เมื่อเราก้าวเข้าสู่อีกไตรมาสของปี 2023 อุตสาหกรรมเพลงยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยเพลงใหม่จากศิลปินที่มีความโดดเด่นจากทั่วโลก มีทั้งผลงานจากศิลปินหน้าใหม่ที่น่าจับตามองในพ.ศ.นี้ และมีหลายผลงานที่มาจากศิลปินในดวงใจของใครหลายคนที่รอคอยผลงานใหม่ ๆ ของพวกเขามาเนิ่นนาน มาพบกับงานเพลงดี ๆ ในหลากหลายสีสันของเสียงดนตรีที่ไม่ควรพลาดกันเถอะ !
The National – ‘First Two Pages of Frankenstein’
The National เจ้าของรางวัล Grammy Awards ปล่อยอัลบั้มใหม่ ‘First Two Pages of Frankenstein’ ที่มีซิงเกิล “Tropic Morning News”, “New Order T-Shirt”, “Eucalyptus” และ “Your Mind Is Not Your Friend” ให้ฟังครบทุกเพลงแล้วทางมิวสิกสตรีมมิงแพล็ตฟอร์ม นอกจากนี้ The National ยังปล่อย Lyric Video เพลง “The Alcott” ที่ร่วมงานกับ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของอัลบั้ม First Two Pages of Frankenstein โดยเนื้อเพลงส่วนใหญ่ “The Alcott” เขียนโดย แมตต์ เบอร์นิงเกอร์ (Matt Berninger) ความน่าทึ่งคือ สวิฟต์เขียนท่อนของเธอเสร็จสมบูรณ์ด้วยเวลาเพียง 20 นาที ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเติมเต็มให้เพลง “The Alcott” มีความสมบูรณ์แบบ
อัลบั้ม First Two Pages of Frankenstein ถือเป็นอัลบั้มลำดับที่ 9 ของ The National ซึ่งประกอบด้วยทั้งหมด 11 แทร็ก อัลบั้มชุดนี้บันทึกเสียงที่ Long Pond Studios และมีแขกรับเชิญระดับเอลิสต์ ได้แก่ ฟีบี บริดเจอร์ส (Phoebe Bridgers), ซูฟยาน สตีเวนส์ (Sufjan Stevens) และเทย์เลอร์ สวิฟต์ First Two Pages of Frankenstein ถือเป็นเรื่องราวบทใหม่ของ The National ที่อัดแน่นด้วยคุณภาพและการถ่ายทอดความรู้สึกอัดบาดลึก บวกกับทิศทางใหม่ ๆ ที่วงยังไม่เคยลองทำมาก่อน หรือการร่วมงานกับบรรดาศิลปินมากความสามารถ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปคือ The National ยังรักษาตัวตนและมาตรฐานผลงานอยู่ในระดับสูงจนน่าชื่นชม
Taeyang – ‘Down to Earth’
‘Down to Earth’ คือการกลับมาอย่างเต็มตัวสมศักดิ์ศรีของแทยัง (Taeyang) ศิลปินหนุ่มคนสำคัญแห่งวงการ K-pop
EP 6 แทร็กที่กระชับและเข้มข้นนี้ คืออัลบั้มที่ผุดขึ้นมาจากส่วนลึกในหัวใจของแทยัง ตลอดทั้ง 6 แทร็ก มีแรงบันดาลใจจากเพลงเกาหลีใต้ยุค 80s และ 90s อย่างชัดเจน สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือในเพลง “Seed” และ “Inspiration” ในขณะที่ทั้งสองเพลงได้สะท้อนอารมณ์ที่แตกต่างกัน เพลงแรกเป็นการขุดค้นความรู้สึกของเขาอย่างจริงใจในขณะที่เพลงหลังเป็นเพลงที่มีอารมณ์กระฉับกระเฉง แทยังได้ใส่และตีความเสียงที่เขาเติบโตมาด้วยวิธีการร่วมสมัย นอกเหนือจากอิทธิพลของ K-pop แบบเก่าแล้ว ยังมีกลิ่นอายของ R&B, Soul และ Trap ที่จดจำได้ทันทีทั่วทั้งอัลบั้ม เช่น ในเพลง “Reason” และ “Shoong” ที่แทยังปล่อยวิดีโอแดนซ์สุดเจ๋งที่เขากับศิลปินรุ่นร้องที่เขาชื่นชมอย่าง ลิซ่า (Lisa) Blackpink เต้นคู่กันอย่างหมดจดงดงามในทุกท่วงท่า
นอกจากนี้ยังมีเพลงบัลลาดคลาสสิกในสไตล์ของเขานั่นคือเพลง “Reason” ที่เป็นเสมือนบทกวีโรแมนติกที่งดงาม ท่วงทำนองหวานชวนฝันที่ส่งผ่านเครื่องดนตรีที่เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณ และเนื้อเพลงที่ถ่ายทอดผ่านน้ำเสียงที่อบอุ่น
อัลบั้มนี้คือความสดใหม่จากหัวใจของแทยัง ที่ไม่เพียงแต่กลั่นเอาแรงบันดาลใจทางดนตรีมาตีความใหม่ ให้ทันสมัย แต่ยังดึงเอาจุดแข็งของแทยังและแสดงมันออกมาอย่างจริงใจไร้การปรุงแต่ง แทยังได้ถ่ายทอดออกมาผ่านความกล้า และน้ำเสียงที่ไพเราะเต็มไปด้วยอารมณ์ของเขา และนี่คือผลงานเปี่ยมคุณค่าจากศิลปินคนสำคัญแห่งวงการ K-pop
Daniel Caesar – ‘Never Enough’
แดเนียล ซีซาร์ (Daniel Caesar) ปล่อยสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 3 ที่รอคอยมานาน ‘Never Enough’ ต่อจากอัลบั้มชุดที่ 2 ‘Case Study 01’ และอัลบั้มเดบิวต์ ‘Freudian’ ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง
‘Never Enough’ มาพร้อมการผสมผสานของสไตล์ดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของซีซาร์อันเราประทับใจและคุ้นเคยกันดีจากอัลบั้มก่อนหน้านี้ ในขณะเดียวกันก็มีการทดลองแนวทางใหม่ ๆ ในการหาสุ้มเสียงที่แตกต่างออกไปจากเดิม แม้ว่าซีซาร์จะยังคงอยู่ในแนวเพลง R&B Soul แต่เขาก็ทดลองกับสไตล์และเสียงต่าง ๆ เพื่อพยายามปรับปรุงดนตรีของเขาให้ดียิ่งขึ้น
ในส่วนของอารมณ์และเนื้อหา ‘Case Study 01’ นั้นมาจากความโกรธและความไม่มั่นคงในใจของเขา ส่วน ‘Never Enough’ คือการใคร่ครวญถึงความสงสัยในตนเอง เป็นการค้นหาอย่างจริงจังในความจริงนั้นและพยายามเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองและโลกรอบตัวเพื่อหาคำตอบให้กับความสงสัยในชีวิต ซึ่งความขัดแย้งภายในนี้นำมาซึ่งบทเพลงที่สำรวจอารมณ์และเรื่องราวในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์อันโรแมนติกอย่าง “Valentina” “Buyer’s Remorse” “Do You Like Me ?” รวมไปถึงความรู้สึกปวดร้าวที่เกิดบนเรื่องราวของความสัมพันธ์ใน “Let Me Go” และ “Always”
‘Never Enough’ คือการต่อสู้อย่างต่อเนื่องของซีซาร์ ในการพยายามหาความสมดุลระหว่างความมั่นใจและความไม่มั่นคง ตลอดทั้งอัลบั้มเราจะได้พบขั้วของความรู้สึกเหล่านี้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นบทเพลงที่ซีซาร์จัดการกับข้อสงสัยในตนเองผ่านเปียโนบัลลาดสุดหลอน “Cool” ในขณะเดียวกันก็ตอกย้ำและสร้างตัวตนขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วใน ““Superpowers” หรือจะเป็นบทเพลงอะคูสติดแห่งการมองเข้าไปข้างในเพื่อค้นหาตัวเอง “Toronto 2014” ด้วยความลุ่มลึกของบทเพลงทั้งหลายในอัลบั้ม ‘Never Enough’ จึงเป็นผลงานที่พาเราเข้าไปสำรวจข้างในจิตใจของแดเนียล ซีซาร์พร้อม ๆ กันกับพาเราตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบให้กับเรื่องราวในชีวิตของเราด้วยเช่นกัน
Metallica – ‘72 Seasons’
72 Seasons สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 11 ของ Metallica วงเมทัลรุ่นป๋าแห่งวงการดนตรี เป็นการเดินทางที่ทรงพลังและน่าตื่นเต้นผ่านเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของวง อัลบั้มนี้เป็นข้อพิสูจน์อย่างแท้จริงถึงอายุที่ยืนยาวของวง โดยแต่ละอัลบั้มของ Metallica มักมาด้วยความยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที ในอัลบั้ม ‘72 Seasons’ นี้พวกเขาก็ยังคงรักษามาตรฐานด้วยความยาวหนึ่งชั่วโมงกับอีก 17 นาที
ชื่ออัลบั้มและแนวคิดของอัลบั้มนี้มาจากแนวคิดที่ว่า 18 ปีแรกของเรา หรือ 72 ฤดูกาลแรกในชีวิตนั้นมีความสำคัญในฐานะช่วงเวลาที่หล่อหลอมให้เราเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่เรากำลังเป็นอยู่ในทุกวันนี้ ความจริงที่ว่าสมาชิกดั้งเดิมของวงอย่าง เจมส์ เฮตฟิลด์ (James Hetfield) และ ลาร์ส อุลริช (Lars Ulrich) ได้พบกันก่อนที่พวกเขาจะอายุครบ 18 ปี ยิ่งเป็นการเพิ่มมิติใหม่ให้กับธีมของอัลบั้มนี้เกี่ยวกับวงจรชีวิตและการเติบโต
ในทางดนตรี 72 Seasons คือ Metallica คลาสสิก คืองานเพลงอันเปี่ยมเอกลักษณ์ในแบบของพวกเขาอย่างไม่มีตกหล่น เปิดอัลบั้มด้วยไตเติลแทร็กความยาวเกือบ 8 นาที ที่มาพร้อมท่วงทำนองที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวง Motörhead ก่อนจะดำดิ่งสู่สำเนียงเสียงแทรชที่เป็นเอกลักษณ์ของวงในเพลง “Shadows Follow” และ “Too Far Gone?” ทั้ง 2 เพลงได้นำเสนอแทรชริฟฟ์แบบวินเทจอันเร้าใจ และในเพลงหลังมีไลน์กีตาร์ที่ไพเราะจับใจซึ่งพวกเขาอุทิศให้กับวง Thin Lizzy
แทร็กที่โดดเด่นของอัลบั้มนี้อีกเพลงคือ “Inamorata” ที่มีความยาวกว่า 11 นาที นับเป็นเพลงที่ยาวที่สุดของ Metallica ตั้งแต่พวกเขาทำเพลงมา บทเพลงนี้ได้พาผู้ฟังไปสู่การเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ โดยพวกเขาได้สำรวจอารมณ์และสุ้มเสียงที่หลากหลายตลอด 11 นาทีของเพลง
‘72 Seasons’ เป็นอีกหนึ่งผลงานที่น่าประทับใจในแคตตาล็อกของ Metallica แต่ละแทร็กได้สำรวจเสียงของพวกเขาอย่างเต็มที่ แม้ว่าอัลบั้มนี้อาจไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับวง แต่ก็เป็นข้อพิสูจน์ถึงพลังที่ยังคงดำเนินต่อไปในฐานะหนึ่งในวงดนตรีเมทัลที่โดดเด่นที่สุดของประวัติศาสตร์ดนตรี
Yaeji – ‘With A Hammer’
‘With a Hammer’ อัลบั้มเต็มชุดแรกสุดครบเครื่องของศิลปินอเมริกันเชื้อสายเกาหลี Yaeji ไอคอนสายอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ คลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามอง ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ทั้งด้านงานเพลงและภาพลักษณ์อันเป็นเอกลักษณ์ มาพร้อม 13 แทร็กที่มีซิงเกิลที่ปล่อยออกมาก่อนหน้านี้อย่าง “For Granted”, “Done (Let’s Get It)” และ “Passed Me By”
Yaeji ทุ่มเทพลังการทำงานกับอัลบั้ม ‘With a Hammer’ ที่นิวยอร์ก, ลอนดอน, โซล ด้วยระยะเวลาถึง 2 ปี โดยเนื้อหาอัลบั้มชุดนี้คือ การเผชิญหน้ากับอารมณ์ของตนเอง และการรวบรวมความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง นี่จึงเป็นผลงานที่แตกต่างและมีความส่วนตัวมากที่สุดของ Yaeji ขณะที่ด้านดนตรียังมีความฉูดฉาด ด้วยการนำดนตรี trip-hop, rock มาผสมผสาน มีกลิ่นอายดนตรี house และเพิ่มความมืดหม่นมากขึ้น เกรี้ยวกราดมากขึ้น สะท้อนถึงพัฒนาการและการเติบโตที่ไม่ย่ำอยู่กับที่ของเธอ บนอาร์ตเวิร์กอัลบั้ม ‘With a Hammer’ จะมีค้อนที่เปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นคอนเซ็ปต์หลัก นั่นคือ ‘Hammer Lee’ ซึ่งเป็นตัวแทนของการทำลายกฎเกณฑ์ ความคาดหวัง และอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้เธอพูดความจริงอย่างเต็มที่ สอดคล้องกับการเล่าเรื่องในอัลบั้ม ซึ่งจะพูดถึงการเดินทางของ Yaeji ที่ต้องเผชิญความเศร้าโศก นำไปสู่การปลดปล่อยความโกรธอันบ้าคลั่ง
ดังนั้นอัลบั้ม ‘With a Hammer’ จึงไม่ได้เป็นเพียงอัลบั้มเต็มชุดแรกในชีวิตของเธอ แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในอาชีพศิลปินของ Yaeji ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
Daughter – ‘Stereo Mind Game’
‘Stereo Mind Game’ คืออัลบั้มใหม่อัลบั้มแรกหลังจากหายไปนานกว่า 7 ปีของ Daughter วงดรีมป๊อป 3 ชิ้นจากอังกฤษเจ้าของเพลง “Youth”, “Smother” และ “No Care” ที่เคยสร้างแรงสะเทือนให้กับวงการเพลงอินดี้ มาพร้อมกับ 12 บทเพลงใหม่ที่มีซิงเกิลที่ปล่อยออกมาก่อนหน้านี้อย่าง Be On Your Way”, “Party” และ “Swim Back”
Stereo Mind Game ถือเป็นอัลบั้มลำดับที่ 3 ของ Daughter เป็นผลงานถัดจากอัลบั้ม If You Leave (2013) และ Not to Disappear (2016) อัลบั้มชุดนี้เขียนและบันทึกเสียงหลายแห่งด้วยกัน ได้แก่ Devon, Bristol, London, San Diego, California, Vancouver โดย Daughter ได้ร่วมงานกับวงเครื่องสายลอนดอนที่มาเติมเต็มให้อัลบั้ม Stereo Mind Game เพื่อสื่ออารมณ์ได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ส่วนมุมมองเนื้อเพลงจะแตกต่างและมีความสว่างกว่างานชุดแรก ๆ และเป็นอัลบั้มที่ อิกอร์ เฮเฟลี (Igor Haefeli) มีบทบาททั้งในส่วนโปรดักชัน และร่วมบันทึกเสียงร้องในเพลง “Future Lover”, “Swim Back”, “Neptune”
Stereo Mind Game ถือเป็นอัลบั้มที่พวกเขาบอกว่า ถึงแม้ยังจะสามารถรับรู้ถึงความขมขื่นได้ในบางเพลง แต่นี่คืองานที่เต็มไปด้วยแนวคิดเชิงบวกมากที่สุดของ Daughter เป็นรสชาติใหม่ที่แฟนเพลง Daughter ยังไม่เคยสัมผัสมาก่อน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส