต์ออเรนจ์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ประเทศสหรัฐ ฯ ครอบครัวเขามีสถานะทางการเงินที่ขัดสน เมื่อเกิดได้ 7 เดือน คุณพ่อก็เสียชีวิตลง ชีวิตตอนเด็กคันเลนนั้นค่อนข้างมีปัญหา เพราะพี่ ๆ นั้นนิสัยไม่ดีชอบทำร้ายเขา รวมถึงถูกเพื่อนบูลลี่ ในที่สุดด้วยวัย 9 ปี เขาดื่มสารเคมีหลายชนิดในห้องทดลองของโรงเรียนเพื่อฆ่าตัวตายแต่ก็ถูกช่วยไว้
ผ่านไปอีก 7 ปี คุณแม่ก็จากไปจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เขาลาออกก่อนจะจบ ม.ปลายอีกแค่ปีเดียว ไปเป็นช่างเทคนิคขีปนาวุธในกองทัพเรือ เขาทำงานได้ดีเลื่อนยศเป็นผู้ช่วยผู้บังคับการแต่ด้วยบุคคลิกภาพที่ผิดแปลกจากคนทั่วไป ทำให้ถูกลูกเรือบูลลี่ และอยากฆ่าตัวตายถึง 7 ครั้ง แต่ก็รอด ไปปรึกษาเรื่องนี้กับหมอ หมอก็ช่วยไรไม่ได้มาก ในที่สุดเขาก็ถูกปลดประจำการ โดยทางเบื้องบ้นอ้างว่า มีโรคประจำตัว
เข้าสู่งานบุรุษพยาบาล
ในวัย 24 ปี หลังจากถูกปลดจากกองทัพเรือ คัลเลนตัดสินใจเข้าเรียนที่โรงเรียนพยาบาล ‘Mountainside Hospital School of Nursing’ เพื่อเป็นบุรุษพยาบาล เขานั้นเรียนดีและเป็นมิตรกับคนทุกคน เขาจบการศึกษาด้วยวัย 27 และแต่งงานกับ สาวโปรแกรมเมอร์ แอเดรียน เทาบ์ (Adrienne Taub) (หย่าร้างกันภายหลัง) แถมในปีเดียวกันก็ได้งานบุรุษพยาบาลดูแลผู้ป่วยถูกไฟไหม้ที่ ‘St. Barnabas Medical Center’ รัฐนิวเจอร์ซีย์ อีกด้วย
ก่อเหตุฆาตกรรมครั้งแรก
ผ่านไปเพียงแค่ 1 ปี คันแลนก็เริ่มก่อเหตุฆาตกรรมผู้ป่วย โดยเหยื่อรายแรกนั้นเป็น ผู้พิพากษาเกษียณอายุ วัย 72 ปี ชื่อว่า จอห์น เยงโก (John Yengo) เข้ามารักษาด้วยอาการผิวไหม้เพราะแพ้แสงแดดอย่างรุนแรง แทนที่จะรักษาผู้ป่วยคนนี้คันเลนกลับฆาตกรรมเขาโดยฉีดยา ลิโดเคน (Lidocaine) เกินขนาด ซึ่งเป็นยาที่ระงับความรู้สึกเฉพาะที่ แต่ถ้าฉีดเกินขนาด หัวใจจะเต้นช้าหรืออาจหยุดเต้นจนเสียชีวิตในที่สุด
ไม่ใช่แค่ชายคนนี้ที่ถูกฆาตกรรมในโรงพยาบาลนี้ มีผู้ป่วยหลายรายเสียชีวิตจากการถูกฉีดยาเกินขนาด หนึ่งในนั้นเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เสียชีวิตจากการได้รับอินซูลิน (Insulin) เกินขนาด
ฆาตกรรมแล้วเปลี่ยนโรงพยาบาลไปเรื่อย ๆ
หลังจากทำงานอยู่ที่นี่มา 5 ปี คันแลนถูกไล่ออกจากโรงพยาบาลเพราะถูกจับได้ว่าใส่อินซูลินในถุงน้ำเกลือของผู้ป่วย แต่ด้วยข้อมูลพนักงานและประวัติผู้ป่วยของแต่ละโรงพยาบาลจะไม่ลิงก์กันในยุคนั้น ทำให้ประวัติเขาขาวสะอาดทุกครั้งที่ย้ายไปโรงพยาบาลใหม่ เล่ากันว่า 16 ปี ที่เขาทำงานเป็นบุรุษพยาบาล เขาเปลี่ยนที่ทำงานมาแล้วกว่า 9 ที่ด้วยกัน พอจะโดนจับได้หรือทำผิดกฎจนโดนไล่ออกก็แค่หาที่ทำงานใหม่เพียงเท่านั้น
ยาที่เขานิยมใช้ฆาตกรรมผู้ป่วยมักจะเป็น ดิจอกซิน (Digoxin) ซึ่งเป็นยารักษาผู้ป่วยอาการหัวใจล้มเหลวหรือเต้นผิดจังหวะ และยาอินซูลิน เหยื่อของคันแลนรายหนึ่งก่อนเธอจะเสียชีวิต เธอได้บอกกับคนในครอบครัวว่า มีบุรุษพยาบาลคนหนึ่งฉีดยาอะไรก็ไม่รู้ให้เธอ จากนั้นอาการเธอก็ทรุดหนักและเสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลว ไม่นานคัลเลนก็ชิงลาออกจากโรงพยาบาลนี้ทันทีหลังผ่านการสืบสวนคดีผู้ตายผ่านเครื่องตรวจจับเท็จ ซึ่งเครื่องจับเท็จจับโป๊ะเขาไม่ได้
ถูกจับกุม เพราะ ห่วงคนรัก
ในปี 2002 คัลเลนได้ทำงานที่โรงพยาบาล ‘Somerset Medical Center’ โรงพยาบาลสุดท้ายของเขา ซึ่งเขาจะฆาตกรรมผู้ป่วยมากถึง 13 คน ภายในปีเดียว ด้วยการฉีดยาดิจอกซินเกินขนาด จนฝ่ายเภสัชกรสงสัยว่า ใครเบิกยาดิจอกซินเยอะผิดปกติและมีผู้ป่วยจำนวนมากเสียชีวิตจากการได้รับดิจอกซินเกินขนาด จึงเรียกหน่วยงานรัฐที่เชี่ยวชาญเรื่องยาพิษชื่อว่า ‘New Jersey Poison Information and Education System’ มาสืบสวนคดีนี้
ในระบบคอมพิวเตอร์พบว่า คัลแลนเป็นคนเบิกยาดิจอกซินที่มากผิดปกติรวมถึงยาอื่น ๆ และเมื่อสืบประวัติการทำงานย้อนกลับไปก็พบว่า เกือบทุกโรงพยาบาลที่เขาทำงานจะมีผู้ป่วยเสียชีวิตเพราะได้รับดิจอกซินเกินขนาด แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานที่จะมัดตัวเขาได้ ตำรวจจึงออกอุบาย ให้เพื่อนร่วมงานที่คัลเลนตกหลุมรักชื่อว่า เอมี ราวเกร็น (Amy Loughren) ออกอุบายให้เขาสารภาพผิด และเก็บหลักฐานเสียงไว้
เธอเรียกคัลเลนมาที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง บอกคัลเลนว่า เธอรู้เรื่องที่เขาฆาตกรรมผู้ป่วย และเธอจะช่วยในการสู้คดี คัลเลนก็อึ้งไปสักพัก แต่ไม่ได้สารภาพความผิดแต่อย่างใด เธอจึงกลับไปเตรียมการอีกครั้ง และเรียกคัลเลนมาพบกันอีกรอบ รอบนี้เธอใช้อุบายว่า ตอนนี้เธอเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับเขาและเธออาจถูกจับไปด้วย ด้วยความเป็นห่วงคนรักจะถูกจับ คัลเลนจึงสารภาพผิด และยอมมอบตัวแต่โดยดี
แรงจูงใจในการฆาตกรรม
คัลเลนสารภาพว่า เขาฆาตกรรมไปทั้งหมด 40 คน แต่สามารถระบุชื่อได้จริง ๆ เพียง 29 คน บางแหล่งอ้างว่าตัวเลขจริง ๆ อาจมีมากถึง 10 เท่า เมื่อถูกถามเกี่ยวกับแรงจูงใจในการฆาตกรรม คัลเลนจึงตอบว่า ‘นี่ไม่ใช่การฆาตกรรมแต่นี่คือการเมตตา’ เพราะเขาไม่อยากให้ผู้ป่วยต้องทรมานจากโรคที่เป็นอยู่ จึงสวมบทเป็นเทวดาส่งพวกเขาไปสู่สวรรค์
เมื่อถูกวินิจฉัยจากจิตแพทย์พบว่า เขามีอาการป่วยทางจิต อาทิ อาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง เพราะที่ผ่านมาก็พยายามฆ่าตัวตายมาหลายครั้ง, มีบุคคลิกภาพต่อต้านสังคม จากปมตอนเด็ก และ มีพฤตกรรมชอบทารุณกรรมสัตว์
ผลกระทบหลังจากนั้น
คัลเลนได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต 11 รอบ หรือประมาณ 397 ปี ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ และหลังจากเกิดคดีนี้ ทำให้สาธารณสุขของประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องมีการยกเครื่องกันใหม่ เพราะนี่คือคดีแรกที่ผู้ก่อเหตุเป็นบุคคลากรทางการแพทย์ มีการเชื่อมข้อมูลโรงพยายาลเข้าหากัน พิสูจน์สาเหตุการตายของผู้ป่วยให้ละเอียดขึ้น และที่สำคัญสุดคือ เกณฑ์ในการสมัครที่เข้มงวดมากขึ้น
หากใครอยากรู้เรื่องราวของฆาตกรคนนี้เพิ่มเติม ก็มีการนำเหตุการณ์จริงนี้มาทำเป็นหนังให้เราได้ชมกัน ชื่อเรื่องว่า ‘The Good Nurse’ รับชมได้แล้วที่ Netflix
ที่มา: หนังสือ ‘Inside the Minds of Healthcare Serial Killers: Why They Kill’ , ati , CRIME+ INVESTIGATION , TIME , Beatrice Yorker , muderpedia , SEVENTEEN
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส