สำหรับพวกเราหลายคน การฟังเพลงเป็นมากกว่ากิจกรรมยามว่าง เพลงเป็นทั้งเพื่อนยามเหงา เป็นเพื่อนที่ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น หรือเป็นเพลงประกอบในแต่ละช่วงฉากของชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ขึ้นรถลงเรือ นั่งรถไฟฟ้า มาทำงาน หรือว่าเป็นฉากหลังของความเจ็บปวดและความปีติยินดีของเรา เสียงดนตรีกับความรู้สึกเป็นของคู่กันเสมอ ทุกครั้งที่เราได้ยินเพลงที่เราชอบ ใจมันก็ฟูขึ้นมาแล้ว แต่รู้ไหมว่ามีประชากรโลกกว่า 3-5% ที่ประสบกับปัญหาที่เรียกว่า ‘ภาวะซึมเศร้าทางดนตรี’  (Music Anhedonia) ซึ่งเป็นภาวะที่เฉยเมย ไม่เศร้า ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่รู้ว่าตัวเองรู้สึกอะไร ทำให้การฟังเพลงนั้นมอบความสุขแต่เพียงเล็กน้อยหรือไม่เกิดอะไรขึ้นเลย

Anhedonia หรือภาวะสิ้นยินดีนั้นเป็นอาการผิดปกติทางจิตเวชที่ผู้ป่วยจะเฉยชาต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง มักพบได้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือโรคไบโพลาร์ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ ภาวะสิ้นยินดีทางสังคม (Social Anhedonia) ที่ผู้ป่วยไม่ต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และภาวะสิ้นยินดีทางร่างกาย (Physical Anhedonia) ที่ผู้ป่วยรู้สึกไม่มีความสุขหรือไม่เพลิดเพลินต่อการทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งในภาวะปกติสามารถสร้างความพึงพอใจให้ได้ เช่น การรับประทานอาหาร การอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น การทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งภาวะสิ้นความยินดีทางดนตรีหรือภาวะซึมเศร้าทางดนตรีนี้จัดอยู่ในอาการประเภทหลังนี่เอง

ภาวะซึมเศร้าทางดนตรีเป็นภาวะทางระบบประสาทที่มีลักษณะเฉพาะโดยผู้ที่มีอาการนี้จะไม่สามารถได้รับความสุขหรือความเพลิดเพลินใจใด ๆ จากดนตรีเลย ผู้ที่เป็นโรคนี้สามารถจดจำและเข้าใจดนตรีได้ แต่ไม่สามารถสนุกกับมันได้ มีการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีอาการนี้มีการเชื่อมต่อการทำงานระหว่างบริเวณเยื่อหุ้มสมองที่รับผิดชอบในการประมวลผลทางเสียงและบริเวณที่เกี่ยวข้องกับระบบการให้รางวัลลดลงกว่าคนปกติ

โดยปกติแล้วดนตรีกับสมองนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง เวลาที่เราได้ฟังเพลงนั้นสมองของเราจะได้รับการกระตุ้น “เมื่อคุณได้ยินเพลงที่คุณรู้สึกผูกพันทางอารมณ์จริง ๆ จะมีข้อมูลที่แสดงว่าระบบการให้รางวัลในสมองของคุณทำงาน คุณได้รับการปล่อยสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการชนะรางวัล ดังนั้นคุณจะได้รับความเพลิดเพลินจากการทำอะไรบางอย่าง เช่น เล่นพนันหรือทานยาปลุกประสาท แต่ที่สำคัญคุณจะได้รับการตอบสนองนี้ผ่านเพลงที่คุณชอบเท่านั้น” ศาสตราจารย์โซฟี สก็อตต์ (Sophie Scott) นักประสาทวิทยาแห่ง UCL กล่าว

แต่สำหรับคนที่ประสบกับภาวะสิ้นยินดีหรือ anhedonia นั้นกลับไม่มีปฏิกิริยาเหล่านี้เกิดขึ้นเลย “มีการศึกษาที่ทำกับผู้ที่เป็นโรคแอนฮีโดเนียที่กำลังเล่นดนตรีซึ่งไม่พบสัญญาณของการให้รางวัลของสมองใด ๆ เลย “แต่พวกเขากลับแสดงให้เห็นสัญญาณของการให้รางวัลหากคุณสแกนพวกเขาขณะที่พวกเขากำลังเล่นการพนันและพวกเขาชนะ ซึ่งไม่ใช่ว่าระบบการให้รางวัลของพวกเขาไม่ทำงาน พวกเขาเพียงแค่ไม่ได้เปิดใช้งานระบบนี้ด้วยเสียงเพลงเท่านั้นเอง” ศาสตราจารย์สก็อตต์กล่าว

ไม่ใช่เรื่องยากที่จะจินตนาการว่าสิ่งนี้เป็นอย่างไร ในแง่หนึ่ง เราทุกคนต่างเคยสัมผัสกับภาวะซึมเศร้าทางดนตรีในเวลาที่เราฟังเพลงที่เราไม่ได้อินหรือไม่ได้มีความหมายอะไรกับเราสักเท่าไหร่ มันก็เป็นเพียงแค่เสียงที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไปเท่านั้น

สำหรับบางคน ภาวะซึมเศร้าทางดนตรีเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต ในขณะที่กรณีอื่น ๆ อาจเป็นเพียงการตอบสนองต่อการบาดเจ็บหรืออาการของความผิดปกติ เช่น โรคซึมเศร้า ซึ่งอาการนี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา แต่สำหรับบางคนแล้วมันอาจเป็นสิ่งที่ติดตัวไปตลอดชีวิต บางคนโหยหาการฟังเพลงเพราะมันได้มอบประสบการณ์ทางอารมณ์ที่เต็มเปี่ยม ในขณะที่บางคนไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น

ภาวะซึมเศร้าทางดนตรีถูกค้นพบโดยนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนาในระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับการตอบสนองทางอารมณ์ของอาสาสมัครทางดนตรี คำว่า ‘ภาวะซึมเศร้าทางดนตรี’ ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2011 เพื่ออธิบายการสูญเสียการตอบสนองทางอารมณ์ต่อดนตรีหลังจากได้รับความเสียหายต่อสมอง แต่ในปัจจุบันคำนี้หมายถึงการขาดการตอบสนองต่อเสียงดนตรีในเรื่องของความพึงพอใจของบุคคลที่ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีความเสียหายของสมองก็ตาม ทำให้สามารถแบ่งภาวะซึมเศร้าทางดนตรีออกได้เป็น 2 ประเภท

ประเภทแรกเรียกว่า ‘ภาวะซึมเศร้าทางดนตรีโดยไม่มีความเสียหายของสมอง’ เกิดในบุคคลที่ไม่มีความเสียหายทางระบบประสาท อาการนี้จะเกิดขึ้นกับประชากรโลก 3 – 5% ประเภทที่ 2 เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ภาวะซึมเศร้าทางดนตรีที่มีความเสียหายของสมอง’ เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นจากความเสียหายของสมอง สัดส่วนของผู้ที่ประสบภาวะนี้น้อยกว่าในแบบแรก และแต่ละเคสก็มีรูปแบบและรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละรายบุคคล 

ตัวอย่างเช่นผู้ประสบกับภาวะซึมเศร้าทางดนตรีคนหนึ่งเล่าว่าเขาขาดการเชื่อมต่อกับดนตรีมาโดยตลอด ตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เคยร้องเพลงตามวิทยุกับครอบครัวแต่แทนที่จะมีความสุขกลับรู้สึกว่าถูกบังคับ และถึงแม้จะทดลองฟังเพลงแนวต่าง ๆ ที่แตกต่างกันตั้งแต่คันทรี่ไปจนถึงแร็ป EDM และเฮฟวีเมทัล แต่ผลที่ออกมาก็เหมือนกันหมด สิ่งเดียวที่ทำให้เพลิดเพลินได้ก็คือเนื้อเพลง (หากเขียนออกมาได้ดีนะ) และเขาก็อ่านเนื้อเพลงในแบบเดียวกันกับการอ่านบทกวี

“บางครั้งผมรู้สึกเหมือนขาดอะไรไป ความคิดที่ว่าแค่ได้ยินเสียงบางอย่างแล้วทำให้คุณน้ำตาไหลนั้นเป็นเรื่องแปลกมากสำหรับผม และผมคิดว่ามันคงจะน่าทึ่งหากได้สัมผัสกับอะไรแบบนั้น แง่มุมที่น่าหดหู่ที่สุดคือมันมีแนวโน้มที่จะทำลายความสัมพันธ์กับผู้คนมากมาย ผมมีนัดเดทไม่กี่นัดที่ไปได้สวยและดูเหมือนว่าเราจะพัฒนาความสัมพันธ์ได้ แต่เมื่อพวกเธอรู้ว่าผมไม่ชอบดนตรี มันก็เหมือนจะเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ มันเป็นเครื่องเตือนใจผมอยู่เสมอว่าดนตรีมีความหมายมากมายสำหรับผู้คน และการแบ่งปันสิ่งนั้นกับผู้อื่นก็มีความสำคัญมากสำหรับพวกเขาเช่นกัน” เขากล่าว

การเกิดและเติบโตมาในครอบครัวนักดนตรี ใช้ชีวิตท่ามกลางคนที่รักและหลงใหลในเสียงดนตรี (และแน่นอนว่าคุณก็ได้รับการสืบทอด DNA และสายเลือดของคนรักดนตรีมาด้วย) กลับไม่ได้ช่วยอะไรเลย หากคุณจะกลายเป็นผู้ที่ประสบกับภาวะซึมเศร้าทางดนตรี ดังเช่นชายคนหนึ่งที่มีพ่ออยู่ในวงดนตรีมาตลอดชีวิต และเล่นกีตาร์แทบจะตลอดเวลานั้นไม่ได้ทำให้เขารู้สึกยินดีกับเสียงดนตรีเลยแต่กลับทำให้เขาพบว่ามันเป็นสิ่งที่สร้างความรำคาญและหงุดหงิดใจให้เขาอย่างมากมาย และถึงแม้เพื่อน ๆ และคนรอบตัวจะพยายามช่วยให้เขารู้สึกประทับใจกับเสียงดนตรีมากเท่าไหร่ แต่มันก็ไม่เป็นผล กลับยิ่งทำให้เขารู้สึกหงุดหงิดใจมากขึ้นไปอีก

“ในวันเกิดปีที่ 18 ของผม เพื่อน ๆ ของผมทุกคนก็ร่วมลุ้นและมอบตั๋วไปงาน Oxygen (เทศกาลดนตรีในไอร์แลนด์) ให้ผม ผมไม่อยากไปจริง ๆ แต่ผมก็ไม่สามารถโยนของขวัญนี้ใส่หน้าพวกเขาได้ ในงานนี้ผมชอบทุกอย่างยกเว้นเพลงจริง ๆ  และในการแสดงของวง Foo Fighters เพื่อน ๆ ทุกคนต่างสนุกสนานไปกับเสียงดนตรีในงานเทศกาล เช่น ชูมือขึ้นบนอากาศ ร้องเพลง หรืออะไรก็ตาม แต่ผมไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับมือ ร่างกาย หรืออะไรก็ตาม ผมคิดว่าทุกคนดูตลก ผมจำได้ว่ามีใครบางคนที่ผมไม่รู้จักโน้มตัวมากระซิบข้างหูผมว่า ‘คุณมีปัญหาอะไรหรือเปล่า’ เพราะผมยืนกอดอกตลอดเวลาเลย การไม่เพลิดเพลินกับเสียงเพลงนั้นดูแปลกแยก แต่ก็เจือปนด้วยความรู้สึกเหนือกว่าที่ผมเองก็ไม่ชอบด้วย โดยพื้นฐานแล้วผมคิดว่าคนอื่นงี่เง่าที่ชอบมัน มากกว่าที่จะรู้สึกว่าผมนั้นเป็นตัวประหลาด” เขากล่าว

แต่เรื่องเล่าของชายคนนี้ในช่วงเวลาต่อมากลับทำให้เราได้เห็นว่า ปัญหาเรื่องนี้มีทางออกและสามารถแก้ไขได้ “สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปเมื่อผมอายุ 21 ปี ผมเป็นผู้จัดการสถานีวิทยุของวิทยาลัยและเป็นเพื่อนกับคนตัดต่อเพลง ผมเริ่มฟังรายการวิทยุของเขาและมีบางอย่างคลิกกับผม เขาได้เปิดเพลงที่เขาคิดว่ามันไม่มีความเสแสร้งใด ๆ ให้กับผมและทำให้ผมเชื่อว่าผมนั้นคิดผิดไปที่คิดว่าบทเพลงเหล่านั้นมีความเสแสร้ง ผมพูดได้อย่างสบายใจเลยว่าตอนนี้ผมนั้นคลั่งไคล้ดนตรีอย่างแท้จริง ผมทั้งฟัง ทั้งอ่านเกี่ยวกับมัน และดูสารคดีเกี่ยวกับมัน”

สำหรับบางคนที่เป็น music lover ก็อาจจะกลายเป็นคนที่ประสบกับภาวะซึมเศร้าทางดนตรีได้ หากมีเหตุปัจจัยอะไรมากระทบ ดังเช่นชายคนหนึ่งที่สูบกัญชาแรงจนเกินไป ทำให้ประสบกับโรคแอนฮีโดเนีย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เขาเป็นนักสะสมแผ่นเสียงตัวยง การที่ต้องนั่งมองดูคอลเลกชันแผ่นเสียงสุดโปรดของตัวเองท่ามกลางกองฝุ่นนั้นเป็นอะไรที่แสนจะเจ็บปวด

เขาพยายามฟังเพลงทุกวันเพื่อดูว่ามีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เขาก็ไม่เคยรู้สึกยินดีกับการฟังเพลงเลยสักครั้ง ไม่ว่าเพลงนั้นจะดีแค่ไหนก็ตาม “มันว่างเปล่า ผมไม่ต้องการร้องเพลง ไม่มีความผูกพันกับเพลงใด ๆ ไม่ว่าก่อนหน้านี้จะมีความคิดถึงลึกซึ้งเพียงใดก็ตาม”

และนั่นทำให้เขาต้องยอมตัดใจและหาสิ่งอื่นมาชดเชยความสุขที่เคยได้รับจากเสียงดนตรี “ผมสามารถหาความสุขในสิ่งอื่นได้ ผมเป็นแฟนตัวยงของแฟชั่นมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรองเท้า ดังนั้นผมจึงใช้เวลากับสิ่งนั้นแทน ผมดีใจที่ผมยังสามารถชื่นชมสุนทรียภาพและความงามของงานศิลปะบางชิ้นได้ แต่ผมกลับไม่รู้สึกปีติยินดีเมื่อได้เห็นบางสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ผมเลือกที่จะมองมันจากมุมมองเชิงเหตุและผลแทน นับตั้งแต่ที่แอนฮีโดเนียโจมตี ผมก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ไปเลย”

ที่มา

Vice, Music Anhedonia, News Northeastern, Ledgernote, Poppad

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส