งานประลอง คือวัตถุดิบหลักที่การ์ตูนโชเน็นต้องมี เพราะช่วงเวลานี้เป็นหนึ่งในส่วนที่คนจดจำมากที่สุดของเรื่องราว แม้ว่าจะเป็นช่วงคั่นเวลาที่ไม่ได้ทำให้เนื้อเรื่องเดินหน้ามากนัก แต่กลับเป็นภาคที่ได้ใจคนดูมหาศาล เหตุใดงานประลองถึงเป็นสูตรสำเร็จของการ์ตูนโชเน็น วันนี้เราจะมาแบไต๋เรื่องราวนี้กัน
ต้นกำเนิดของฉากงานประลอง ต้องย้อนกลับไปช่วงยุคมังงะสมัยใหม่ ในตอนนั้น โจ สิงห์สังเวียน (Ashita no Joe) เป็นหนึ่งในมังงะที่มีฉากการต่อสู้ในสนามอย่างเด่นชัด แม้งานประลองของ โจ จะไม่ได้ใหญ่เท่าไหร่ แต่ซีรีส์เรื่องนี้ก็มีอิทธิพลต่อการนำเรื่องราวกีฬามาเสริมในการ์ตูนโชเน็นอย่างมาก ซึ่งต่อมา Dragon Ball ก็ได้นำแนวคิดงานประลองมาใส่ในเรื่องราวที่ใหญ่ขึ้น
งานประลองของ Dragon Ball ปรากฏตัวครั้งแรกในมังงะตอนที่ 24 ซึ่งเนื้อเรื่องนั้นเป็นฉากทัวร์นาเมนต์การต่อสู้ที่เป็นการวัดฝีมือว่าใครแข็งแกร่งที่สุด โดยมีตัวเอกอย่างโกคูและผองเพื่อนเข้าร่วมการแข่งขัน งานประลองของ Dragon Ball นั้นเป็นที่จดจำอย่างมาก จนผู้แต่งต้องหยิบยกงานประลองมาใช้ในเนื้อเรื่องอีกหลายครั้ง เพราะมันค่อนข้างเป็นที่ชื่นชอบของแฟน ๆ แถมการ์ตูนโชเน็นในปัจจุบัน ก็รับอิทธิพลมาจาก Dragon Ball เยอะมาก ซึ่งแน่นอนว่าฉากงานประลองก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย
งานประลองเป็นมากกว่าการแข่งขัน
การมีฉากงานประลอง ทำให้ตัวละครต้องสู้ในข้อจำกัดบางอย่าง อาทิ การถูกลิมิตพลังหรือห้ามทำคู่ต่อสู้ตาย สิ่งนี้ทำให้เนื้อหาช่วงงานประลองดูเบาลง เสมือนดูงานกีฬาอย่างไรอย่างนั้น อีกทั้งงานประลองยังเป็นสปอตไลต์ให้ตัวละครรองได้โชว์ความสามารถ ซึ่งเป็นการวัดเรตติ้งตัวละครได้เลยว่า ตัวไหนที่คนชอบมาก ๆ ก็จะได้รับบทบาทเพิ่มขึ้นในภายภาคหน้า
งานประลอง คืองานกีฬาที่ตัวละครจะได้อัปเกรดตัวเอง
เป็นความจริงที่การ์ตูนโชเน็น มักจะใช้ประโยชน์ของเนื้อเรื่องในช่วงที่มีงานประลองให้ตัวละครได้อัปเกรดตัวเอง ตั้งแต่ความสามารถ คอสตูมที่ใส่ หรือกระทั่งการเปิดตัวอาวุธใหม่ ทว่าแม้งานประลองจะเป็นการต่อสู้อันดุเดือด แต่มันก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของฉากกีฬาในเนื้อเรื่อง นั่นทำให้ฉากงานประลอง สามารถสอนเด็ก ๆ ถึงความแฟร์ ความมีน้ำใจ และการร่วมมือฝ่าฟันเพื่อนำมาซึ่งชัยชนะ
แมตช์ที่หาชมยาก
เหตุผลหลักที่งานประลอง มักจะได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในอนิเมะโชเน็น คือการที่ตัวละครได้จับคู่สู้กันเอง เพราะด้วยการดำเนินเรื่องที่ถูกวางเอาไว้ บางครั้งก็เป็นการยากที่จะให้ตัวละครหลายตัวได้สู้กันแบบจริงจัง โดยเฉพาะตัวละครที่อยู่ฝ่ายเดียวกัน นั่นทำให้ฉากงานประลองถูกขึ้นสร้างมา เพื่อสนองนี้ดของคนเหล่านั้น คล้ายกับการที่คนดูได้ดูมวยปล้ำหรือเล่นเกม เพราะไม่ต้องรู้ว่าใครชนะ แค่เชียร์อยู่ข้างขอบสนาม ก็รู้สึกมันแล้ว
ได้เชียร์ตัวละครที่ชอบ สู้กันอย่างแฟร์ ๆ
ไม่ว่าจะเป็นแมตช์เรียกเสียงฮาอย่าง ชิกามารุ ปะทะ เทมาริ จาก Naruto, การต่อสู้สุดมันส์อย่าง โกคู ปะทะ จิเรน จาก Dragon Ball Super, หรือกระทั่งศึกสะเทือนอารมณ์อย่าง เดกุ ปะทะ โทโดโรกิ จาก My Hero Academia’s ก็เป็นฉากที่ทำให้เรารู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ดู
ข้อจำกัดของงานประลอง ทำให้การต่อสู้มีความยุติธรรม คนดูจึงไม่ต้องคอยกังวลใจเลยว่า ในศึกนี้จะมีตัวละครอะไรโผล่มาขัดจังหวะการต่อสู้ แถมวิธีการต่อสู้ก็มักวัดพลังกันตรง ๆ หาใช่วิธีสกปรก (แต่ใช้เล่ห์เหลี่ยมแทน) นั่นทำให้ผู้ชมได้ดูการแข่งขันที่ยุติธรรม
เปลี่ยนการแข่งขันให้กลายเป็นเรื่องส่วนตัว
งานประลองเป็นหนึ่งในศึกที่ท้าทายสำหรับการ์ตูนโชเน็น บางตัวละคร ใช้งานประลองเป็นสถานที่ค้นหาเป้าหมาย ตัวละครบางรายได้เฉิดฉายขึ้นมา บางคนได้ชำระล้างปมในจิตใจ งานประลองจึงเป็นศึกเล็ก ๆ ที่ทำให้เราได้เห็นปมในใจของตัวละครมากมาย ตั้งแต่อดีตอันเลวร้ายไปจนถึง การไม่ภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งหลายครั้ง ตัวละครก็ได้รับการปลดปล่อยในช่วงงานประลองนี่แหละ
ตอนคั่นเวลา
การ์ตูนโชเน็นหลายเรื่อง มักจะให้งานประลองขยับขยายการต่อสู้เป็นภาคใหญ่หนึ่งภาค (Arcs) มากกว่าจะเป็นตอนสั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นตอนคั่นเวลาเพื่อให้โทนของเรื่องเบาลงก่อนที่พายุใหญ่ในภาคต่อไปจะมา หรือไม่ก็เป็นตัวกำหนดว่า ฝ่ายตรงข้ามที่เดบิวต์ในภาคนี้อาจกลายเป็นมิตรสำคัญในอนาคต
แม้ว่าการใส่งานประลองเข้ามาในการ์ตูนจะทำให้เนื้อเรื่องเดินช้า แต่อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมการ์ตูนโชเน็นยังคงต้องพึ่งพาฉากงานประลองอยู่ดี เพราะภาคนี้ภาคเดียวสามารถทำได้ทั้งการแนะนำตัวละครใหม่ ให้ตัวละครเก่าได้เคลียร์ปมในใจ จับคู่แมทช์ในฝันให้แฟน ๆ แถมยังมีโมเมนต์ที่ทำให้เรื่องผ่อนคลาย ซึ่งการ์ตูนบางเรื่องทำเนื้อหาช่วงนี้ได้สนุกถึงขั้นที่แฟน ๆ จดจำภาคงานประลองได้ดีกว่าภาคหลักซะอีก นั่นทำให้งานประลองยังคงอยู่คู่กับการ์ตูนโชเน็นเสมอ และแน่นอนว่ามันจะอยู่ไปอีกนาน
ที่มา: sportskeeda, screenrant,
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส