อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า ณ ตอนนี้ ไมเคิล เจ ฟอกซ์ (Michael J. Fox) นักแสดงชาวอเมริกัน-แคนาดา วัย 61 ปีเจ้าของบทหนุ่มน้อย มาร์ตี้ แม็กฟลาย (Marty McFly) จากหนังไซไฟไตรภาคชื่อดัง ‘Back to the Future’ ที่ถือเป็นหนังไอคอนแห่งยุค 80s ต้องเผชิญกับวิกฤติของชีวิตจากปัญหาโรคพาร์กินสันมาตั้งแต่ปี 1991 ซึ่งเขาเองก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคร้ายนี้มาอย่างยาวนาน ซึ่งเมื่อปี 2022 เขาได้มีโอกาสพบเจอกับเพื่อนนักแสดงจากเรื่องเดียวกันอย่าง คริสโตเฟอร์ ลอยด์ (Christopher Lloyd) นักแสดงเจ้าของบท “ด็อก” ดร.เอ็มเมตต์ บราวน์ (Dr. Emmett Brown) ในรอบหลายปี
ที่ผ่านมา แม้เขาจะต้องเผชิญกับโรคพาร์กินสันที่ทำให้เขามีปัญหาด้านร่างกาย ใบหน้า การพูด รวมถึงการจดจำ แต่เขาเองก็ยังคงมีผลงานการแสดงในบทบาทสมทบเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขาพอจะทำได้ จนกระทั่งในปี 2020 เขาเองก็ได้เปิดเผยในหนังสือ ‘No Time Like the Future’ ของตัวเขาเองว่า ด้วยความที่เขาเริ่มมีปัญหาด้านการพูดและการท่องจำ ทำให้เขาท่องจำบทได้ลำบาก และการพูดตามบทไม่ได้ก็ถือเป็นสิ่งที่ทำลายอาชีพของนักแสดง เขาจึงตัดสินใจเกษียณตัวเองจากอาชีพนักแสดงเป็นครั้งที่ 2 ในชีวิต หลังจากที่เคยถอยการรับงานแสดงภาพยนตร์มาแล้วในปี 1995 หลังจากที่เขาได้รับการวินิจฉัยพบโรคร้าย
ล่าสุด ฟอกซ์ได้เปิดเผยเบื้องหลังของการตัดสินใจในครั้งนั้นกับนิตยสาร Empire ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจที่จะเกษียณตัวเองออกจากวงการฮอลลีวูดนั้น เขาเองเผยว่า ในขณะที่เขาได้ร่วมแสดงในทีวีซีรีส์ดราม่ากฏหมาย ‘The Good Fight’ (2020) ซีรีส์ Spin Off ของทีวีซีรีส์ ‘The Good Wife’ (2010–2016) นั้น เขาเองมีปัญหาอย่างมากในการท่องจำบทพูด
จนกระทั่งเขาได้ดูหนังเรื่อง ‘Once Upon a Time in Hollywood’ (2019) ผลงานหนังย้อนยุคฮอลลีวูดของผู้กำกับ เควนทิน ทารันทิโน (Quentin Tarantino) โดยเฉพาะฉากที่เป็นภาพจำจากในหนังเรื่องนี้ก็คือ ฉากที่ ริก ดาลตัน (Rick Dalton) นักแสดงฮอลลีวูดรุ่นใหญ่ตกอับ ที่แสดงโดย ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ (Leonardo DiCaprio) ที่กำลังหัวฟัดหัวเหวี่ยงและเศร้าสร้อย ก่นด่าตัวเองอยู่ในรถบ้าน เนื่องจากมีปัญหาท่องจำบทไม่ได้เสียที ซึ่งฉากนั้นกลายเป็นฉากที่ทำให้ฟอกซ์รู้สึกสะเทือนใจ และเริ่มรู้ตัวเองว่า เขาควรจะเกษียณตัวเองจากอาชีพนักแสดงสักที
“ผมนึกถึงฉากหนึ่งใน ‘Once Upon a Time in Hollywood’ มีฉากหนึ่งที่ตัวละครที่เล่นโดย ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ ที่จำบทพูดของเขาไม่ได้อีกแล้ว เขากลับไปนั่งที่ห้องแต่งตัว และกรีดร้องกับตัวเองในกระจก มันบ้าไปแล้ว ผมก็มีช่วงเวลาที่ผมกำลังส่องกระจก และคิดว่า ‘ผมจำบทไม่ได้อีกแล้ว งั้นก็เลิกดีกว่า’ ง่าย ๆ เลย “
ฟอกซ์ได้เปิดเผยเรื่องราวของช่วงชีวิตที่เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสัน เมื่อตอนอายุ 30 ปี รวมทั้งการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคพาร์กินสัน โรคที่ทำให้สมองเสียหายไปทีละส่วน จนส่งผลต่อร่างกาย เช่น อาการสั่น เคลื่อนไหวร่างกายได้ช้า กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง การพูดและการคิดมีปัญหา ในสารคดีเรื่อง ‘STILL: A Michael J. Fox Movie’ กำกับโดย เดวิส กุกเกนไฮม์ (Davis Guggenheim) จากสารคดีโลกร้อนชื่อดัง ‘An Inconvenient Truth’ (2006) ที่ฉายเปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ และออกฉายทาง Apple TV+ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
หลังจากที่ฟอกซ์ออกจากบ้านไปเผชิญโชคที่ลอสแองเจลิสเพื่อตามความฝันในการเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ 18 ปี ผ่านชีวิตยากลำบากจนถึงขั้นคุ้ยขยะหาอาหารเพราะไม่มีเงินก็ทำมาแล้ว ก่อนที่เขาจะเริ่มได้รับโอกาสในการแสดงในบทบาทเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนจะได้รับบทนำในซีรีส์ซิตคอม ‘Family Ties’ (1982–1989) ที่ส่งให้เขาได้รับรางวัล Emmy Awards 3 ปีติดต่อกัน ก่อนจะมาโด่งดังเป็นพลุแตกในบท มาร์ตี้ แม็กฟลาย หนุ่มน้อยนักข้ามเวลา ใน ‘Back to the Future’ (1985)
ก่อนที่ในปี 1991 เขาเองจะเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติของร่างกายจากอาการนิ้วก้อยที่มือข้างซ้ายกระตุกสั่น จนกระทั่งในเวลาต่อมาเขาก็เริ่มมีอาการปวดและแข็งตึงตามร่างกาย แพทย์ได้วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคพาร์กินสัน แต่ฟอกซ์ในเวลานั้นที่แต่งงานกับภรรยา เทรซี พอลแลน (Tracy Pollan) และมีลูกด้วยกันแล้ว ก็ยังคงรับงานแสดงเหมือนปกติต่อไป โดยเน้นไปที่หนังตลกเป็นส่วนใหญ่ ด้วยความวิตกกังวลด้านเวลาและภาระทางการเงิน และเลือกที่จะปิดบังอาการเจ็บป่วยไม่ให้ใครรู้
จนกระทั่งในปี 1995 อาการพาร์กินสันของเขาเริ่มส่งผลรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องตัดสินใจถอยห่างจากงานแสดงหนัง โดยหนังเรื่องสุดท้ายที่เขาแสดงก่อนตัดสินใจเกษียณก็คือ ‘The Frighteners’ (1996) หนังตลกสยองขวัญของผู้กำกับ ปีเตอร์ แจ็กสัน (Peter Jackson) และถอนตัวจากการแสดงทีวีซีรีส์ ‘Spin City’ (1996–2001) ในซีซันที่ 5 หลังจากที่เคยร่วมแสดงในซีซันที่ 3 และ 4 เนื่องจากอาการของเขาเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นต้องนั่ง หรือพิงกำแพงในระหว่างแสดง รวมทั้งใบหน้าที่เริ่มแข็งตึงจนขยับและพูดได้ลำบากขึ้นเรื่อย ๆ
และในที่สุดเขาก็เปิดเผยความลับต่อผู้คนผ่านสื่อในปี 1998 รวมทั้งเขายังได้รับการผ่าตัดสมองอีกด้วย ซึ่งการผ่าตัดประสบความสำเร็จด้วยดี ทำให้เขาเริ่มกลับมารับงานแสดงเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกครั้งด้วยการรับบทสมทบในทีวีซีรีส์และในหนัง รวมทั้งยังได้เขียนหนังสือ 4 เล่ม และเริ่มก่อตั้ง มูลนิธิไมเคิล เจ ฟอกซ์ (Michael J. Fox Foundation) ในปี 2000 เพื่อระดมทุนสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน ซึ่งมูลนิธินี้สามารถระดมทุนได้มากกว่า 1,500 ล้านเหรียญ
งานท้าย ๆ ของเขาในเวลานั้นก็คือ การไปร่วมแสดงเป็นครูล็อกฮาร์ต (Mr.Lockhart) ครูสอนวิทยาศาสตร์ ในหนังไซไฟ ‘See You Yesterday’ ของ Netflix ในปี 2019 ก่อนที่เขาจะตั้งใจเกษียณจากอาชีพนักแสดงเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2020 ด้วยการอุทิศตนเพื่อศึกษาวิจัยโรคพาร์กินสัน ทำให้ฟอกซ์ได้รับรางวัลมนุษยธรรม ฌีน เฮอร์โชลต์ (Jean Hersholt Humanitarian Award) รางวัลออสการ์สาขารางวัลกิติมศักดิ์ (Governors Awards) จากสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ (The Academy of Motion Picture Arts and Sciences – AMPAS) ในปี 2023 ที่ผ่านมา
เขาได้เปิดเผยถึงความยากลำบากในการอยู่ร่วมกับโรคพาร์กินสัน ที่ค่อย ๆ กัดกินร่างกายเขาไปทีละน้อย ๆ ในบทสัมภาษณ์รายการ CBS Mornings เมื่อเดือนเมษายน และได้อัปเดตอาการหลังจากที่เข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกในกระดูกสันหลังในปี 2018 ด้วยว่า เขาเคยได้รับบาดเจ็บจนแขนหักทั้ง 2 ข้าง มือหัก และกระดูกบนใบหน้าหัก รวมทั้งอาการสำลักอาหาร และปอดบวม ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากการหกล้มเนื่องจากการทรงตัวร่างกายที่ไม่ดี
“ผมไม่โกหกนะ ผมแค่อยากบอกว่ามันเป็นอะไรที่มีแต่จะยากขึ้นทุกวัน มันเริ่มรุนแรงขึ้น ผมหมายความว่า ผมไม่ได้ตายด้วยโรคพาร์กินสันนะ แต่ผมตายเพราะโรคพาร์กินสัน ดังนั้นผมเลยคิดถึงการตายอยู่บ่อย ๆ ผมคิดว่าตัวผมเองคงมีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึง 80 ปี”
“ผมอยู่กับโรคนี้มา 30 กว่าปีแล้ว ชีวิตของผมถูกกำหนดไว้แล้วว่า ผมจะได้พาเอาโรคพาร์กินสันไปกับตัวผมด้วย ผมรู้ว่ามันยากแค่ไหนสำหรับผู้คน สำหรับผม แต่ผมมีทักษะบางอย่างที่ช่วยให้ผมรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ นั่นก็คือการมองโลกในแง่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ยั่งยืน และการตระหนักด้วยความรู้สึกขอบคุณ ถ้าคุณหาสิ่งที่คุณจะรู้สึกขอบคุณได้ คุณก็สามารถมองหาสิ่งที่จะตั้งตารอได้ แล้วคุณก็เดินหน้าต่อไป”
“โรคพาร์กินสันยังคงเล่นงานผม แน่นอนว่าผมจะไม่ชนะในเรื่องนี้ ผมอาจจะสูญเสีย แต่ก็จะมีคนอีกมากมายที่จะได้รับอะไรบางอย่างจากการสูญเสียนี้”
ที่มา: IndieWire, Variety, Variety(2), CNN
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส