ในที่สุดก็จะได้ฟังกันแบบเต็ม ๆ แล้วกับสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 6 ของ Paramore ‘This Is Why’ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการและการเติบโตของวง อัลบั้มนี้นำเสนอทิศทางดนตรีที่เปลี่ยนไปเล็กน้อย โดยนำองค์ประกอบของอัลเทอร์ร็อกในยุค 2000s เข้ามาผสมผสาน โดยได้รับอิทธิพลจากวงดนตรีอย่าง Bloc Party และ Foals อัลบั้มนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของวงในการรวบรวมแง่มุมของสุ้มเสียงที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน มีทั้งไลน์กีตาร์และไลน์ดนตรีที่โดดเด้งโดดเด่น ท่อนฮุกป๊อป ๆ  เข้าหู ในสไตล์ดนตรีแบบป๊อปพังก์ พร้อมกับความจัดเจนในการทำดนตรีที่มีความป๊อป

Paramore

เนื้อหาหลัก ๆ ของ ‘This Is Why’ สะท้อนความกังวลใจอย่างชัดเจนของคนที่อยู่ในวัย 20 ตอนปลายหรือ 30 กว่า ๆ โดยมีเพลงที่กล่าวถึงการแบ่งขั้วทางความคิดบนโลกออนไลน์ ผลกระทบที่เป็นอันตรายของข่าวทั้งหลายที่มีมาตลอด 24 ชั่วโมง และความกลัวที่จะเติบโตขึ้นมาในสังคมนี้โดยที่ไม่ได้พัฒนาทักษะที่จำเป็น รวมไปถึงการรับมือกับชีวิตผู้ใหญ่ อัลบั้มนี้ยังสื่อถึงความกลัวที่จะหมดเวลาและการไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันได้ เฉกเช่นหน้าปกอัลบั้มที่เป็นรูปสมาชิกวงที่ใบหน้าเสียดสีกับกระจกจนบูดเบี้ยว สะท้อนความรู้สึกที่ติดอยู่ในความคิดและการต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ นานาของตัวเอง

แทร็กที่โดดเด่นอย่าง “Liar” เป็นเพลงที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนักร้องสาว เฮย์ลีย์ วิลเลียมส์ (Hayley Williams) กับเทย์เลอร์ ยอร์ค (Taylor York) มือกีตาร์ของวง ซึ่งในเนื้อเพลงมีการกล่าวถึงรายละเอียดในความสัมพันธ์ของพวกเขา ส่วนเพลงอื่น ๆ ก็มีทั้งเพลงที่กล่าวถึงความรู้สึกหลอน ๆ ของการที่ไม่สามารถสลัดความหม่นและสับสนในจิตใจออกไปได้ รวมไปถึงความรู้สึกอิจฉาต่อผู้คนที่ดูเหมือนจะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสบาย ๆ

ดังเช่นเพลง “Running Out Of Time” ที่เกี่ยวกับแนวคิดของเวลาและความกดดันที่ผู้คนมักรู้สึกว่าต้องใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื้อเพลงสะท้อนอารมณ์ของคนที่มีความตั้งใจแต่ดูเหมือนจะไม่มีเวลาพอที่จะเติมเต็มความปรารถนาและเป้าหมายของตัวเองได้ เพราะต้องหมดเวลาไปกับกิจธุระต่าง ๆ ในชีวิต เช่น เอาดอกไม้ไปให้เพื่อนบ้าน พาหมาไปเดินเล่น และส่งการ์ดแสดงความเสียใจ ที่ถึงแม้จะมีความตั้งใจที่ดีแค่ไหน แต่ก็ไม่วายจะกังวลใจว่าจะเป็น ‘คนเห็นแก่ตัว’ ในท่อนคอรัสที่ร้องซ้ำว่า “I’m always running out of time” นั้นสะท้อนความรู้สึกที่เป็นปัญหาทั่วไปสำหรับใครหลาย ๆ คนที่กังวลว่าสุดท้ายแล้วเวลาก็ไม่เคยพอ บทเพลงนี้ดูเหมือนจะเป็นการรำพึงรำพันถึงจังหวะชีวิตที่เร่งรีบและความยากลำบากในการทำให้ความตั้งใจและความปรารถนาของเราสมดุลกับข้อจำกัดของเวลา

บทเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มคือภาพสะท้อนของ ‘ความป่วยไข้ในคนรุ่นมิลเลนเนียล’ (Millennial malaise) ซึ่งเป็นคำที่มักใช้เพื่ออธิบายความรู้สึกไม่พอใจหรือไม่สบายใจในหมู่ผู้คนรุ่นมิลเลนเนียล อันหมายถึงคนที่เกิดระหว่างปี 1981 ถึง 1996 ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายและแรงกดดันที่ไม่เหมือนใครซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกไม่สบายอกไม่สบายใจ ซึ่งความท้าทายเหล่านี้อาจรวมถึงความไม่มั่นคงในงาน หนี้เงินกู้ที่ใช้เป็นต้นทุนทางการศึกษาและการใช้ชีวิต ต้นทุนที่อยู่อาศัยอันสูงลิบ และการขาดความมั่นคงทางการเงิน นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ตยังก่อให้เกิดความรู้สึกเปรียบเทียบและการแข่งขันที่อาจนำไปสู่ความรู้สึกไร้คุณค่า  ท้อแท้ สิ้นหวังและไร้สุข

โดยรวมแล้ว ‘This Is Why’ พูดถึงอาการป่วยไข้ของคนยุคมิลเลนเนียลในแบบที่เข้าใจและเข้าถึงได้โดยง่าย ผ่านงานดนตรีที่มีความโฉบเฉี่ยว สดใหม่และน่าสนใจ เป็นการสำรวจความวิตกกังวลและอารมณ์ของคนวัย 20 ปลาย ๆ และ 30 กว่า ๆ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะโดนใจผู้ฟังทุกเพศทุกวัย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส