ครบรอบ 45 ปีแล้วสำหรับอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ ‘Saturday Night Fever’ ที่วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 1977 กับท่วงทำนองอันไพเราะจากวง Bee Gees บนเรื่องราวอันสนุกสนานและน่าประทับใจในภาพยนตร์ดิสโก้ระดับตำนานที่นำแสดงโดย จอห์น ทราโวลตา (John Travolta) ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามทั้งเป็นอัลบั้มแห่งปีของแกรมมี่ เป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์และยังคงเป็นอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ที่มียอดขายสูงสุดเป็นอันดับ 2 ตลอดกาลรองจาก The Bodyguard ซึ่งขายได้มากกว่า 40 ล้านชุดทั่วโลก
เป็นที่น่าสนใจไม่น้อยที่การเริ่มต้นของเพลงประกอบภาพยนตร์ ‘Saturday Night Fever’ เกิดขึ้นบนที่ดินสมัยศตวรรษที่ 18 ในชนบทของฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ห่างจากถนนบรูคลินกว่า 3,000 ไมล์ นั่นคือ ‘Château d’Hérouville’ สถานที่กำเนิดผลงานเพลงอันยอดเยี่ยมมากมาย ทั้งยังเคยเป็นสถานที่ในภาพวาดของ แวนโก๊ะในช่วงฤดูร้อนปี 1890 ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตไม่นาน อีกทั้งยังเป็นที่พำนักของนักประพันธ์เพลงคลาสสิกยุคโรแมนติกในตำนานอย่างโชแปง ซึ่งต่อมาสถานที่แห่งนี้ได้เปลี่ยนเป็นสตูดิโอบันทึกเสียงในต้นปี 1970 เอลตัน จอห์น (Elton John) เป็นหนึ่งในนักดนตรีป๊อปชื่อดังคนแรก ๆ ที่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นที่นั่น ซึ่งต่อมาได้รับการขนานนามว่า ‘Honky Château’ นอกจากนี้ยังมี Uriah Heep, Iggy Pop, Marvin Gaye, Fleetwood Mac และ Cat Stevens ที่ได้ให้กำเนิดผลงานอันยอดเยี่ยมจากสตูดิโอแห่งนี้
Bee Gees ได้จับมือกับโปรดิวเซอร์ร่วมของพวกเขา อัลบี กาลูเตน (Albhy Galuten) และ คาร์ล ริชาร์ดสัน (Karl Richardson) พร้อมด้วยสมาชิกในวงอย่าง เดนนิส ไบรอัน (Dennis Bryon) – กลอง, อลัน เคนดัล (Alan Kendall) – กีตาร์ และ บลู วีฟเวอร์ (Blue Weaver) – คีย์บอร์ด สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าร่วมกัน ณ ชาร์โต Hérouville แห่งนี้ในช่วงต้นปี 1977 ในตอนแรก Bee Gees มาที่นี่เพื่อที่จะทำการมิกซ์อัลบั้ม ‘Here at Last…Bee Gees…Live’ อัลบั้มบันทึกการแสดงสดจากคอนเสิร์ตที่ The Forum ในลอสแองเจลิสในเดือนธันวาคม 1976 ซึ่งเหตุผลในการเลือกสถานที่นี้ในการทำอัลบั้มเป็นเหตุผลทางด้านการเงินล้วน ๆ เพราะการบันทึกเสียงและผลิตผลงานที่นี่ช่วยให้หลีกพ้นจากภาษีที่แพงหูฉี่ในอเมริกายุคนั้นได้
ในช่วงเวลานั้น Bee Gees ที่เคยเงียบเหงาซบเซาไปในช่วงต้นยุค 70s ก็ได้กลับมาเฉิดฉายอีกครั้งหลังจากที่ปล่อยอัลบั้ม ‘Main Course’ ในปี 1975 และ ‘Children of the World’ ในปี 1976 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานท่วงทำนองอาร์แอนด์บีให้เข้ากับสไตล์เพลงของ Bee Geesได้เป็นอย่างดี อันเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมและเสียงชื่นชมจากแฟน ๆ อีกทั้งในช่วงเวลานั้น Bee Gees มีซิงเกิลอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกาถึง 2 เพลงคือ “Jive Talkin” และ “You Should Be Dancing” รวมถึงเพลงฮิตอื่น ๆ ทั้ง “Love So Right” และ “Nights on Broadway”
และที่สำคัญคือการใช้เสียงร้องในสไตล์เสียงหลบอันชวนอิ่มเอิบของแบรี กิบบ์ (Barry Gibb) ซึ่งปรากฏเป็นครั้งแรกผ่านการสนับสนุนของโปรดิวเซอร์มือเก๋าอาริฟ มาร์ดิน (Arif Mardin) ในช่วงที่ทำเพลงในอัลบั้ม ‘Main Course’ และนี่คือองค์ประกอบสำคัญที่ผสานเข้ากับท่วงทำนองของ Bee Gees ได้อย่างกลมกล่อมลงตัวก่อเกิดเป็นเอกลักษณ์ที่จะปรากฏในผลงานของพวกเขาตั้งแต่นั้นมา
พี่น้องกิบบ์ กาลูเตน และริชาร์ดสัน เริ่มทำงานในสตูดิโออัลบั้มชุดต่อไปของ Bee Gees ในต้นปี 1977 ระหว่างที่พวกเขาพำนักอยู่ที่ชาร์โต Hérouville ในตอนนั้น กาลูเตนมีความรู้สึกว่า ‘ของ’ ที่พวกเขามีในตอนนั้นรับประกันได้ว่าพวกเขาจะสามารถสร้างความสำเร็จในแบบที่เคยได้รับจาก 2 อัลบั้มที่ผ่านมาอย่างแน่นอน และแน่นอนว่าพวกเขาประสบความสำเร็จจริง ๆ และยังมีสิ่งที่พวกเขาอาจคิดไม่ถึงก็คือผลพวงจากการทำงานในครั้งนั้นไม่เพียงเพิ่มเพลงฮิตให้กับ Bee Gees เท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการปฏิวัติทางดนตรีและวัฒนธรรมอีกด้วย
โรเบิร์ต สติกวูด (Robert Stigwood) ผู้จัดการของ Bee Gees ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง RSO Records ได้ขัดจังหวะความคืบหน้าของอัลบั้มใหม่ด้วยการตัดสินใจของเขาที่จะสร้างภาพยนตร์ที่อิงจากบทความของนิก โคห์น (Nik Cohn) คอลัมนิสต์เพลงชาวอังกฤษในนิตยสาร New York ฉบับเดือนกรกฎาคม 1976 เรื่อง “Tribal Rites of the New Saturday Night Night ” ที่นำเสนอเรื่องจริงเกี่ยวกับการรุ่งเรืองเฟื่องฟูของชีวิตและเสียงดนตรีในดิสโก้คลับในย่านชนชั้นแรงงานของบรูคลิน (ซึ่งภายหลังโคห์นได้ยอมรับว่างานชิ้นนี้เป็นเรื่องแต่ง) และตัวละครที่ปรากฏในผลงานของโคห์นได้ดลใจให้สติกวูดเลือกที่จะเล่าเรื่องราวเหล่านี้บนจอภาพยนตร์
สติกวูดเลยมาถาม Bee Gees และผู้ร่วมงานของเขาว่าพวกเขาจะทิ้งโปรเจกต์ที่กำลังทำอยู่และมอบเพลงที่เพิ่งสร้างใหม่บางเพลงของพวกเขาให้กับซาวด์แทร็กของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้หรือไม่ ซึ่งต่อมากาลูเตนได้ยืนยันว่าเพลงส่วนใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในอัลบั้ม ‘Saturday Night Fever’ ถูกเขียนขึ้นแล้วในตอนที่สติกวูดได้ติดต่อมา ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรเกี่ยวกับหนังเลย แถมยังไม่ได้เป็นเพลงที่เขียนขึ้นมาเพื่อประกอบหนังเรื่องนี้ตั้งแต่แรก แต่บทเพลงเหล่านี้กลับทำหน้าที่ประกอบเรื่องราวและห้วงอารมณ์ในหนัง ‘Saturday Night Fever’ ได้เป็นอย่างดี
ว่ากันจริง ๆ แล้ว ‘Saturday Night Fever’ นั้นถูกขับเคลื่อนด้วยบทเพลงเพียง 5 เพลงเท่านั้นคือ “Stayin’ Alive”, “How Deep Is Your Love”, “Night Fever” และ “More Than A Woman” ของ Bee Gees และ “If I Can’t Have You” ของ อีวอนน์ เอลลิแมน (Yvonne Elliman) ซึ่งเป็นผลงานการแต่งของ Bee Gees ด้วยเหมือนกัน
“Stayin ‘Alive” เป็นเพลงแรกที่เราจะได้ยินในตอนที่ดูหนังเรื่องนี้เพราะมันมาตั้งแต่เครดิตเปิดของหนัง และแน่นอนว่าภาพลักษณ์ของโทนี่ มาเนโร (Tony Manero) ที่รับบทโดยทราโวลตาที่มาพร้อมมาดที่ดูองอาจและยียวนกวนใจนั้นกลับประสานกันอย่างลงตัวกับท่วงทำนองของเพลง และได้กลายเป็นหนึ่งในความเท่ของหนัง ในตัวของเพลงนี้เองมันก็เป็นเพลงป๊อปดิสโก้ที่เกิดขึ้นจากส่วนผสมที่เหมือนจะขัดแย้งแย้งกันแต่กลับผสานกันได้อย่างลงตัวทั้งท่วงทำนองอันไพเราะกระฉับกระเฉง เสียงร้องแหลมลึกทรงพลังของแบรี่ และเนื้อร้องที่ถ่ายทอดการเอาชีวิตรอดตามท้องถนน เสียงประสานของ Bee Gees กับเสียงเครื่องเป่าและเครื่องสายเป็นความกลมกล่อมลงตัวอย่างที่สุด
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดดนตรีที่น่าสนใจอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นจังหวะอันเฉียบคมและชวนโยกย้ายจากไบรอันมือกลอง ซึ่งเสียงกลองอันแม่นยำที่เราได้ยินกันนั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นลูป ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ไบรอันต้องกลับไปเยี่ยมพ่อที่ป่วย ทุกคนที่เหลือก็เลยใช้วิธีตัดแซมเปิลเสียงจากท่อนกลองในเพลง “Night Fever” มาใช้และปรับแต่งให้เข้ากันกับเพลง ซึ่งตอนแรกคิดแค่ว่าถ้าไบรอันกลับมาก็จะอัดกลองจริง แต่พอฟังไปฟังมากลับรู้สึกว่ามันน่าสนใจดีก็เลยใช้แบบนี้ในที่สุด ในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีการทำเพลงยังไม่ได้ครบเครื่องและสะดวกสบายอย่างในทุกวันนี้ สิ่งที่พวกเขาทำก็นับว่าล้ำและเจ๋งดีไม่น้อยเลย
ส่วนเสียงริฟฟ์กีตาร์ในท่อนเปิดของเพลงก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลงอาร์แอนด์บีคลาสสิกในปี 1972 ของเบ็ตตี ไรต์ (Betty Wright) ชื่อว่า “Clean Up Woman” และเสียงเบสในเพลงนี้ก็ไม่ใช่สไตล์ที่มอริซเล่นเป็นประจำ ซึ่งจะมีความเป็นอังกฤษมากกว่าที่จะมาในแนวโซลของอเมริกัน แต่ในเพลงนี้จะมีความเป็นโซลอาร์แอนด์บีอยู่มาก ซึ่งเป็นแนวทางที่กาลูเตนพยายามไกด์ให้มาริซลองเล่นดู
และจริง ๆ แล้วเราก็เกือบจะไม่ได้ฟังเพลงนี้ในแบบฉบับสุดลงตัวอย่างที่เราได้ฟังกัน เพราะโปรดิวเซอร์หนังได้เข้ามาแทรกแซงขอให้มีการเปลี่ยนแปลงตัวเพลง เพราะตอนแรกตั้งใจที่จะใช้มันในฉากเต้นรำตรงกลางของหนังไม่ได้ใช้ในฉากเปิดอย่างที่เป็น ก็เลยอยากให้มีช่วงเบรกกลางเพลงเพื่อใส่ความเป็นบัลลาดลงไป ซึ่งทั้ง Bee Gees และโปรดิวเซอร์ก็ทำตาม แต่ปรากฏว่าพวกเขาเกลียดมันมาก ก็เลยแนะนำให้ใช้เพลงนี้ในเครดิตเปิดเรื่องแทน พร้อมทั้งยืนยันว่ามันเป็นทางเลือกที่ถูกต้องแล้ว เพราะพวกเขามองมันจากมุมมองของคนทำเพลงไม่ใช่คนทำหนัง และเพลง “Stayin ‘Alive” นั้นมีองค์ประกอบของความเป็นเพลงที่ป๊อปที่ฮิตอย่างครบถ้วน ซึ่งถ้าไปเปลี่ยนแปลงมันแล้วมันจะไม่ใช่เลย และในที่สุดผลลัพธ์ที่ออกมาก็ได้ยืนยันว่าพวกเขาคิดถูก เพลงนี้นอกจากจะทำให้หนังเปิดตัวมาอย่างน่าสนใจแล้วยังกลายเป็นหนึ่งในแทร็กที่ฮิตถล่มทลายที่สุดของ Bee Gees อีกด้วย
ต่อด้วยเพลงบัลลาดสุดไพเราะ “How Deep Is Your Love” ซิงเกิลนำของ ‘Saturday Night Fever’ ที่มาพร้อมความอบอุ่นนุ่มนวลชวนฝัน การแกว่งไกวไปมาระหว่างเสียงคอร์ดเมเจอร์และคอร์ดไมเนอร์ที่ร้อยเรียงกันไปในท่วงทำนองของดนตรีอาร์แอนด์บี พร้อมเสียงร้องในระดับเสียงเทเนอร์ที่เปล่งออกมาอย่างเป็นธรรมชาติและโดดเด่นของแบรี่ที่ทำให้เขาถ่ายทอดเนื้อหาของบทเพลงได้อย่างชัดเจน อิ่มเอิบ และลุ่มลึก ผสานไปกับซาวด์ดนตรีดี ๆ ที่มาจากเสียงเปียโน Fender Rhodes จากการบรรเลงของบลู วีฟเวอร์ และการเรียบเรียงเสียงเครื่องสายของกาลูเตน ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบที่โดดเด่นในบทเพลงนี้
“How Deep Is Your Love” ไม่ใช่เพลงที่จะเขียนขึ้นมากันง่าย ๆ มันหล่อหลอมจากประสบการณ์ของการทำงานร่วมกัน ถักทอเป็นชั้น ๆ และใช้เวลา จึงทำให้การฟ้องร้องคดีเรื่องลิขสิทธิ์เพลงจากนักดนตรีและนักแต่งเพลงนาม รอน เซลล์ (Ron Selle) ที่ฟ้องร้อง Bee Gees ในปี 1984 ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ เซลล์กล่าวหาว่าแบรี่ โรบินและมอริซ ลอกเลียนแบบเพลงที่เขาเขียนขึ้นมาในปี 1975 เนื่องจากเพลงของเขาและเพลง “How Deep Is Your Love” มีท่อน 8 บาร์ 2 ท่อนที่มีดนตรีเหมือนกัน ในตอนแรกผู้พิพากษาตัดสินให้เซลล์เป็นฝ่ายชนะ แต่ต่อมาถูกยกฟ้องในการอุทธรณ์ โดยอ้างว่าเซลล์ไม่มีข้อพิสูจน์ว่า Bee Gees สามารถเข้าถึงเพลงของเซลล์ได้ เพราะแม้ว่าเพลงของเซลล์จะมีลิขสิทธิ์ แต่ก็ไม่ได้เผยแพร่อย่างเป็นสาธารณะ
“Night Fever” เป็นซิงเกิลที่ 3 ของ Bee Gees และซิงเกิลสุดท้ายจากอัลบั้ม ‘Saturday Night Fever’ ซึ่งชื่อเพลงนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับชื่อของหนังที่ในตอนแรกตั้งว่า ‘Saturday Night’ เฉย ๆ เพลงนี้เป็นเพลงอาร์แอนด์บีชั้นยอด ที่มีการเรียบเรียงเสียงออร์เคสตร้าที่โดดเด่น ซึ่งไอเดียของเพลงเริ่มขึ้นในเช้าวันหนึ่งในขณะที่มือคีย์บอร์ดบลู วีฟเวอร์กำลังพยายามทำเพลง “Theme from A Summer Place” ของ The Percy Faith Orchestra ให้ออกมาในเวอร์ชันดิสโก้ด้วยซินธิไซเซอร์เครื่องสายและร้องริฟฟ์ทับไปบนท่วงทำนองที่กำลังเล่นอยู่ แบร์รี่ก็เดินเข้ามาและพูดว่า ‘นั่นอะไรน่ะ’ ด้วยความตื่นเต้นไปกับความ ‘สดใหม่’ ของท่วงทำนองที่ได้ยิน จากนั้นท่วงทำนองของ “Night Fever” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
“More Than A Woman” เป็นเพลงที่แต่งโดย Bee Gees แต่ว่ามี 2 เวอร์ชันอยู่ในอัลบั้ม ‘Saturday Night Fever’ คือของ Bee Gees เอง และของวง Tavares ซึ่งก็ถูกใช้ในหนังทั้ง 2 เวอร์ชันเลย เพลงนี้ได้รับการบันทึกและแสดงโดยศิลปินอีกหลายคนในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพลงนี้นับเป็นหนึ่งในเพลงที่รู้จักกันดีที่สุดของ Bee Gees และมีเวอร์ชันแสดงสดในปี 1997 อยู่ในบันทึกการแสดงสด ‘One Night Only’ ด้วย
เพลง “If I Can’t Have You” ของ อีวอนน์ เอลลิแมน เป็นซิงเกิลที่ 5 และซิงเกิลสุดท้ายของ ‘Saturday Night Fever’ ขึ้นสู่อันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤษภาคม 1978 เป็นเพลงป๊อปที่ยอดเยี่ยมจากฝีมือการแต่งของ Bee Gees เอลลิแมนได้รับการไกด์ในขั้นตอนการบันทึกเสียงจาก เฟรดดี เพอร์เรน (Freddie Perren) นักดนตรีรุ่นเก๋าและอดีตสมาชิกของวงดนตรีระดับตำนานของ Motown ‘The Corporation’ ผู้ร่วมสร้างสรรค์บทเพลงฮิตของ The Jackson 5 นอกจากนี้ “If I Can’t Have You” ในเวอร์ชันของเอลลิแมนยังไปอยู่ในอัลบั้มเพลงประกอบของหนังเรื่อง ‘Big Daddy’ ที่นำแสดงโดย อดัม แซนด์เลอร์ (Adam Sandler) ด้วย ส่วนต้นฉบับเพลงนี้ของ Bee Gees จะอยู่ในหน้า B ของซิงเกิล “Stayin’ Alive” และอยู่ในผลงานรวมเพลง “Their Greatest Hits: The Record”
เมื่อทั้งภาพยนตร์และเพลงประกอบภาพยนตร์ ‘Saturday Night Fever’ ได้ออกเผยแพร่สู่สาธารณะในช่วงปลายปี 1977 มันได้สร้างพายุแห่งความคลั่งไคล้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และอาจไม่มีใครตามรอยความสำเร็จถล่มทลายในรูปแบบนี้ได้อีกในเวลาต่อมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้งบประมาณค่อนข้างต่ำ (ราคาต้นทุนการผลิตเพียง 3.5 ล้านดอลลาร์) และไม่ค่อยมีนักแสดงที่เป็นที่รู้จักนัก เว้นแต่ จอห์น ทราโวลตา ที่กำลังโด่งดังขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนที่เขาจะมารับบทโทนี่ในหนังเรื่องนี้ สุดท้ายหนังทำรายได้มากกว่า 237 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกาและกลายเป็นความสำเร็จระดับตำนานอย่างไม่ต้องสงสัย
ส่วนความสำเร็จของอัลบั้มซาวด์แทร็กก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน เพราะแค่ในช่วงครึ่งแรกของปี 1978 ‘Saturday Night Fever’ ก็ขายได้มากกว่า 50 ล้านชุด ขึ้นสู่อันดับหนึ่งในชาร์ต Billboard Hot 100 ในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 14 สัปดาห์ และในที่สุด Bee Gees ก็ประสบความสำเร็จในระดับที่มีเพียง The Beatles เท่านั้นที่ทำได้ ด้วยการมีเพลง 5 เพลงในชาร์ต 10 อันดับแรกของ Billboard พร้อมกัน อัลบั้มซาวด์แทร็กและภาพยนตร์ ‘Saturday Night Fever’ ได้สร้างกระแสความคลั่งไคล้ในเพลงดิสโก้และในที่สุดอัลบั้มนี้ก็ได้รับรางวัลแกรมมี่ครั้งที่ 21 ในปี 1979 จากสาขาอัลบั้มแห่งปี (Album of The Year) เป็นเกียรติประวัติแก่ Bee Gees และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในงานเพลงอัลบั้มนี้ และเป็นการเชิดชูดนตรีดิสโก้ให้โดดเด่นเป็นสง่าอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการภาพยนตร์และดนตรีตั้งแต่นั้นมา.
ที่มา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส