เรื่องหนึ่งที่ยังคงเป็นที่พูดถึงในงานการประกาศรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 71 ประจำปี 1999 นั่นก็คือคือการคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปีนั้น ที่ตกเป็นของ ‘Shakespeare in Love’ (1998) หนังรอมคอมพีเรียดดราม่า ที่ได้เข้าชิงรางวัลมากถึง 13 สาขา และกวาดมาได้ถึง 7 สาขา โดยเฉพาะรางวัลใหญ่สุดอย่างสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ที่ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันในหมู่คนดูหนังมาจนถึงวันนี้

อีกรางวัลที่หนังปาดแซงตัวเก็งในปีนั้นมาได้ก็คือ รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ที่ กวินเน็ธ พัลโทรว์ (Gwyneth Paltrow) ได้รับ ซึ่งจริง ๆ แล้วบทนี้เคยตกเป็นของนักแสดงสาวเจ้าแม่รอมคอมอย่าง จูเลีย โรเบิร์ตส์ (Julia Roberts) ต่างหาก ถ้าเธอไม่ขอถอนตัวไปเสียก่อน

Shakespeare in Love Julia Roberts Gwyneth Paltrow
จูเลีย โรเบิร์ตส์ ใน ‘Pretty Woman’ (1990)

ซึ่ง เอ็ดเวิร์ด ซวิก (Edward Zwick) โปรดิวเซอร์ของหนังเรื่องนี้ ได้เขียนบทความเล่าเรื่องเบื้องหลังให้กับเว็บไซต์ Air Mail โดยเฉพาะการตัดสินใจถอนตัวกลางคันของโรเบิร์ตส์ ที่นอกจากจะส่งให้พัลโทรว์ได้รับรางวัลออสการ์ตัวแรกในชีวิตแล้ว ก็ยังทำให้ซวิกไม่มีโอกาสได้เป็นผู้กำกับหนังเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่เขาคือเจ้าของโปรเจกต์มาตั้งแต่แรก ๆ ด้วยซ้ำ

เรื่องเริ่มต้นตรงที่ ซวิกได้บทหนังเรื่องนี้มาจาก มาร์ก นอร์แมน (Marc Norman) ที่เขียนบทเอาไว้ตั้งแต่ยุค 1980 พร้อมกับเป็นคนที่แนะนำให้เลือกโรเบิร์ตส์มารับบทนำ ซึ่งซวิคที่ชื่นชอบแนวคิดของหนัง ก็ได้ส่งต่อให้ ทอม สตอปพาร์ด (Tom Stoppard) มาแก้ไขพล็อตให้ดีกว่าเดิม

จนกระทั่งบทนี้ได้ไปถึงมือของผู้บริหาร Universal Pictures ที่ตกลงจะสร้างหนังเรื่องนี้ ถ้าหากได้โรเบิร์ตส์ นักแสดงสาวที่แจ้งเกิดดังเปรี้ยงมาจากหนัง ‘Pretty Woman’ (1990) มาแสดงจริง ๆ “มันมีความเป็นไปได้ แค่ได้เห็นนักแสดงจาก ‘Pretty Woman’ ใส่ชุดคอร์เซ็ตรัดรูป แค่นี้ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้สตูดิโอตื่นเต้นจนยอมไฟเขียว” เขาบรรยายไว้ในบทความ

6 สัปดาห์ถัดมา เหมือนฝันเป็นจริง เพราะในที่สุด โรเบิร์ตส์ในวัย 24 ปีก็ยอมมาแสดงในหนังเรื่องนี้จริง ๆ ด้วย ซวิกได้เดินทางจากลอสแองเจลิสไปยังลอนดอน ประเทศอังกฤษเพื่อทดสอบแคสติง เพื่อหาเคมีระหว่างโรเบิร์ตส์ กับนักแสดงชายที่จะมารับบทเป็น วิลเลียม เชกสเปียร์ คู่กับเธอ ซึ่งซวิกได้เขียนไว้ในบทความด้วยว่า เวลานั้นโรเบิร์ตส์เองกำลังเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียดกับ คีเฟอร์ ซัตเทอร์แลนด์ (Kiefer Sutherland) คู่หมั้นในเวลานั้นของเธอ (ก่อนที่จะยกเลิกงานแต่งงานไปในที่สุด)

จนกระทั่งเมื่อซวิก ในฐานะผู้กำกับและโรเบิร์ตส์ได้ปรึกษากัน เธอเผยว่า เธอเองมีความต้องการให้ แดเนียล เดย์-ลูอิส (Daniel Day-Lewis) มารับบทเป็นวิลเลียม เช็กสเปียร์ในหนัง “เขาเป็นคนยอดเยี่ยม เขาทั้งหล่อเหลา และจริงจัง แล้วก็เป็นคนตลกด้วย! คุณเห็นการแสดงของเขาใน ‘A Room with a View’ (1985) หรือเปล่า ? เขาเคยแสดงละครของเช็กสเปียร์*ด้วยนะ คุณไม่คิดว่าเขาจะเหมาะกับบทนี้ที่สุดเหรอ!… ” โรเบิร์ตส์กล่าวกับซวิก

Shakespeare in Love Julia Roberts Gwyneth Paltrow
เอ็ดเวิร์ด ซวิก (Edward Zwick)

“คืออันนั้นผมก็ไม่เถียงคุณหรอกนะจูเลีย แต่ผมเพิ่งเจอกับแดน (เดย์-ลูอิส) เมื่อเดือนที่แล้วเอง เขาบอกว่าเขากำลังมุ่งมั่นในการเล่นหนัง ‘In the Name of the Father’ (1993) กับ จิม เชอริแดน (Jim Sheridan) ที่เคยกำกับเขาใน ‘My Left Foot’ (1989) น่ะ พวกเขาใกล้ชิดกันมาก แดนเรียกจิมว่าเป็น ‘เพื่อนที่ดีที่สุด’ ของเขาด้วยซ้ำ”

สุดท้ายนักแสดงสาวก็ปัดตกข้อแนะนำของเขา “ฉันรู้น่า ฉันว่าฉันเรียกเขามาให้ได้” และความต้องการของนางเอกสาวก็มากถึงขนาดที่ซวิกเขียนในบทความว่า เขาเองเห็นเธอใช้โทรศัพท์มือถือโทรไปหาผู้ช่วยของเธอ เพื่อวานให้ส่งช่อดอกกุหลาบ 2 โหลไปให้กับเดย์-ลูอิส พร้อมกับการ์ดที่เขียนข้อความว่า “จงมาเป็นโรมิโอของฉัน”

จนถึงเช้าของวันแคสติง โรเบิร์ตส์ไม่ได้ปรากฏตัวในการร่วมแคสติงด้วย เธอเรียกให้ซวิกขึ้นไปหาเธอในห้องพักของโรงแรม ก่อนที่เธอจะบอกว่าให้ยกเลิกการคัดเลือกนักแสดงไปก่อน เพราะเธอกำลังมีนัดพบกับเดย์-ลูอิส ในผับที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของโรงแรมแห่งนั้น ก่อนที่ เดย์-ลูอิส จะบอกกับโรเบิร์ตส์ และซวิกอย่างเป็นทางการว่า เขาไม่สามารถไปร่วมแสดงได้ด้วยจริง ๆ เพราะกำลังติดถ่ายหนัง ‘In the Name of the Father’ ตามที่สัญญาไว้กับ จิม เชอริแดน

Shakespeare in Love Julia Roberts Gwyneth Paltrow
กวินเน็ธ พัลโทรว์ และ โจเซฟ ไฟนส์ คู่พระนางในเรื่อง

เช้าวันรุ่งขึ้น ซวิกเล่าว่านักแสดงสาวปรากฏตัวในสภาพตาแดงก่ำ ผมเผ้ารุงรังเหมือนไม่ได้นอน จนไม่อาจจะจินตนาการถึงสภาพจิตใจที่เธอรู้สึกไม่โอเค แม้ใจหนึ่ง เขาอยากจะยกเลิกการแคสติงในวันนั้นไปเลย แต่ด้วยตารางงานที่กระชั้นชิด เขาก็เลยยังต้องแคสติงไปตามปกติ ในวันนั้น เธอต้องแคสติงร่วมกับนักแสดงหลายคน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ราล์ฟ ไฟนส์ (Ralph Fiennes) ที่สุดท้ายก็ไม่ได้บทนี้

ซวิกเผยว่า “แม้ว่าราล์ฟเองจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อดึงรอยยิ้มอันโด่งดัง (ของโรเบิร์ตส์) ออกมา แต่จูเลียก็แทบไม่รู้จักเขาเลย ผมไม่ได้อยากจะบอกว่าเธอจงใจจะทำลายมัน แต่มันก็เป็นอะไรที่หายนะมาก ๆ ผมพยายามสบตากับราล์ฟ เพื่อขอโทษตอนที่เขากำลังเดินออกไป เมื่อเขาเดินออกไปแล้ว ผมหันไปหาจูเลีย ก่อนที่เธอจะพูดว่า ‘เขาช่างเป็นคนไม่มีอารมณ์ขันเอาซะเลย'”

“วันนั้นทั้งวัน และในทุก ๆ วันของสัปดาห์หลังจากนั้นก็แย่พอ ๆ กัน ผมไม่มีรายชื่อนักแสดงเหลือแล้ว ในบรรดานักแสดงวัยหนุ่มทุกคนที่ยังไม่ดังในเวลานั้นทั้ง ฮิว แกรนต์ (Hugh Grant), รูเพิร์ต เกรฟส์ (Rupert Graves), โคลิน เฟิร์ธ (Colin Firth), ฌอน บีน (Sean Bean), เจเรมี นอร์ธแฮม (Jeremy Northam), ฯลฯ ล้วนถูกนักแสดงสาวจับผิดกันคนละนิดละหน่อย เธอว่าบางคนก็แสดงแข็งเกินไป บางคนก์ดูไม่โรแมนติก และอื่น ๆ อีกมากมาย

Shakespeare in Love Julia Roberts Gwyneth Paltrow

จนมาถึงคิวของนักแสดง พอล แม็กแกนน์ (Paul McGann) โรเบิร์ตส์ตกลงที่จะทดสอบบทกับเขา ชวิกเล่าถึงตรงนี้ว่า “ในช่วงเช้าของการทดสอบ จูเลียแต่งหน้าและแต่งตัวในชุดแบบเต็มยศ แต่เมื่อเธอเริ่มพูดบท มันมีบางอย่างผิดปกติไป เวทมนตร์หายไปหมดแล้ว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่สคริปต์หรือตัวพอล แต่อยู่ที่จูเลีย เพราะวินาทีแรกที่เธอเริ่มพูด เห็นได้ชัดว่าเธอไม่ยอมพูดสำเนียงอังกฤษ (ตามคาแรกเตอร์ในหนัง) เลย”

ชวิกพยายามที่จะให้กำลังใจเธอ และพยายามเข้าใจเธอว่า เธอเองก็กำลังเป็นดาราดาวรุ่ง เธอคงไม่อยากจะมาผิดหวังกับหนังที่ไม่ได้ใส่ใจในการแคสติงนักแสดงที่ (เธอเห็นว่า) เหมาะสม ซึ่งเขาคิดว่าเธอเองก็คงเข้าใจความไม่สบายใจของเขาด้วยเช่นกัน จนเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อเขาโทรไปหาเธอในห้องพัก ปลายสายกลับแจ้งว่าเธอเช็กเอาต์ออกจากโรงแรมไปแล้ว ผู้จัดการของโรเบิร์ตส์ได้โทรมาบอกเขาภายหลังเพื่อแจ้งว่า นักแสดงสาวกำลังจะขอถอนตัวจากโปรเจกต์นี้

แน่นอนว่านี่เป็นความหายนะใหญ่หลวงสำหรับเขา และสตูดิโอด้วยเช่นกัน เพราะผู้บริหารของ Universal ในเวลานั้นได้โทรแจ้งเขาว่า บริษัทใช้เงินกับโปรเจกต์นี้ไปแล้วกว่า 6 ล้านเหรียญในการสร้างฉาก ตัดชุดคอสตูม และหาโลเกชันไว้เรียบร้อยแล้ว แม้เขาจะยืนยันกับผู้บริหารว่าจะยื้อให้โรเบิร์ตส์กลับมาแสดงให้ได้ แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้โน้มน้าวเธอแต่อย่างใด จนสุดท้ายสตูดิโอก็ตัดสินใจระงับโปรเจกต์หลังจากเปิดกล้องมาได้ราว 6 สัปดาห์ และซวิกก็ไม่ได้คุยกับโรเบิร์ตส์อีกเลยนับแต่นั้น

ในที่สุด บทหนังเรื่องนี้ก็ไปเข้าตาของ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) อดีตผู้บริการค่ายหนังอิสระชื่อดัง Miramax ผู้ฉาวโฉ่ที่ขอดูสคริปต์หลังเรื่องนี้ จนกระทั่งอดีตผู้บริหารก็สนใจที่จะให้งบเพื่อปลุกชีพหนังเรื่องนี้อีกครั้งเพราะชอบใจที่สตอปพาร์ดเป็นคนเขียนบท แต่สุดท้ายไวน์สตีนก็เป็นคนที่ใช้อำนาจในการล็อบบี้ทุกวิถีทางเพื่อให้ จอห์น แมดเดน (John Madden) ผู้กำกับชาวอังกฤษเป็นคนกำกับเท่านั้น ก่อนที่เขาจะผันตัวไปเป็นโปรดิวเซอร์ของหนังแทนในภายหลัง

Shakespeare in Love Julia Roberts Gwyneth Paltrow

ส่วนนักแสดง น่าบังเอิญที่ได้ โจเซฟ ไฟนส์ (Joseph Fiennes) น้องชายของ ราล์ฟ (ที่เคยแคสต์ไปแล้วแต่ไม่ผ่าน) มารับบท วิลเลียม เช็กสเปียร์ แทน ส่วนบทตัวนางอย่างวิโอลา นอกจากโรเบิร์ตส์แล้ว ก็มีทั้ง เคต วินสเลต (Kate Winslet), วิโนนา ไรเดอร์ (Winona Ryder), ไดแอน เลน (Diane Lane) และ โรบิน ไรต์ (Robin Wright) ที่ถูกเลือกให้รับบทนำ แต่สุดท้ายก็ได้ กวินเน็ธ พัลโทรว์ มารับบท

ส่งให้เธอชนะรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรก ปาดหน้าตัวเก็งสาขาเดียวกัน เคต แบลนเชตต์ (Cate Blanchett) จากหนัง ‘Elizabeth’ (1998) ที่เข้าชิงรางวัลสาขานี้เป็นครั้งแรกเช่นกัน และตัวหนังยังปาดหน้าหนังสงครามฟอร์มยักษ์ตัวเก็งในปีนั้นอย่าง ‘Saving Private Ryan’ (1998) คว้ารางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนั้นไปครองด้วย

ท่ามกลางข้อถกเถียงถึงเหตุผลของคณะกรรมการ และท่ามกลางกระแสข่าวซุบซิบที่ว่ากันว่า การคว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยมของ ‘Shakespeare in Love’ อาจเป็นเพราะเกิดจากการใช้อำนาจล็อบบี้ของไวน์สตีนเองก็เป็นได้


(*ละครของเช็กสเปียร์ที่โรเบิร์ตส์กล่าวถึงคือ ละครเวที ‘Romeo and Juliet’ จากบทละครที่ประพันธ์โดยเช็กสเปียร์ ที่เดย์-ลูอิส เคยร่วมแสดงเป็นโรมิโอในปี 1983)


ที่มา: Air Mail, Daily Mail, Variety

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส