ดนตรีมักถูกมองว่าเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งที่ก้าวข้ามความผิดพลาดและความไม่สมบูรณ์แบบ มีบางเพลงที่โด่งดังจากความผิดพลาดที่เราสามารถได้ยินได้ ไม่ว่าจะเป็นโน้ตที่พลาด สายที่ขาดขณะเล่น หรือเนื้อเพลงที่ร้องผิด ความผิดพลาดเหล่านี้แทนที่จะกลายเป็นความเสียหายกลับเพิ่มลักษณะเฉพาะและเสน่ห์ให้กับบทเพลงเหล่านี้

Beartai Buzz จะมาสำรวจบทเพลงอันยอดเยี่ยม 10 บทเพลงที่กลายเป็นที่จดจำ ทำให้เพลงเหล่านี้เป็นเพลง ‘ปัง’ มากกว่าที่จะเป็นเพลง ‘พัง’ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความผิดพลาดของเพลงเหล่านี้ ดังนั้นเอนหลัง ผ่อนคลาย ทำตัวให้สบายและเพลิดเพลินไปกับเสียงเพลงในขณะที่เราดำดิ่งสู่โลกแห่งความไม่สมบูรณ์แบบและชื่นชมว่าเพลงเหล่านี้กลายเป็นเพลงคลาสสิกเหนือกาลเวลาได้อย่างไร

Bob Dylan – “Visions of Johanna”

ไม่ว่าเสียงเบสของ โจ เซาธ์ (Joe South) ในเพลง “Visions of Johanna” ที่อยู่ในอัลบั้ม ‘Blonde on Blonde’ จะเป็นข้อผิดพลาดจริง ๆ หรือไม่ก็ตาม โน้ตเหล่านี้ก็ได้ทำหน้าที่อยู่ 2 ประการนั่นคือ ‘ดึงผู้ฟังออก’และ ’พากลับเข้าสู่เพลง’ ไปพร้อมกัน แม้ว่าคนฟังจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ในนาทีที่ 1.58 ของเพลง เมื่อดีแลนเล่าเรื่องเกี่ยวกับคนเฝ้ายามคนหนึ่ง เซาธ์ได้เล่นโน้ตที่ให้ความรู้สึกทะแม่ง ๆ แปร่ง ๆ จนดึงความสนใจของเรา ความเด้งของเสียงเบสเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสารอารมณ์ของความปรารถนาและความเศร้าเสียใจ ซึ่งหากเสียงเบสนุ่มนวลกว่านี้เพลงก็คงจะมีความหมายที่แตกต่างออกไป โน้ตที่แปร่ง ๆ นี้มีปรากฏขึ้นอีก 1-2 ครั้งต่อมาในเพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงท่อนสุดท้าย (ราว ๆ นาทีที่ 6.30 ที่ดีแลนร้องว่า ‘The fiddler’) ดีแลนไม่ใช่คนที่จะปล่อยให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย ๆ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าพวกเขาตั้งใจหรือดีแลนตกลงให้เพิ่มบางอย่างลงไปในเพลง

War – “Why Can’t We Be Friends?”

เราไม่ต้องรอนานเกินไปที่จะฟังความผิดพลาด (อันไพเราะและน่าสนใจ) ของมือคีย์บอร์ด ลอนนี่ จอร์แดน(Lonnie Jordan) แห่งวง ‘War’ ในเพลง R&B ที่สนุกสนานที่สุดเพลงหนึ่งในยุค 70s การเล่นพลาดเกิดขึ้นในท่อนอินโทรตั้งแต่ต้นเพลง ตั้งแต่โน้ตตัวแรก ๆ ของเพลง ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่จอร์แดนบังเอิญไปโดนโน้ตที่สูงกว่าโน้ตที่เขาตั้งใจเกินไปครึ่งเสียง ผลลัพธ์คือสิ่งที่นักดนตรีเรียกว่าเกรซโน้ตอันเป็นโทนเสียงสั้น ๆ ที่แผ่วเบาและเปลี่ยนเป็นโน้ตตัวอื่นที่ยาวขึ้นในทันที แต่ด้วยการที่มันเป็นโน้ตที่ไม่เข้ากับคอร์ดพื้นฐานหรือสเกลหลักของเพลง จึงทำให้คนฟังรู้สึกได้ในทันทีว่านี่คือความผิดพลาด แต่ทำไมข้อผิดพลาดนี้จึงทำให้มันน่าสนใจและทำไมวงถึงไม่แก้ไขมันล่ะ พวกเขาไม่เพียงแค่ทิ้งโน้ตที่ผิดพลาดเอาไว้เท่านั้น แต่พวกเขายังปล่อยเพลงที่ไม่ได้แก้ไขนี้ออกมาเป็นซิงเกิลและกลายเป็นหนึ่งในเพลงฮิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพวกเขาไปในที่สุด ถึงแม้เราจะไม่รู้ว่าทำไมพวกเขาจึงตัดสินใจแบบนี้ แต่ที่แน่ ๆ มันทำให้เรารู้ว่าบางครั้งสิ่งที่ผิดพลาดไป (จากความตั้งใจในตอนแรก) ก็อาจกลายไปเป็นเรื่องดี หากเรายอมรับในความไม่สมบูรณ์นั้นและยอมรับมันอย่างที่มันเป็น

Pink Floyd – “Wish You Were Here”

อัลบั้มมหากาพย์ในปี 1975 ของ Pink Floyd เป็นสัญญาณที่สวยงามและแสนเศร้าที่ส่งถึง ซิด บาร์เร็ตต์ (Syd Barrett) อดีตเพื่อนร่วมวงที่ถูกอัปเปหิออกไปจากวง อัลบั้มนี้เป็นผลงานชิ้นเอกของการสร้างสรรค์ซาวด์ดนตรีและซาวด์ประกอบที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราว ซึ่งในเพลงนี้ก็มีจุดที่น่าสงสัยว่ามันคือความตั้งใจหรือความผิดพลาดกันแน่ แต่อย่างไรก็ตามด้วยแนวทางของวงและการชอบทดลองทำอะไรใหม่ ๆ เสียงแทรกแปลก ๆ ที่เราได้ยินในเพลงนี้จึงเป็นอะไรที่เข้ากันดีกับงานของ Pink Floyd ในท่อนอินโทรของเพลงเป็นเสียงบรรยากาศภายในห้องที่เราได้ยินเสียงคนพูดคุยเบา ๆ พร้อมเสียงวิทยุคลอไปกับเสียงกีตาร์อะคูสติกฝีมือการบรรเลงโดย เดวิด กิลมอร์ (David Gilmour) ทันใดในขณะที่เรากำลังเพลิน ๆ ในราว ๆ นาทีที่ 0.43 เราก็ได้ยินเสียงกระแอมไอดังแทรกเข้ามาก่อนที่จะมีเสียงสูดจมูกและเสียงอื่น ๆ ตามมาซึ่งมันกระตุกจิตกระชากใจและสร้างความสงสัยให้คนฟัง หลากเสียงวิจารณ์ต่างตีความกันไปต่าง ๆ นานาบ้างก็ว่าเสียงเหล่านี้เกิดขึ้นโดยเจตนา บ้างก็ว่ามันเป็นเสียงจากวิทยุ แต่อีกสำนักหนึ่งได้ยืนยันว่ามันเป็นเสียงที่เกิดจากการที่กิลมัวร์ไม่สามารถควบคุมผลข้างเคียงของการสูบบุหรี่เป็นประจำของเขาได้ แต่ไม่ว่ามันจะเป็นเพราะอะไรมันก็ได้สร้างความน่าพิศวงสงสัยและได้มอบเสียงกระแอมไอและเสียงสูดจมูกอันน่าสนใจให้กับเพลงอมตะเพลงนี้

The Police – “Roxanne”

ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในเพลงนี้มาตั้งแต่ช่วงต้น ๆ ของเพลงเลย ในขณะที่เรากำลังฟังเสียงกีตาร์ที่เล่นจังหวะกระชับฉึบฉับจาก แอนดี้ ซัมเมอร์ (Andy Summers) อยู่นั้น พลันเราก็จะได้ยินเสียงเปียโนประหลาด ๆ ดังขึ้นมา ซึ่งน่าจะเป็นการเล่นแบบไม่ได้ตั้งใจกดคอร์ดอะไรให้เข้ากับเพลง ไม่นานเสียงหัวเราะของสติง (Sting) ก็ดังขึ้นมา ตอนแรกเราก็จะสับสนว่าเสียงหัวเราะนี่มันเป็นส่วนหนึ่งของเพลงที่สัมพันธ์กับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับโสเภณีในบทเพลงรึเปล่า แต่คำตอบของปริศนานี้น่าจะอยู่ที่ liner note ที่เขียนเครดิตในเพลงนี้ว่าสติงนั้นเล่น ‘butt piano’ นั่นหมายความว่าสติงคงเผลอเอาก้นไปโดนเปียโนเข้าให้ก็เลยหัวเราะกลบเกลื่อนไปก่อนและพอมาย้อนฟังก็พบว่ามันเท่ดี หรือไม่สติงคงตั้งใจทำอะไรแผลง ๆ ซะเอง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามมันก็ได้มอบความแปลกแปร่งให้กับบทเพลงฮิตที่เล่าเรื่องราวของสาวโสเภณีนามว่า ‘Roxanne’ เพลงนี้

The Cars – “Just What I Needed”

ในแง่ของผลตอบแทนจากการลงทุนในความผิดพลาด ความผิดพลาดของกลองในซิงเกิลเปิดตัวของ The Cars อาจเป็นความผิดพลาดที่มีค่าที่สุด มันเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากการตีกลองของ เดวิด โรบินสัน (David Robinson) ที่เกิดขึ้นในท่อนร้องที่ 3 และท่อนสุดท้าย ซึ่งโรบินสันต้องเล่นจังหวะร็อกมาตรฐาน โดยสแนร์จะเล่นในจังหวะที่ 2 และ 4 ของแต่ละบาร์อย่างที่ควรจะเป็นในเพลงร็อกจังหวะกลางแทบทุกเพลง แต่ในท่อนที่ร้องว่า “Cause when you’re standing oh so near, I kinda lose my mind” (เพราะเมื่อตอนที่คุณยืนอยู่ใกล้ ๆ ผมแทบจะเสียสติไป) โรบินสันดันสับสนและตีสแนร์ในจังหวะที่ 1 และ 3 แทนที่จะเล่น kick-SNARE-kick-SNARE แต่เขากลับเล่นเป็น SNARE-kick-SNARE-kick แทนซึ่งมันทำให้คนฟังอย่างเรา ๆ แอบเป๋ไปเหมือนกัน และก็แอบคิดว่าหรือวงตั้งใจจะทำให้มันสอดคล้องกับอารมณ์ของเนื้อร้องท่อนนี้ ซึ่งความผิดพลาดนี้กลับให้ความหมายใหม่แก่เพลง ความมั่วซั่วเหล็งของโรบินสันกลับทำให้ความปั่นป่วนมวนใจนี้มีความหมายขึ้นมาในทันทีและมันก็เป็นการเปิดตัวที่เยี่ยมมาก ๆ ของวง The Cars

The Who – “Eminence Front”

สิ่งแรกที่คุณจะได้ยินเวลาที่ฟังเพลง “Eminence Front” ของ The Who ก็คืออินโทรที่ยาวใช้ได้ ซึ่งในทุกวันนี้อินโทรที่ยาวกว่า 2 นาทีนี่นับว่ายาวมาก ยาวนานพอที่จะทำให้มีคนกดเปลี่ยนไปฟังเพลงอื่นแทน ส่วนสิ่งที่สองที่คุณจะสะดุดในเพลงนี้ก็คือการร้องของ โรเจอร์ ดัลทรีย์ (Roger Daltry) และ พีท ทาวน์เซนด์ (Pete Townshend) (เป็นกรณีที่หาได้ยากในการที่จะได้ยินทาวน์เซนด์ร้องเพลง) ที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยสามัคคีกันเท่าไหร่ เพราะในเวอร์ชันแรกของเพลงนี้ มีข้อบกพร่องจากการประสานเสียงในท่อนคอรัสแรกของเพลง โดยที่ทาวน์เซนด์ร้องว่า “behind an eminence front” ในขณะเดียวกันกับที่ดัลทรีย์ก็ร้องว่า “it’s an eminence front” โดยทาวน์เซนด์ร้องช้ากว่าหนึ่งพยางค์ เลยทำให้มันเกิดการสะดุดแปลก ๆ หน่อย ซึ่งต่อมาเวอร์ชันรีมิกซ์ใหม่ของอัลบั้ม ‘It’s Hard’ ที่วางจำหน่ายซ้ำในปี 1997 ก็ได้มีการแก้ไขข้อผิดพลาดตรงนี้ไปเป็นที่เรียบร้อย แต่ทว่าเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นตำนานเล่าขานเกี่ยวกับเพลงอันสุดยอดนี้ของวงอยู่เสมอ

U2 – “The Unforgettable Fire”

U2 อาจไม่ใช่วงแรกที่เราจะนึกถึงเวลาที่คิดถึงวงดนตรีที่ยอมปล่อยเพลงทั้ง ๆ ที่มีความผิดพลาด เพราะวง U2 คือหนึ่งในวงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่เคยทำอะไรพลาดเลย สิ่งนี้เกิดขึ้นในไตเติลแทร็กของอัลบั้ม ‘The Unforgettable Fire’ ในปี 1984 ที่วงยอมปล่อยความผิดพลาดเอาไว้ในเพลง หากเราใส่หูฟังและตั้งใจฟังเพลงนี้ดี ๆ ในท่อนอินโทรเราจะได้ยินเสียงกีตาร์ที่ไพเราะของ The Edge และสักพักเราจะสังเกตว่ามีเสียงมือกลอง แลร์รี มัลเลน จูเนียร์ (Larry Mullen Jr.) ใช้ไม้เคาะกลองและนับถอยหลัง ก่อนเขาจะรู้ตัวและพึมพำว่า ‘oh shit’ เบา ๆ จนแทบไม่ได้ยิน ซึ่งมันเบามากจนแทบไม่มีใครสังเกต

James Blunt – “You’re Beautiful”

หากคุณยังจำได้ว่ารอบแรกที่ฟังเพลงนี้รู้สึกยังไง เชื่อว่าหนึ่งในความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือความเหวอที่เกิดขึ้นหลังจากได้ยินเจมส์ บลันต์ (James Blunt) ร้องท่อนแรกของเพลงว่า “My life is brilliant” แล้วแทนที่จะเป็นท่อนร้องต่อมาเรากลับได้ยินอินโทรที่ยังไม่จบดังต่อไป และเราก็เกิดความสงสัยขึ้นมาว่านี่เขาร้องผิดหรือว่าจงใจทำให้มันเซอร์กันแน่ สุดท้ายแล้วคำตอบก็คือบรันต์ร้องผิดจริงโดยร้องเร็วเกินกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งความผิดพลาดนี้ถูกเก็บไว้ในเวอร์ชันไฟนอลซึ่งเราจะได้ยินจากอัลบั้ม แต่เรดิโอเวอร์ชันจะไม่มีความเซอร์ตรงนี้อยู่ ความผิดพลาดอันแสนคลาสสิกนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนรับรู้กันดี แม้กระทั่ง Weird Al Yankovic ก็เคยเอาไปล้อในเพลงที่ชื่อว่า “You’re Pitiful” ซึ่งหลังจากเพลงเริ่มเราจะได้ยินเขาร้องท่อน “My life is brilliant”  แล้วหลังจากนั้นเราก็จะได้ยินเสียงของเขาพูดว่า “What, was I too early? Oh, sorry. Should I…Do you wanna start over? Or, keep going? Okay. Now? Now?” แล้วก็เริ่มเพลงใหม่อีกครั้ง  

R.E.M. – “The Sidewinder Sleeps Tonite”

ในบทเพลงที่ได้รับแรงบันดาลจากเพลง “The Lion Sleeps Tonight” ของ The Tokens เพลงนี้ มีจุดผิดพลาดเล็ก ๆ แต่ชวนฮาอยู่ในท่อนร้องที่ 3 ที่ไมเคิล สไตป์ (Michael Stipe) จะต้องร้องว่า “Or a reading by Dr. Seuss/Call when you try to wake her up” แต่เขาดันเน้นคำว่า ‘Seuss’ ซะจนกลายเป็น ‘Zeus’ และก็หลุดขำเสียเอง เราก็เลยจะได้ยินเสียงหัวเราะเบา ๆ ตามมาหลังจากท่อนนี้ ซึ่งทางวงตั้งใจปล่อยมันเอาไว้ให้เป็นช่วงเวลาฮา ๆ น่าจดจำของวงที่ทำเพลงเข้มข้นจริงจังและเป็นความผิดพลาดของนักร้องที่เป๊ะคนนี้

Radiohead – “Creep”

คงไม่มีข้อผิดพลาดทางดนตรีไหนหรอกที่เกิดขึ้นจากเจตนาร้ายหรือตั้งใจทำให้มันผิด แต่มือกีตาร์ของ Radiohead จอนนี่ กรีนวูด (Jonny Greenwood) กลับไม่คิดเช่นนั้น เขาเป็นพวกแบบที่หากไม่ ‘ปัง’ ก็ ‘พัง’ ไปเลย และเป็นคนที่ไม่ชอบอะไรสงบ ๆ เดิม ๆ ดังนั้นเขาจึงพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะทำลายความเป็นระเบียบเรียบร้อยของงาน ดังนั้นในขณะที่ ธอม ยอร์ค (Thom Yorke) กำลังขับขานถ้อยคำ “But I’m a creep/I’m a weirdo.” ด้วยน้ำเสียงเจือความขื่นขมอมทุกข์นั้น กรีนวูดก็ได้ปล่อยเสียงนอยซ์หอนที่ไร้ท่วงทำนองออกจากกีตาร์ของเขาสร้างความจี๊ดให้เกิดขึ้นมาในทันทีโดยไม่บอกไม่กล่าวใครมาก่อนหน้านี้ ซึ่งสุดท้ายวงก็ตัดสินใจเก็บมันเอาไว้ และในที่สุดมันก็ทำให้ “Creep” กลายเป็นเพลงที่ฝังลงในใจให้แฟน ๆ ได้จดจำไปตลอดกาลและหลังจากนั้นกรีนวูดก็ได้ทำอะไรแผลง ๆ เอาไว้ในเพลงของ Radiohead อีกมากมายเลย

ที่มา

Treblezine

Us.Kef

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส