ท่ามกลางการต่อสู้อันเข้มข้นของเหล่าผู้ให้บริการสตรีมมิงทั่วโลก ออริจินัล คอนเทนต์ (Original Content) หรือคอนเทนต์ต้นฉบับที่ถูกผลิตขึ้นในนามของสตรีมมิง กลายเป็นตัวขับเคลื่อนความสำเร็จให้แก่แพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ให้บริการเจ้าใหญ่อย่าง Prime Video ก็ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ลงทุนปีละมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญ สำหรับการสร้างออริจินัล คอนเทนต์ทั้งในรูปแบบซีรีส์และหนัง ผลงานอย่าง ‘The Lord of the Rings: The Rings of Power’, ‘The Boys’ หรือ ‘Citadel’ ต่างเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า Prime Video นั้นเอาจริงแค่ไหน ในเรื่องการพัฒนาคอนเทนต์ลักษณะนี้
ทีมงาน beartai BUZZ ได้มีโอกาสเดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนั่งพูดคุยกับ เจมส์ แฟร์เรล (James Farrell) ผู้บริหารระดับสูงของ Prime Video ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งในฐานะหัวหน้าแผนกเนื้อหาออริจินัลท้องถิ่นของ Amazon Studios ซึ่งในฐานะหัวหน้าแผนกนี้ แฟร์เรลมีหน้าที่ดูแลภาพรวมการผลิตเนื้อหาประเภทออริจินัลท้องถิ่นของ Prime Video นอกสหรัฐฯ ทั้งหมด เขาต้องบริหารทีมมากกว่า 20 ทีมทั่วโลก ทั้งในยุโรป ละตินอเมริกา เอเชีย แคนาดา ออสเตรเลีย อินเดีย และ แอฟริกา ซึ่งบทสนทนาครั้งนี้ แฟร์เรลได้ออกมาเปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ และแนวทางการพัฒนาออริจินัล คอนเทนต์ที่เขาและทีมตั้งใจปั้นลงบน Prime Video ในช่วงเวลาต่อจากนี้
อะไรคือสิ่งที่ทำให้ Prime Video แตกต่างจากสตรีมมิงเจ้าอื่น
แฟร์เรล: อย่างที่ทุกคนเห็นกัน ตอนนี้มีผู้ให้บริหารสตรีมมิงหลายเจ้าและมีคอนเทนต์จำนวนมากให้คนดูได้เลือกรับชม ทีวีซีรีส์ ภาพยนตร์ สารคดี แอนิเมชัน เรามีการพูดกันในทีมว่า ทำอย่างไรเราถึงจะโดดเด่นขึ้นมา นี่จึงเป็นที่มาของการสร้างซีรีส์อย่างเช่น ‘The Boys’ ในขณะเดียวกันประเภทของคอนเทนต์ท้องถิ่นที่เราทำ อย่างรายการ ‘โหด มัน ฮา’ (Takeshi’s Castle) ก็เป็นคอนเทนต์ที่เราเชื่อว่าจะโดดเด่น อาจจะเพราะว่านี่คือรายการที่คนคุ้นเคยอยู่แล้ว หรืออาจจะเพราะมันเป็นรายการที่โด่งดัง ได้รับความนิยมมาก ๆ และที่สำคัญเป็นรายการที่ไม่เหมือนใคร ตลก ดูสนุก นี่คือคำถามที่น่าสนใจนะ เพราะมันเป็นเรื่องที่ยากทีเดียวที่จะสร้างคอนเทนต์ให้โดดเด่นและแตกต่าง แต่เราพยายามจะสร้างเนื้อหาที่ใช่ที่สุด โดยเริ่มมาจากแต่ละประเทศ
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา Prime Video ลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญ ในการสร้าง ออริจินัล คอนเทนต์ ของตัวเอง คุณคิดว่าคอนเทนต์แบบนี้สำคัญกับบริษัทอย่างไร
แฟร์เรล: ผมคิดว่าถ้าคุณไม่มีเนื้อหาของตัวเอง หรือออริจินัล คอนเทนต์ คอนเทนต์เดียวที่คุณจะมีบนสตรีมมิงก็คือสิ่งที่คุณซื้อเข้ามาจากคนอื่น คุณจะไม่มีคอนเทนต์ที่มีเอกลักษณ์บนสตรีมมิงของคุณ อย่างในประเทศไทย คอนเทนต์ส่วนใหญบนแพลตฟอร์มมาจากค่ายหนังท้องถิ่นจากฝั่งฮอลลีวูด อินเดีย หรือเกาหลี เป็นต้น แต่ถ้าคุณต้องการจะเป็นผู้ให้บริการสตรีมมิงที่ดีสำหรับคนไทย เราจำเป็นต้องมีการทำออริจินัล คอนเทนต์ที่ทำงานร่วมกับค่ายท้องถิ่น คุณต้องค้นหาทาเลนต์ที่ใช่ในประเทศนั้น ๆ ต้องมีการนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงเนื้อหาที่น่าจะโดนใจผู้คน นี่คือสิ่งที่คุณต้องทำ ถ้าอยากจะเป็นบริษัทที่ดี มันไม่มีทางเลือกอื่นเลย นอกจากการทำคอนเทนต์พิเศษ ๆ ของตัวเองขึ้นมา
ในตลาดเอเชีย คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ท้าทายสำหรับ Prime Video
แฟร์เรล: ผมคิดว่าทั้งในเอเชียและทั่วโลกมีสิ่งที่ท้าทายเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ “ลูกค้าหรือคนดูต้องการจะรับชมคอนเทนต์แบบไหนกันแน่?” เมื่อ 2 ปีหรือ 5 ถึง 10 ปีก่อน ตอนที่สตรีมมิงเพิ่งจะเริ่มต้น คนดูอาจจะสงสัยว่าสตรีมมิงสามารถทำอะไรได้บ้าง หรืออะไรคือสิ่งที่ต่างกับทีวีบรอดแคสต์? ซึ่งต่อมาคนดูได้รับรู้ว่า บนสตรีมมิงมีคอนเทนต์ที่หลากหลาย มีเนื้อหารุนแรงกว่าบนทีวี มีหลายภาษา หลายประเทศ มีซีรีส์สไตล์ดาร์กดราม่า มีรายการตลกแปลก ๆ นั่นคือสิ่งที่คนดูรับรู้เกี่ยวกับสตรีมมิงตอนนี้
ซึ่งสิ่งที่ท้าทายจริง ๆ ตอนนี้ก็คือ “ในปีนี้ ปีหน้า หรือปีถัด ๆ ไป ผู้คนต้องการจะรับชมคอนเทนต์แบบไหนกันแน่?” ในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าตอนนี้โลกมีแต่ความตึงเครียด ผู้คนเหนื่อยล้า มีเรื่องให้ต้องกังวลมาก มีปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต ซึ่งผมคุยกับทีมงานทั่วโลกว่า เราต้องเน้นไปที่การสร้างคอนเทนต์ที่สนุก และเอนเตอร์เทนผู้คนได้ หนังรอมคอม รายการวาไรตี้ หนังแอ็กชัน อย่างตอนนี้เราก็ทำ ‘Comedy Island’, ‘โหด มัน ฮา’, ‘LOL’ หรือฝั่งคอนเทนต์แอ็กชันเราก็มี ‘Jack Ryan’ นี่คือสิ่งที่ผมประมาณการและคาดหวังไว้ว่าคนดูต้องการจะเสพคอนเทนต์ในลักษณะนี้ อาจจะมีคนที่คิดว่า “คืนนี้ฉันดู Prime Video หรือ สตรีมมิงไหนดีนะ? อ่อ ฉันว่าฉันดู Prime Video ดีกว่า เพราะพวกเขามีคอนเทนต์ที่สนุกและเอนเตอร์เทนดี” นี่คือสิ่งที่ผมหวังว่าคนดูจะได้รับ
คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมใน 6-12 เดือนถัดจากนี้
แฟร์เรล: ผมคิดว่าในเอเชียหลายบริษัทจะจับมือร่วมกันทำงานมากขึ้น อย่างของ Prime Video เราเริ่มทำงานกับสตูดิโอในประเทศท้องถิ่นมากขึ้นกว่าเดิม อย่างในญี่ปุ่นเราทำงานกับบริษัทใหญ่อย่าง Toho ซึ่งเรากำลังร่วมพัฒนาหนังฟอร์มยักษ์เรื่อง ‘The Silent Service’ ที่จะฉายในโรงภาพยนตร์ก่อน และจากนั้นก็จะนำมาฉายบน Prime Video คุณจะเห็นได้ว่าตอนนี้หลายบริษัทหันมาจับมือเป็นพาร์ตเนอร์กันมากขึ้น เพื่อร่วมกันพัฒนาโปรเจกต์ต่าง ๆ หรือคอยเติมเต็มสกิลที่ต่างฝ่ายต่างไม่มี และร่วมกันผลักดันด้านธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น
เนื้อหาที่ Prime Video สนใจจะลงทุนที่สุด
แฟร์เรล: ผมว่าเนื้อหาประเภทหนังเป็นสิ่งที่น่าสนใจจะลงทุนมากที่สุดตอนนี้ Prime Video เป็นผู้ให้บริการสตรีมมิงที่ให้ความสำคัญในเรื่องของความสนใจของผู้ชม เราต้องการจะสร้างหนังให้ออกมาดีที่สุดเสมอ ซึ่งผมคิดว่าหนังคือสิ่งที่เราสนใจจะลงทุนเพิ่มมากกว่านี้
Prime Video มีแผนจะลงทุนสร้างออริจินัล คอนเทนต์ในไทยเพิ่มขึ้นไหม
แฟร์เรล: แน่นอน เรามีการพูดคุยและเริ่มลงทุนในการสร้างออริจินัล คอนเทนต์ของไทยแล้ว ซึ่งตอนนี้เรายังไม่สามารถประกาศออกไปได้มากนัก แต่ผมคิดว่าอาจจะต้องใช้เวลาสักพัก เพื่อให้ทีมสร้างได้ใช้เวลาสร้างสรรค์มันขึ้นมาให้ดีที่สุด ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงพัฒนาโปรเจกต์ต่าง ๆ ผมว่าอาจจะใช้เวลามากกว่า 2 ปี และเมื่อถึงเวลาทุกคนก็จะได้รับชมตัวอย่างจากผลงานเหล่านั้น
ในฐานะผู้บริหารฝั่งการสร้างสรรค์คอนเทนต์ หนังหรือซีรีส์เรื่องใดบน Prime Video ที่คุณชอบที่สุด
แฟร์เรล: ผมมักจะมีปัญหาตลอดเมื่อเจอคำถามลักษณะนี้ เพราะทีมงานผมหลายคนชอบอ่านบทความสัมภาษณ์ของผม แล้วทุกคนพออ่านเสร็จก็จะรู้สึกหงุดหงิดในทำนองที่ว่า “ทำไม ทำไมไม่พูดถึงซีรีส์ที่ฉันทำ” เพราะฉะนั้นมันจึงยากที่จะหาคำตอบดี ๆ ที่ไม่ทำให้คนในทีมของผมรู้สึกหงุดหงิดได้ ผมให้เครดิตกับทีมอเมริกาใต้มาก ๆ พวกเขาได้พัฒนาหลาย ๆ สิ่ง ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา อย่างเรื่อง ‘Argentina, 1985’ ก็เป็นหนังที่ได้รางวัลลูกโลกทองคำ ตัวหนังมีแง่มุมที่แข็งแรง ให้ความบันเทิงมาก ๆ ดังนั้นมันจึงมีตัวเลขที่ดีในยอดการรับชม
แล้วก็มีหนังแอ็กชันไตรภาคที่เราสร้างในชิลีชื่อ ‘Sayen’ ผมชอบความทะเยอทะยานของโปรเจกต์นี้ เราถ่ายทำแบบไตรภาคโดยไล่เรื่องราวจากหลังไปหน้า หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับเด็กสาวพื้นเมืองคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในภูเขา แล้วจู่ ๆ ก็มีบางคนเข้ามาฆ่าคนในครอบครัวของเธอ ผมชอบที่ทีมสามารถค้นพบคอนเทนต์ที่ยอดเยี่ยมแบบนี้ และลงมือทำมันจนออกมาเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยม ซึ่งผมต้องให้เครดิตกับทีมที่ปั้นผลงานเหล่านี้ออกมา
ทุกวันนี้ คนดูมากมายมักหมดเวลาไปกับการเลือกหนังหรือซีรีส์สักเรื่อง ปัญหาแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับคุณไหม หรือคุณมีคำแนะนำอย่างไรเกี่ยวกับการหาคอนเทนต์ดูสักเรื่อง
แฟร์เรล: ผมโชคดีที่ได้ทำงาน Prime Video ไม่ใช่ผู้ให้บริการเจ้าอื่น หรือสถานีโทรทัศน์ ที่ทำให้คุณต้องเจอกับรายการประจำช่วงเช้าหรือบ่ายตลอดสัปดาห์ คุณต้องผลิตคอนเทนต์มหาศาลมาก ๆ เพื่อให้ผู้คนเข้ามา engage กับสิ่งที่คุณทำ ซึ่ง Prime Video เราไม่ได้มุ่งเน้นการผลิตในปริมาณมากขนาดนั้น หากคุณเข้ามาใช้บริการ Prime Video เดือนนี้ คุณจะได้เห็นคอนเทนต์ใหญ่ของเราในเดือนนั้น หรือถ้าคุณลองเข้ามาอีกในเดือนหน้า คุณก็จะเห็นคอนเทนต์ใหม่ ๆ เจ๋ง ๆ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่คุณอยากจะดู ไม่ใช่คอนเทนต์สิบกว่าอันที่ดาหน้าเข้ามาให้คุณสับสน นี่คือชื่อเสียงที่เราอยากจะสร้างขึ้น เราอยากจะเป็นสตรีมมิงที่มีคอนเทนต์ไม่ต้องเยอะมาก แต่ทุกอันต้องคุณภาพ ซึ่งนี่แหละจะทำให้คนดูไม่ต้องเสียเวลาเลือกคอนเทนต์วันละ 15 นาทีทุกวัน
มิเชล โหย่ว หรือ ‘Parasite’ ก็ต่างชนะออสการ์มาแล้ว นอกจากนี้ซีรีส์เกาหลีก็สามารถครองใจคนทั่วโลกได้ ในฐานะผู้บริหารด้านคอนเทนต์ของ Prime Video คุณและทีมมองเรื่องเทรนด์ ‘เอเชียน’ ที่กำลังมาแรงตอนนี้อย่างไรบ้าง
แฟร์เรล: เทรนด์นี้กำลังมาจริง ๆ โดยเฉพาะฝั่งเกาหลี ไม่ใช่แค่วงการหนังหรือซีรีส์นะ พวกเขาสามารถทำให้วงการเพลง เค-ป๊อป, แฟชั่น หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์สกินแคร์สามารถตีตลาดทั่วโลกได้ ทั้ง รัฐบาล ผู้คน และครีเอเตอร์ ล้วนแต่สมควรได้รับเครดิตกับเรื่องนี้ นอกจากนี้คอนเทนต์ของญี่ปุ่น จีน อินเดีย หรือ ไทย ก็น่าสนใจมาก ๆ ผมเพิ่งกลับจากไฮเดอราบัด ที่นั่นผมได้ดูหนังอย่าง ‘RRR หรือ ‘Baahubali’ ซึ่งมันน่าทึ่งมาก คอนเทนต์จากเอเชียเป็นสิ่งเราต้องจดโน้ตไว้เลย ผมพยายามจะใช้เวลากับครีเอเตอร์ท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด เพราะตอนนี้มีครีเอเตอร์หรือไอเดียคอนเทนต์เจ๋ง ๆ มากมายล้วนแต่มาจากเอเชีย ผมกำลังจะไปไทยในไม่กี่เดือนต่อจากนี้ ซึ่งผมต้องการจะเจอคนสร้างหนังและนั่งคุยเรื่องโปรเจกต์ดี ๆ ให้ได้มากที่สุด
สิ่งที่ท้าทายที่สุด ในฐานะผู้บริหารด้านคอนเทนต์ของ Prime Video ตอนนี้
แฟร์เรล: มีเยอะมาก ๆ เลย ผมคิดว่าตอนนี้โลกเราเปลี่ยนไป คนเสพคอนเทนต์กันไวขึ้นมาก ๆ โดยเฉพาะบน TikTok ที่ทุกอย่างถูกฮุกภายใน 10 วินาที ในความคิดผมนะ ทุกวันนี้คนยังดูซิตคอมอย่างพวก ‘Seinfeld’, ‘Friends’ หรือ ‘The Big Bang Theory’ ซึ่งเป็นของที่มาจากเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว บางครั้งเรายังต้องการโชว์หลาย ๆ ตอน มีหลายซีซัน ซึ่งคนดูจะได้เห็นการเติบโตของตัวละครที่เขาดู มันยากนะ ที่จะสร้างคอนเทนต์ให้มีคนมา engage ยาว ๆ แบบนั้น ยิ่งในยุคที่คนดูมีการเสพสื่อที่เร็วขึ้น และมีสื่อจำนวนมากให้พวกเขาได้เสพ ดังนั้นผมคิดว่าการพยายามสร้างรายการทีวีที่โดดเด่น และสามารถออกอากาศยาว ๆ ได้ ถือเป็นพันธกิจส่วนตัวของผม ซึ่งผมหวังว่าในอนาคตเราจะได้พบกับพาร์ตเนอร์ที่สามารถร่วมกันสร้างสิ่งเหล่านี้ได้
ถ้า Prime Video เป็นคน คุณคิดว่าเขาจะมีนิสัยอย่างไร
แฟร์เรล: ผมว่า Prime Video น่าจะเป็นคนที่ไว้ใจได้ นิสัยดี เป็นเพื่อนที่ดีของคนดู เราอยากจะเป็นแพลตฟอร์มที่ friendly กับคนดูทั้งในแง่ของราคาที่จับต้องได้ ระบบที่ดี หรือเนื้อหาที่มีให้คนดูได้เลือกมากมาย เราอยากจะเป็นเพื่อนซี้ของคนดูทุกคน ผมว่านั่นคือสิ่งที่ Prime Video เป็น
ขอขอบคุณทีม Prime Video ประเทศไทย สำหรับการอำนวยความสะดวกในการสัมภาษณ์ครั้งนี้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส