เมื่อวันก่อน Beartai Buzz ได้นำเสนอเรื่องราวของศิลปินสาว รินะ ซาวายามะ (Rina Sawayama) นักร้องนักแต่งเพลงและนางแบบสาวเชื้อสายญี่ปุ่นที่ไปเติบโตอยู่ในประเทศอังกฤษ ผู้รับบทบาทเป็น ‘อากิระ’ ลูกสาวเจ้าของโรงแรมคอนติเนนตัลสาขาโอซาก้าที่มีอีกด้านหนึ่งคือการเป็นนักฆ่าสาวผู้แพรวพราวและมีฝีมือฉกาจ ในภาพยนตร์แอ็กชันสุดมันส์ ‘John Wick Chapter 4’ จนทำให้ผู้ชมตื่นตาตื่นใจและประทับใจในฝีไม้ลายมือของเธอ คราวนี้เราจะมานำเสนอเรื่องราวของเธอในบทบาทที่ได้ทำให้เธอแจ้งเกิดอย่างเฉิดฉาย นั่นก็คือการเป็นนักร้อง นักแต่งเพลงและนักดนตรีตัวจริงที่ฝากผลงานอันโดดเด่นเอาไว้มากมาย เรามารู้จักกับสาวรินะ ซาวายามะคนนี้ให้ดียิ่งขึ้นผ่านบทเพลงอันยอดเยี่ยม 10 บทเพลงนี้กัน

“Send My Love to John”

เพลงช้าที่ไม่ควรมองข้ามจากอัลบั้มล่าสุดของซาวายามะ ‘Hold the Girl’ “Send My Love to John” เป็นเพลงอะคูสติกที่แสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์ของซาวายามะในฐานะนักแต่งเพลงที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์บัลลาดได้อย่างลุ่มลึก โน้ตเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เด่นชัดในท่อนคอรัส และกลิ่นอายความเป็นโฟล์กคันทรี่ของเพลงนี้ คือสิ่งที่พิสูจน์ว่าซาวายามะสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่หลากหลายได้อย่างน่าสนใจ

“Send My Love to John” เป็นเรื่องราวสะเทือนอารมณ์ที่เล่าจากมุมมองของแม่ผู้เป็นคนอพยพไปอาศัยอยู่ในอเมริกา ซึ่งสะท้อนความเป็นคนย้ายถิ่นข้ามชาติของซาวายามะที่ต้องย้ายจากญี่ปุ่นไปอยู่อังกฤษ ในบทเพลงนี้สะท้อนความรู้สึกผิดที่แม่มีต่อลูกชายของเธอ แม่ผู้ความคาดหวังต่าง  ๆ นานาต่อลูกชายเพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องมีชีวิตที่ยากลำบากเหมือนเธอ แต่แล้วความคาดหวังนี้ก็ทำให้เธอมองข้ามความรักที่ลูกชายมีต่อคนรักหนุ่มของเขาที่ชื่อ “จอห์น” ซึ่งชื่อ “จอห์น” นี้ได้มาจากชื่อแฟนของเพื่อนซาวายามะนั่นเอง

And I’m sorry for the things I’ve done

I misguided love to my only son

Trying to protect you, but I guess I was wrong

So send my love, send my love to John

ซาวายามะเคยให้สัมภาษณ์กับ The Fader ถึงเพลงนี้ว่า “[Send My Love To John] มาจากมุมมองที่มีความเห็นอกเห็นใจของพ่อแม่ที่มีต่อลูก เพราะฉันคิดว่าการมีผู้คนมากมายรอบตัวฉันกลายเป็นพ่อแม่ในช่วงล็อกดาวน์ ชีวิตของพวกเขาเต็มไปด้วยความรัก พวกเขาต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผู้คนยุ่งวุ่นวายกันมากขึ้น พวกเขามีความเครียดทางการเงิน พวกเขาเหนื่อย และพวกเขาไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องในการซัพพอร์ตลูก ๆ ของพวกเขา และพวกเขาเกิดความรู้สึกกลัวเวลาที่พวกเขาพบว่าตัวเองและลูก ๆ นั้นมีความต่างซึ่งกัน ถึงแม้มันจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม มันเป็นเพลงที่พิเศษจริง ๆ สำหรับฉัน เพราะทั้งอัลบั้มมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่จะมีความเป็นพ่อแม่ เรียนรู้จักการดูแล ทั้งการดูแลตัวเอง ดูแลผู้อื่น ฉันหวังว่ามันจะทำให้คนที่จำเป็นต้องได้ยินคำว่า “ขอโทษ” จากคนที่รักของพวกเขารู้สึกได้รับการดูแลมากขึ้นแม้สักเล็กน้อยก็ยังดี”

“Cherry”

แค่เพียงได้ยินท่อนร้องแรกของเพลงที่ร้องว่า “Down the subway, you looking my way / With your girl gaze, with your girl gaze” มันก็ดึงดูดเราได้ในทันที ในบทเพลงป๊อปอันโรแมนติกเพลงนี้ ซาวายามะเรียกคนรักของเธอว่า “เชอร์รี่ของฉัน” ซึ่งอาจเป็นการเล่นกับวลีในภาษาฝรั่งเศส “ma cherie” (ซึ่งแปลว่า “ที่รักของฉัน”)  “Cherry” คือการประกาศความภาคภูมิใจของรินะ ซาวายามะ เกี่ยวกับตัวตนของเธอในฐานะผู้ที่มีรสนิยมทางเพศแบบเลื่อนไหล (Pansexual) เธอพูดถึงประสบการณ์ประจำวันของเธอในฐานะแพนเซ็กชวล รวมถึงการต่อสู้ที่มาพร้อมกับมัน

ซาวายามะบอกกับ Billboard ว่า “ฉันคิดว่านี่เป็นครั้งแรกที่ฉันเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจนจนไม่สามารถปิดบังได้ […] ฉันปรึกษาผู้คนมากมายเกี่ยวกับการตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อความที่ฉันจะส่งไปนั้นมีความถูกต้องเหมาะสมแล้ว ฉันไม่ต้องการที่จะตีตราชุมชนไบเซ็กชวล แพนเซ็กชวล หรือว่าเควียร์ … แต่ข้อความที่ฉันได้รับจากแฟน ๆ และจากผู้คนที่บอกว่าพวกเขาคัมเอาต์เพราะฉัน ทั้งหมดนี้ทำให้ฉันซึ้งใจมาก ๆ มันช่างเหลือเชื่อจริง ๆ  มันเป็นการเสี่ยงที่คุ้มค่า” ด้วยท่วงทำนองที่ไพเราะและเนื้อเพลงที่อ่อนหวาน “Cherry” ได้กระตุ้นให้ผู้ฟังแสดงออกถึงความรู้สึกที่แท้จริงที่พวกเขามีต่อคนที่พวกเขารักและบทเพลงนี้ได้เป็นข้อคิดเห็นและมุมมองที่สำคัญในฐานะตัวแทนของคนที่เป็นแพนเซ็กชวล

“Hold the Girl”

เพลงพาวเวอร์บัลลาดไตเติลแทร็กจากสตูดิโออัลบั้มชุดล่าสุดของซาวายามะ “Hold the Girl” เป็นเพลงที่เกี่ยวกับการยืนหยัดเพื่อความเป็นเด็กในตัวคุณ เพลงนี้เขียนขึ้นหลังจากการเข้ารับการบำบัดอย่างเข้มข้นที่ซาวายามะเข้าร่วมในปี 2020 เพลงนี้เจาะลึกถึงความมั่นใจของเธอ โดยบอกเล่าเรื่องราวของการที่เธอได้กลายเป็นตัวเธอในเวอร์ชันที่ดีขึ้น เป็นเพลงที่น่าซาบซึ้งใจสำหรับใครก็ตามที่รู้สึกเหมือนได้สูญเสียส่วนหนึ่งของตัวเองไปเนื่องจากความยากลำบากในชีวิต

“Hold The Girl” โปรดิวซ์โดย บาร์นีย์ ลิสเตอร์ (Barney Lister) ผู้สร้างสรรค์จังหวะที่โดดเด่นให้กับบท เพลงนี้ และเปลี่ยนท่วงทำนองจากเพลงบัลลาดที่สงบนิ่งให้กลายเป็นจังหวะแดนซ์ป๊อปอาร์แอนด์บีอันมีเสน่ห์ และมีสิ่งที่ทำให้บทเพลงนี้มีความน่าสนใจยิ่งไปอีกคือการเปลี่ยนคีย์ที่งดงามหลังท่อนบริดจ์ ซึ่งมันได้เพิ่มชั้นเชิงให้กับเพลงที่น่าทึ่งและชวนอบอุ่นใจเพลงนี้

“Frankenstein”

นี่คือหนึ่งในบทเพลงของซาวายามะที่คู่ควรต่อการฟังกันสด ๆ ในโชว์ของเธอ เพราะเราจะมันส์ไปกับท่วงทำนองของมันมาก ๆ สิ่งที่ทำให้ “Frankenstein” น่าตื่นเต้นมาก ๆ ก็คือจังหวะที่รวดเร็ว เร้าใจ และการเรียบเรียงดนตรีที่ชวนเราปลดปล่อยอารมณ์ให้ระเบิดออกมาสุด ๆ

ในเนื้อหาของเพลง แฟรงเกนสไตน์ถูกใช้ในการเปรียบเปรยถึงการ “กลับมามีชีวิตอีกครั้ง” หลังจากการบำบัดของเธอ “Put me together, make me better / Love me forever, hold me tight” เธอได้ร่ำร้องขอให้ใครสักคนรักษาและเยียวยาเธอ สิ่งที่ซาวายามะต้องการคือรู้สึกถึงความงามทั้งภายในและภายนอกตัวเธอ และเธอไม่ต้องการเป็นสัตว์ประหลาดอีกต่อไป ยิ่งได้สัมผัสมุมมองที่ละเอียดอ่อนจากภายในผ่านบทเพลงของเธอแล้วแน่นอนว่าแฟน ๆ พร้อมที่รักเธอยิ่งขึ้นไปอีก

“Bad Friend”

มาที่บทเพลงจากสตูดิโออัลบั้มเปิดตัวของซาวายามะที่ชื่อว่า ‘SAWAYAMA’ กันมั่ง “Bad Friend” เป็นเพลงที่ดึงดูดผู้ฟังจำนวนมากได้เพราะมันทำให้เราสัมผัสได้ถึงความกลัวที่เราทุกคนกลัวเกินกว่าจะยอมรับว่าเรามี นั่นคือความกลัวที่จะเป็นคนที่ไม่ดีพอสำหรับเพื่อนของเรา

เพลงนี้เปิดตัวด้วยสถิติที่ร้อนแรงที่สุดในโลกของ BBC Radio 1 เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2020 จากบทความของ Pitchfork ซาวายามะเล่าว่าเขียนเพลง “Bad Friend” หลังจากเปิดเช็ก Facebook หลังจากที่ไม่ได้เปิดเข้ามานานแล้วและได้เห็นเพื่อนเก่าที่สนิทสนมกันกำลังจะมีลูกอีกคนแล้ว เนื้อเพลงให้รายละเอียดเกี่ยวกับทริปที่ซาวายามะและเพื่อนได้เคยไปเที่ยวโตเกียวด้วยกันในปี 2012 ที่พวกเธอเมาและเต้นเปลือยกายไปกับเพลงของ

คาร์ลี แร เจปเซ่น (Carly Rae Jepsen) ในห้องคาราโอเกะ เพลงนี้โปรดิวซ์โดยไคล์ เชียเรอร์ (Kyle Shearer) ซึ่งช่างเหมาะเจาะเพราะว่าเชียเรอร์นั้นเคยทำงานร่วมกับ คาร์ลี แร เจป เซ่นด้วย

ซาวายามะกล่าวว่า “Bad Friend” เป็นเพลงโปรดของเธอใน ‘SAWAYAMA’ และเล่าว่า “ฉันคิดว่าทุกคนก็เป็นเพื่อนที่ไม่ดีในบางครั้ง และฉันก็อยากจะเขียนเพลงที่บริสุทธิ์จริงใจเกี่ยวกับมัน […] เสียงร้องผ่านเอฟเฟกต์ vocoder ในท่อนคอรัสสะท้อนให้เห็นความว่างเปล่าที่คุณรู้สึก ราวกับว่าคุณถูกปล่อยออกจากรถไฟเหาะ ฉันมักจะตกหลุมรักความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ความสัมพันธ์โรแมนติก และมักทิ้งเพื่อนไว้บ้างบางเวลา” ซาวายามะพูดถึงเพื่อนเก่าของเธอที่มีลูกว่า “เธออยู่ในชีวิตของฉันและรับรู้ในความสัมพันธ์ที่ฉันเคยมีมาแล้ว 3 ครั้งเหมือนก้อนหินที่อยู่ตรงนั้นไม่ไปไหน ตอนนี้ฉันรู้แล้วว่าเธอรู้สึกเหมือนโดนทิ้ง ฉันเลยจะส่งเพลงนี้ให้เธอก่อนที่อัลบั้มจะปล่อยออกมา ตอนนี้เรากลับมาติดต่อกันแล้ว มันดีมาก ๆ เลยล่ะ”

และความเท่อีกอย่างของเพลงนี้คือมิวสิกวิดีโอ ที่มาในโทนขาว-ดำและงานภาพในสไตล์ภาพยนตร์ญี่ปุ่นยุคคลาสสิก ซึ่งมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ซาวายามะทั้งออกแบบเนื้อหา แสดงและกำกับด้วยตัวเอง โดยเธอได้แสดงฉากแอ็กชันเล็ก ๆ เอาไว้จนถูกตาต้องใจผู้กำกับ แชต สตาเฮลสกี (Chad Stahelski) ผู้กำกับหนังชุด ‘John Wick’ ก็เลยกริ๊งกร๊างชวนซาวายามะไปฝึกการต่อสู้ถึงเบอร์ลินประเทศเยอรมัน และได้รับบทบาทสำคัญในภาพยนตร์ ‘John Wick Chapter 4’ ในที่สุด

“LUCID”

“LUCID” เป็นซิงเกิลแรกจากอัลบั้ม ‘SAWAYAMA’ ในปี 2020 ที่มาพร้อมมิวสิกวิดีโอที่ดูเฉียบล้ำและมีสีสันที่สดใส ซาวายามะพูดถึงเพลงนี้ว่า “Lucid เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันผ่านความฝัน ไม่ว่าจะเป็นการได้อยู่กับสาวในฝันหรือการได้เป็นสาวในฝันก็ตาม” มันคือบทเพลงที่มอบท่วงทำนองอันชวนเบิกบานสดใสและบอกเราว่าเราควรทำให้ตัวเองมีความสุข

“LUCID บทเพลงชวนฝันอันสนุกสนานและโรแมนติกเพลงนี้ มาในท่วงทำนองของดนตรีคลับและโปรดิวซ์โดย BloodPop ที่มาพร้อมสไตล์ดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา จนทำให้บางคนเปรียบเทียบเพลงนี้กับบทเพบลงใน ‘Chromatica’ อัลบั้มล่าสุดของ Lady Gaga ที่โปรดิวซ์โดย BloodPop เอง และซาวายามะเองก็มักถูกเปรียบเทียบกับ Gaga ที่ต่างก็มีความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อเช่นกัน

“STFU!”

นี่คือเพลงป๊อปในแบบที่ชาวฮาร์ดคอร์เมทัลสามารถโยกหัวไปด้วยได้ “STFU!” มาจากอัลบั้ม ‘SAWAYAMA’ และโดดเด่นด้วยการผสมผสานระหว่างอิทธิพลของดนตรีนูเมทัลและร็อก และองค์ประกอบของดนตรีบับเบิลกัมป๊อป บทเพลงนี้ทำหน้าที่ในการการปลดปล่อยความเคืองขุ่นในใจของซาวายามะ ที่มีต่อคอมเมนต์แย่ ๆ ที่ทั้งก้าวร้าวและแสดงความคิดเห็นต่อต้านและเหยียดคนญี่ปุ่นที่เธอต้องทนมาตลอดชีวิต แม้ว่าจะเกี่ยวกับประสบการณ์ของเธอโดยตรง แต่เนื้อหาของเพลงนี้ก็เป็นหัวข้อสากลที่หลาย ๆ คนสามารถแบ่งปันความรู้สึกร่วมกันได้ ซาวายามะจึงอุทิศ “STFU!” ให้กับ “ชนกลุ่มน้อยใด ๆ ก็ตามที่เคยประสบกับการ microaggression (การพูดหรือแสดงออก โดยที่ผู้พูดอาจจะไม่ได้มีเจตนาเหยียดโดยตรง แต่คำพูดนั้นก็อาจจะไปทำร้ายจิตใจของคนฟังได้)”

ซาวายามะพูดถึงเพลงนี้ไว้ว่า “มีความโกรธมากมายที่ฉันต้องการจะระบายออกในช่วงเวลานั้น และมันก็ไหลออกมาจนหมด คลาเรนซ์ เคลียริตี (Clarence Clarity) ได้แต่ง 2 ท่อนที่มีอารมณ์ตัดกันนี้เอาไว้ […] ฉันคิดว่าฉันสามารถเขียนเพลง [“STFU!”] ได้ เพราะฉันอยู่ในจุดที่ได้พบชุมชนของผู้คนของฉันแล้วและฉันสามารถหัวเราะกับสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว ฉันหวังว่าคนฟังจะมองว่าเพลงนี้มันค่อนข้างตลกดีนะ”

“This Hell”

มีเพียงรินะ ซาวายามะเท่านั้นแหละที่จะสามารถเขียนเพลงที่เสียดสีความเป็นโฮโมโฟบิกของผู้คนในเขต Bible Belt (เขตทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาซึ่งกลุ่มศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์อนุรักษ์นิยมมีบทบาทอย่างมากในสังคม) ด้วยเพลงป๊อปร็อก “This Hell” เป็นซิงเกิลแรกจากอัลบั้ม ‘Hold The Girl’ และเป็นเพลงป็อปที่ “เฉลิมฉลองชุมชนและความรักในช่วงเวลาที่โลกดูเหมือนนรก”

รินะกล่าวว่า “ฉันสนุกมากที่ได้แต่งเพลง ‘This Hell’ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาฉันฟังนักร้องคันทรี่หญิงหลายคนและอยากจะแต่งเพลงคันทรี่ป๊อปที่ไพเราะออกมาบ้าง เพลงคันทรี่ที่เป็นแกนหลักสำหรับฉันคือความสบายใจ การเล่าเรื่องที่ยอดเยี่ยม และการแสดงออกที่จริงแท้ ความจริงที่ถ่ายทอดผ่านมุมมองของคนเขียนเพลง ฉันใฝ่ฝันที่จะได้ร่วมงานกับ พอล เอ็ปเวิร์ธ (Paul Epworth) มาตลอด ดังนั้นฉันจึงรู้ว่ามันจะต้องออกมาอย่างนี้แหละเมื่อเราทำเพลงนี้เสร็จในหนึ่งวัน ฉันใส่สิ่งที่เป็นไอคอนิกในวัฒนธรรมป๊อปในช่วงเวลาของเรามากเท่าที่ฉันจะทำได้ แต่บทเพลงนี้เป็นอะไรที่ยิ่งไปกว่านั้นอีก” ‘ไอคอนิกแห่งวัฒนธรรมป๊อป’ ที่ซาวายามะพูดถึงนั้นตัวอย่างเช่น The Devil Wears Prada, เจ้าหญิงไดอานาและ บริตนีย์ สเปียร์ส (Britney Spears)

“Comme Des Garçons (Like The Boys)”

หากคุณต้องการความมั่นใจ “Comme Des Garçons (Like The Boys)” จะเป็นเพลงปลุกพลังที่รวมพลังของผู้ชายและผู้หญิงเข้าด้วยกัน นอกจากความหมายตามตัวอักษรในภาษาฝรั่งเศสว่า “like the boys” แล้ว Comme des Garçons ยังเป็นชื่อของแบรนด์แฟชั่นญี่ปุ่นที่ก่อตั้งโดย เรย์ คาวาคุโบะ (Rei Kawakubo) ในปี 1969 ในเพลงนี้ซาวายามะได้ลิสต์แบรนด์แฟชั่นไฮเอ็นด์อื่น ๆ อีกมากมาย (เช่น Miu Miu และ Prada) รวมไปถึงนักออกแบบแฟชั่นที่ปฏิวัติวงการทั้งหลาย

ในแง่หนึ่ง “Comme Des Garçons (Like The Boys)” เป็นเรื่องของการต้องยอมรับและเอานิสัยที่ไม่ดี ๆ ในแบบผู้ชายมาใช้เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกมั่นใจ แต่ในอีกทางหนึ่งมันเกี่ยวกับการไล่ตามสิ่งที่เราต้องการโดยปราศจากความกลัว “Oh, girl, it’s okay / You should never be ashamed to have it all” ซาวายามะร้องมันด้วยสุ้มเสียงที่เปล่งประกาย ท่ามกลางเสียงเบสที่อาจหนาและแน่นที่สุดเท่าที่เคยมีมาในเพลงป๊อป เบสไลน์ที่ยอดเยี่ยมนั้นสร้างสรรค์โดยโปรดิวเซอร์จากแอลเอ บราม อินสกอร์ (Bram Inscore) และ นิโคล โมริเออร์ (Nicole Morier) ซึ่งเคยร่วมงานกับ บริตนีย์ สเปียร์ส บ่อยครั้ง แน่นอนว่า “Comme Des Garçons” คงจะไม่ใช่ “Comme Des Garçons” ถ้าไม่มีเบสไลน์สุดแจ่มนี้

ซาวายามะพูดถึงเพลงนี้ไว้ว่า “ในแง่หนึ่ง ฉันอยากจะสำรวจความคิดของผู้คนที่ต้องยอมรับนิสัยเชิงลบของความเป็นชายที่หลายคนเอามันมาใช้เพื่อให้ตัวเองดูมีความมั่นใจ ในขณะที่อีกแง่หนึ่งก็แสดงความเคารพต่อเพลงแดนซ์ช่วงต้นยุค 2000 ด้วยเช่นกัน ฉันพูดถึงความมั่นใจในแบบที่สังคมยอมรับได้คือการแสดงออกให้ ‘เหมือนผู้ชาย’  ไม่เช่นนั้นในฐานะผู้หญิงคุณจะถูกเรียกว่า ‘bitch’ !  แต่ในคลับเราจะใช้คำว่า ‘bitch’ เพื่อเป็นสัญญาณของความมั่นใจอย่างที่สุด ฉันเลยอยากจะเอาสิ่งเหล่านี้มาไว้ด้วยกันและทำแฟชั่นของดนตรีคลับที่ทำให้คุณรู้สึกกล้าที่จะเป็น ‘bitch’ ในแบบใดก็ตามที่เป็นตัวของคุณ”

“XS”

ปิดท้ายด้วยบทเพลงที่ทำให้รินะ ซาวายามะ โด่งดังและได้รับการยอมรับในระดับแมส บทเพลงที่ไม่ว่าจะเป็นแฟนเก่าแฟนแก่หรือว่าแฟนเพลงรุ่นใหม่ก็ต่างพร้อมใจกันยกนิ้วให้  “XS” เป็นเพลงที่เกี่ยวกับหายนะของการบริโภคและระบบทุนนิยมที่บอกเล่าจากมุมมองของคนที่มีส่วนร่วมในระบบนี้

ซาวายามะกล่าวถึงเพลงนี้ว่า “ “XS” เป็นเพลงที่ล้อเลียนระบบทุนนิยมในโลกที่กำลังล่มสลาย เมื่อเราทุกคนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการสูญพันธุ์ของมนุษย์ก็เป็นไปได้จริงในช่วงชีวิตของเรา มันดูตลกสำหรับฉันที่แบรนด์ต่าง ๆ ยังคงพยายามออกเมกอัปพาเล็ตต์ใหม่ ๆ ทุกเดือน และบุคคลสาธารณะกำลังพาชมบ้านขนาดมหึมาและทรัพย์สินที่มีรั้วรอบขอบชิดในกาลาบาซัสในสัปดาห์เดียวกับที่มีโพสต์ในอินสตาแกรมว่า ‘เศร้าใจกับไฟป่าในออสเตรเลีย’ ฉันเองก็รู้สึกผิดที่ทำไม่รู้ไม่เห็นกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้นความจริงพวกนี้ก็คงทำให้ฉันรู้สึกหดหู่ใจ เราทุกคนต่างเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอกเพราะเราต่างก็เป็นพวกทุนนิยมด้วยกันทั้งนั้น และมันก็เป็นกับดักที่ฉันไม่เห็นทางเลยว่าเราจะหลุดออกไปได้อย่างไร”

สิ่งที่บ้ามาก ๆ เลยสำหรับ “XS” ก็คือในขณะที่ผู้ฟังรู้ว่าบทเพลงกำลังวิพากษ์ความทะเยอทะยานและความหิวกระหายที่ก่อให้เกิดปัญหามากเกินไป เรากลับหลงใหลไปในท่วงทำนองของเธอ ที่มาพร้อมกีตาร์ร็อก ๆ และริฟฟ์ที่โดนใจ พร้อมทั้งท่าเต้นสุดแนวของซาวายามะและมิวสิควิดีโอที่น่าจดจำ ทำให้ “XS” เป็นเพลงฮิตที่เราไม่สามารถหยุดเล่นซ้ำได้เลย

ที่มา

Live365

The Fader

Billboard

Pitchfork

Apple music

Dazed

Genius

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส