เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2022 ณ TK Park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ได้มีการจัดงานสัมมนา ‘World Film Festival of Bangkok Forum 2022’ ภายใต้หัวข้อใหญ่ ‘Soft Power of Film’ โดยวงสนทนาถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่วง เริ่มจากหัวข้อ ‘ภาพยนตร์ไทยในฐานะซอฟต์พาวเวอร์กับการก้าวสู่ตลาดภาพยนตร์ในระดับสากล’ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมพูดคุย ได้แก่ ปราโมทย์ บุญนำสุข ผู้เชี่ยวชาญ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, พรชัย ว่องศรีอุดมพร คณะกรรมการ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ หรือผู้แทน และ ฉันทนา ทิพย์ประชาติ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘หน่าฮ่าน’ และ คณะกรรมการสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย
“วงการหนังไทยช่วงสถานการณ์ โควิด 19 มีการใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ทำให้หนังได้ก้าวไปไกลอีกขั้นหนึ่ง ในอนาคตกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์หวังว่าจะมีความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่หลากหลาย ทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเปิดเวทีในการแสดงผลงานแก่ผู้ผลิตสื่อระดับ SME ในประเทศ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ภาพยนตร์และสื่อของไทยได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และก้าวสู่สากล” ปราโมทย์กล่าว
ต่อมาในช่วงบ่ายมีอีกหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจ นั่นก็คือเรื่อง ‘โอกาสของภาพยนตร์ไทยในเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติ’ ซึ่งมีผู้ร่วมวงสนทนา 6 ท่าน อาทิ ดรสะรณ โกวิทวณิชชา (Donsaron Kovitvanitcha) ผู้อำนวยการเทศกาล World Film Festival of Bangkok, เปาโล เบอร์โตลิน (Paolo Bertolin) คณะกรรมการคัดเลือกจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส, ซามูเอล เจมิเยร์ (Samuel Jamier) คณะกรรมการและผู้บริหารจากเทศกาลภาพยนตร์เอเชียนิวยอร์ก , ซาบรีน่า บาราเซ็ตติ (Sabrina Baracetti) ประธานเทศกาลภาพยนตร์อูดิเน่ ฟาร์อีสต์ ฟิล์ม เฟสติวัล, โทมัส เบอร์ทาช (Thomas Bertache) ผู้กำกับศิลป์เทศกาลอูดิเน่ ฟาร์อีสต์ ฟิล์ม เฟสติวัล และ พัคซองโฮ (Park Sung ho) ชายผู้รับหน้าที่เลือกภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน
หัวข้อสัมมนาในช่วงนี้เต็มไปด้วยความเข้มข้น เริ่มต้นด้วยประเด็นคำถามว่า ‘อะไรที่ทำให้หนังไทยไม่สามารถสู่เทศกาลหนังนานาชาติได้’
ดรสะรณได้เสริมว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีการตั้งกลุ่มพูดคุยเกี่ยวกับหนังไทยจำนวนมากในสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากก็มักจะเต็มไปด้วยข้อความในทำนองที่ไม่สนใจ หรือไม่ชอบหนังไทยเอาซะเลย ซึ่งพัคซองโฮตอบคำถามนี้ได้น่าสนใจมาก ๆ ว่า
“ในประเทศไทย ประชาชนมักจะไม่นิยมดูหนังไทย และจะหันไปดูซีรีส์หรือหนังของต่างประเทศมากกว่า ทำให้หนังไทยไม่ได้รับความนิยม ต่างจากที่เกาหลีหนังขับเคลื่อนได้จากประชาชนและรัฐบาล ผมยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมได้เงินมา ผมก็จะนำไปผลักดันหนังให้พัฒนาก้าวต่อไปข้างหน้า ผมว่ามันคือเรื่องของการรักใคร่ในตัวเองก่อน ถ้าคุณอยากให้คนอื่นรักคุณ คุณก็ต้องกล้าที่จะรักตัวเองก่อน เพราะฉะนั้นผมว่ามันอาจจะต้องเริ่มที่ตัวของเราก่อน” พัคซองโฮกล่าว
นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงประเด็น ‘มุมมองของชาวต่างชาติที่มองเข้ามาในวงการหนังไทย ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร’
เบอร์ทาชกล่าวว่า “คนไทยหลายคนมีความสามารถ อย่างหนังไทยแนวสยองขวัญก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศ ผมยกให้หนังสยองขวัญไทยคือ หนึ่งในหนังสยองขวัญที่ดีจากทั่วโลกเลย อย่างเรื่อง ‘Shutter’ (ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ) เรื่องนี้เป็นอันดับ 1 เลย”
หลังจากนั้นทั้ง 6 ท่าน ก็ร่วมถกเถียงประเด็นกันอีกมากมายจนมาถึงคำถามที่ว่า ‘แล้วทำไมหนังไทยถึงก้าวเข้าสู่นานาชาติไม่ได้สักที?’ โดยมีการวิเคราะห์กันดังนี้
“มันน่าจะเป็นเพราะว่าบริษัทผลิตหนังของไทยส่วนมาก เป็นบริษัทเล็กที่มีเงินทุนค่อยข้างน้อยทำให้หนังไม่ได้รับการทุ่มทุนสร้าง อีกอย่างคือการสนันสนุนจากผู้คน อุตสาหกรรมหนังเกาหลีไม่ได้พัฒนาโดยรัฐบาลหรือนักแสดง มันมาจากการที่ผู้สร้างหนังเกาหลีต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้หนังได้รับความนิยมจากคนในประเทศ” พัคซองโฮกล่าว
บาราเซ็ตติพูดเสริมว่า “โรงหนังยุโรปมีหนังของชาวเอเชียแน่นอน และคนยุโรปให้ความสนใจหนังของเอเชียมานานแล้ว เรามีทั้งหนังเกาหลี ญี่ปุ่น จีน และก็ฮ่องกง ซึ่งย้อนกลับไปในการประชุมปี 2000 ในตอนนั้นหนังไทยได้เข้ามามีส่วนร่วมแล้วนะ ตอนนั้นผู้คนไม่มีใครรู้เกี่ยวกับประเทศไทยเลย มันทำให้หนังไทยแตกต่าง สำเนียงไทยเป็นอะไรที่คนยุโรปอาจไม่คุ้นเคยมากนัก ซึ่งเราพยายามจะผลักดัน หรือเสาะหาอะไรใหม่ ๆ เข้ามาอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในตอนนั้น แต่ทุกคนก็ชอบหนังไทย อย่าง ‘Shutter’ นี่คือหนังไทยที่เคยขึ้นอันดับหนึ่งในอิตาลีมาแล้วนะ”
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของงานสัมมนา ‘World Film Festival of Bangkok’ ครั้งที่ 15 ซึ่งภายในงานยังมีการขนเอาหนังคุณภาพจาก 30 ประเทศทั่วโลกมาฉายให้ชมกัน พร้อมกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายตลอดเทศกาล
‘World Film Festival of Bangkok ครั้งที่ 15′ จัดถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2023 ที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส