สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ได้จัดงานสัมมนา ‘เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2023’ (Bangkok Film Festival 2023) ภายใต้หัวข้อใหญ่ ‘กรุงเทพ “มีดี” Creative City’ โดยมีเป้าหมาย เพื่อผลักดันให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองแห่งการสร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรม ผ่านรูปแบบภาพยนตร์ โดยภายในงานจะมีนักสร้างภาพยนตร์และสารคดีแถวหน้าของไทยมากมาย มาร่วมเสวนาเกี่ยวกับภาพยนตร์และสารคดีด้วยกันทั้งหมด 9 หัวข้อ
งานนี้เริ่มจัดขึ้นในวันที่ 20 มกราคม 2023 ซึ่งทีมงาน beartai BUZZ ได้มีส่วนร่วมไปฟังสัมมนาในหัวข้อ ‘ฮาว ทู ปั้น กรุงเทพ “เมืองแห่งหนัง”’ โดยได้รับเกียรติจาก ผู้มีชื่อเสียงในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย อาทิ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จักการ บริษัท สหศีนิมา จำกัด, วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์และนักเขียนบท ซึ่งมีผลงานล่าสุดเรื่อง ‘ปริศนารูหลอน’ และพรชัย ว่องศรีอุดมพร เลขาธิการสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ
ในหัวข้อสัมมนานี้ มีแนวความคิดมากมายเกี่ยวกับการจะสร้างเมืองกรุงเทพ ให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมแห่งหนัง
ซึ่งพิธีกรเริ่มต้นคำถามว่า ‘ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นอุตสาหกรรมภาพยนตร์จึงได้รับผลกระทบด้วย อยากทราบว่าจะมีการปรับตัวกับเรื่องนี้อย่างไร’
“ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด อุตสาหกรรมบันเทิงได้รับผลกระทบมาก อยากเช่น ศาลาเฉลิมกรุง ที่ต้องหยุดทำการแสดงไป แล้วไม่สามารถทำอะไรได้ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มเบาลง เราก็มีการปรับตัว โดยแสดงแค่ฉากเดียว คือ ‘หนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา’ ซึ่งฉากนี้ใช้จำนวนคนแสดงน้อย ปัญหาต่อมาจึงเกิดขึ้น คือไม่มีคนมาดู ดังนั้นเราจึงตัดสินใจสร้างหนังเรื่อง ‘White Monkey’ ขึ้นมา โดยมีเด็กโขนของเราเป็นนักแสดง” นฤมลกล่าว
พรชัยกล่าวเสริมไปว่า “ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่แค่ภาพยนตร์ที่ลำบาก ผมว่าในอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งหมด มันหยุดนิ่งไม่สามารถทำอะไรได้เลย อยากอีเวนต์ก็ไม่สามารถทำการแสดงได้ ในส่วนของภาพยนตร์เองยังไม่ได้ฟื้นเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะผู้คนเริ่มติดการดูหนัง หรือซีรีส์บนแพลตฟอร์มมากขึ้น โอกาสไปดูหนังในโรงภาพยนตร์น้อยลง ซึ่งตรงนี้ ผมคิดว่ามันคงต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวให้คนมาสนใจหนังในโรงภาพยนตร์”
นอกจากนี้ พีธีกรได้ถามวิศิษฏ์ว่า ‘เราจะสามารถทำหนังฟอร์มใหญ่แบบไหน เพื่อให้คนรู้สึกว่าต้องเสียเงินเข้าไปดูในโรงภาพยนตร์เท่านั้นได้’
“ผมว่าเราก็น่าจะต้องค้นหากันต่อไป ว่าเป็นหนังแบบไหนดี แต่ผมเชื่อว่า ยังมีทางให้คนกลับมาดูหนังในโรงได้ เพราะเราก็เคยล้มลุกคลุกคลานกับการสร้างหนังไทยมาหลายรอบ แต่ก็ยังฟื้นขึ้นมาใหม่ได้เสมอ ผมว่าถ้าหนังเรื่องไหนทำให้คนดูแล้วรู้สึกชอบ พวกเขาก็จะเข้ามาดูกันเอง” วิศิษฏ์กล่าว
พีธีกรได้ถามผู้กำกับคนดังเพิ่มอีกว่า ‘การถ่ายทำหนังในกรุงเทพ จะต้องมีการขออนุญาตใช้พื้นที่กับทางรัฐ ซึ่งในส่วนนี้ทางกองถ่ายได้มีปัญหาอะไรไหม’
“ปัญหาคือการขอใช้พื้นที่มันมีขั้นตอนเยอะ จนทำให้เกิดความล้าช้าในการถ่ายทำ ถึงขนาดต้องยกเลิกกองถ่ายที่ได้เตรียมไว้หมดแล้ว เรื่องนี้จึงทำให้ผมเสียหายมาก” วิศิษฏ์กล่าว
ต่อมาวีระศักดิ์จึงได้เสนอแนวคิด การขออนุญาตใช้พื้นที่กับทางรัฐให้ง่ายขึ้น
“ทุกวันนี้การขอใช้พื้นที่ในกรุงเทพต้องไปขอทั้งหมด 7 หน่วยงาน ซึ่งมันทำให้เสียเวลามาก แต่ถ้ามีใครเป็นเจ้าภาพกลางคอยประสานงาน ระหว่างรัฐกับกองถ่าย เริ่มจากทำแผนที่ให้ดู กองถ่ายจะใช้ตรงไหนส่วนกลางก็ค่อยรับเรื่องไปประสานงานกับรัฐ หลังจากนั้นก็อาจขอเก็บค่าธรรมเนียมรายการช่วยประสานงาน แล้วเงินส่วนนี้ก็กลายเป็นค่าธรรมเนียมที่ใช้ดูแลพื้นที่นั้นไป” วีระศักดิ์กล่าว
สุดท้ายพิธีกรได้ถามพรชัยว่า ‘อุปสรรคของหนังไทย นองจากเรื่องการขอสถานที่ เรื่องค่าใช้จ่าย และเรื่องการสร้างหนัง ตอนนี้ยังมีอุปสรรคอะไรอีกไหม ที่หนังไทยยังก้าวข้ามไม่ได้แล้วเราจะมีวิธีก้าวข้ามอย่างไร’
“หนึ่งเลย คือบุคลากรไม่เพียงพอ ซึ่งผมมองว่าคนไทยมีครีเอทีฟ และความสามารถหลายคน แต่พวกเขาก็ไม่ได้เข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมบังเทิง ผมว่าประเทศไทยควรมีโรงเรียนที่สอนด้านอุตสาหกรรมบังเทิงโดยเฉพาะ สอง คือเรื่องทุนของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยได้เปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ ในปัจจุบันไทยใช้เงินลงทุนสร้างหนังเยอะกว่ารายได้ ซึ่งเราควรมีเว็บไซต์ คอยรวบรวมข้อมูลของหนังและการลงทุน เพื่อเอามาวิเคราะห์แล้วหาวิธีแก้ไข สาม คือในขณะที่เรามีนโยบายจะสร้างเมืองแห่งหนัง แต่คนไทยกลับไม่ค่อยได้ดูหนังกันเท่าไหร่ ต่างกับประเทศอินเดียที่ทุกคนได้ดูหนังกันหมดเพราะรัฐคิดค่าตั๋วแค่ 5 บาท หรือ 10 บาท การดึงดูดคนให้มาสนใจหนังมากขึ้นส่วนสำคัญคือ การโปรโมต เราต้องมีสื่อคอยสนับสนุนอย่างเช่น การติดป้ายโฆษณาหนังรอบเมือง” พรชัยกล่าว
การพูดคุยทั้งหมดนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของงานสัมมนา ‘เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2023’ เท่านั้น
นอกจากนี้ ภายในงานยังรวบรวมเอาภาพยนตร์ ที่ไปไกลระดับโลก อาทิ ‘สุริโยไท’ ,’ฉลาดเกมส์โกง’ และ ‘Blue Again’ มาฉายหนังกลางแปลงให้ได้รับชม พร้อมทั้งเวทีเสวนาในหัวข้ออื่น ๆ เช่น หัวข้อ ‘ล่า ท้า ฝัน คนทำหนัง’ หรือ หัวข้อ ‘โปรดักชันเฮาส์ไทยสู่ภาพยนตร์ฮอลลีวูด’ เป็นต้น รวมไปถึงมีบูธขายอาหาร และผลิตภัณฑ์ของดีจาก 50 เขตกรุงเทพมหานคร สุดท้ายนี้ ยังมีวงดนตรีจากเยาวชน ที่จะมาสร้างสีสันภายในงาน วันละ 2 วง ตลอดทั้ง 3 วัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส