ในทุกวันนี้เทคโนโลยี A.I. ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำเพลง โดยเปิดโอกาสให้นักดนตรีได้ทำการสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ ด้วยความช่วยเหลือของอัลกอริธึม A.I. สามารถเรียนรู้และวิเคราะห์ข้อมูลเพลงจำนวนมหาศาลเพื่อระบุรูปแบบและสร้างสรรค์งานดนตรีขึ้นมาได้ อีกทั้งสามารถจำลองเสียงของศิลปินจริง ๆ ได้ A.I. สามารถเรียนรู้และวิเคราะห์ลักษณะเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของนักร้องดังทั้งระดับเสียง น้ำเสียง และสไตล์ ซึ่งช่วยให้ A.I. สร้างเสียงใหม่ที่เลียนแบบเสียงของนักร้องได้อย่างแม่นยำที่แทบแยกไม่ออกจากเสียงของศิลปินต้นฉบับ
แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะมีศักยภาพในการปฏิวัติวงการเพลง แต่ก็ยังทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความถูกต้องและความเป็นเจ้าของงานสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ หนึ่งในประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้คือ A.I. เทคโนโลยีก่อให้เกิดความท้าทายต่อกฎหมายลิขสิทธิ์แบบดั้งเดิมในอุตสาหกรรมเพลง การที่ A.I. ใช้อัลกอริทึมในการสร้าง เรียบเรียงดนตรีและรีมิกซ์บทเพลงใหม่ นั้นเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงนี้ได้ระหว่างผู้ใช้ A.I. ศิลปินผู้สร้างเจ้าของข้อมูลที่ A.I. ใช้ในการเรียนรู้ ค่ายเพลง หรือผู้พัฒนาระบบ A.I. นอกจากนี้ในบางกรณี A.I. อัลกอริทึมอาจใช้ตัวอย่างหรือทำนองที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ถือลิขสิทธิ์ดั้งเดิม ซึ่งนำไปสู่ข้อพิพาททางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น การที่ A.I. เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้นก่อให้เกิดข้อกังวลว่าอาจมีการใช้ A.I. สร้างสรรค์บทเพลงแบบ “deepfake” ที่ฟังดูเหมือนผลงานที่สร้างโดยศิลปินดังคนใดคนหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับการระบุแหล่งที่มาของศิลปินและการเป็นเจ้าของบทเพลง
จับ Drake มาฟีเจอริงกับ The Weeknd ด้วย A.I.
ดังในกรณีล่าสุดที่มีการปล่อยบทเพลง “Heart on My Sleeve” โดยโปรดิวเซอร์ลึกลับนาม ‘Ghostwriter’ ซึ่งซ่อนใบหน้าเอาไว้ภายใต้ผ้าปูที่นอนสีขาว บทเพลงนี้เป็นเพลงในแบบของ Drake มีเสียงร้องของ Drake และฟีเจอริงโดย The Weeknd บทเพลงนี้ถูกปล่อยบน Youtube, TikTok และ Spotify และมียอดฟังหลายล้านครั้ง สร้างความสับสนให้กับแฟนเพลงซึ่งหลายคนคิดว่านี่คือผลงานจริง ๆ ของ Drake และ The Weeknd ทำให้เพลงนี้ได้จุดประกายการถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทของ A.I. ในอุตสาหกรรมดนตรีและศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานรวมไปถึงประเด็นปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์
ทาง UMG (Universal Music Group) ต้นสังกัดของศิลปินได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้และเรียกร้องให้ Ghostwriter นำเอาบทเพลงออก โดยถ้อยแถลงของ UMG เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปกป้องศิลปินและงานสร้างสรรค์ของพวกเขาท่ามกลางเพลงที่สร้างโดย A.I. ที่กำลังเพิ่มมากขึ้น UMG รับทราบถึงศักยภาพของ A.I. ในอุตสาหกรรมดนตรีและได้ทำงานเกี่ยวกับนวัตกรรมของตนเองในด้านนี้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่อย่างไรก็ตามการใช้เพลงของศิลปินโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อฝึกฝนการสร้างสรรค์ โดย A.I. และการมีอยู่ของเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ที่สร้างขึ้นโดย A.I. ทำให้เกิดความกังวลใจเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์และผลประโยชน์ชดเชยที่ศิลปินควรจะได้รับ
นอกจากนี้ UMG ยังเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบของแพลตฟอร์มที่ให้บริการด้านการฟังเพลง ในการป้องกันการใช้บริการในทางที่เป็นอันตรายต่อศิลปิน ซึ่ง UMG ได้รับการสนับสนุนจากการมีส่วนร่วมของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในประเด็นเหล่านี้ โดยตระหนักว่าพวกเขาจำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา เนื่องจากการใช้ A.I. ในอุตสาหกรรมเพลงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ชัดเจนว่าการปกป้องสิทธิ์ของศิลปินและรับประกันการชดเชยที่ยุติธรรมจะมีความสำคัญต่อการรักษาอุตสาหกรรมเพลงที่กำลังเฟื่องฟู รวมไปถึงการจัดการกับปัญหาด้านจริยธรรมและกฎหมายในประเด็นที่ซับซ้อนเหล่านี้
มาแบ่งกัน 50 – 50
ศิลปินหลายคนต่างมีมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการใช้ A.I. ในดนตรี Grimes เป็นคนหนึ่งที่มีความเห็นเชิงบวกในเรื่องนี้ โดยเธอได้ยื่นข้อเสนอที่จะแบ่งค่าลิขสิทธิ์ 50% สำหรับเพลงที่สร้างโดย A.I. ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้เสียงของเธอ ในขณะที่ค่ายเพลงรายใหญ่พยายามป้องกันเพลงจาก A.I. ที่ใช้เสียงของศิลปินชื่อดัง Grimes กลับเปิดรับเทคโนโลยีและค้นหาวิธีใหม่ในการทำงานร่วมกัน
“มันเป็นข้อตกลงแบบเดียวกับที่ฉันทำกับศิลปินที่ฉันร่วมงานด้วย อย่าลังเลที่จะใช้เสียงของฉันโดยไม่มีการปรับโทษใด ๆ ทั้งนั้น” เธอทวีต “มันเจ๋งมากที่จะหลอมรวมเราเข้ากับเครื่องจักร และฉันชอบแนวคิดของโอเพนซอร์สในงานศิลปะทั้งหมดและการขจัดทิ้งเรื่องลิขสิทธิ์ไปซะ”
“มันโคตรบ้าเลยว่ะ”
เลียม กัลลาเกอร์ (Liam Gallagher) แห่งวง Oasis ก็เป็นอีกคนที่มีความเห็นในเชิงบวกเกี่ยวกับเรื่องนี้ หลังจากได้ฟังผลงานอัลบั้มเพลงที่สร้างสรรค์โดย A.I. โดยใช้สไตล์ของวง Oasis จนกลายเป็นไวรัล อัลบั้มนี้มีชื่อว่า ‘ AISIS : The Lost Tapes Volume I’ คอนเซ็ปต์อัลบั้มความยาว 33 นาทีที่จินตนาการถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นหากสมาชิกวง Oasis ยุคคลาสสิกในปี 1995-1997 ยังคงเขียนเพลงต่อไป อัลบั้มนี้สร้างสรรค์โดยวงอินดี้ Breezer ซึ่งใช้ A.I. เพื่อเลียนแบบเสียงร้องของเลียม
“เราแค่เบื่อที่จะรอให้ Oasis มารวมวงกันใหม่” บ็อบบี้ เกราตี (Bobby Geraghty) นักร้อง นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์วัย 32 ปีกล่าว “สิ่งที่เรามีตอนนี้คือเลียมและพี่ชายของเขาพยายามที่จะเอาชนะกันและกัน แต่นั่นมันไม่ใช่ Oasis ดังนั้นเราจึงได้เลียมที่จำลองด้วย A.I. มาร่วมทำเพลงที่เดิมเขียนขึ้นสำหรับวงดนตรีที่มีอายุสั้นแต่เป็นที่รักอย่าง Breezer”
แม้ว่าเลียมของพวกเขาจะเป็นของปลอม แต่เพลงนั้นเป็นของแท้ เพราะทั้งดนตรีและเนื้อเพลงเป็นของ Breezer ทั้งหมด และเกราตีก็ ‘ไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้’ ที่วันหนึ่ง A.I. จะสามารถเขียนเพลงแบบ Oasis ได้ด้วยตัวเองหากปราศจากการช่วยเหลือของผู้ใช้งาน “A.I. ยังคงถูกควบคุมโดยผู้ใช้เป็นอย่างมาก คุณต้องให้ข้อมูลกับมันให้ตรงตามที่ต้องการเพื่อเกิดการทำซ้ำที่แม่นยำ ผมไม่คิดว่ามันถึงจุดที่ A.I. สามารถเขียนเพลงเองได้ แม้จะมีคนจำนวนมากถามว่าเพลงนั้นสร้างโดย A.I. หรือไม่ ซึ่งมันไม่ใช่”
“ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจกว่าคือแนวคิดที่ว่ามนุษย์สามารถร่วมมือกับ A.I. เพื่อชุบชีวิตศิลปินที่ตายไปแล้ว (หรือศิลปินที่ยุบวงไปแล้ว) ได้” คริส วูดเกตส์ (Chris Woodgates) มือกีตาร์ของวงกล่าวเสริม
ส่วนศิลปินผู้เป็นเจ้าของเสียงร้องตัวจริง เลียม กัลลาเกอร์ นั้นก็แสดงความคิดเห็นสนับสนุนอัลบั้ม Oasis ที่สร้างโดย A.I. นี้ โดยบอกว่า “มันโคตรบ้าเลยว่ะ” และยกย่องคุณภาพของเพลง พร้อมทั้งทวีตว่าเขาไม่เคยได้ยินทั้งอัลบั้ม แต่เคยฟังบางเพลงและคิดว่าเพลงเหล่านี้ดีกว่า “พวกเพลงเห่ย ๆ ที่ปล่อยออกมาเต็มไปหมด” นอกจากนี้เขายังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความแม่นยำของเสียงร้องที่สร้างโดย A.I. โดยกล่าวว่า “เสียงของผมมันเจ๋งมากเลยว่ะ” การสนับสนุนจากนักดนตรีชื่อดังอย่างเลียมนั้นแสดงให้เห็นว่าเพลงที่สร้างโดย A.I. กำลังได้รับการยอมรับมากขึ้นในหมู่ศิลปินและผู้ฟัง
บทเพลงนั้นเกิดจากความทุกข์แต่ A.I. ไม่รู้จักความทุกข์หรอก
ส่วนศิลปินที่มีความเห็นในด้านที่ไม่ปลื้มต่อ A.I. ก็มีด้วยเช่นกัน อย่างก่อนหน้านี้ที่ นิค เคฟ (Nick Cave) นักร้องนำวง Bad Seeds ได้วิพากษ์วิจารณ์ระบบ A.I. ที่พยายามเขียนเพลง ‘ในสไตล์ของ Nick Cave’ หลังจากที่แฟนเพลงส่งเนื้อเพลงที่เขียนโดย ChatGPT ให้เขา เคฟเรียกผลลัพธ์ของมันว่า ‘การล้อเลียนแบบวิตถาร’ แม้ในเนื้อเพลงจะมีเนื้อหาที่สะท้อนแง่มุมของความเชื่อความศรัทธากับประเด็นทางศาสนาและการสร้างอารมณ์ที่มืดหม่นตามสไตล์ของเคฟ แต่เคฟก็แย้งว่าผลลัพธ์ของ ChatGPT เป็นการพยายามลอกเลียนแบบที่ไม่สามารถสร้างและสะท้อนภาวะของการต่อสู้ที่ซับซ้อนภายในจิตใจของมนุษย์ “บทเพลงนั้นก่อเกิดจากความทุกข์” เคฟกล่าว “ข้อมูลนั้นมันไม่รู้จักความทุกข์หรอก”
ในฐานะนักแต่งเพลง เคฟแนะนำว่าการผลิตความคิดใหม่ ๆ ต้องใช้ความเป็นมนุษย์ เขาให้เหตุผลว่า A.I. ไม่สามารถสร้างประสบการณ์ที่ล้ำลึกได้ เพราะมันไม่มีสิ่งใด ๆ อยู่ภายใน ไม่มีที่ไหนเลย ไม่มีสิ่งใดคงทน และไม่มีความกล้าที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดของมัน พร้อมทั้งย้ำอีกครั้งว่าเนื้อเพลงที่เขียนขึ้นโดย A.I. นั้นเป็นอะไรที่ “ห่วยมาก”
จงเตรียมรัดเข็มขัดเอาไว้
ล่าสุด ฟาร์เรล วิลเลียมส์ (Pharrell Williams) นักดนตรีและโปรดิวเซอร์ชื่อดังได้แบ่งปันความคิดของเขาเกี่ยวกับข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้สำเนาเสียงของศิลปินดังที่สร้างโดย A.I. ในการให้สัมภาษณ์กับ Rolling Stone วิลเลียมส์ได้กล่าวถึงบทบาทของอัลกอริทึม A.I. ในชีวิตประจำวันของผู้คน อย่างในสมาร์ตโฟนหรือบริการสตรีมเพลงที่แนะนำและทำงานผ่านการอิงจากประวัติการใช้งานของผู้ใช้ วิลเลียมส์เชื่อว่า A.I. เป็นเพียงอีกแง่มุมหนึ่งของธรรมชาติของมนุษย์ และการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของศิลปินอาจเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์
“การไม่แสดงความเคารพอย่างนั้นหรอ ? ผมไม่รู้เกี่ยวกับการไม่เคารพหรอก แต่ผมรู้ว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์” วิลเลียมส์กล่าว “และคุณทำอะไรกับมันไม่ได้หรอก ดังนั้น จงเตรียมรัดเข็มขัดเอาไว้”
วิลเลียมส์ชี้ให้เห็นว่า A.I. เป็นก้าวที่เหนือกว่าเสิร์ชเอ็นจิน เพราะไม่เพียงแต่ให้คำตอบเท่านั้น แต่ยังให้รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว หรือภาพและเสียงของสิ่งที่ถูกถามถึงอีกด้วย โดยเขาเรียกสถานะปัจจุบันของ A.I. ในทุกวันนี้ว่า “The Wild West” โดยเปรียบเทียบสถานการณ์นี้กับแดนเถื่อนในดินแดนตะวันตกของอเมริกา โดยบอกว่าเราอยู่ในดินแดนที่ไม่มีการเขียนแผนที่และไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ และอนาคตเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ วิลเลียมส์ยอมรับว่าเขาไม่มีคำตอบใดเกี่ยวกับวิธีจำกัดหรือต่อสู้กับการแพร่กระจายของเทคโนโลยีนี้ แต่ยืนยันว่าการพัฒนาของ A.I. เป็นผลผลิตจากธรรมชาติของมนุษย์ การใช้ A.I. ในสังคมที่เพิ่มมากขึ้นเป็นขั้นตอนที่สมเหตุสมผล เนื่องจากเราต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น การใช้งาน A.I. ในอนาคตจะกว้างขวางมากยิ่งขึ้นไปอีก สิ่งที่เราทำได้คือให้ “รัดเข็มขัด” และเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยี A.I. ต่อไปในอนาคต
แม้ว่าระบบปัญญาประดิษฐ์จะมีความเกี่ยวข้องมากขึ้นในอุตสาหกรรมดนตรี แต่ก็ยังคงมีการแบ่งแยกความคิดเห็น บางคนโต้แย้งว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อกระบวนการสร้างสรรค์และการแสดงออกทางศิลปะ ในขณะที่บางคนมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างสรรค์และนวัตกรรมในรูปแบบใหม่ ๆ ในขณะที่เทคโนโลยี A.I. ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง มันจะนำมาซึ่งความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ให้กับอุตสาหกรรมอย่างไม่ต้องสงสัย
เป็นที่ชัดเจนว่าระบบ A.I. มีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมดนตรี และศิลปินและผู้ฟังก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อย่างที่ฟาร์เรล วิลเลียมส์แนะนำ วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดคือ “รัดเข็มขัด” และเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทาง แม้ว่าอนาคตของ A.I. ในดนตรีอาจไม่แน่นอน แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือมันจะยังคงมีบทบาทต่อรูปแบบที่เราสร้างสรรค์ ฟัง และสัมผัสกับดนตรีต่อไป
ที่มา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส