กว่า 40 ปี กับผลงานบู๊สู้ฟัดนับร้อยเรื่องของ เฉินหลง (Jackie Chan) แอ็กชันซูเปอร์สตาร์ระดับโลก ที่สร้างความประทับใจให้แก่แฟนหนังทั่วโลกด้วยงานบู๊ฟัดใหญ่สุดมันตะลึงตา ผสานกับมุกฮาสุดทะเล้น ที่กลายเป็นเจ้าตำรับของหนังแนวแอ็กชันคอมเมดี้ (Action-Comedy) ที่ไม่มีใครทัดเทียม และนี่คือลิสต์ 10 สุดยอดหนังบู๊สู้ฟัดของราชาหนังแอ็กชัน ทั้งหนังเก่าในอดีตที่ยังอยู่ในความทรงจำ หนังที่เป็นกระแสเมื่อออกฉาย หนังที่สะท้อนความทุ่มเทในการทำงานแบบทุ่มทุนจนเฉียดตาย และผลงานหนังเด่นที่อยากแนะนำให้ลองหามาชมกัน
‘Drunken Master’ (1978)
ไอ้หนุ่มหมัดเมา
หลังจากท่องยุทธจักรภาพยนตร์ฮ่องกงยุค 70s ในฐานะสตันท์แมน และนักแสดงประกอบ เฉินหลงได้มีโอกาสก้าวขึ้นมารับบทนำครั้งแรก ในหนังแนวกังฟูย้อนยุค ผสมแนวทางบู๊ตลกตามแบบฉบับของเขาเองใน ‘Snake in the Eagle’s Shadow’ หรือ ‘ไอ้หนุ่มพันมือ’ ในปี 1978 ก่อนจะมาโด่งดังทั่วเอเชียครั้งแรก ใน ‘ไอ้หนุ่มหมัดเมา’ ที่ออกฉายในปีเดียวกัน ผลงานของผู้กำกับหนังกำลังภายในชั้นครู หยวนหวู่ปิง (Yuen Woo-Ping)
เฉินหลง รับบทเป็น หวงเฟยหง เด็กหนุ่มลูกชายของ หวงฉีอิง (Lam Kau) ปรมาจารย์กังฟูชื่อดัง ผู้มีอุปนิสัยรักสนุก ร่าเริง แต่ขี้เกียจฝีกวิชากังฟู ชอบหนีเที่ยวเล่นไปวัน ๆ พ่อของเขาจึงบังคับให้เขาฝึกวิชากังฟูกับ ยาจกซู (Yuen Siu-Tin) ครูมวยจอมเข้มงวดเพื่อดัดนิสัย แต่ก็ยังแอบหนีเที่ยวเล่นเหมือนเดิม จนเมื่อพ่อของเขาถูก เยิ่นเถี่ยซิน (Hwang Jang-lee) เจ้าของวิชาเพลง เตะดับจิต ทำร้ายระหว่างต่อสู้ หวงเฟยหงจึงได้ไปฝึกสุดยอดวิชาเพลงมวยหมัดเมา 8 กระบวนท่า เพื่อเอาชนะเยิ่นเถี่ยซินให้จงได้
นอกจากท่ารำมวยหมัดเมาที่กลายเป็นภาพจำของเฉินหลงไปแล้ว ตัวหนังเรียกได้ว่าเป็นหนังกังฟูที่ประสบความสำเร็จที่สุดในยุคทศวรรษ 1970 เป็นหนังทุนต่ำที่ทำรายได้เป็นอันดับ 2 ของเกาะฮ่องกงในปี 1978 และยังโด่งดังไปทั่วทั้งเอเชีย ส่งให้เฉินหลงกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ และเป็นจุดเริ่มต้นของหนังแนว Action Comedy ยุคกังฟูในแบบฉบับของเฉินหลง ให้เป็นที่รู้จักเป็นครั้งแรก และยังมีการการสร้างภาคต่อ ‘Drunken Master II’ หรือ ‘ไอ้หนุ่มหมัดเมา ภาค 2’ ในปี 1994 อีกด้วย
Average Tomatoes Meter: 80%
IMDb Rating: 7.4/10
รับชมได้ทาง Apple TV
‘Project A’ (1983)
เอไกหว่า
ในช่วงยุค 80s เฉินหลงได้ย้ายเข้ามาสังกัดกับค่าย โกลเด้น ฮาร์เวสต์ พร้อมกับการเริ่มต้นการเข้ามากำกับหนัง และร่วมแสดงกับแอ็กชันสตาร์รุ่นพี่ทั้ง หงจินเป่า และ หยวนเปียว รวมทั้งยังได้ก่อตั้ง JC Stunt Team ทีมสตันท์แมนของ แจ็กกี้ ชาน ขึ้นอย่างเป็นทางการ พร้อมกับปรับแนวทางจากหนังกังฟูตลก สู่หนังแอ็กชันคอมเมดี้ที่มีเนื้อหาและฉากบู๊ที่ร่วมสมัยมากขึ้นอีกด้วย
เอไกหว่า เล่าเรื่องราวย้อนไปในช่วงต้นยุคสมัย 1900 ของจีน เมื่อกองทัพเรือได้ก่อตั้งทีมพิเศษเพื่อออกกวาดล้างโจรสลัดที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วน่านน้ำของจีน จนกระทั่ง เฉินหลง ที่รับบทเป็น หม่าหยูหลง ตำรวจน้ำดี และเพื่อนสนิท (หงจินเป่า) และอดีตคู่แข่งผู้เป็นตำรวจเก่า (หยวนเปียว) จึงได้ก่อตั้งทีมเพื่อประกาศสงครามปราบเหล่าโจรสลัด ตำรวจกังฉิน และนักธุรกิจใจคดร่วมกัน
ตัวหนังเต็มไปด้วยฉากบู๊ผสมตลกที่มีลีลาดุจยิมนาสติก ที่หลายฉากก็กลายมาเป็นภาพจำของเฉินหลง ทั้งฉากขี่จักรยานหนีตำรวจ และฉากเกาะเข็มนาฬิกาสุดหวาดเสียว ที่เฉินหลงแสดงด้วยตัวเองจริง ๆ และตกลงหัวกระแทกพื้น จนทำให้คอได้รับความบาดเจ็บจริง ๆ ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จไปทั่วเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ที่สามารถทำรายได้ตอนฉาย มากกว่ารายได้ตอนฉายในฮ่องกงเองด้วยซ้ำ จนกระทั่งมีการสร้างภาค 2 หรือ ‘Project A 2’ ออกมาในปี 1987
Average Tomatoes Meter: 77%
IMDb Rating: 7.4/10
รับชมได้ทาง Netflix
‘Police Story’ (1985)
วิ่งสู้ฟัด
คอหนังเฉินหลงคงไม่มีใครรู้จักหนังเรื่องนี้ กับแนวแอ็กชันคอมเมดี้ที่พัฒนาไกลไปอีกขั้น ด้วยการโชว์ฉากแอ็กชันแนวสตันท์แมนที่เขาลงทุนเล่นเอง เจ็บเองในทุกช็อต กลายเป็นฉากตื่นตาสุดหวาดเสียว และภาพจำหนังเฉินหลงในตำนานมาจนถึงทุกวันนี้
กับเรื่องราวของ จ่าเฉิน หรือกูกู๋ เจ้าหน้าที่ตำรวจตงฉิน ที่ต้องการบุกจับ จูโถว หรือบิ๊กจู๋ (Chor Yuen) มาเฟียค้ายาเสพติดรายใหญ่ที่เปิดไนต์คลับและบริษัทค้าเงินบังหน้า เป็นอาชญากรอันดับหนึ่งที่ตำรวจฮ่องกงต้องการตัวมากที่สุด แต่แม้จะจับกุมตัวบิ๊กจู๋มาได้ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเอาผิดได้ เป้าหมายของจ่าเฉิน จึงต้องมุ่งไปที่เซรีนา (Brigitte Lin) เลขาส่วนตัวของบิ๊กจู๋ เพื่อนำมาเป็นพยานซัดทอดเอาผิดพร้อมกับต้องพิทักษ์พยานไปด้วย
ตัวหนังจุดประกายให้คนทั้งโลกรู้จักกับเฉินหลงเป็นครั้งแรก ด้วยฉากคิวบู๊แนวสตันท์ที่เน้นความรุนแรงสมจริง จัดเต็มด้วยเทคนิคการถ่ายทำแบบเทคเดียว ไม่ใช้สลิง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน และเป็นหนังที่เล่าเรื่องฝั่งตำรวจ แทนที่จะเล่าเรื่องของเจ้าพ่อเหมือนหนังมาเฟียเรื่องอื่น ๆ ในยุคนั้น ส่งให้เฉินหลงได้รับรางวัลตุ๊กตาทองฮ่องกง 2 รางวัล ได้แก่รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ ออกแบบฉากต่อสู้ยอดเยี่ยม
Average Tomatoes Meter: 93%
IMDb Rating: 7.5/10
รับชมได้ทาง Netflix, Apple TV
‘Armour of God’ (1986)
ใหญ่สั่งมาเกิด
ผลงานแอ็กชันตลกสร้างชื่ออีกเรื่องของเฉินหลง ที่คราวนี้หันมาเล่าเรื่องแนวผจญภัย กับเรื่องราวที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก อินเดียนา โจนส์ (Indiana Jones) ที่ถูกทำออกมาอีก 2 ภาค ทั้ง ‘Operation Condor’ (1991) หรือ ‘ใหญ่สั่งมาเกิด 2’ และ ‘Chinese Zodiac’ (2012) หรือ ‘วิ่งปล้นฟัด’ รวมทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของคำว่า ‘ใหญ่’ ในหนังเฉินหลงเกือบทุกเรื่องด้วย
กับเรื่องราวของ แจ็กกี้ เจ้าของฉายา ‘เหยี่ยวเอเชีย’ นักล่าขุมทรัพย์ผู้รักในการผจญภัย แจ็กกี้ได้รับมอบหมายจากท่านดยุคให้ออกตามหาและรวบรวมอาวุธเทพเจ้า โดยพร้อมจ่ายค่าจ้างให้แบบไม่อั้น แต่เรื่องเกิดไปถึงหูของผู้ก่อการร้ายที่ต้องการอาวุธนี้เช่นกัน จึงได้จับตัวอลัน (Alan Tam) แฟนเก่าแจ็กกี้ เพื่อแลกกับดาบเทพเจ้า แจ็กกี้จึงต้องออกผจญภัยเพื่อช่วยเหลือออกมาให้ได้
นี่คือหนังที่ทำให้เฉินหลงเฉียดใกล้ความตายมากที่สุดในชีวิต ในการถ่ายทำฉากกระโดดจากกำแพงมาเกาะกิ่งไม้ แต่โชคไม่ดีที่กิ่งไม้กิ่งนั้นหัก ทำให้ตัวเขาพลัดตกลงมาจากความสูงกว่า 5 เมตร กะโหลกศีรษะร้าวจนเศษกระโหลกทิ่มเข้าไปในสมอง ทีมงานต้องนำตัวเขาส่งโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ซึ่งแม้เขาจะไม่เป็นอะไรมาก แต่ก็ทำให้เกิดช่องในหัว และทำให้การได้ยินของเขาลดลงอย่างถาวร
Average Tomatoes Meter: 71%
IMDb Rating: 6.9/10
รับชมได้ทาง Netflix
‘City Hunter’ (1993)
ใหญ่ไม่ใหญ่ข้าก็ใหญ่
หนังเฉินหลงที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวญี่ปุ่นอีกเรื่อง กับครั้งแรกและครั้งเดียวที่นำเอาการ์ตูนมังงะแนวตลกแอ็กชันชื่อดังของญี่ปุ่น ‘City Hunter’ โดยอาจารย์ สึกาสะ โฮโจ (Hōjō Tsukasa) มาดัดแปลงที่แม้ไม่ได้กำกับเอง แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นหนังแอ็กชันคอมเมดี้สไตล์เฉินหลง ที่รับประกันความบู๊สุด ต๊องสุด เพื้ยนสุด อะไรสุด
โดยเฉินหลงต้องมารับบทเป็น ซาเอบะ เรียว นักสืบเอกชนที่ได้รับการว่าจ้างจากอิมามุระ (Kenzo Hagiwara) เศรษฐีชาวญี่ปุ่น ให้ออกตามหาชิซึโกะ (Kumiko Goto) ลูกสาวแสนสวย ที่หายไปพร้อมกับโรนัลด์ (Richard Norton) หนุ่มเพลย์บอย ที่มีแผนนำพาสมุนเข้ามายึดเรือคาสิโน ทำให้ผู้ช่วยสาวอย่างคาโอริ (Joey Wong) ถึงกับไม่พอใจในความเจ้าชู้ไก่แจ้ของเขา ทั้งคู่ต้องขึ้นเรือไปช่วยเหลือคิโยโกะออกมาให้ได้ก่อนที่เรือจะถูกยึด
แม้ City Hunter จะถูกดัดแปลงเป็นไลฟ์เวอร์ชันมาแล้วหลายครั้ง แต่คงไม่มีเวอร์ชันไหนที่เป็นที่จดจำได้เท่ากับเวอร์ชันสุดบ้าเรื่องนี้ เพราะเป็นหนังอีกเรื่องที่เฉินหลงกล้าเล่นทุกบทบาทไปสุดแบบไม่มีเขินอายกันเลยทีเดียว แม้นักวิจารณ์จะไม่ประทับใจการดัดแปลงจากการ์ตูน แต่เป็นหนังเฉินหลงที่แหวกแนวจนสามารถทำรายได้สูงสุดของฮ่องกงเป็นอันดับ 4 ในปี 1993
Average Tomatoes Meter: 50%
IMDb Rating: 6.3/10
รับชมได้ทาง Netflix, Netflix
‘Rumble in the Bronx’ (1995)
ใหญ่ฟัดโลก
หนังแอ็กชันสไตล์บู๊ล้างผลาญ ผลงานโกอินเตอร์ชิ้นแรก ๆ ของเฉินหลง ที่แนะนำตัวให้ชาวอเมริกันได้รู้จัก กับเรื่องราวสุดวุ่นวายในย่านบรองซ์ นิวยอร์ก ที่จริง ๆ แล้วถ่ายทำในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา
เฉินหลงรับบทเป็น หม่าฮั่นเฉียง หรือผู้กองเฉียง ตำรวจจากฮ่องกง ที่เดินทางไปอเมริกาเพื่อร่วมงานแต่งของลุงเปียว (Bill Tung) ในขณะที่เขาเองก็ต้องเป็นธุระจัดการดูแลกิจการซูเปอร์มาร์เก็ตของลุงเปียว ที่ถูกซื้อโดยเอเลน (Anita Mui) สาวชาวจีน แต่ในย่านนั้นก็ยังมีกลุ่มอิทธิพลที่นำโดย โทนี (Marc Akerstream) ที่นำลูกสมุนเข้ามาปล้นซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่บ่อย ๆ และทำให้ผู้กองเฉียงต้องเข้าไปพัวพันกับกับการตามล่าเพชร ที่ทำให้ผู้กองตัวเล็ก ๆ ต้องอยู่ท่ามกลางอันตรายของแก๊งมาเฟียทรงอิทธิพล
แม้ตัวหนังจะยังมีกลิ่นอายบู๊ตลกในแบบเฉินหลง แต่ตัวหนังเริ่มมีความพยายามสอดแทรกความเป็นหนังแอ็กชันฟอร์มยักษ์ และเพิ่มความดราม่าเข้ามาเจือเล็กน้อย แม้รสชาติความเป็นหนังเฉินหลงจะเปลี่ยนไปพอสมควร แต่ก็เรียกได้ว่าถูกปากถูกใจชาวอเมริกัน จนสามารถทำรายได้ในสหรัฐอเมริกาไปถึง 32 ล้านเหรียญ สร้างปรากฏการณ์แจ็กกี้ ชาน ให้เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวอเมริกันมากยิ่งขึ้น
Average Tomatoes Meter: 80%
IMDb Rating: 6.7/10
‘Rush Hour’ (1998)
คู่ใหญ่ฟัดเต็มสปีด
หนังแอ็กชันตำรวจคู่หูคู่ฮา ที่เฉินหลงแสดงร่วมกับนักแสดงตลกสายเดี่ยวไมโครโฟน คริส ทักเกอร์ (Chris Tucker) ที่เป็นการแจ้งเกิดในระดับฮอลลีวูดครั้งแรก และเป็นหนังพูดอังกฤษเรื่องแรกของเฉินหลงที่ไม่ต้องพากย์เสียงทับเหมือนหนังโกอินเตอร์เรื่องก่อนหน้านี้
กับเรื่องราวภารกิจสุดมันของคู่หูต่างขั้วสองสัญชาติ เมื่อสารวัตรสืบสวนลี จากหน่วยสืบสวนตำรวจฮ่องกง ต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานร่วมกับ เจมส์ คาร์เตอร์ (Chris Tucker) ตำรวจสืบสวนจากหน่วยเอฟบีไอ ทั้งคู่ต้องจับมือกันแบบยุ่งเหยิง เพื่อร่วมกันทำภารกิจจับกุมตัวอาชญากร และช่วยชีวิตเด็กหญิงชาวจีน ลูกสาวของเจ้าหน้าที่กงสุลจีน (Tzi Ma) ให้ทันเวลา
ด้วยเสน่ห์ของฉากบู๊ไล่ล่าผู้ร้ายที่ยังคงความมัน ผสมผสานกับความเข้าขาลื่นไหลของทั้งเฉินหลง และ คริส ทักเกอร์ ที่กลายเป็นคู่หูคู่ฮาที่ไหลลื่นสุด ๆ กลายเป็นความมันบวกมุกฮาที่ร้ายกาจสุด ๆ ทำรายได้ Box Office ทั่วโลกไปกว่า 245 ล้านเหรียญ เป็นหนังโกอินเตอร์ของเฉินหลงที่ประสบความสำเร็จสูงสุด และเป็นหนึ่งในหนังที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลเรื่องหนึ่งของเฉินหลง จนมีการสร้างต่อมาอีก 2 ภาค ทั้ง ‘Rush Hour’ 2 (2001) และ ‘Rush Hour’ 3 (2007) ที่ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน
Average Tomatoes Meter: 61%
IMDb Rating: 7.0/10
‘Who Am I ? ‘ (1998)
ใหญ่เต็มฟัด
หนังแอ็กชันอเมริกา-จีนฟอร์มยักษ์อีกเรื่องของเฉินหลงที่สร้างกระแสฟีเวอร์ในไทยตอนฉาย เรียกว่าเป็นหนังนานาชาติเลยก็ว่าได้ เพราะมีนักแสดงจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งฮ่องกง อเมริกัน ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ชาวไทย
ในหนังเรื่องนี้ เฉินหลงรับบทเป็น แจ็กกี้ เจ้าหน้าที่ซีไอเอหนุ่ม ที่ต้องรับหน้าที่ร่วมกับหน่วยคอมมานโด เพื่อแย่งชิงแร่ธาตุชนิดใหม่ที่ค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ในดินแดนแอฟริกาใต้ แต่ในระหว่างนั้น หน่วยคอมมานโดทุกคนโดนหักหลังจนเครื่องบินตก มีแต่แจ็กกี้ที่ฟื้นขึ้นมา แต่เขาก็จำอะไรไม่ได้เลย เขาได้รับความช่วยเหลือจากชนเผ่าในแอฟริกา จนเขาได้ชื่อใหม่ว่า ‘ผมเป็นใคร ? ‘ (Who Am I ?) เขาต้องเอาตัวรอดจากวายร้ายที่หมายหัวและกู้ความทรงจำกลับมาให้ได้
ตัวหนังยังคงเดินเรื่องแนวบู๊ตลกสไตล์เฉินหลง ที่เพิ่มสีสันความตลกขึ้นมาอีกขั้นด้วยเรื่องราวเปิ่น ๆ ของแจ็กกี้ที่จำอะไรไม่ได้เลย กับฉากแอ็กชันสุดมันในเมือง โดยเฉพาะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าตามแนวถนัด และฉากขับรถไล่ล่าสุดมันที่มีให้ชมกันแบบยาว ๆ และนอกจากนี้ยังเป็นหนังที่เคยเป็นกระแสดังในไทยด้วย เพราะมีฉากบนเครื่องบิน ที่มีอดีตพระเอกดังในไทยอย่าง โดโด้ ยุทธพิชัย ชาญเลขา ได้ร่วมซีนในหนัง แสดงเป็นหนึ่งในทีมคอมมานโดด้วย แม้จะโผล่มาให้เห็นแบบแค่ไม่ถึง 3 วินาทีก็เถอะ
Average Tomatoes Meter: 67%
IMDb Rating: 6.8/10
‘Shanghai Noon’ (2000)
คู่ใหญ่ฟัดข้ามโลก
หลังจากจับคู่กับ คริส ทักเกอร์ มาแล้วใน Rush Hour คราวนี้ แจ็กกี้ ชาน กลับมาจับคู่กับนักแสดงตลกอีกคนอย่าง โอเวน วิลสัน (Owen Wilson) และร่วมด้วยนางเอกสาว ลูซี ลิว (Lucy Liu) ในหนังพีเรียดแนวคาวบอยตะวันตกเรื่องแรกของเฉินหลงใน ‘Shanghai Noon’ หรือ ‘คู่ใหญ่ฟัดข้ามโลก’
เรื่องราวย้อนยุคไปในช่วงปี 1881 เมื่อเจ้าหญิงเพ่ยเพ่ย (Lucy Liu) ถูกหลอฟาง (Roger Yuan) ลักพาตัว ราชสำนักจีน โดยองค์จักรพรรดิ ได้ส่งราชองครักษ์หลวงไปไถ่ตัวเจ้าหญิงด้วยทองคำ แต่จางเหวิน (เฉินหลง) ที่ไม่ได้เป็นราชองครักษ์ กลับหาวิธีติดตามมาจนได้ โชคชะตายังพาเขาไปพบกับ รอย โอแบนนอน (Owen Wilson) คาวบอยจอมกะล่อนผู้รักในสุรา นารี พาชี กีฬาบัตร ทั้งคู่จึงต้องกลายเป็นคู่หูร่วมกันออกตามหาเจ้าหญิงในเมืองตะวันตกแดนเถื่อนแห่งนี้
แม้ตัวหนังจะยังมีความเป็นหนังบู๊ตลกสไตล์เฉินหลง แต่ก็สามารถผสานเข้ากับยุคคาวบอยตะวันตกได้ออกมาสนุกสนาน รวมทั้งการแสดงของ โอเวน วิลสัน ที่มีความกาวอยู่ไม่น้อย กลายเป็นหนังเฉินหลงในรสชาติที่แปลกใหม่ รับประกันคะแนนมะเขือสดบนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ที่ 80% จนมีการสร้างภาคต่อออกมาอย่าง ‘Shanghai Knights’ หรือ ‘คู่ใหญ่ฟัดทลายโลก’ ที่ฉายในปี 2003
Average Tomatoes Meter: 80%
IMDb Rating: 6.6/10
รับชมได้ทาง Disney+Hotstar
‘The Foreigner’ (2017)
2 โคตรพยัคฆ์ผู้ยิ่งใหญ่
หนังร่วมทุนสร้าง อังกฤษ-จีน ที่ดัดแปลงจากนิยาย ‘The Chinaman’ ของ สตีเฟน ลีเธอร์ (Stephen Leather) กับการปะทะกันครั้งแรกของเฉินหลง และ อดีตพยัคฆ์ร้าย เจมส์ บอนด์ อย่าง เพียร์ซ บรอสแนน (Pierce Brosnan) และการพลิกบทบาทของเฉินหลงจากหนังบู๊ตลก สู่หนังแอ็กชันทริลเลอร์แก้แค้นแบบซีเรียสจริงจังขั้นสุด ฉีกความคาดหวังของแฟน ๆ แบบไม่เหลือซาก
เฉินหลงต้องรับบทเป็น ควอน ชาวจีนอพยพเจ้าของร้านอาหารจีนในไชน่าทาวน์ เขาต้องพบกับเหตุสะเทือนใจ เมื่อลูกสาวของเขาถูกลูกหลงระเบิดจากผู้ก่อการร้ายจนเสียชีวิต เขาจึงต้องการทวงความยุติธรรม แต่ทางการ รวมทั้งตัวของ เลียม เฮนเนสซี (Pierce Brosnan) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล กลับไม่ได้ให้การช่วยเหลือ เขาจึงต้องลงมือจัดการชำระแค้นด้วยตัวเอง
นี่ถือเป็นหนังเฉินหลงยุคหลัง ๆ ที่ไม่ได้เดินเรื่องด้วยแอ็กชันเร็ว ๆ มัน ๆ เหมือนอย่างเคย หลายครั้งตัวหนังเน้นเรื่องเกี่ยวกับดราม่าการเมืองและผู้ก่อการร้ายที่ซับซ้อน รวมทั้งมาดของเฉินหลง ที่ไม่ได้มาในแบบแอ็กชันสตาร์ แต่มาในภาพลักษณ์ของคนธรรมดา ๆ ที่มีความคั่งแค้น เป็นหนังเฉินหลงยุคใหม่ที่อาจจะไม่ถึงกับดีที่สุด แต่เป็นหนังที่แฟนพันธ์ุแท้เฉินหลงไม่ควรพลาด
Average Tomatoes Meter: 66%
IMDb Rating: 7.0/10
รับชมได้ทาง Disney+Hotstar
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส