การเรียนการสอนแบบเดิมๆ ในเยอรมันนี (และอีกหลากหลายประเทศทั่วทุกมุมโลก) นั้นคือการบีบ “บังคับ” ในทุกๆ กลไกของการศึกษา ไล่ตั้งแต่ การท่อง การจด การจำ ฯลฯ ซึ่งกระบวนการเหล่านั้นเปรียบเสมือนกำแพงที่ค่อยๆ กั้นความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนออกไปเรื่อยๆ โรงเรียน ESBC (Evangelical School Berlin Centre) จึงได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับฉีกม่านประเพณีการเรียนสอนแบบเดิมๆ และส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “อิสระภาพทางความคิด” อันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างบุคลากรที่ดีสู่สังคม
โรงเรียนแห่งนี้ จะไม่มีการคิดเกรดให้นักเรียนจนกว่าเด็กจะอายุครบ 15 ปี ไม่มีตารางสอน ไม่มีการสอนแบบที่ครูออกไปพูดหน้าห้อง นักเรียนจะติดสินใจเองว่า ในแต่ละวันจะเรียนวิชาอะไร และอยากจะสอบตอนไหน ส่วนวิชาบังคับนั้นจะมีแค่สี่วิชา เลข เยอรมัน อังกฤษ สังคมศึกษา และอีกสองวิชาชูโรงของโรงเรียนแห่งนี้อย่างวิชา “ความรับผิดชอบ” และ “ความท้าทาย”
โดยในวิชาความท้าทายนั้น นักเรียนที่มีอายุระหว่าง 12 – 14 ปีจะได้รับเงินคนละ 150 ยูโร (ประมาณ 6,000 บาท) เพื่อออกไปผจญภัยและต้องวางแผนเองทั้งหมด หลายคนที่อ่านถึงตรงนี้อาจคิดในใจว่า “เด็กเหล่านั้นจะไปกันรอดหรอ ?” แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า Anton Oberländer หนึ่งในนักเรียนทีไ่ด้ลงเรียนวิชานี้ ได้แสดงศักยภาพของการเรียนการสอนของวิชาดังกล่าว ด้วยการใช้วาทศิลป์ต่อรองกับเจ้าหน้าที่ของทางรถไฟเพื่อขอตั๋วฟรีและขอร้องลดราคาตั๋วรถไฟ เพื่อให้ทุกคนในกลุ่มได้เดินทางไปยังจุดหมายได้ตามที่ตั้งกันไว้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวของ Anton นอกจากจะประสบผลสำเร็จแล้ว ยังได้สร้างความประทับใจให้กับฝ่ายบริการของทางรถไฟและได้เชิญชวนให้หนูน้อยคนี้มาพูดสร้างแรงบันดาลใจให้กับเจ้าหน้าที่กว่า 200 คนของการรถไฟอีกต่างหาก
Margret Rasfeld อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน ESBC ได้กล่าวถึงโรงเรียนของเขาว่า ” เด็กน้อย 3 – 4 ขวบเหล่านั้น พวกเขาเต็มไปด้วยความมั่นใจ พวกเขารีรอไม่ไหวที่จะเริ่มเข้าเรียน แต่น่าเศร้าใจที่โรงเรียนส่วนใหญ่ทำให้เด็กๆ เหล่านี้ค่อยๆ สูญเสียความมั่นใจไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่โรงเรียนของเราทำนั้นคือบังคับทุกอย่างให้น้อยที่สุดและปล่อยให้พวกเขาได้ประกอบสร้างสิ่งที่เรียกว่าโรงเรียนขึ้นมาด้วยตัวเอง และภารกิจที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างของทางโรงเรียนนั้นคือการให้ผู้คนหนุ่มสาวสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ หรือจะให้ดีกว่านั้น พวกเขาเองนั่นแหล่ะจะเป็นคนสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้ไม่มีแรงจูงใจใดจะดีไปกว่าการที่พวกเขาจะค้นพบประโยชน์จากวิชาที่เขาเรียนด้วยตัวเอง ”
นักเรียนที่นี้จึงได้รับโอกาสที่จะคิดวิธีทดสอบความรู้ที่เรียนมาด้วยตนเอง เช่น แทนที่จะนั่งสอบวิชาคณิตศาสตร์ให้ปวดหัว ก็สามารถลองเขียนโค๊ดเกมคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง หรืออย่าง Anton หนูน้อยนักเจรจาของเรา ที่ไม่เคยห่างบ้านนานถึง 3 สัปดาห์จนกระทั่งเขาได้ลงเรียนวิชาความท้าทาย และสิ่งเขาได้รับจากวิชานี้นั้นคือภาษาอังกฤษที่เขาได้รู้มันเยอะกว่าตอนนั่งเรียนในห้องเรียนเสียอีก
การเรียนการสอนในรูปแบบดังกล่าวของ ESBC ได้ผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพออกมาเป็นจำนวนมาก โดยเกรดเฉลี่ยของนักเรียนที่จบ ม.ปลาย จากโรงเรียนแห่งนี้นั้นจะอยู่ที่ 3.0 โดยประมาณ ส่งผลให้โรงเรียนดังกล่าวเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆ เพราะจากปี 2007 โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนแค่ 16 คนเท่านั้น แต่ในปี 2016 นี้ได้มีนักเรียนทั้งหมดถึง 500 คนและมีอีกมากมายที่ต่อคิวรอส่งลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนแห่งนี้ อีกทั้งในปัจจุบัน Margret ยังได้สร้าง Education Innovation Lab เพื่อสร้างสื่อการเรียนการสอนสไตล์ ESBC ที่โรงเรียนอื่นๆ สามารถนำไปใช้ได้ โดยมีโรงเรียนในเยอรมันนีมากถึง 40 โรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนมาเป็นวิธีการนี้
Credit: PAG Design , The Guardian , Schoolsimprovement