ในขณะที่ผู้ชมคอนเสิร์ตรายหนึ่งกำลังเพลิดเพลินกับการแสดงซิมโฟนีลำดับที่ห้าของ ไชคอฟสกี (Tchaikovsky) ที่บรรเลงโดย Los Angeles Philharmonic ในวันศุกร์ที่ Walt Disney Concert Hall ทันใดนั้นเธอก็ได้ยินสิ่งที่เธออธิบายว่าเป็น “เสียงกรีดร้องหรือเสียงครวญคราง” ดังสนั่นมาจากมุมหนึ่งของฮอลล์
“ทุกคนต่างหันมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น” มอลลี่ แกรนต์ (Molly Grant) ซึ่งนั่งใกล้กับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอของเสียงดังกล่าว ได้กล่าวกับเดอะ ไทมส์ (The Times) ในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
“ฉันเห็นผู้หญิงคนนั้นหลังจากที่มันเกิดขึ้น และฉันคิดว่าเธอ … ถึงจุดสุดยอดเพราะเธอหายใจแรง และแฟนของเธอก็ยิ้มและมองมาที่เธอ — เหมือนพยายามจะไม่ทำให้เธออับอาย” แกรนต์กล่าว “มันเป็นสิ่งที่สวยงามมากเลยทีเดียวล่ะ”
ผู้คนจำนวนมากที่เข้าร่วมชมคอนเสิร์ต แอล.เอ.ฟิลได้รายงานว่าได้ยินเสียงผู้หญิงคนหนึ่งส่งเสียงร้องครวญครางระหว่างการบรรเลงเพลงซิมโฟนีหมายเลข 5 ในท่อนที่ 2 แม็กนัส ไฟนส์ (Magnus Fiennes) นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ที่เข้าร่วมชมคอนเสิร์ตในครั้งนี้ อธิบายลักษณะของเสียงดังกล่าวบน Twitter ว่าเป็นเสียงของบุคคลที่ “กำลังถึงจุดสุดยอดอย่างเต็มคาราเบล”
มีคลิปการแสดงที่มีคนถ่ายไว้ในช่วงเวลานั้นได้ถูกเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย พบว่าสามารถได้ยินเสียงใครบางคนร้องออกมาระหว่างที่จังหวะดนตรีกำลังเงียบสงบ ผู้เข้าร่วมชมคอนเสิร์ตได้กล่าวกับเดอะ ไทมส์ว่าเสียงที่ได้ยินจากคลิปนั้นคล้ายกับสิ่งที่พวกเขาได้ยินในงานเลย อย่างไรก็ตาม ผู้คนที่มาร่วมงานกล่าวว่าถึงแม้จะมีเสียงร้องครางดังขึ้นมาในตอนนั้น แต่วงออเคสตราก็ยังคงเล่นต่อไปท่ามกลางความตื่นตะลึงจากเสียงครวญครางที่ดังแทรกขึ้นมาในช่องว่างของท่วงทำนอง
การแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนี้ควบคุมวงโดยวาทยกร อีลิม ชาน (Elim Chan) ในรายละเอียดของรายการแสดงที่อยู่ในเว็บไซต์ของ แอล.เอ. ฟิล ได้อธิบายท่วงทำนองท่อนที่ 2 ของซิมโฟนีหมายเลข 5 ของไชคอฟสกีไว้ว่า
“ธีมหลักที่เย้ายวนใจนี้ได้รับการดัดแปลงมาจากเพลงรักยอดนิยม อย่างไรก็ตาม การเรียบเรียงเสียงประสานอย่างเชี่ยวชาญของไชคอฟสกีช่วยยกระดับอารมณ์จากความซาบซึ้งไปสู่ความโรแมนติกขั้นสูง ท่วงทำนองหลักของท่อนนี้ถูกนำเสนอในโซโลที่น่าจดจำโดยฮอร์น ตามมาด้วยโซโลเครื่องลมไม้อื่น ๆ ที่น่าดึงดูดและเย้ายวนใจ”
ลูคัส เบอร์ตัน (Lukas Burton) มิวสิกเอเจนต์กล่าวว่าเสียงที่เปี่ยมไปด้วยความสุขจากผู้ฟังคนนั้น “มาได้อย่างถูกจังหวะเวลาอย่างน่าอัศจรรย์ สอดคล้องกันกับความโรแมนติกในซิมโฟนีบทนี้อย่างพอดิบพอดี”
“เราไม่สามารถรู้ได้แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น แต่จากเสียงนั้นเห็นได้ชัดว่าเป็นการแสดงความสุขทางกายอย่างแท้จริง” เบอร์ตันกล่าว “เป็นท่วงทำนองของเพลงคลาสสิกที่เทียบเท่ากับฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่มีคนพูดเสียงดังในงานปาร์ตี้หรือไนต์คลับ แล้วจู่ ๆ แผ่นเสียงก็หยุดลงและพวกเขาก็พูดอะไรบางอย่างที่ทุกคนได้ยินกันทั้งหมด”
ถึงแม้ว่าการถึงจุดสุดยอดในขณะที่กำลังชมคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิกนั้นอาจเป็นสิ่งที่ไม่ปกตินัก แต่เบอร์ตันก็มองว่ามันเป็นสิ่งที่ “วิเศษและนำมาซึ่งความสดชื่น”
“มีผู้ชมอ้าปากค้าง” เบอร์ตันกล่าว “แต่ผมคิดว่าทุกคนรู้สึกว่านั่นเป็นการแสดงออกที่น่ารักของใครบางคนที่กำลังเคลิบเคลิ้มไปกับเสียงเพลงจนมีผลกระทบบางอย่างกับร่างกาย แม้กระทั่งในเรื่องเพศ”
ที่มา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส